ThaiPublica > คอลัมน์ > สกอตแลนด์ลงมติประกาศอิสรภาพ?

สกอตแลนด์ลงมติประกาศอิสรภาพ?

16 กันยายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

Scottish independence vote ที่มาภาพ : http://www.scotsman.com
Scottish independence vote
ที่มาภาพ: http://www.scotsman.com

คนสกอตแลนด์จะลงประชามติกันในวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน นี้ว่าจะเป็นประเทศอิสระโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของ United Kingdom อีกต่อไป หลังจากร่วมหอลงโรงกันมา 307 ปี ขณะนี้คะแนนเสียงต้องการเป็นอิสระมากกว่าเสียงปฏิเสธเป็นครั้งแรก และโมเมนตัมดูจะเอียงไปทางตอบรับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริงก็จะเกิดผลกระทบกว้างไกลในโลก

ใน ค.ศ. 1707 สกอตแลนด์ซึ่งเคยเป็นดินแดนอิสระมายาวนานหลายร้อยปีก็ทำสัญญาเป็น Union (รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน) กับราชอาณาจักรอังกฤษ และประมาณอีกร้อยปีต่อมาไอร์แลนด์ก็ทำอย่างเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไอร์แลนด์หลุดออกไปเป็นประเทศอิสระด้วยสงครามต่อสู้เพื่ออิสรภาพในปี 1922 และเป็นสาธารณรัฐสมบูรณ์ในปี 1948 แต่สกอตแลนด์ยังคงติดอยู่กับสัญญาเดิม การลงประชามติครั้งนี้จะเป็นการชี้ชะตาว่าต้องการจะเป็นประเทศอิสระหลุดพ้นจากอังกฤษตามอย่างไอร์แลนด์หรือไม่

ในปัจจุบันสิ่งที่เรียกว่า United Kingdom ประกอบด้วยอังกฤษ (England) สกอตแลนด์ (Scotland) เวลส์ (Wales) และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ซึ่งเป็นดินแดนประมาณ 1 ใน 6 ของเกาะไอร์แลนด์ทั้งหมด (ประชากร 4.6 ล้านคน) อังกฤษถือว่า Northern Ireland เป็นดินแดนของตนเองตามประวัติศาสตร์โดยมีประชากรทั้งหมด 1.8 ล้านคน เกือบทั้งหมดมิได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเช่นเดียวกับพลเมืองประเทศไอร์แลนด์ 4 ชาติพันธุ์ คือ อิงลิช ไอริช สกอต และเวลส์ (ประชากรของเวลส์ประมาณ 3 ล้านคน) อยู่ร่วมกันเป็น United Kingdom มายาวนาน ปัจจุบันไอร์แลนด์ออกไปแล้วเหลือไว้แต่ Northern Ireland และคราวนี้สกอตแลนด์กำลังพยายามจะหนีออกไปอีกราย

ถ้าสกอตแลนด์หลุดออกไปก็หมายถึงดินแดน 1 ใน 3 ของ United Kingdom จะหายไปพร้อมกับน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือซึ่งมีปริมาณอยู่เป็นจำนวนมาก และประการสำคัญคือจะเป็นตัวอย่างให้เกิดการเลียนแบบในอังกฤษ ใน EU และในประเทศอื่นๆ ในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนอยู่ในปัจจุบัน

ความคิดเรื่องการเป็นประเทศอิสระของชาวสกอตนั้นมีมายาวนานเพียงแต่ไม่เป็นขบวนการที่เข้มข้นและจริงจังเหมือนคนไอริช (คงจำขบวนการ IRA หรือ Irish Republican Army กันได้ ที่ต่อสู้ฆ่าฟันกับอังกฤษตามสไตล์ก่อการร้ายตั้งแต่สงครามอิสรภาพจนถึงการจะเอา Northern Ireland มาผนวกเข้ากับประเทศให้เป็น Ireland ทั้งเกาะ Lord Louis Mountbatten พระราชวงศ์ชั้นสูง ผู้ช่วยเหลือประเทศไทยมากในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ถูกระเบิดของ IRA เสียชีวิตในปี 1979)

การลงประชามติครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากพรรค SNP (Scottish National Party) ของสกอตแลนด์ชนะเลือกตั้งในปี 2011 โดยรณรงค์ว่าจะจัดให้มีประชามติตัดสินการเป็นอิสระจาก United Kingdom ซึ่งก็คือตัดขาดจากอังกฤษในปี 2014 และหากลงมติเห็นพ้องกันก็จะใช้วันที่ 24 มีนาคม 2016 เป็นวันประกาศอิสรภาพของสกอตแลนด์

สกอตแลนด์เป็นเสมือนรัฐกึ่งอิสระของ United Kingdom มีนายกรัฐมนตรีของตนเองซึ่งเรียกว่า First Minister และมีรัฐบาลแบบท้องถิ่น (มีตัวแทนเป็น ส.ส. ในรัฐสภาอังกฤษด้วย) ดูแลเรื่องการศึกษากฎหมายสถาบันศาสนา โดยมีระบบเป็นของตนเอง ส่วนการต่างประเทศ การป้องกันประเทศ การเก็บภาษี การให้เงินอุดหนุนสกอตแลนด์ ฯลฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ

ในตอนแรกเมื่อมีการผลักดันประชามติดังกล่าว รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเพราะมั่นใจว่าคนสกอตจะปฏิเสธอย่างแน่นอน และจะเป็นการดีเพราะหากไม่ผ่านการพูดเรื่องแยกเป็นอิสระจะได้จบสิ้นลงเสียทีหลังจากมีความพยายามกันมายาวนาน ในตอนแรกๆ หลายโพลมีผลตรงกันว่าคนสกอตไม่เอาด้วยแน่ คะแนนห่างกันถึง 4-14 จุด รัฐบาลอังกฤษก็นอนใจ เชื้อสายสกอตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น J.K. Rowling, Rod Stewart, Alex Ferguson,​Susan Boyle, David Bowie ฯลฯ ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าควรอยู่กับอังกฤษต่อไป

