ThaiPublica > เกาะกระแส > ตัวแทนคนหาปลาเขมร-ไทยแถลงร่วม “เราไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขง เราต้องการปลาและวิถีชีวิต”

ตัวแทนคนหาปลาเขมร-ไทยแถลงร่วม “เราไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขง เราต้องการปลาและวิถีชีวิต”

17 กันยายน 2014


เสวนา หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง: เสียงเรียกร้องของคนหาปลา
เสวนา หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง: เสียงเรียกร้องของคนหาปลา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จัดเวทีสรุปข้อมูลสำหรับสื่อมวลชนในหัวข้อ“เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค”

วันที่ 17 กันยายน 2557 หลังจากชุมชนประมงที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ตัวแทนคนหาปลาประกาศ “เราไม่เอาเขื่อนแม่น้ำโขง” เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการพบปะกันสามวันริมฝั่งน้ำมูน ระหว่างตัวแทนคนหาปลาจากทะเลสาบเขมร และริมน้ำโขงของไทยและกัมพูชา พร้อมแสดงจุดยืนการต่อสู้ร่วมกันที่ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“นอกจากจับปลา ผมไม่รู้จักวิธีหากินอื่นใดในชีวิต ถ้าไม่มีปลาแล้ว ชีวิตของพวกเราก็เท่ากับจบสิ้น” ลอง โสแจ้ด ประธานเครือข่ายประมงชุมชนทะเลสาบเขมร กล่าวในการเสวนา

พร้อมกล่าวว่า“ทะเลสาบเขมรเลี้ยงคนสี่ล้านคนในพื้นที่ ด้วยปลาประมาณ 368,000 ตันที่จับได้ต่อปี ถ้าแม่น้ำโขงถูกปิดกั้น ทั้งน้ำ ทั้งปลาจากแม่น้ำโขงจะไม่เข้ามาหล่อเลี้ยง ทะเลสาบให้เป็นทะเลสาบอีกต่อไป เราต้องการปลา ไม่ต้องการไฟฟ้า เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องให้ใครก็ตามที่ต้องการสร้างเขื่อน ขอให้จงหยุดการกระทำนั้นเสีย”

ขณะที่”สมปอง เวียงจันทร์” ตัวแทนและแกนนำชาวบ้านปากมูนชี้ชัดในช่วงการอภิปราย พร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านปากมูนต้องสู้กับเขื่อนแม่น้ำโขงว่า “เขื่อนปากมูนไม่ได้เอาไปแค่ปลา แต่เอาวิถีชีวิตและชุมชนของเราไปด้วย ในอดีต มิตรสหายญาติพี่น้องของเรามาเยี่ยมเยียนทุกปีเพื่อเอาข้าวและอื่น ๆ มาแลกปลา ทุกวันนี้ไม่มีใครมาหาเราเพราะเราไม่มีปลาอีกแล้ว เราไม่มีอะไรจะแบ่งปันกันอีกแล้ว”

และกล่าวย้ำว่า “เราต้องเจรจา ต่อรองทุกปีให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนปากมูนให้ปลากลับมาในแม่น้ำมูน แต่ถ้าเกิดเขื่อนดอนสะโฮงกั้นโขง จะไม่มีปลาเข้ามาในลำน้ำมูนอยู่ดี หมายความว่าที่เราสู้กันมา 26 ปี ตลอด 17 รัฐบาลก็เป็นความล้มเหลวทั้งหมด แล้วเราจะหยุดสู้เขื่อนได้อย่างไร”

ทั้งนี้แถลงการณ์ที่ประชาชนออกร่วมกัน มีประเด็นหลักคือการเรียกร้องให้หยุดเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งหมด ในตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่และโดยทันทีเพื่อหยุดเขื่อนทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง” ทั้งนี้ รัฐบาลลาวเป็นเป้าหมายสำคัญในการวิพากษ์ของกลุ่มประชาชน “ รัฐบาลลาวต้องทบทวนการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง และต้องอำนวยให้มีการจัดการทำการศึกษาข้ามพรมแดนอย่างชัดเจนโดยทันที (โดย) ประชาชนจากชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน”

การพบกันระหว่างตัวแทนสองประเทศที่เขื่อนปากมูนนับเป็นครั้งแรก เป็นที่เปิดโอกาสที่ให้ชุมชนชาวประมงยืนยันความทุกข์ที่มีร่วมกัน และพันธะสัญญาในการทำงานร่วมกัน

“พวกเราอยากบอกนักสร้างเขื่อนว่าท่านกำลังสร้างบนคราบน้ำตาของเรา ผมได้มีโอกาสไปเห็นเขื่อนปากมูนและพูดคุยกับพี่น้อง แล้วได้เข้าใจว่าเขื่อนมันทำลายชีวิตเราได้ถึงเพียงใด” สมอาด จากทะเลสาบเขมรพูดถึงความรู้สึก

