ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ประยุทธ์” สั่ง ครม. อัดฉีดงบประมาณโค้งสุดท้าย 2557 วงเงิน 1.2 ล้านล้าน กำชับรายงานผลปฏิบัติงานทุก 7 วัน แต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงเศรษฐกิจ-สำนักนายกฯ 32 ราย

“ประยุทธ์” สั่ง ครม. อัดฉีดงบประมาณโค้งสุดท้าย 2557 วงเงิน 1.2 ล้านล้าน กำชับรายงานผลปฏิบัติงานทุก 7 วัน แต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงเศรษฐกิจ-สำนักนายกฯ 32 ราย

23 กันยายน 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน และรายงานผลเป็นรายสัปดาห์ จากนั้นสำนักนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รวบรวมนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมประมาณ 1,265,064.26 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็น ยอดเงินที่ต้องเร่งเบิกจ่าย ภายในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2557 และเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย งบรายจ่ายประจำ 791,443.27 ล้านบาท งบประมาณลงทุน 149,146 ล้านบาท รวม 940,589.26 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณลงทุนที่เหลือจ่ายจากปี 2557 วงเงินประมาณ 160,000 ล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2558 วงเงินรวม 657,901 ล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาสแรก (ม.ค.-มีค.) ปี 2558 ประมาณ 164,475 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่าย โครงการขนาดเล็ก ที่เป็นการเบิกจ่ายครั้งเดียวโดยไม่มีผลผูกพันข้ามปีอีกจำนวนหนึ่ง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ครม. ได้เห็นชอบกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2558 โดย ครม. มีมติรับทราบประมาณการงบทำการประจำปี 2558 ของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง คาดว่าจะมีรายได้รวม 2,008,297 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,919,758 ล้านบาท กำไรสุทธิ 83,269 ล้านบาท ไม่รวมรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงินดำเนินการ 1,397,412 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 657,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 14% และ ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเร่งรัดการกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน โดยเฉพาะการเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ

ขณะเดียวกัน ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนบทบาท และทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจและความจำเป็นในการคงสภาพของรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ปัจจุบันไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ควรกลับไปทำภารกิจของตัวเองในการดูแลสินค้าส่วนเกิน หรือองค์การสะพานปลา ที่วัตถุประสงค์เดิมเพื่อเป็นจุดรับซื้อสัตว์ทะเลขึ้นฝั่ง แต่ปัจจุบันภาคเอกชนดำเนินการส่วนนี้ได้ดีแล้ว ดังนั้นองค์การสะพานปลาควรนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปทำการค้าด้านอื่นได้หรือไม่

ครม. ยังได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเจ้าสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่จะหมดสัมปทานในปี 2558 โดยอาจพิจารณาแนวทางสนับสนุนหรือส่งเสริมการทำธุรกิจร่วมกัน และให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับงานด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 ให้รัฐวิสาหกิจจัดสรรงบวิจัยอย่างน้อย 3% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี

ครม. ยังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการเบิกจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(กลาง) และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้ายสุด) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557
ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(กลาง) และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ซ้ายสุด) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557

การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 32 ราย

กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 5 ราย ดังนี้

1. นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายธวัช ผลความดี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายวิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

กระทรวงการคลัง จำนวน 7 ราย ดังนี้

1. นายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายจุมพล ริมสาคร ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
5. นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
6. นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
7. นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 2 ราย ดังนี้

1. ว่าที่ร้อยตรี ศรัณย์ สมานพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 4 ราย ดังนี้

1. นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน
3. นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
4. นางมาลี โชคล้ำเลิศ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

กระทรวงคมนาคม จำนวน 6 ราย ดังนี้

1. นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
4. นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
5. นายสมชาย พิพุธวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพลเรือน
6. นายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง

กระทรวงพลังงาน มีการแต่งตั้ง นายคุรุจิต นาครทรรพ จากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

กระทรวงแรงงาน มีการแต่งตั้ง นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง) กระทรวงแรงงาน ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน

นอกจากนี้ ครม. ยังได้พิจารณาอนุมัติให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เป็นเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

ครม. ยังได้มีการการแต่งตั้งในสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 2 ราย ดังนี้

1. นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม รองผู้อำนวยการ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง) 2. นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ ที่ปรึกษาด้านข่าวกรองความมั่นคงและสถาบันหลัก (นักการข่าวระดับทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง)

ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวปราณี ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนระดับทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหารระดับสูง)

อนุมัติแต่งตั้ง นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

และมีการแต่งตั้ง นายธวัชชัย กิจรัตนะกุล ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

นอกจากนี้ มีการขอต่อระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นักบริหารระดับสูง สำนักนายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเดียวติดต่อกันครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2557 ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

และการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งให้นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2557 ต่อไปอีก 1 ปี ซึ่งเป็นการขอต่อเวลาครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

ครม. เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน 4 ฉบับ

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้รับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานชาติสมาชิกอาเซียนบวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) จำนวน 4 ฉบับ ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 32 จัดขึ้นในวันที่ 22-24 กันยายน 2557 ที่กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 32 เพื่อรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงผลักดันโครงการเชื่อมโยงการส่งพลังงานภายในอาเซียน

ฉบับที่ 2 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวก 3 ครั้งที่ 11 เพื่อการแบ่งปันข้อมูล พัฒนาแนวทางการสำรองน้ำมันในอาเซียน ฉบับที่ 3 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการขนส่งและร่วมมือในโครงการมองภาพอนาคตด้านพลังงาน และฉบับที่ 4 ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านตลาดก๊าซธรรมชาติ ตั้งศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ รมว.พลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจาก รมว.พลังงาน ร่วมรับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งการรับรองร่างฯ และออกแถลงการณ์ร่วมนี้จะมีขึ้นในการประชุมที่กรุงเวียงจันทน์เช่นกัน

สำหรับสาระสำคัญของความร่วมมือนี้คือการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนระหว่าง 4 ประเทศ โดยจัดตั้งคณะทำงานโครงการนำร่องสำหรับการศึกษาในเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าข้ามแดนระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อศึกษาศักยภาพและพิจารณาความเป็นไปได้ของลาวถึงการซื้อขายไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน