ThaiPublica > คนในข่าว > “พรชัย รุจิประภา” รมต.ไอซีที ไขรหัสวาระแห่งชาติ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

“พรชัย รุจิประภา” รมต.ไอซีที ไขรหัสวาระแห่งชาติ “เศรษฐกิจดิจิทัล”

29 กันยายน 2014


แม้ไม่ได้กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในโยบายและแผนปฏิบัติการ 1 ปี ว่าจะ “ถอดรื้อ-ล้ม-ล้าง” นโยบายสไตล์ “ทักษิณ” แต่ภารกิจทางการเมือง-การจัดเค้าโครงการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนเป็นไปในทิศทางถอดรื้อ-ล้ม-ล้างนโยบายเก่า ในนามของการ “ปฏิรูป”

หนึ่งในนโยบายที่ต้องการแตะจุดสัมผัสจุดแข็งของรัฐบาลก่อนหน้า คือ เค้าโครง ระบบเศรษฐกิจโทรคมนาคม ที่เป็นฐานของเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมมูลค่าสูง ด้วยการเปิดประเด็นนโยบายใหม่ ที่ชื่อ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (digital economy) โดยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ยุทธศาสตร์ “ถอดรื้อ-ล้ม-ล้าง” เค้าโครงเศรษฐกิจ “สไตล์ทักษิณ” ที่ถูกวางรากทั้งฐานคน-ฐานงบประมาณไว้นานกว่า 1 ทศวรรษ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

สำนักข่าวไทยพับลิก้า สนทนาพิเศษกับ “ดร.พรชัย รุจิประภา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารเทศ (ไอซีที) อดีตข้าราชการผู้คร่ำหวอดกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่มา 3 ทศวรรษ เป็นหนึ่งในทีมรัฐมนตรีที่ต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล และไม่ต้องการแค่สร้างผลงานเป็นอนุสาวรีย์แห่งความล้มเหลว …

ดร.พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารเทศ  (ไอซีที)
ดร.พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารเทศ (ไอซีที)

ไทยพับลิก้า : แนวคิดสำคัญๆ ของเศรษฐกิจดิจิทัลที่กระทรวงต้องขับเคลื่อนมีอะไรบ้าง

ที่ผ่านมาเราก็ทำมาเยอะ ในเรื่องของด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือต่างคนต่างทำ บางทีก็วิ่งไปข้างหน้า บางทีก็ถอยหลัง บางทีดึงกันไปดึงกันมา ไม่เป็นระบบ และการตัดสินใจต่างๆ ภายใต้กระทรวงไอซีที หากกระทรวงอื่นไม่ร่วมมือด้วยก็ไม่สำเร็จ แค่จะผลักดันเรื่อง e-government ก็ปรากฏว่าถึงเวลาแล้วก็ฟุบไป

เพราะฉะนั้นแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลคือ ทำอย่างไรให้มีเอกภาพในเรื่องของการบริหารจัดการ รูปแบบจัดองค์กร ก็จะเหมือน “โมเดลของอีสเทิร์นซีบอร์ด” หมายความว่ามีคณะกรรมการระดับชาติชุดหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีฝ่ายเลขาที่เข้มแข็งในการที่จะสั่งการให้ทุกกลุ่มมาทำงานด้วยกัน

ด้านของเนื้องานก็มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 infrastructure พวกโครงข่าย สัญญาณความเร็วสูง แพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะเข้ามาทำ ซึ่งตรงนี้ของกระทรวงก็มี TOT และ CAT มีเอกชนต่างๆ ที่จะเข้ามาดูเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มที่ 2 ตัวซอฟต์แวร์ ในเรื่อง infrastructure ก็คือพวก โปรแกรม ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องมือที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ในการปฏิบัติการ เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมใหญ่ต่างๆ ให้ใช้ระบบดิจิทัลแทรกซึมเข้าไปในเนื้องานทุกอนู ซึ่งจะมีประโยชน์

ในแง่การเป็นเครื่องมือให้อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ภาคการผลิตในแง่ผู้ใช้ก็จะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การโอนเงิน เบิกเงิน หรือแบบ โมเดลต่างๆ และข้อมูลทางการตลาด นอกจากนี้ก็มีธุรกิจต่างๆ ทางด้านพาณิชย์ การท่องเที่ยว ด้านธุรกรรม และภาคการเกษตร

ในอีกด้าน เศรษฐกิจดิจิทัลโดยตัวมันเองจะสร้างอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแอนิเมชัน พวกอุปกรณ์ พวกโครงข่าย ก็สร้างอุตสาหกรรมได้ในตัว

กลุ่มที่ 3 เศรษฐกิจดิจิทัลจะเข้าไปเป็นเครื่องมือทางด้านสังคม เช่น เรื่องระบบการรักษาพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล การศึกษาทางไกล เพราะบางโรงเรียนมีนักเรียน 150 คน มีครู 1 คน ถ้าได้เครื่องมือเครือข่ายดิจิทัลไปช่วยมันก็จะเป็นประโยชน์

กลุ่มที่ 4 เป็นงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในระบบ e-government ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการแต่มีอุปสรรค ก็ทำให้ล้มลุกคลุกคลานต่างๆ เพราะฉะนั้น หากทุกกลุ่มงานถูกนำมาอยู่ในใต้ร่มเดียวกัน และอยู่ในขอบเขตการบริหารจัดการที่ชัดเจน นี่คือกลายเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของกระทรวงไอซีทีให้มีขอบเขตงานกว้างขึ้น แล้วก็มีผู้เล่นจากกระทรวงอื่นๆ ซึ่งองค์กรระดับชาติ ก็ต้องเข้าไปจี้เขาให้ปฏิบัติการตามแผน ก็คือประสานสิบทิศ

ไทยพับลิก้า : ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นมาตรการระดับ special task force ของรัฐบาลนี้

ใช่ๆ เป็นนโยบายข้อหนึ่ง คือ 6.18 ของรัฐบาล

ไทยพับลิก้า : ถ้าปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ต้องทำอย่างไร เนคเทค (Nectec: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ) จะอยู่ที่ไหน รัฐวิสาหกิจในกระทรวงจะอยู่อย่างไร

หน่วยงานต่างๆ จะเป็นผู้เล่นอยู่ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติ ต้องบริหารบุคลากร จัดโครงสร้างองค์กร คือ หน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้วจะจัดองค์กรอย่างไร ซึ่งต้องใช้ความสมัครใจของเขาที่จะเข้ามา เราเองก็ต้องเตรียมที่ให้เขา แต่จุดอ่อนของตรงนี้คือเป็นหน่วยราชการ ทำให้คนเก่งไม่เข้ามาเพราะว่าเงินเดือนนิดเดียว จะทำอย่างไรให้รองรับคนเหล่านี้ได้ เพราะตลาดของคนเก่งเหล่านี้ค่าตอบแทนอยู่ในระดับสูง นี่ก็ยังคิดกันอยู่ว่าจะเคลียร์ตรงนี้อย่างไร การทำให้คนเก่งเข้ามาร่วมกันทำงานนี้

ไทยพับลิก้า : ต้องมีการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากรงานด้านนี้หรือไม่ อย่างไร

ก็มีหลายรูปแบบ อาจเป็นองค์กรอิสระคล้ายๆ เนคเทค ขึ้นมา แล้วตั้งค่าตอบแทนให้เท่ากับเอกชน และดึงนักศึกษาที่เรียนมาทางด้านนี้เข้ามาร่วมงาน

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมีกลไกของกระทรวงที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เรามีสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรามี SIPA, e-government ฯลฯ บทบาทขององค์กรเหล่านี้จะขยายขึ้น ทุกหน่วยก็ต้องไปปรับ และการปรับโครงสร้างองค์กร ก็จะเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างของ TOT กับ CAT มิฉะนั้นธุรกิจก็สู้เอกชนไม่ได้

ไทยพับลิก้า : ถ้าหากต้องสนับสนุนให้มีเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงไอซีทีต้องเพิ่มงบประมาณรายการพิเศษหรือไม่ เท่าไร

ไม่เท่าไร เพราะว่าเป็นเรื่องการปรับโครงสร้าง เพียงแต่ว่าต้องออกมาเป็นแผนลงทุน สมมติว่าต้องวางโครงข่ายให้ทั่วทั้งประเทศ ก็ทำเป็นโครงการขึ้นมาว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร

พรชัย รุจิประภา

ไทยพับลิก้า : จะแบ่งออกเป็น 3 เฟสหรือไม่ เฟสละประมาณเท่าไร มีตัวเลขออกมาการวางว่าโครงข่าย 3 ปีใช้เงิน 8 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้เป็นไปได้หรือไม่

อาจจะแบ่งโครงการออกเป็น 3 เฟส ตัวเลขลงทุนทั้งหมด 8 หมื่นล้านก็น่าจะเป็นไปได้ แต่เป็นตัวเลขประมาณการแบบคร่าวๆ ในเบื้องต้น ยังไม่ลงรายละเอียดขนาดนั้น

ขณะนี้รอตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา ต้องมาทำแผนปฏิบัติการของทั้งระบบ ถึงจะรู้ว่าใช้งบประมาณเท่าไร่ เพราะวางขอบเขตแล้วว่าจะทำแค่ไหน หน่วยนี้จะไปจัดโครงสร้างพื้นฐานให้ถึงระดับไหน เช่น จากตรงนี้จะทำไปแค่ปากซอยไหม แล้วจากในซอยจะให้เอกชนไปทำต่อ หรือว่าเราจะทำเองหมดรวมถึงในซอยด้วย ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้วงเงินจะต่างกัน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ยังไม่มีแผนปฏิบัติการ

ยังไม่ได้ทำ แต่ของกระทรวงมีแผนแม่บทเก่าอยู่ ซึ่งวางแผนเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้จะทำอย่างไรให้ระบบบริหารจัดการมีเอกภาพมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : คณะกรรมการแห่งชาติ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานด้วยตนเอง

ได้ๆ ไม่มีปัญหาหรอก เพราะคนที่ทำงานทั้งหมดอยู่ในระดับคณะกรรมการและระดับปฏิบัติการในหน่วยงานต่างๆ เพียงแต่ว่าต้องใช้อำนาจท่านนายกฯ พูดง่ายๆ คือต้องการการสั่งการ

ไทยพับลิก้า : ต้องเปลี่ยนชื่อกระทรวงหรือไม่

เปลี่ยน แต่ยังไม่รู้ว่าจะชื่ออะไร ต้องดูร่างกฎหมายก่อน

ไทยพับลิก้า : นอกจากจัดโครงสร้างกระทรวงใหม่ จัดภารกิจของรัฐวิสาหกิจใหม่ ต้องทำอะไรใหม่อีก

ก็เริ่มขบวนการที่จะจับคนมาร่วมกลุ่มทำงาน แล้วต้องมีคณะกรรมการแต่ละชุดลงมาดูในแต่ละเรื่อง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยเอกชน อาศัยคนที่รู้จริงๆ เข้ามาจัดการ ฉะนั้นต้องมีฝ่ายเลขาธิการ ตรงนี้ต้องแข็ง มีอำนาจ สามารถจะประสานได้หมดทุกกลุ่มเพื่อให้เดินหน้าไปได้

ไทยพับลิก้า : ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลจะสำเร็จภายใน 1 ปีเท่าอายุรัฐบาลหรือไม่

ไม่เสร็จหรอก แต่เป็นการปูพื้นฐาน อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ใช้เวลาทำตั้ง 6 ปี แต่ว่า 6 ปีของเขาก็มีรูปแบบคล้ายๆ เรา คือ มีคนซึ่งเป็นนโยบายชัดเจน และมีคนรับผิดชอบทำงานชัดเจน

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลนี้มุ่งมั่นชัดเจนว่าจะทำกระทรวงใหม่ และในเวลาที่ไม่มีฝ่ายค้าน การออกกฎหมายก็ทำได้รวดเร็ว หากไม่สำเร็จภายใน 1 ปี แล้วรัฐบาลต่อไปไม่รับลูก ถือว่าล้มเหลวหรือไม่

จริงๆ เรามีเศรษฐกิจดิจิทัลมาตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงไอซีทีแล้วเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว งานหลายๆ อย่างก็เริ่มทำไปแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ครอบคลุม ยังกระจัดกระจาย เหมือนเล่นดนตรีคนละเพลงอยู่ ต่างคนต่างทำ เช่น สำนักงาน e-government เงินเหลือเป็นพันล้าน ซึ่งเราก็คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้มันเกิด