“เราเชื่อว่าชาวประมงลุ่มน้ำโขงและทะเลสาบ บัดนี้ได้รวมตัวกันแล้ว และเรามีสัญญาต่อกันว่าจะไม่หยุดสู้จนได้เห็นผล”ลอง โสแจ้ด ชาวประมงจากกัมพูชากล่าวยืนยันในท้ายที่สุด

หยุดเขื่อนแม่โขง

แถลงการณ์ร่วม เครือข่ายชุมชนคนหาปลา หยุดเขื่อนลุ่มน้ำโขง !

วันที่ 15 และ 16 กันยายน 2557 ณ บ้านค้อใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นวันสำคัญที่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนคนหาปลาจากประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ได้มารวมตัวกัน นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ซึ่งต้องดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบที่ได้รับจากเขื่อนมาตลอด 26 ปีเต็ม มีโอกาสต้อนรับตัวแทนจากชุมชนประมงในแม่น้ำโขงสายหลักและทะเลสาบเขมรจากประเทศกัมพูชา การรวมตัวด้วยความสมานฉันท์ครั้งสำคัญครั้งนี้ ก็เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราทั้งหลาย ในการร่วมกัน เพื่อแสดงความกังวลอันใหญ่หลวงของเราเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในเรื่องการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา พวกเรามาร่วมกันในครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงข้อกังวล ข้อเรียกร้อง และแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันในประเด็นที่เราเชื่อว่าเป็นประเด็นข้ามพรมแดนที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเราทั้งหลาย

วิถีชีวิตของชุมชนคนหาปลาจำนวนมากมายในภูมิภาคแม่น้ำโขง ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขา และทะเลสาบเขมรอย่างเบ็ดเสร็จ แม่น้ำซึ่งไหลอย่างอิสระ และธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของทะเลสาบเขมรนั้น ทำให้เรามีปลา และธาตุอาหารซึ่งบำรุงหล่อเลี้ยงดินทั้งในป่าธรรมชาติและที่ดินเกษตรกรรม แม่น้ำและทะเลสาบเหล่านี้จึงเป็นแหล่งก่อกำเนิดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเรา ในด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการประมง เกษตรกรรม หรือการท่องเที่ยว ล้วนได้รับการหล่อเลี้ยงจากสายน้ำทั้งสิ้น พื้นที่ป่าน้ำท่วมถึงตลอดลำน้ำโขง แม่น้ำสาขา และทะเลสาบเขมร ยังก่อให้เกิดวิถีการดำรงชีวิตที่หลากหลาย รวมถึงเป็นแหล่งพืชสมุนไพรและอาหารซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความมั่นคงของชีวิตสำหรับพี่น้องในชุมชนคนหาปลาจำนวนมากมาย หากระบบนิเวศนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร จะไม่สามารถดำรงชีวิต ครอบครัว และวิธีชีวิตของพวกเขาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจึงหมายถึงจุดจบของแม่น้ำและการล่มสลายของชุมชนคนหาปลา

แม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างและทะเลสาบเขมรผลิตปลาน้ำจืดได้ถึง 2,100,000 ตันต่อปี เป็นอาหารเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 6 ล้านคนในลุ่มน้ำ แม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำโขง อาทิ แม่น้ำมูนในประเทศไทย แม่น้ำเซซานในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม และแม่น้ำเทินในประเทศลาว ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งผลิตปลาที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งของภูมิภาค ด้านทะเลสาบเขมร หรือมหาทะเลสาบแห่งลุ่มน้ำโขงนั้น คือแหล่งประมงที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าอย่างที่สุด ทะเลสาบเขมร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของกัมพูชา เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ บริเวณรอบทะเลสาบมีผู้คนอาศัยอยู่ราว 4 ล้านคน ในปี 2556 ปริมาณปลาน้ำจืดที่จับได้จากทะเลสาบเขมรมีมากถึง 368,000 ตันโดยประมาณ ระบบนิเวศของทะเลสาบเขมรมีความสัมพันธ์โดยตรงกับแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการวางไข่และการอพยพของปลา หากแม่น้ำโขงไม่ได้รับการดูแลรักษาให้อุดมสมบูรณ์ ทะเลสาบเขมรเองก็ไม่มีทางที่จะอุดมสมบูรณ์ไปได้