คนที่ออกมาบอกว่าควรแยกได้แก่ Sean Connery, Brian Cox นักแสดง, Ken Loach ผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ

ที่มาภาพ : http://www.szkocja.eu.pn/wp-content/uploads/2014/06/scots.jpg
ที่มาภาพ: http://www.szkocja.eu.pn/wp-content/uploads/2014/06/scots.jpg

อย่างไรก็ดี ในอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ โพลระบุว่าคะแนนที่เห็นว่าควรแยกเป็นอิสระมากกว่าอีกฟากหนึ่งเป็นครั้งแรกคือ 51-49 และมีทางโน้มที่จะห่างมากขึ้นเมื่อใกล้วันลงมติ

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอังกฤษตกใจ เพราะการสูญเสียสกอตแลนด์นั้นหมายถึงการสูญเสียดินแดนถึง 78,000 ตารางกิโลเมตร ตลอดจนมูลค่าก๊าซและน้ำมันมหาศาลซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้และพลังงานสำคัญ

ประการสำคัญต้องจับตามองเวลส์และไอร์แลนด์เหนือ ถึงแม้ประชากร 3 ล้านคนของเวลส์ขณะนี้ยังไม่มีความรู้สึกต้องการแบ่งแยกเด่นชัด แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ในเรื่องการเลียนแบบ

อย่างไรก็ดีแม้แต่เมื่อยังไม่มีมติเห็นชอบออกมา ขณะนี้หลายเมืองและเขตของอังกฤษที่คิดว่าตนเองไม่ได้สิ่งที่ควรได้รับจากรัฐสภาอังกฤษก็เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้นและถ้าประชามติออกมาว่าแยก David Cameron นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็อาจต้องลาออก

เบลเยียมและสเปนเฝ้าดูการลงประชามติครั้งนี้อย่างสนใจเป็นพิเศษเนื่องจากพรรคของกลุ่ม Flemish (กลุ่มเบลเยี่ยม-ดัชต์) ซึ่งสนับสนุนการแบ่งแยกกำลังได้รับความนิยม นอกจากนี้แคว้น Catalonia (Barcelona เป็นเมืองหลวง) ของสเปนกำลังจะลงประชามติลักษณะเดียวกันในเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ หากประชามติผ่านก็อาจเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้เกิดการรู้สึกไปในทิศทางเดียวกันได้

ประชาชนที่จะลงประชามติของสกอตแลนด์คือผู้อยู่อาศัยในประเทศที่มีอายุเกิน 16 ปี ซึ่งมีจำนวน 4.2 ล้านคน คนเชื้อสายสกอตที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกากว่า 27 ล้านคน และที่อยู่ในส่วนอื่นๆ แม้แต่อังกฤษไม่มีสิทธิลงคะแนน ข้อพึงสังเกตก็คือ ถึงแม้มติจะผ่านแต่สกอตแลนด์ก็ใช่ว่าจะเดินไปบนกลีบกุหลาบ

การเป็นสมาชิก EU เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในเชิงเศรษฐกิจและการอยู่รอดจากการค้าขายกับประเทศในยุโรปซึ่งล้วนเป็นสมาชิก EU เมื่อเป็นประเทศสกอตแลนด์ใหม่ก็ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิก EU ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจถูกวีโต้โดยเบลเยียมและสเปนที่ไม่ต้องการให้ ‘รางวัล’ เพราะจะเท่ากับช่วยให้ความคิดแบ่งแยกมีพลังมากขึ้น

การเป็นประเทศเล็กที่มิได้เป็นสมาชิกของสังคมใหญ่อีกต่อไปจะทำให้ไม่มี Economy of Scale (การลดต้นทุนอันเกิดจากขนาดการผลิตที่ใหญ่) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ความไม่แน่นอนต่างๆ ในเรื่องการใช้สกุลเงิน นโยบายเศรษฐกิจ เงินทุน ภาระการเงินที่ติดค้างมาจากการแบ่งแยก ตลอดจนการขาดเงินอุดหนุนดังที่เคยได้รับจากอังกฤษก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการเป็นประเทศใหม่ได้มาก

อย่างไรก็ดี การที่สกอตแลนด์เป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นเลิศในโลก รวมทั้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกผ่านผลงานของบุคคลสำคัญเชื้อสายสกอต เช่น Adam Smith, Sir Alexander Fleming, James Watt, Tony Blair, Gordon Brown ฯลฯ ตลอดจนความขยันหมั่นเพียรในการทำงานและความประหยัดมัธยัสถ์ของคนสกอตจะช่วยให้ประเทศไปได้ดีในระยะยาว

ถ้าคนสกอตร่วมใจกันลงประชามติแยกเป็นอิสระได้สำเร็จ ภาพประทับใจที่อาจเกิดขึ้นในวันประกาศเอกราชคือการชุมนุมของชาวสกอตจำนวนมากเพื่อลาจากเพื่อนเก่าท่ามกลางเสียงกระหึ่มของเพลง Auld Lang Syne (หรือ Days Gone By ซึ่งเป็นทำนองพื้นเมืองและเนื้อร้องมาจากบทกวีที่เขียนขึ้นในปี 1788 ของยอดกวีเอกของโลกชาวสกอต Robert Burns) พร้อมกับน้ำตาแห่งความหวั่นไหวกับอนาคต

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 16 ก.ย. 2557