ThaiPublica > คอลัมน์ > ถอดรหัส “ฮั้วประมูล” (2)

ถอดรหัส “ฮั้วประมูล” (2)

15 กันยายน 2014


หางกระดิกหมา

อาทิตย์ก่อนได้กล่าวถึงหลัก “ฮั้วศาสตร์ 101” เพื่อให้เข้าใจภาพรวมและปัจจัยของปัญหาแล้ว คราวนี้ก็สมควรว่ากันด้วยแนวทางแก้ไขต่อไป

ตาม OECD Guidelines for Fighting Bid Rigging in Public Procurement บอกว่ามาตรการแรกที่ควรทำก็คือการศึกษาตลาด อย่างที่ได้บอกแล้ว การฮั้วนั้นเป็นเรื่องของการที่ผู้ค้าหลอกให้รัฐคิดไปว่าได้ซื้อของในราคาดีที่สุดในตลาด ทั้งที่ความจริงไม่ได้มีตลาดอยู่เลย มีแต่ราคาของผู้ร่วมฮั้ว

ดังนั้น ก่อนจะวางกลไกต้านฮั้วอะไรต่อไป สิ่งแรกที่รัฐต้องมีก็คือข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับตลาดเป็นต้นว่ามีผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่จะสามารถใช้ตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงาน และผู้ค้าในตลาดนั้นมีใครบ้าง โดยรัฐควรจะพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ขึ้นมาให้ได้ภายในองค์กรของรัฐ เพราะยิ่งองค์ความรู้ตรงนี้แข็งแรงมากเท่าไหร่ ค่าโง่ก็จะน้อยลงไปตามส่วน

ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น รัฐต้องรู้ว่า ผู้ค้าแต่ละรายมีราคา มีต้นทุนของสินค้าเป็นอย่างไร มีราคาขายแบบ B2B มีราคาในการประกวดราคาสินค้าชนิดเดียวกันในครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นเท่าไหร่ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคา และราคาสินค้าที่อาจจะใช้ทดแทนกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตลาดและผู้เล่นอย่างครบถ้วนที่สุด แน่นอน องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ หลายๆประเทศจึงจัดให้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการสะสมองค์ความรู้ หรือมิฉะนั้น ก็อาจมีการจ้างบริษัทมาเป็นที่ปรึกษาการประเมินราคา แต่ในกรณีหลังนี้ก็ต้องให้มีการเซ็นสัญญาเก็บรักษาความลับให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้น หากบริษัทที่ปรึกษาเอาข้อมูลภายในไปบอกข้อสอบคนฮั้ว เรื่องก็จะบรรลัยจักรหนักเข้าไปอีก

มาตรการที่สอง การจัดการแข่งขันให้เข้มข้น การแข่งขันที่เข้มข้นก็หมายถึงว่ามีผู้ขายชั้นดีจำนวนมากตอบตกลงจะเข้าร่วมแข่งขันในการประกวดราคา โดยสิ่งที่รัฐสามารถทำได้เพื่อให้เกิดภาวะอย่างนี้ก็คือการลดต้นทุนในการเข้าร่วมประกวดราคาให้เหลือแต่น้อย จะวางกรอบคุณสมบัติอะไรก็เอาแต่เท่าที่สมควรและจำเป็น หากเปิดให้ต่างชาติเข้าร่วมได้ก็ควรเปิด นอกจากนั้น ยังควรคิดหาวิธีให้รายเล็กรายน้อยที่ปกติอาจไม่มีขีดความสามารถจะรับเอาไปทำได้ทั้งโปรเจกต์ได้เข้าแข่งขันประกวดราคาด้วย เพื่อไม่ให้การแข่งขันแคบจนตกลงฮั้วกันได้สะดวก

การลดต้นทุนที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น การทำให้กระบวนการประกวดราคานั้นหน้าตาเหมือนๆ กันทุกๆ ครั้ง เช่น ใช้ฟอร์มเดียวกัน ขอข้อมูลอย่างเดียวกัน ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือบางทีถ้าเอกสารประกวดราคามันสามารถรวมได้เป็นแพ็กเกจก็ให้รวมเสียเลย คือเอกสารชุดเดียวสำหรับการประกวดราคาหลายๆ โปรเจกต์ เพื่อที่ฝ่ายผู้ค้ารายเล็กๆ เขาจะได้ถัวต้นทุนการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารได้ นอกจากนั้น หากบอกได้ก่อนนานๆ ว่าจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง ผู้ค้าที่กำลังน้อยๆ ก็จะมีโอกาสเตรียมประกวดราคาได้พร้อมมากขึ้น

