ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถานการณ์ขยะของไทย วิกฤติขยะ 26ล้านตัน กำจัดได้อย่างถูกต้องแค่ 7.2 ล้านตัน

สถานการณ์ขยะของไทย วิกฤติขยะ 26ล้านตัน กำจัดได้อย่างถูกต้องแค่ 7.2 ล้านตัน

2 กันยายน 2014


ในปี 2556 กรมควบคุมมลพิษสำรวจปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,782 แห่ง พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยรวม 26.77 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 ล้านตัน โดยขยะมูลฝอยร้อยละ 46 มาจากองค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.) ร้อยละ 38 มาจากเทศบาล และร้อยละ 16 มาจากกรุงเทพฯ

การไหลของขยะ

จากขยะมูลฝอยปริมาณ 26.77 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดแบบถูกต้อง จำนวน 7.2 ล้านตัน (ร้อยละ 27) ปริมาณขยะมูลฝอยที่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง 6.9 ล้านตัน (ร้อยละ 26) ปริมาณขยะมูลฝอยที่ไม่ได้เก็บขนทำให้ตกค้างในพื้นที่ 7.6 ล้านตัน (ร้อยละ 28) และปริมาณขยะมูลฝอยที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 5.1 ล้านตัน (ร้อยละ 19)

สถานการณ์ขยะโดยรวม

ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยรวม 2,490 แห่ง แต่เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้องเพียง 466 แห่งเท่านั้นหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 81 นั้นเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่แบบถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง เผาในที่โล่ง ลักลอบทิ้ง ฯลฯดังนั้นในปี 2556 ประเทศไทยจึงมีขยะมูลฝอยสะสม 19.9 ล้านตัน ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่ากับ “ตึกใบหยก 2” จำนวน 103 ตึกเรียงต่อกัน

สถานที่กำจัดขยะทั่วประเทศ

จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ทุกจังหวัดของไทยมีปัญหาวิกฤติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย โดย 20 อันดับแรกที่มีปัญหามากที่สุด ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี เพชรบุรี แพร่ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระนอง นครพนม ปัตตานี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ลพบุรี อ่างทอง ขอนแก่น บุรีรัมย์ และชุมพร ตามลำดับ

และจังหวัดที่มีปัญหาขยะมูลฝอยสะสม 20 อันดับแรก ได้แก่ สงขลา สมุทรปราการ กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี นครราชสีมา ลำปาง แพร่ ลพบุรี ชัยนาท นครปฐม เพชรบูรณ์ และระนองตามลำดับ

ในขณะที่นนทบุรี ภูเก็ต และกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดสะอาดที่ไม่มีปัญหาวิกฤติด้านการจัดการขยะมูลฝอยและไม่มีปริมาณขยะสะสมภายในจังหวัด

ข้อมูลสถานที่กำจัดขยะของ 20 จังหวัดแรก (ยกเว้น นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี และชุมพร ) ที่มีปัญหาวิกฤติเรื่องการจัดการขยะมูลฝอย พบว่า มีสถานที่กำจัดถูกต้องรวม 40 แห่ง แต่มีสถานทีกำจัดที่ไม่ถูกต้องถึง 509 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ่อขยะแบบฝังกลบโดยรวมแล้วมีพื้นที่ฝังกลบขยะประมาณ 6,700 ไร่ (มีข้อมูล 12 จังหวัดจาก 20 อันดับแรก) โดยขอนแก่นมีพื้นที่ฝังกลบขยะมากที่สุดประมาณ 1,300 ไร่

ด้านอัตราการผลิตขยะต่อคนต่อวันพบว่า สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปีจาก1.03 กิโลกรัมต่อคนต่อวันในปี 2551 เป็น1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวันในปี 2556 แต่หากคำนวณตามพื้นที่ที่เกิดขยะมูลฝอย พบว่า อัตราการเกิดขยะมูลฝอยกิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็นดังนี้ เทศบาลนคร เท่ากับ 1.89 เทศบาลเมือง 1.15 เทศบาลตำบล 1.02 เมืองพัทยา 3.90 และองค์กรบริหารส่วนตำบล 0.91

ปัจจุบันประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย 9 แบบดังนี้ 1.การฝังกลบเชิงวิศวกรรม (engineer landfill) 2.การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) 3.การฝังกลบแบบเทกองควบคุม (Control Dump) 4.เตาเผาที่มีระบบกำจัดมลพิษทางอาการ 5.การแปรรูปเพื่อผลิตพลังงาน (WTE) 6.การหมักทำปุ๋ย (Compost) 7.การกำจัดขยะมูลฝอยแบบเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) 8.การเทกอง (Open Dump) 9.การเผากลางแจ้ง (Open Dump)

สำหรับของเสียอันตรายประมาณการว่า เกิดขึ้นทั่วประเทศปริมาณ 2.65 ล้านตัน ซึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรม 2.04 ล้านตันหรือร้อยละ 77 และมาจากชุมชน 0.61 ล้านตัน ร้อยละ 23 โดยของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก ส่วนที่เหลือมาจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล และแหล่งอุตสาหกรรมในภาคกลาง

แม้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการกำจัดของเสียอันตราย แต่ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมยังคงมีต่อเนื่องในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ

สำหรับของเสียอันตรายจากชุมชนร้อยละ 65 เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ (ร้อยละ 27),เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 19), ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, คอมพิวเตอร์, เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี, โทรศัพท์, กล้องถ่ายรูป ฯลฯ ส่วนอีกร้อยละ 35 เป็นแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี

ด้านวิธีการกำจัดของเสียอันตรายในชุมชน กลุ่มของแบตเตอรี่ หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี มักทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ส่วนขยะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะขายให้กับร้านหรือผู้รับซื้อของเก่า แต่การถอดแยกชิ้นส่วนก็อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และอาจมีการปล่อยสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทเอกชนที่รับกำจัดของเสียอันตรายเพียง 4 แห่งแบ่งเป็นระบบฝังกลบแบบปลอดภัย 3 แห่ง คือ บริษัทเบตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน) ที่สระบุรี, บริษัทเจนโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ราชบุรี และบริษัทโปรเฟสชั่นแนลเวสต์ จำกัด ที่สระแก้ว และระบบเตาเผาขยะอันตราย 1 แห่งคือ บริษัทอัคคีปราการ จำกัด ที่สมุทรปราการ

ด้านขยะมูลฝอยติดเชื้อ พบว่า ปี 2556 มีปริมาณประมาณ 50,481 ตัน โดยร้อยละ 75 มาจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวมีงบประมาณ ในการบริหารจัดการและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ประกอบกับการขอรับรองตามมาตรฐานการประเมินและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation หรือระบบ HA) และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้สถานบริการการสาธารณสุขและห้องปฏิบัติการเชื้ออันตรายในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจ้างเอกชนดำเนินการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อใช้เอกสารกำกับการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ (Infectious Waste Manifest System แล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556

สำหรับการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อปัจจุบันมีโรงพยาบาลมีเตาเผากำจัดเองอย่างน้อย 142 แห่ง คิดเป็นปริมาณขยะประมาณ 2,352 ตันต่อปี ส่วนปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เหลือ โรงพยาบาลจะให้เอกชนดำเนินการ โดยส่งไปกำจัดยังสถานที่กำจัดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลเมืองวารินชำราบ เทศบาลนครขอนเก่น เทศบาลนครยะลา เทศบาลนครพิษณุโลก เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนครสมุทรสาคร และเทศบาลนครหาดใหญ่ และสถานที่กำจัดของเอกชน ไม่น้อยกว่า 8 แห่ง

ส่วนสถานบริการการสาธารณสุขขนาดเล็ก ได้แก่ คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์ ยังพบข้อจำกัดเรื่องการเก็บรวบรวม การขนส่งและการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ ทั้งนี้ขยะบางส่วนจะถูกส่งไปกำจัดร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐที่เป็นเครือข่าย บางส่วนอาจทิ้งปนไปกับมูลฝอยชุมชน

จากปัญหาด้านการจัดการขยะดังกล่าวทางกรมควบคุมมลพิษต้องการผลักดันให้ “การจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” ด้วยกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.การเสริมสร้างสังคมรีไซเคิล 2.การจัดระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 3.การรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (cluster) 4.การแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน (Waste to Energy) 5.การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และ 6. การให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs)

ป้ายคำ :