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงและน้ำสาขา รวมทั้งทะเลสาบเขมร เผชิญหน้ากับภัยคุกคามอันมาจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ จีนเป็นผู้นำในการเริ่มก่อสร้างเขื่อนยักษ์บนลำน้ำโขงสายหลักเป็นเขื่อนแรกเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และปัจจุบันเพิ่งสร้างเขื่อนแห่งที่ 6 เสร็จสิ้นไป นับตั้งแต่การเริ่มต้นก่อสร้างเขื่อนแห่งแรกบนลำน้ำโขงสายหลักของจีน ประชาชนในชุมชนคนหาปลาในลำน้ำโขง เห็นเป็นประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงมหาศาลในเรื่องระดับน้ำและการลดลงของพันธ์ปลา แม่น้าสาขาสายหลักของแม่น้ำโขงพบกับปัญหาอย่างเดียวกันเมื่อเขื่อนปากมูลถูกสร้างบนลำน้ำโขง เขื่อนน้ำตกยาลีบนแม่น้ำเซซาน และเขื่อนน้ำเทินบนลำน้ำเทิน ผลกระทบที่รุนแรงของเขื่อนต่อประชาชนและระบบของลำน้ำ นำมาซึ่งยุคสมัยแห่งความขมขื่นของชุมชนคนหาปลาในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชาและลาว ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นธรรมชาติในแม่น้ำโขงและน้ำสาขา ทำให้ประชาชนต้องเริ่มแสดงพลังทั่วทั้งภูมิภาค ความกังวลมิได้พูดกันแต่ในภูมิภาคแม่น้ำโขง หากแต่ส่งไปยังทุกประเทศอุษาคเนย์ การต่อสู้ดิ้นรนและความเป็นห่วงกังวลร่วมกันถูกเสนอทั้งในภูมิภาคและในระดับสากล แต่จะอย่างไรก็ตาม ปัญหาเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ยังหาได้มีการแก้ไขให้ลุล่วงไปไม่

ข้อกังวลของเรา

แม้จะร่วมกันหยิบยกเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นแล้วและข้อกังวลต่าง ๆ ขึ้นมาแสดงอย่างต่อเนื่อง บรรดารัฐบาล ยังคงกุมอำนาจในการวางแผนและเสนอสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่สนใจว่า ผู้ซึ่งต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนก็คือประชาชนในชุมชนประมงทั้งตอนบนและตอนล่างของเขื่อน

ชุมชนคนหาปลาทั้งในประเทศกัมพูชาและไทยต่างเคยประสบกับผลกระทบและความเสียหายจากเขื่อนน้ำตกยาลีและเขื่อนปากมูนมาจนทุกวันนี้ หลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของทั้งสองโครงการ แทนที่ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือเข้ามีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ พวกเขากลับถูกทอดทิ้งให้ดิ้นรนต่อสู้กับผลกระทบรุนแรงซึ่งอยู่เหนือความคาดหมายแม้จากผู้สร้างเขื่อนเอง ในกรณีของเขื่อนน้ำตกยาลี การขาดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนามและบริษัท เพื่อเสนอข้อเท็จจริงต่อภาคประชาสังคม ชุมชน รวมถึงสาธารณชน คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศลุ่มน้ำโขงให้ความสนใจ หรือกังวลต่อผลกระทบจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบน้อยมาก กรณีของเขื่อนปากมูนนั้น หลังจากผ่านไปแล้วถึง 17 รัฐบาล ตลอด 26 ปีของการต่อสู้ รัฐบาลไทยยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาและเปิดประตูเขื่อนปากมูนอย่างที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้ ชุมชนคนหาปลาปากมูนยังคงต้องต่อรองและรณรงค์ประท้วงทุกปีมาจนปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง คืออีกประเด็นอันเป็นข้อเป็นห่วงร่วมกันของเรา ระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่ปกติในแม่น้ำโขงทั่วทั้งภูมิภาค ทำร้ายพันธ์ปลาและปริมาณปลา การทำเกษตรริมฝั่งถูกทำลายจากน้ำท่วมพื้นที่และการกัดเซาะของตลิ่ง สิ่งที่เกิดกับชุมชนริมน้ำโขงในปลายปี 2556 และต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ยืนยันความเชื่อของพวกเราว่า เขื่อนเป็นสาเหตุของการขึ้นลงไม่ปกติของแม่น้ำ หากไม่มีสิ่งใดสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การสร้างเขื่อนได้ เราเชื่อว่าจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่หนักหน่วงนี้มากขึ้นทุกปี