ส่วนการลดข้อจำกัดทางคุณสมบัติ ก็คือการพยายามไม่กำหนดคุณสมบัติที่กีดขวางการเข้าร่วมประกวดราคาเด็ดขาด อย่างเช่น ขนาด องค์ประกอบ หรือลักษณะกิจการของบริษัท แต่กำหนดคุณสมบัติเท่าที่จะสอดคล้องกับขนาดและความซับซ้อนของโปรเจกต์ (เช่น คุณสมบัติเกี่ยวกับประสบการณ์ทำโปรเจกต์ คุณสมบัติเกี่ยวกับการไม่เคยเบี้ยวสัญญา) จะเรียกเงินการันตีก็เอาแต่พอคุ้มครองความเสียหาย อย่าเอาเสียจนกลายเป็นปราการที่ทำให้รายเล็กรายน้อยเข้ามาร่วมประกวดราคาไม่ได้ นอกจากนั้น กระบวนการคัดคุณสมบัตินี้ ถ้าเป็นไปได้ควรดำเนินไปพร้อมกับการประกวดราคา อย่าไปคัดก่อนนาน ไม่เช่นนั้นมันจะเหมือนการสรุปรายชื่อให้คนที่จะฮั้วรู้ว่าจะต้องนัดแนะกับใครบ้าง จะฮั้วกันง่ายเข้าไปอีก

มาตรการที่สาม การร่าง TOR ให้ชัดเจนแต่คาดเดาไม่ได้ ขั้นตอนนี้ถือเป็นจุดเป็นจุดตายของการประกวดราคา จะคอร์รัปชันหรือไม่ส่วนใหญ่ก็ทำกันตรงนี้ เป้าหมายของการร่าง TOR ที่ดีจะต้องมุ่งให้เกิดความชัดเจนที่สุด เพราะยิ่งชัดเจนเท่าไหร่ ผู้ค้าก็จะเข้าใจได้มากขึ้น และเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาร่วมประกวดราคามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม TOR ที่ว่าชัดเจนนั้น ควรจะเป็นเรื่องของการบอกว่ารัฐอยากตอบโจทย์อะไร หรือยากได้รับผลอะไร มากกว่าการบอกว่าผู้ค้าจะต้องทำอะไรโดยวิธีการอย่างไร เพราะเรื่องหนึ่งๆ อาจมีวิธีทำได้ตั้งหลายอย่าง การที่รัฐไม่ไปผูกมัดคำตอบเสียตั้งแต่แรก จะเป็นปัจจัยให้ผู้ค้ามีอิสระในการหาคำตอบโจทย์ของรัฐที่หลากหลายขึ้น กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมหรือแม้กระทั่งความคุ้มเงินที่มากกว่า ทางที่ดีควรมีการเอา TOR ไปให้บุคคลที่สามตรวจก่อนมีการประกาศเพื่อให้แน่ใจว่าข้อความทุกอย่างอ่านรู้เรื่องชัดเจน นอกจากนั้น ควรเขียน TOR ในลักษณะที่เปิดให้มีการใช้ของทดแทนหรือวิธีการทดแทนได้หากว่าให้ผลดีเสมอกัน เพื่อให้มีคนเข้ามาเป็นผู้ค้าได้แปลกหน้ามากขึ้น หลากหลายมากขึ้น อันจะทำให้ฝ่ายฮั้วจัดขบวนลำบาก

แต่ข้อควรระวังก็คือ การร่าง TOR ที่ชัดเจน ไม่ได้แปลว่าร่างแบบให้คาดเดาได้ง่าย เพราะตารางการประกวดราคาที่เป็นรอบๆ แน่นอนเกินไป มีจำนวนซื้อขายชัดเจนตายตัวเกินไป ก็จะเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายฮั้วเอาไปคิดวิธีเวียนเทียนเข้ามาชนะการประกวดราคาได้สะดวก ตำราบอกว่าหน่วยงานของรัฐอาจจะต้องมีการรวมสัญญาเล็กเข้าเป็นสัญญาใหญ่บ้าง เอาสัญญาใหญ่มาแตกเป็นสัญญาเล็กบ้าง หรือแม้กระทั่งร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพร้อมกัน เพื่อให้มูลค่าสัญญาหรือความถี่ของการประกวดราคามันมีความไม่แน่นอนสูง ไม่เอื้อต่อการฮั้ว

วิธีการต้านฮั้วยังไม่หมดแค่นี้ เดี๋ยวคราวหน้าจะมาต่อ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “โกงกินสิ้นชาติ” นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2557