ระบบเศรษฐกิจฐานดิจิทัลมันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยกระทรวงไอซีทีอย่างเดียว แต่ขับเคลื่อนด้วยหลายส่วน เช่น ภาคเอกชน ดังนั้นพอเราหมุนเฟืองไปถึงจุดหนึ่งแล้วเฟืองจะหมุนได้ด้วยตนเอง โดยที่อะไรก็หยุดมันไม่ได้

ไทยพับลิก้า : แนวคิดให้มีเศรษฐกิจดิจิทัลมีการวางเค้าโครงตั้งแต่ตอนร่างนโยบาย

ก่อนหน้านั้นอีก ท่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และผู้รู้ทั้งหลายก็มาช่วยกันทำ

ไทยพับลิก้า : คิดกันมากขนาดนี้ถ้าไม่สำเร็จ ล้มเหลว จะทำอย่างไร

ก็อย่างน้อยๆ เราก็ได้ลอง และเป็นประโยชน์กับประเทศ ถ้ามันเดินหน้าไปได้ก็จะผลักดันให้ประเทศก้าวไปอีกระดับหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : บุคคลที่วางนโยบายของรัฐบาลที่แล้วพูดว่า เรื่องนี้ทำมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งพูดในรัฐบาลนี้ และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไทย ยังไม่รองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

ใช่…ถูกต้อง เพราะว่ายังต่างคนต่างทำกันอยู่ ทุกคนวางโครงข่ายความเร็วสูงกันหมด ทุกกระทรวงทำหมด กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเกิดปัญหาคือ 1. ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ 2. ไม่มีการจัดระบบการใช้ ทำให้กลายเป็นว่าตรงนั้นขาดนิด ตรงนี้ขาดหน่อย ถึงบอกว่าสุดท้ายแล้วต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาจัดการ

ไทยพับลิก้า : ในแง่กฎหมาย นอกจากออกกฎหมายเรื่องปรับโครงสร้างกระทรวงใหม่ ต้องมีกฎหมายลูกอะไรอีกบ้าง

ตรงนี้ผมก็สั่งให้เขาเตรียมตัวแล้ว โดยผมจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน แล้วก็มาทบทวนกฎหมายทั้งหมด ว่าตรงไหนยังขาด ตรงไหนเกินจนเป็นอุปสรรคกับภาคเอกชนหรืออะไรต่างๆ หรืออันไหนล้าสมัย ซึ่งมีกฎหมายฉบับที่ต้องดูอยู่ มีทั้งปรับกฎหมายเดิม ออกกฎหมายใหม่ และยกเลิกกฎหมาย แต่ก็เพิ่งเริ่มดำเนินการนับสิบฉบับ

ในแง่ที่ว่าถ้าทำไม่สำเร็จ คือ จริงๆ ต้องรอกฎหมายเสร็จ แต่จริงๆ แล้วงานพวกนี้สามารถปรับไปได้ เราก็เพียงปรับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานให้รองรับและสามารถทำคู่ขนานกันไปได้โดยไม่ต้องรอ

พรชัย รุจิประภา
ไทยพับลิก้า : ภาพของคณะรัฐมนตรี ที่มาจากข้าราชการ-ทหารกว่าครึ่ง มีเอกชนและนักวิชาการแค่ส่วนเดียว ภาพของความเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมจะทำให้เกิดสิ่งที่ตรงข้ามอย่างภาพเศรษฐกิจดิจิทัลได้หรือไม่

เอาจริงๆ อย่างผมรับราชการมา แต่อีกภาคก็เป็นผู้ประกอบการด้วย ส่วนใหญ่เป็นบอร์ดเอกชนมา 52 แห่ง เพราะฉะนั้นก็รู้วิธีการบริหาร ถามว่าอนุรักษนิยมไหม บางอย่างรัฐบาลที่เป็นเอกชนจ๋าทำแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น คือ เขาทำไปเกินจุดที่ควรจะทำ จึงทำให้เกิดความเสียหาย แต่ว่าพวกนี้อนุรักษนิยม ก็ไม่ได้อนุรักษ์นิยม 100% แต่หมายความว่าทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งก็สามารถทำให้มีประสิทธิภาพได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการว่าจะทำอย่างไร แต่ว่าควรอยู่ในขอบเขตที่ควรจะอยู่ ทำเร็วก็ได้ ท่านายกฯ คนนี้เร็วจะตาย แต่เร็วแล้วต้องไม่ผิด เร็วแล้วผิดก็ไม่ไหว สุดท้ายทุกคนก็โดนเชคบิลเรื่องต่างๆ เต็มไปหมด

ไทยพับลิก้า : ดูแล้วนายกฯ คนนี้คิดเร็ว-ทำเร็ว แล้วจะมีบทเรียนซ้ำหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเมืองไทยก็มีนายกฯ ที่เร็ว แล้วก็มีคนถูกเชคบิล ก็เป็นบทเรียนสำหรับการบริการราชการแผ่นดิน

ผมว่าไม่…เพราะเวลาท่านสั่งต้องไม่ผิดด้วย มีกฎหมายก็ทำตามกฎหมาย มีระเบียบก็ต้องทำตามระเบียบ แต่ระเบียบหลายๆ อย่างก็อยู่ที่ดุลพินิจ ที่ผ่านมาบางเรื่องไม่กล้าตัดสินใจไง อย่างสมัยก่อนตัดสินใจแล้วเสียพันหนึ่งก็โอเคให้ทำ แต่ถ้าเสียแสนหนึ่งก็คิดยาวนิดหนึ่ง แต่ถ้าเป็น 10 ล้านก็อาจต้องจดปากกาหน่อย มันอยู่ที่วิธีการทำ ทำเร็วก็ได้ เพียงแต่ว่าบางเรื่องคนเขาไม่กล้า อย่างรัฐบาลก่อนๆ พอถูกสั่งให้ทำปุ๊บก็ต้องทำ

ไทยพับลิก้า : ท่านเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิต เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจ วันนี้เป็นรัฐมนตรี สิ่งที่คิดว่าจะสร้างไว้เป็นเกียรติยศในอาชีพของการเป็นรัฐมนตรีคืออะไร

ผลักดันตรงนี้ไปให้ถึงจุดซึ่งถอยอีกไม่ได้แล้ว นี่คือหลักการทำงานของผมทุกอัน ผมรู้ว่าหลายๆ อย่างเปลี่ยนเมื่อรัฐบาลเปลี่ยน แต่ถ้าหากมันดีจริงๆ รัฐบาลก็ต้องทำ เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ผมทำเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาเห็นประโยชน์เขาก็ทำ หน้าที่ผมตอนนั้นที่เป็นข้าราชการคือเข้าไปชี้แจงนายกฯ พอเข้าไปพูดเสร็จเขาก็บอกว่านี่เป็นของรัฐบาลที่แล้ว ผมก็บอกก็ไม่เป็นไรครับท่านก็ปรับชื่อ ปรับโครงการนิดหน่อย แต่จริงๆ ก็อยู่ในทางของเรานั่นแหละ

คือเราก็ต้องเห็นใจรัฐบาลด้วยว่าเขาก็ถูกสังคมกดดันบังคับมาอย่างนั้น แต่หากรัฐบาลเขาเสนอนโยบายที่ต้องสนับสนุนให้เขาทำต่อไป มิฉะนั้นประเทศเราจะไม่ได้วางแผนระยะยาว ซึ่งไปดูได้เลยว่าโครงการเหล่านี้ระยะยาวทั้งนั้น ถ้าทำแล้วหยุดก็จะเจอแต่อนุสาวรีย์

ไทยพับลิก้า : ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้มี 3 ทีม ท่านอยู่ทีมไหน วิเคราะห์ว่าทีมไหนจะได้ผลงานโบว์แดง

ทีมท่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล …ผมไม่รู้ว่าเขาแข่งกันหรือ.?

ดร.พรชัย แง้มไอเดีย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แผนผ่าตัด 2 รัฐวิสาหกิจ

หนึ่งในนโยบายที่สำคัญ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้น้ำหนัก คือการตรวจสอบทบทวนแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ที่ถูกสปอตไลต์สาดส่อง ทันทีที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามารับไม้ต่อจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ บริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด

กรอบความคิดในการ “ผ่า-ตัด” 2 รัฐวิสาหกิจ ในมุมมองของ “ดร.พรชัย รุจิประภา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกันของกระทรวงการคลัง-กระทรวงคมนาคม และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่สมบูรณ์

ดร.พรชัยบอกว่า “รูปแบบของการจัดองค์กรบริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด จะเป็นไปในรูปแบบไหน จะเป็นแค่สาธารณูปโภค จะเป็นคนให้บริการทางด้านโครงข่าย หรือด้านอื่นๆ แล้วให้เอกชนมาประมูลต่างๆ ตอนนี้ก็ยังกำลังคุยกับกระทรวงการคลังอยู่ ว่าเราจะทำอย่างไรกับส่วนนี้ เพราะคณะรัฐมนตรีก็ให้เราแก้ไขปัญหา”

ประเด็นที่ต้องแก้ไข เรื่องใหญ่คืออะไร “ดร.พรชัย” ไขรหัสว่า “เป็นเรื่องของธุรกิจเขา 2 รัฐวิสาหกิจ เรื่องบทบาทของเขาที่จะเข้ามาเสริมเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจดิจิทัล”

ส่วนแนวทางจะกลับไปสู่การเป็นผู้ให้สัมปทานหรือว่าจะเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจโทรคมนาคมด้วยตัวเอง “ดร.พรชัย” ยังไม่ให้คำตอบที่แน่ชัด “ต้องลงไปคุยในรายละเอียดก่อน เพิ่งได้รับรายละเอียดยังต้องหารือกับหลายฝ่าย”

“ดร.พรชัย” บอกว่ายังตอบไม่ได้ว่าจะให้บริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด จัดการสัมปทานเก่าที่จะสิ้นสุดอย่างไร “ต้องคุยกันก่อน เสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องต่อไม่ต่อสัมปทาน แต่ต้องคุยกับทาง กสทช. ด้วย โดยหลักกระทรวงไอซีทีต้องตกผลึกให้ได้ และหารือร่วมกับกระทรวงการคลังก่อน แล้วค่อยไปคุยกับ กสทช. ว่าจะจัดการอย่างไรภายใต้เงื่อนไขนี้”

ทั้งเรื่องการต่อ-ตัด สัมปทาน และการจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ของ 2 รัฐวิสาหกิจ “ดร.พรชัย” บอกว่าต้องจัดการอย่าง “รวดเร็ว เร่งด่วน สัปดาห์หน้าจะหารือกับกระทรวงการคลัง”

วาระเร่งด่วน-ปมปัญหา ที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องเร่งสะสาง เรื่อง 2 รัฐวิสาหกิจ มี 2 ประเด็น ในทัศนะ “ดร.พรชัย” ประกอบด้วย “ประการที่หนึ่ง กำลังจะหมดสัมปทาน และ สอง ปัญหาขาดทุนที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบแก้ บริษัททีโอทียังกำไรอยู่ 600 ล้านบาทในปี 2556 แต่บริษัท กสท โทรคมนาคม ขาดทุนเยอะ”

ดังนั้น การสะสางสัมปทาน-ผลการขาดทุน ของ 2 รัฐวิสาหกิจ คือ เป้าหมายระยะสั้นก่อนไปถึงพรมแดนของเศรษฐกิจดิจิทัล

คำถามเรื่องแนวโน้มที่จะให้ 2 รัฐวิสาหกิจถอยหลังกลับไปเป็นผู้ให้สัมปทาน “ดร.พรชัย” ยืนยันว่า “ไม่หรอก…แต่ต้องมาดูธุรกิจเขา บริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ว่าจะสามารถปรับองค์กรและปรับภารกิจได้ไหม คนที่เขามีอยู่จะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาหลายๆ อย่างประกอบกัน แต่ว่าทิศทางนี้ยังไม่ได้ตกผลึกกันชัดเจน”

ทางเลือก-ทางรอด ของบริษัท ทีโอที จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ในแง่หลักการ “ดร.พรชัย” ตอบได้ แต่ไม่ฟันธงว่า “ทั้ง 2 แห่ง เขาทำด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายความเร็วสูง และเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายสาธารณะ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ซึ่งงานทางด้านนี้มหาศาล หรือว่าจะให้บริการอื่นๆ อีกได้ ซึ่งถ้าเขาทำได้เขาก็สามารถที่จะยืนอยู่ได้ แต่ก็ต้องไปดูด้วยว่าในองค์การของเขาเองจะต้องจัดการอะไรต่อ มันเร็วเกินไปที่ผมจะพูดฟังธง…มันฟังธงไม่ได้หรอก”