ThaiPublica > คนในข่าว > ปมการเมืองใน 3 ทีมเศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร-นายสมคิด” สนธิกำลังพิสูจน์ฝีมือชิงผลงานโบว์แดง ล้ม-ล้าง นโยบายประชานิยมสไตล์ “ทักษิณ”

ปมการเมืองใน 3 ทีมเศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร-นายสมคิด” สนธิกำลังพิสูจน์ฝีมือชิงผลงานโบว์แดง ล้ม-ล้าง นโยบายประชานิยมสไตล์ “ทักษิณ”

25 กันยายน 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะนำคณะรัฐมนตรีต่อหน้าหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารราชการแผ่นดินระยะ 1 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2557 ว่า “คณะรัฐมนตรีของผมคณะนี้ไม่ได้มาเป็นกันง่ายๆ นะครับ…ต้องขอร้องให้มาเป็น”

การจัดคณะรัฐมนตรี 34 คน ทั้งสายการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ทุกตำแหน่งจึงมีที่มาจากการคัดเลือกของหัวหน้าทีมแต่ละทีม

เฉพาะรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 3 ทีม 3 สาย แต่ละสายมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับนายพล-ผู้มีบารมีเหนือกองทัพ และมีภารกิจทั้งเก่า-ใหม่ ที่ครอบคลุมการล้ม-ล้าง “ระบอบทักษิณ” ด้วย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ทีมที่ 1 เป็นทีมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดสรรและโทรศัพท์ชักชวนด้วยตัวเอง เป็นทีมที่ทำงานต่อเนื่องจากการวางเค้าโครงเศรษฐกิจยุคที่ คสช. เข้ามายึดอำนาจในช่วงตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก จนถึงโรดแมปขั้นที่ 2

ทีมที่ 1 นี้ จะเน้นการสร้างผลงาน ด้วยการวางแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รองหัวหน้า คสช. ด้านเศรษฐกิจ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ปฏิบัติงานควบคู่ 2. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ที่ได้รับโทรศัพท์สายตรงจากผู้มีบารมีในกองบัญชาการ คสช. และกองทัพบก ตั้งแต่ขอให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และวันที่ขอให้ “ลาออก” จาก สนช. เข้าสู่บัญชี “ครม.”

รัฐมนตรีคนที่ 3 ในทีมนี้ ยังมีนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ต้องรับหน้าเสื่อ สานต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) การผ่าตัด 2 รัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม คือ บริษัท ทีโอที จำกัด กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด

ในทีมนี้ นายกรัฐมนตรีคาดหวังให้ขับเคลื่อนแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านพื้นฐาน วงเงิน 2.4 ล้านล้าน วางรากฐานในช่วง 1 ปีนับจากนี้ และแผนงานลงทุนต่อเนื่อง 8 ปี รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโครงการให้บริการประชาชนด้านการขนส่ง เช่น รถเมล์เอ็นจีวี 3,000 คัน และโครงการรถไฟทางคู่ทุกสาย และเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย

ทีมที่ 2 ทีมของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคณะ คสช. ในสายนี้ หัวหน้าทีมคัดสรรจากกลุ่มอดีตรัฐมนตรีในยุคหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และกลุ่มข้าราชการที่อยู่ในสายตรงกันข้ามกับเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีพลังงาน 2. นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 3. นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 4. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หัวหน้าทีมนี้ แนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีบารมีเหนือกองทัพ และเป็นพี่ใหญ่แห่ง “บูรพาพยัคฆ์” ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความสัมพันธ์พิเศษต่อกันทั้งในนามของ “เซนต์คาเบรียลคอนเนกชัน” และเป็นทีมงานพิจารณา “พิมพ์เขียว” การปฏิรูปงานด้านเศรษฐกิจ มาตั้งแต่โรดแมปขั้นที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มต้น

ทีมนี้ นายกรัฐมนตรีคาดหมายผลงานการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรม การล้างระบบสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ และการบริหารโครงการประชานิยมใหม่ ที่ทำแล้วคือ ชำระหนี้ให้ชาวนา เตรียมเสนอร่างภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ทีมนี้มาแรง มีผลงานแบบ “ทำทันที” คือ ล้มล้างกองทุนประชานิยมในยุค “พ.ต.ท.ทักษิณ-สมชาย-ยิ่งลักษณ์” จำนวน 10 กองทุน ไม่มีการจัดสรรงบประมาณให้อีกต่อไปในปีงบประมาณ 2558 วงเงินหมุนเวียนจำนวน 137,760 ล้านบาท อาทิ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชน, กองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร, กองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ, กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ และกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

ที่ยังคงไว้ เช่น กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 114,963.6 ล้านบาท กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 14,394 ล้านบาท

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ซ้าย) - ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ขวา)
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (ซ้าย) – ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (ขวา)

ทีมที่ 3 ทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ยังคงรั้งตำแหน่ง 1 ใน 15 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และยังเป็นทีมที่ปรึกษา คสช. อีกด้วย ในทีมนี้ เป็นงานกึ่งความมั่นคง-การต่างประเทศ กึ่งเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 1. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 2. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีม และลูกทีมนี้ แนบแน่นกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีบารมีในกองทัพ และมีคอนเนกชันพิเศษ-ถาวรกับองคมนตรีและเครือข่ายอำมาตย์เก่าแก่ และคุ้นเคยกับบรรดาพ่อค้า-นักธุรกิจยักษ์ใหญ่ ที่นายสมคิดยังควบตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง

ทีมงานของนายสมคิดส่วนหนึ่งจึงประจำการในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

แหล่งข่าวในทีมเศรษฐกิจเล่าว่า ตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร และมีการแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาคณะ คสช. และมีการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทั้ง 3 ทีม และผู้มีบารมีเหนือกองทัพ มีการนัดหมายหารือทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการสม่ำเสมอ โดยมีบางวาระที่เกิดความไม่ลงรอยกัน จนต้องโยนข้อเสนอให้ไปตัดสินกันที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ทำให้ทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บังเอิญไปพบกันโดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้คาดหมาย

กระทั่งเมื่อเข้าสู่โรดแมปขั้นที่ 2 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยังมีการประชุมนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการของทั้ง 3 ทีม เสมอ บางครา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็เชิญทีมรัฐมนตรีในเครือข่ายมาหารือที่ตึกบัญชาการ แล้วนำทีมเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยรัฐมนตรีที่เคยถูกเชิญมาหารือนอกรอบ อาทิ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

และจากนี้ไป จะมีการออกแบบให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างทีมคณะรัฐมนตรี 34 คน กับคณะ คสช. 15 คน เดือนละ 1 ครั้ง โดยจะรับทราบผลการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ หากมีวาระใดพิจารณาไม่ลงตัว อาจจะถูกนำไปตัดสินในคณะ คสช. แทน

จึงน่าติดตามอย่างระทึกใจยิ่งว่า จากนี้ไปรัฐมนตรีเศรษฐกิจทีมใด จะได้เป็นผู้ครอบครองผลงานที่เด่นชัด เป็นรูปธรรมที่สุด และสมควรได้ติดโบว์แดง ในการขึ้นเค้าโครงแผนการบริหารเศรษฐกิจของประเทศใหม่ การออกมาตรการ บังคับใช้กฎหมายที่ล้ม-ล้างระบอบเก่า จะสำเร็จหรือไม่ในแผนปฏิบัติการ 1 ปี