ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > Thai-PAN แจงวิธีการสุ่มตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ยันข้อมูล-ข้อชี้แจง”มกอช.”

Thai-PAN แจงวิธีการสุ่มตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ยันข้อมูล-ข้อชี้แจง”มกอช.”

10 กันยายน 2014


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว เปิดผลสำรวจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ” พบสารพิษตกค้างกว่า 50% ในผักผลไม้ทั้งในห้างค้าปลีก-ตลาดทั่วไป ระบุเครื่องหมาย “Q” เยอะสุด จากนั้นทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ได้กล่าวถึงกรณีรายงานการตรวจพบสารเคมีตกค้างในสินค้าพืชผักที่มีตราสัญลักษณ์ Q เกินค่ามาตรฐานนั้น ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานไปยัง Thai-PAN เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากปัญหาที่เกิดขึ้น

ล่าสุดทางThai-PAN ได้ชี้แจงเรื่องนี้ผ่านเว็บไซต์ว่าหลังจากที่ไทยแพนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แถลงข่าว ได้รับการติดต่อขอข้อมูลการตรวจผักและผลไม้จากทางมกอช. และทางมกอช.ก็ได้กรุณาให้ผลทดสอบที่ทางมกอช.เองมีการสุ่มตรวจปี 2555-2557 เช่นเดียวกับหลายหน่วยงานที่มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ในประเทศ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร และตลาดไท โดยไทยแพนมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อพัฒนาข้อเสนอในการจัดทำฐานข้อมูลการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้และระบบการแจ้งเตือน (Alert System) ในระดับประเทศต่อไป

และเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2557 มกอช.ได้จัดประชุมหารือเรื่องสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ และได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องจำนวนตัวอย่าง และการแปลผลโดยการเปรียบเทียบค่ามาตรฐาน MRL ของโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งทางไทยแพนได้ชี้แจงไปแล้ว แต่หลังจากการหารือก็ปรากฏข่าวการชี้แจงของ มกอช. ในประเด็นข่าวสารพิษตกค้างในผักผลไม้:“ความจริงเป็นเช่นไร และ มกอช. ดําเนินการอย่างไร”1 มีคำกล่าวที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำงานของไทยแพน จึงขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้

1.หลักการเก็บและจำนวนตัวอย่าง

ไทยแพนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกแบบการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ โดยมีแนวคิดจากมุมผู้บริโภคว่า หากเดินไปซื้อผักผลไม้ในห้างหรือในตลาดจะมีโอกาสได้รับสารพิษตกค้างมากน้อยเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าหากมองจากมุมความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าจะซื้อผักหรือผลไม้จากที่ไหน/เมื่อไร ก็ต้องปลอดภัยหรือมีสารพิษตกค้างในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน

ในปีนี้ไทยแพนได้ออกแบบการเก็บตัวอย่างโดยกำหนดชนิดผักและผลไม้ยอดนิยม 10 ชนิด ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว พริกแดง ผักชี กะเพรา ส้ม (ส้มจีน ส้มสายน้ำผึ้ง) ฝรั่ง แตงโม แอปเปิ้ล และสตรอเบอรี่

กำหนดแหล่งจำหน่ายเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ห้างสรรพสินค้า และตลาด โดยเลือกห้างที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ได้แก่ บิ๊กซี เทสโก้โลตัส แมคโคร และริมปิง ซึ่งในห้างก็จะมีสินค้า 2 ลักษณะ คือสินค้าที่ไม่ได้รับตรารับรอง และสินค้าที่ได้รับตรารับรอง ในกรณีหลังเราเลือกตรารับรองมาตรฐาน Q ซึ่งเราเก็บตัวอย่างจากท็อปส์ บิ๊กซี และโฮมเฟรชมาร์ท และสำหรับตลาดก็จำแนกเป็นตลาดค้าส่งและตลาดสด กำหนดจังหวัดที่เก็บตัวอย่าง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ขอนแก่น เชียงใหม่ ยโสธร และสงขลา

จำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ เราซื้อ 1 ตัวอย่างจากแต่ละแหล่งที่กำหนดไว้ ซึ่ง 1 ตัวอย่างนั้นก็ต้องมีขนาดการเก็บตัวอย่างตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์ 2 ทำให้ได้ตัวอย่างมาทั้งสิ้น 118 ตัวอย่าง ประเด็นนี้เรายอมรับว่ามีข้อจำกัดในเรื่อง 1) งบประมาณ ด้วยค่าตรวจวิเคราะห์ประมาณ 8,000-11,000 บาท/ตัวอย่าง รวมๆแล้วกว่าล้านบาท 2) การเก็บตัวอย่างให้ได้ขนาดตามที่กำหนดไว้ เช่น ผักชีละ 1 กิโลกรัมต่อตัวอย่าง โดยต้องเป็นยี่ห้อและล็อตเดียวกันในห้างค้าปลีกไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีไม่ครบหนึ่งกิโลกรัม ก็ต้องไปหาที่สาขาอื่น ในขณะที่ข้อจำกัดของการซื้อตัวอย่างในตลาดจะเป็นเรื่องที่มาของสินค้า ด้วยไทยแพนพยายามที่จะสืบย้อนกลับไปให้ถึงต้นทางการผลิต จึงต้องมีการสอบถามถึงที่มาว่ากว่าผักจะมาอยู่บนแผงเนี่ยเดินทางมากี่ทอด ปลูกที่ไหน หากแม่ค้ามีเวลาก็จะให้ข้อมูลด้วยดี หลายแห่งให้เบอร์โทรพ่อค้าคนกลาง/ลูกไร่หรือเกษตรกรผู้ปลูกเลยทีเดียว แต่บางแห่งหากไม่สะดวกใจที่จะให้ข้อมูลเราก็ต้องเปลี่ยนร้านที่จะซื้อเช่นกัน แต่ทั้งนี้เมื่อเรามาเปรียบเทียบกับหน่วยงานภาครัฐที่เฝ้าระวังเรื่องนี้และตรวจวิเคราะห์สารพิษในห้องปฏิบัติการก็พบจำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจใกล้เคียงกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการออกแบบของเราไม่ได้มุ่งเน้นที่ผักที่มีเครื่องหมายรับรอง Q เป็นหลัก ผัก Q เป็นเพียงแหล่งหนึ่งของการสุ่มตัวอย่างเท่านั้น เห็นได้ชัดเจนจากการแสดงผลการตรวจของเรา ที่แสดงผลในลักษณะเอาผักและผลไม้จากแต่ละแหล่งซื้อมาเปรียบเทียบกัน

ผลการสุ่มตรวจผัพผลไม้-ไทยแพน

2. การแปลผลเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน MRL

ไทยแพนใช้ทั้งค่าที่กำหนดในประเทศและ Codex สำหรับค่ามาตรฐานของประเทศไทยพบว่ามีการประกาศจาก 2 หน่วยงาน คือ 1)ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สารพิษตกค้าง : ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (มกษ. 9002-2556) และ 2)ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง พ.ศ. 2554 จากการเปรียบเทียบประกาศทั้ง 2 ฉบับพบว่ามีบางค่าที่ไม่ตรงกัน ไทยแพนจึงพิจารณาใช้ค่ามาตรฐานของ มกอช.เนื่องจากเป็นประกาศฉบับล่าสุดและมีค่า MRL ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบค่าปริมาณสารพิษตกค้างหากไม่พบว่า มกอช.กำหนดไว้จึงไปอ้างอิงจากโคเด็กซ์

และตามที่ มกอช.ยกตัวอย่างว่าไทยแพนแปลผลข้อมูลของโคเด็กซ์คลาดเคลื่อน ดังเช่น กรณี cypermethrin ในคะน้า เมื่อไทยแพนเข้าไปดูในรายชนิดพืชสินค้าแล้วไม่พบค่า MRL ก็ได้ไปดูกลุ่มของสินค้านั้นๆด้วย ในกรณีนี้ไทยแพนไปดูที่ Brassica leafy vegetables แต่ก็ไม่พบการกำหนดค่า MRL เช่นกัน

แต่หากจะให้ไปเปรียบเทียบกับค่า MRL ของกลุ่มผักใบ หรือ Leafy vegetables ดังที่ มกอช.ชี้แจง ทางไทยแพนพิจารณาเห็นว่าไม่เหมาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่กว้างมาก จึงขอสงวนการเปรียบเทียบถึงแค่ระดับกลุ่มผัก Brassica leafy vegetables เท่านั้น และยืนยันว่าไทยแพนไม่ได้เข้าใจวิธีการเปรียบเทียบผลทดสอบผิดพลาดแต่ประการใด

MRL

ในกรณีที่ทั้ง มกอช.และ โคเด็กซ์ ไม่กำหนดค่า MRL เมื่อย้อนกลับไปดูที่ประกาศ มกษ. 9002-2556 ข้อ 3 เรื่องข้อกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ไม่มีข้อความใดระบุว่าหากเป็นสารที่ไม่กำหนดค่ามาตรฐานและพบต่ำกว่า LOD หรือ 0.01 มก./กก. ให้ถือว่าผ่านมาตรฐาน ซึ่งในกรณีนี้ต้องชี้แจงเพิ่มเติมว่าหลังจากที่ได้ผลการตรวจสารพิษตกค้างชุดแรกของเดือนมีนาคม และได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ

3. ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 โดยมีผู้แทนจาก 1)มกอช. 2) อย. 3)กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4)ศูนย์พัฒนานโยบายแห่งชาติด้านสารเคมี 5)สถาบันอาหาร ซึ่งได้มีการแจ้งผลทดสอบ วิธีวิเคราะห์ และวิธีการเปรียบเทียบค่ามาตรฐานโดยละเอียด และถกกันในกรณีที่ทั้งไทยและโคเด็กซ์ไม่กำหนด ซึ่งผู้แทนจาก อย. ชี้แจงว่า “ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในอาหาร ยกเว้น

(1) ตรวจพบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรได้ไม่เกินปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) ตามบัญชีหมายเลข 1 ท้ายประกาศนี้

(2) ตรวจพบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรตามชนิดที่ประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้ไม่เกินปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Extraneous Maximum Residue Limit, EMRL) ตามบัญชีหมายเลข 2 ท้ายประกาศนี้

(3) ตรวจพบสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรนอกจาก (1) และ (2) ได้ไม่เกิน ปริมาณที่กําหนดโดยคณะกรรมาธิการของโครงการมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ (Codex Alimentarius Commission, Joint FAO/WHO Food Standards Programme) แต่ทั้งนี้ต้องมิใช่สารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535” จากประกาศนี้หากอาหารพบสารพิษที่ไม่ได้กำหนดค่า MRL ไว้ทั้งของไทยและโคเด็กซ์ ถือว่าตกมาตรฐาน นี่เป็นข้อสรุปที่ได้จากการหารือกับหน่วยงานภาครัฐในกรณีนี้

และทางไทยแพนขอขอบคุณทาง มกอช. ที่กรุณาให้ข้อมูลผลการสุ่มตรวจหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่จากการพิจารณาข้อมูลของ มกอช. แล้ว ขอเพิ่มเติมในกรณีการตีความของ มกอช. ที่หากไม่กำหนดค่า MRL ก็ให้ยึดว่าพบได้ไม่เกิน 0.01 มก./กก. ส่งผลให้การแปลผลของทาง มกอช.เอง คลาดเคลื่อนกับกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้พบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งหมายถึงสารที่ยกเลิกการใช้แล้ว ดังกรณีผลการสุ่มตรวจลำดับที่ 93 คื่นช่าย เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 55 พบ methamidophos3 ปริมาณ 0.01 มก./กก. ซึ่งตามกฎหมายแล้วต้องไม่พบ แต่ในกรณีนี้ทาง มกอช. กลับถือว่า ผ่านมาตรฐาน

ตารางไทยแพน

และเมื่อพิจารณาการแปลผลลำดับที่ 94 คื่นช่ายเกรดพิเศษ พบ profenofos ปริมาณ <0.02 มก./กก. ซึ่งน้อยกว่า LOQ และไม่ได้กำหนดค่า MRL ในกรณีนี้ ทาง มกอช.เองก็แปลผลว่าไม่ผ่านมาตรฐานเช่นเดียวกับไทยแพน 4. ไทยแพนไม่เคยกล่าวอ้างผลการสุ่มตรวจครั้งนี้ว่าเป็นตัวแทนสถานการณ์ของผักและผลไม้ทั้งประเทศ

เมื่อสื่อสารกับผู้บริโภคจะอ้างอิงกรอบการเก็บตัวอย่างทุกครั้ง ว่าไทยแพนสุ่ม 118 ตัวอย่าง จาก 5 จังหวัด ในแหล่งใดบ้าง ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นผู้พิจารณาข้อมูลเหล่านี้เอง โดยให้ตารางข้อมูลชนิดสารพิษและปริมาณการตกค้างพร้อมเปรียบเทียบค่ามาตรฐานด้วยทุกครั้ง

การวิเคราะห์ตัวอย่างทั้งหมดเราส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 5 กลุ่ม เป็นสารกำจัดแมลง 4 กลุ่ม ได้แก่ คาร์บาเมต ออร์แกโนฟอสเฟต ออร์แกโนคลอรีน และไพรีทรอยด์ และสารกำจัดโรคพืช 1 ชนิด ได้แก่ คาร์เบนดาซิม

ขณะที่ มกอช. ในปี 2557 ได้สุ่มตัวอย่างมากถึง 500 ตัวอย่าง นำมาทำ screening test ด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (TM kit) และหากพบปนเปื้อนก็จะส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป หากเรามาพิจารณาที่ความสามารถของชุดทดสอบ จะพบว่า ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ใน 4 กลุ่มหลัก แต่จำนวนชนิดสารที่สามารถตรวจได้ น้อยกว่าการตรวจในห้องปฏิบัติการ และปริมาณความเข้มข้นของสารที่ตรวจสอบได้4 บางชนิดสารอาจมากกว่าค่า MRL ที่มกอช.กำหนดเอาไว้ ประกอบกับไม่สามารถตรวจหาสารคาร์เบนดาซิมได้ ทำให้จาก 500 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 54 ตัวอย่าง และไม่ผ่านมาตรฐานเพียง 32 ตัวอย่าง ด้วยกระบวนการวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างที่ต่างกันระหว่างไทยแพนและมกอช. จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการวิเคราะห์จะแตกต่างกัน

ตัวอย่างการสุ่มตรวจ

ข้อเขียนนี้ไทยแพนไม่ได้ออกมาตอบโต้ทาง มกอช. แต่ประการใด เป็นเพียงการชี้แจงเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจการทำงานของไทยแพนมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือเราพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้จริง ในจำนวนนี้ประมาณ 46.6% ตกมาตรฐาน MRL และการสุ่มตรวจโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีการเฝ้าระวังซึ่งใช้ห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ก็พบการตกค้างเช่นเดียวกับเรา แม้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์จะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ชี้ให้เห็นปัญหาเดียวกัน คือทุกภาคส่วนต้องร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งไทยแพนยินดีจะร่วมงานกับทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1) การขอเสนอตัวเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกำหนดค่า MRL ซึ่งทางมกอช.เองก็ยอมรับว่า การกำหนดค่าของMRLยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น ไม่ครอบคลุมสารพิษที่พบการตกค้างบ่อยในผักและผลไม้ที่เราบริโภคบ่อย และ 2) เพราะเราเห็นว่าการมีตัวแทนของบริษัทผู้จำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 สมาคมเข้าไปเป็นกรรมการ โดยไม่มีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามไทยแพนยินดีที่การดำเนินการตรวจผักผลไม้ของไทยแพนได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว เห็นปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง มกอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้แสดงความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และหวังว่าจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างหลักประกันผักผลไม้ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

ไทยแพนขอขอบคุณ มกอช.ที่ได้จัดประชุมเรื่องสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ขึ้น เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในลำดับต่อไป และไทยแพนได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่สนับสนุนให้ไทยแพนทำหน้าที่ในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็งต่อไป

หมายเหตุ

[1]ประเด็นขาวสารพิษตกคางในผักผลไม: “ความจริงเปนเชนไร และ มกอช. ดําเนินการอยางไร”

[2] RECOMMENDED METHODS OF SAMPLING FOR THE DETERMINATION OF PESTICIDE RESIDUES FOR COMPLIANCE WITH MRLS (CAC/GL 33-1999). Source: http://goo.gl/0PqCxi

[3] Methamidophos ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ. 2546

[4] ปริมาณความเข้มข้นของชนิดสารพิษที่ TM Kit ตรวจสอบได้ กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและคาร์บาเมท 1) Methomyl 1.63 ppm. 2) Carbofuran 0.52 ppm. 3) Profenofos 0.07 ppm. 4) Dicrotophos 1.32 ppm. 5) Monocrotophos 1.29 ppm. 6) Chlorfenvinphos 0.048 ppm. 7) Chlorpyrifos 4.178 ppm. 8) Dichlorvos 0.058 ppm. กลุ่มออร์แกโนคลอรีนและไพเรทรอยด์ 1) Cypermethrin 0.3 ppm. 2) Permethrin 0.3 ppm. 3) Delltamethrin 0.2 ppm. 4) Endrin 0.08 ppm. 5) Endosulfan 0.04 ppm. 6) DDT 0.04 ppm.