เราเห็นว่า ผลกระทบจากเขื่อนจีนและกระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮงอย่างต่อเนื่องในประเทศลาว โดยรัฐบาลลาวและบริษัทจากประเทศไทยและมาเลเซีย คือสิ่งที่เป็นประเด็นร้อนแรงและเร่งด่วนที่สุดที่พวกเราเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ กระบวนการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและดอนสะโฮง กำลังซ้ำรอยประสบการณ์การไม่มีส่วนร่วมของชุมชนคนหาปลา เขื่อนดอนสะโฮงจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ปลาทั้งในลำน้ำโขงและทะเลสาบเขมร ผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อน จะถือว่าน้อยนักเมื่อเทียบกับผลกระทบที่จะมีต่อชุมชนคนหาปลา และเขื่อนเหล่านี้จะยิ่งทำให้สภาพเลวร้ายที่เราได้รับจากเขื่อนจีนอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลง
จุดยืนของเรา

เราขอยืนยันว่า การกีดกันประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อน ไม่ให้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อน และถูกกีดกันไม่ให้ส่งเสียงคัดค้านโครงการ ถือเป็นการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง

เราเชื่อว่า ประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเจ้าของสายน้ำและทรัพยากรแหล่งน้ำ เราเชื่อว่าประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงมีสิทธิที่จะปกปักรักษาแม่น้ำ จากการกระทำใด ๆ ที่ที่เป็นการบ่อนทำลายแม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมร

เราจึงขอยืนยันจุดยืนที่จะไม่ยอมให้เขื่อนใด ๆ บนแม่น้ำโขงมาแย่งชิงหรือพรากทรัพยากรไปจากเรา

เราจึงขอประกาศคัดค้านทุกเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง

ข้อเรียกร้องของเรา

เรา เครือข่ายชุมชนคนหาปลา มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้:

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลลาว: รัฐบาลลาวต้องทบทวนการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง และต้องอำนวยให้มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างชัดเจนโดยทันที ในการทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ประชาชนจากชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน กระบวนการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดต้องระงับไว้ระหว่างการศึกษา

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขง: รัฐบาลของทุกประเทศต้องรับฟังเสียง “ไม่เอาเขื่อน” ของประชาชน และต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่และโดยทันทีเพื่อหยุดเขื่อนทั้งหมดบนลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะก่อสร้างไปแล้วหรือกำลังมีแผนที่จะก่อสร้าง

ข้อเรียกร้องต่อนักลงทุนและนักสร้างเขื่อน: ภาคธุรกิจต้องหยุดการลงทุนใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง ข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเพื่อการลงทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำของพวกเรา

ข้อเรียกร้องต่อสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารพาณิชย์: หยุดและล้มเลิกให้กู้เงินแก่บริษัทสร้างเขื่อน ประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งในกรณีเขื่อนปากมูนที่ได้รับเงินทุนจากธนาคารโลกควรนำมาใช้เป็นบทเรียน

ข้อเรียกร้องต่อภาคประชาสังคมและสาธารณชน: เรา เครือข่ายชุมชนคนหาปลาแม่น้ำโขง หวังให้ท่านตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง นอกเหนือไปจากฟังการชวนเชื่อว่าเขื่อนคือแหล่งพลังงาน เราขอเรียกร้องให้ท่านเข้าร่วม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในการหยุดยั้งเขื่อนทุกเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง

วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยั่งยืนของชุมชนคนหาปลาลุ่มแม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในสิ่งบ่งชี้สำคัญถึงการดำรงอยู่ของชีวิตแม่น้ำโขง เรา ในฐานะสมาชิกชุมชนคนหาปลาลุ่มแม่น้ำโขงยืนยันที่จะมีบทบาทในการปกป้องแม่น้ำและชีวิตของเรา เราเชื่อว่า เมื่อเสียงของเราถูกได้ยินและได้รับการพิจารณาอย่างแท้จริงเท่านั้น แม่น้ำโขงจึงจะสามารถดำรงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในภูมิภาคนี้ได้ และไม่เพียงภูมิภาคแม่น้ำโขงเท่านั้น ภารกิจดังกล่าวจะช่วยดำรงพื้นที่อันเป็นแหล่งพึ่งพิงทางธรรมชาติและความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลกอีกด้วย

การที่รัฐบาลประเทศลุ่มแม่น้ำโขงปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียวิถีการหาเลี้ยงชีพด้วยการหาปลาและวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ รวมถึงทำให้พวกเราต้องเผชิญกับความกดดันบีบคั้นทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากความไม่มั่นคงในชีวิต สถานการณ์เช่นว่านี้จะต้องยุติลง ก่อนที่จะกลายเป็นสิ่งที่สายจนเกินแก้

16 กันยายน 2557
อุบลราชธานี ประเทศไทย

ลงนามโดย:
คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน
สภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
เครือข่ายชาวประมงกัมพูชา [Cambodia Community Fishery (CCF)]

พันธมิตร
เครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อชาวประมง กัมพูชา [Fishery Action Coalition Team (FACT)] โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง