ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ผู้ว่าแบงก์ชาติ”เล่าสู่กันฟัง”ภาวะเศรษฐกิจโลก-ไทย “เติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ผันผวนต่ำ”

ผู้ว่าแบงก์ชาติ”เล่าสู่กันฟัง”ภาวะเศรษฐกิจโลก-ไทย “เติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ผันผวนต่ำ”

22 กันยายน 2014


นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

22 กันยายน 2557 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้พบปะพูดคุยกับผู้สื่อข่าวประจำแบงก์ชาติ หรือธปท.ในโครงการ”Meet the Press: ผู้ว่าการฯ พบสื่อมวลชน”เป็นวาระพูดคุยและตอบข้อซักถามอื่นๆกับสื่อมวลชนเป็นประจำทุก 2 เดือน ครั้งนี้ได้เล่าถึงการเข้าร่วมประชุมกับธนาคารกลางของต่างประเทศและมีการูคุยกันใน 3 ประเด็น ได้แก่

1) การประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกล่าสุด โดยเฉพาะเศรษฐกิจใหญ่อย่างเช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น
2) การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของนักลงทุนภาคเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
3) ผลกระทบของการดำเนินนโยบายการเงินของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนคำถามเกี่ยวกับ “สกุลเงินหลัก” ของระบบการเงินระหว่างประเทศในอนาคต

ประเด็นแรก ดร.ประสารกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกในเวลานี้มีลักษณะ “เติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ และผันผวนต่ำ” โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะจบโครงการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ หรือที่รู้จักกันในนาม Quantitative Easing หรือ QE ได้ในเดือนตุลาคมตามที่คาดการณ์ ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะต้องรอดูเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานประกอบก่อนตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันคาดกันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปีหน้า

“ถ้าเครื่องชี้พวกนี้ไปในทางที่ดี ก็น่าจะเร็วกว่ากรอบเวลาที่พูดถึง ในทางกลับกัน ถ้าอ่อนแอก็อาจจะช้า ซึ่งทุกประเทศก็กำลังติดตามอยู่ รวมทั้งประเทศไทย” ดร.ประสารกล่าว

ด้านเศรษฐกิจยุโรป ปัจจุบันยังชะลอตัว มีกำลังการผลิตเหลือ ขณะเดียวกันมีภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาอาหารและพลังงานที่ต่ำ และอุปสงค์ที่อ่อนแอ ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นและอาจต้องเริ่มทำ QE จากตราสารหนี้เอกชนที่มีการค้ำประกัน และในอนาคตตลาดก็คาดว่าจะนำไปสู่พันธบัตรรัฐบาลด้วย

“ก่อนหน้านี้ ECB(European Central Bank)จะเน้นว่าเงินเฟ้อต่ำเพราะว่าราคาอาหารและพลังงานที่ต่ำลง แต่ระยะหลัง ยอมรับว่ามีสาเหตุจากความอ่อนแอทางอุปสงค์ด้วย รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจก็ยังชี้ไปในทางที่ค่อนข้างอ่อนแอ” ดร.ประสารกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ไตรมาส 3 ยังเติบโตต่ำกว่าที่คาด เช่นเดียวกับไตรมาส 2 แต่ยังดีกว่าไตรมาสแรก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขายโดยตรง ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ตลาดแรงงานตึงตัว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังเห็นว่ารายได้ภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นเริ่มส่งผ่านไปในเรื่องของการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกัน รายได้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นตัวช่วยด้านอุปสงค์ให้ปรับตัวดีขึ้น

ประเด็นที่สอง นักลงทุนมีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ตลาดการเงินไม่ผันผวน เพราะว่าภาวะเศรษฐกิจการเงินชัดเจนว่า เติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ รวมทั้งนโยบายการเงินของเศรษฐกิจใหญ่ๆ ก็ค่อนข้างผ่อนคลาย ทำให้ความเสี่ยงน้อยลง ขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนหนึ่งคาดว่าธนาคารกลางจะคอยดูแลอยู่ถ้ามีความผันผวนมากขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนยังระบุด้วยว่าไม่ได้วางใจสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินมากนัก ขณะที่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะโดยรวมผลตอบแทนของตลาดการเงินที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ก็ต้องกระจายความเสี่ยงออกไป เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของตลาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้กระทบมาก แต่ตลาดการเงินของประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันมาก ความเชื่อมั่นที่หนึ่งอาจจะไปกระทบอีกที่หนึ่งได้

“เราก็เห็นปรากฏการณ์ทั่วโลกว่าตลาดหุ้นเอย ตลาดอะไรเอย มีทิศทางที่ขึ้น เพราะมีคนไปลงทุนกัน ก็มีการตั้งคำถามกันว่า แบบนี้แปลว่ามันประมาทไปไหม เขาก็บอกว่าในภาวะแบบนี้ ผลตอบแทนในการลงทุน fixed income มันค่อนข้างต่ำ ก็ต้องหาทางไป แต่ว่ายังไงก็สะท้อนว่าต้องระมัดระวัง แต่โดยรวมๆ แล้ว เขาก็มองว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ คงช่วยดูแลให้” ดร.ประสารกล่าว

ประเด็นสุดท้าย ดร.ประสารระบุว่า ในเวทีการประชุมยังมองว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสูงในระบบการเงินโลก เนื่องจากยังทำหน้าได้ดีอยู่ ทั้งนี้ หน้าที่ของสกุลเงินหลักประกอบไปด้วย 1. เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน 2. สามารถรักษามูลค่าได้ 3. สามารถเป็นหน่วยนับได้ ขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ทำหน้าที่เหล่านี้ได้ไม่สมบูรณ์นัก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

อย่างไรก็ดี สกุลเงินอื่น เช่น ยูโร เยน หยวน ก็คงมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากการบริหารเงินสำรองของทุกประเทศก็ไปในทิศทางเดียวกัน คือกระจายความเสี่ยง ไม่มีใครถือเงินสกุลเดียวเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะนำไปสู่ระบบการเงินที่มีมากกว่า 1 สกุล แต่ดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังเป็นตัวหลักต่อไปในระยะนี้

“ถามว่าตัวอื่นจะขึ้นมาได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้นทุนการใช้จ่ายเป็นอย่างไร ตลาดที่เกี่ยวข้องมีสภาพคล่องไหม มีขนาดใหญ่พอที่ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ นิยมใช้สกุลเงินนี้ไหม แล้วก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศด้วย” ดร.ประสารกล่าว

ด้านภาวะเศรษฐกิจไทย ดร.ประสารกล่าวว่า จีดีพีในปีนี้คงใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ที่ระดับ 1.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ภาคการส่งออกยอมรับว่าต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ที่ 3% เนื่องจากการส่งออกมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่วางไว้ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความอ่อนไหวในการฟื้นตัว ขณะที่การท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน พบว่ามีการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดไว้

ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว รัฐบาลมีนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายการเงิน ประกอบกับขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หากพบว่าต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมก็พร้อมพิจารณา

ทั้งนี้ ดร.ประสารระบุว่า ธปท. จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ช่วงปลายสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงทิศทางในปีนี้หน้าด้วยว่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งจะมีการหารือถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าด้วยว่าจะอยู่ที่ระดับใด โดยปัจจุบันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท. อยู่ที่ 0.5-3% ส่วนกรณีที่จะมีการเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเงินเฟ้อทั่วไปหรือไม่ ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีการพิจารณามาระยะหนึ่งแล้ว แต่คงไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวได้ในขณะนี้ ต้องขอหารือกับทาง รมว.คลังก่อน