ThaiPublica > คอลัมน์ > Big Men คนใหญ่คนโตกับธุรกิจขนาดยักษ์

Big Men คนใหญ่คนโตกับธุรกิจขนาดยักษ์

28 กันยายน 2014


เหว่ยเฉียง

ิbig man 2

การปะทะกันระหว่างคนใหญ่คนโตในธุรกิจค้าน้ำมันขนาดยักษ์แหล่งใหม่ของชาวอาฟริกัน โดยมีผู้มีอำนาจทางการทหารหนุนหลัง ใน Big Men สารคดีที่มีแบรด พิตต์เป็นโปรดิวเซอร์ที่จะพาคนดูเสมือนเข้าไปนั่งอยู่กลางห้องประชุมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันทั่วโลก

กำกับโดย ราเชล บอยน์ตัน ผู้เคยสร้างชื่อจากสารคดีเรื่องแรกขอองเธอ Our Brand is Crisis (2005) ที่เคยพาคนดูเข้าไปเห็นกลยุทธ์ของบริษัทวางแคมเปญให้กับนักการเมืองชาวอเมริกัน ที่ถูกนำไปใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในโบลิเวีย อันทำให้ถูกมองว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่โปร่งใส และมีอเมริกาชักใยอยู่เบื้องหลัง

Big Men3

ใน Big Men บอยน์ตันยังคงต่อยอดไอเดียจากเรื่องแรก โดยเฉพาะกับประเด็นการเมืองหนักๆ ที่พาคนดูเข้าไปร่วมรับรู้สถานการณ์ โดยไม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด ไม่ใช่แบบขาวจัดดำจัด และตัดสินใจได้ยากว่าใครเป็นพระเอกใครเป็นผู้ร้ายกันแน่

Big Men เริ่มเหตุการณ์ในปี2007 โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่บริษัทอเมริกาชื่อว่า คอสมอส เอ็นเนอร์จี ที่เข้าไปต่อรองกับนักการเมืองของกานา เพื่อทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมันบริเวณชายฝั่งทะเล ในแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ที่เรียกว่า จูบิลีฟีลด์ ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆอยู่ในขณะนี้ ก่อนที่หนังจะตัดย้อนไปเล่าถึงเหตุการณ์คล้ายๆกันที่เคยเกิดขึ้นในไนจีเรีย พร้อมกับสลับไปที่ปัญหาในหมู่คนงานบ่อน้ำมันในเท็กซัส กับกลุ่มผู้ร่วมทุนชาวนิวยอร์ก ไปจนรับรู้ปัญหาภายในหมู่นักการเมืองชาวกินี กับฝ่ายทหารชาวไนจีเรีย ทั้งหมดนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่บ่อน้ำมันที่แพงลิบลิ่วขึ้นทุกวัน โดยอาศัยเทคโนโลยีและเงินลงทุนจากอเมริกา ซึ่งมีนักการเมืองท้องถิ่นชาวอัฟริกันหนุนหลัง บนประเทศที่จัดได้ว่ายากจนติดอันดับโลก

Big Men4

“ฉันอยากทำประเด็นเกี่ยวกับน้ำมันเพราะว่ามันอยู่ในกระแสข่าวตลอดเวลา เรียกว่าแทบจะทุก30 วินาที คุณต้องรู้ต้องเห็นอะไรที่เกี่ยวกับน้ำมันเสมอ และมูลค่าของมันก็ส่งผลกระทบต่อทุกๆสิ่ง อย่างเช่นราคาสินค้าที่ต้องใช้พาหนะขนส่ง แล้วฉันก็ได้กลิ่นตุตุว่าธุรกิจนี้มีการฮั้วกัน กลุ่มทุนเดิมๆจากสหรัฐนี่แหละ และมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อวิกฤติน้ำมันในตอนนี้” บอยน์ตันเล่าที่มา

“แต่ฉันไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย เราเริ่มต้นหาข้อมูล ฉันมีทีมงานอีกแค่ 2 คนคือคนบันทึกเสียงกับตากล้อง คือตอนทำเรื่องแรกฉันได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก แต่ก็คิดว่าเรื่องต่อไปน่าจะมีประเด็นเข้มข้นกว่าเดิม จนกระทั่งหาข้อมูลแล้วพบว่ากำลังจะมีการลงทุนในแหล่งน้ำมันใหม่ที่กานา”

Big Men5

พิตต์ เล่าเสริมว่า “หนังถ่ายทำเสร็จปี 2011 จริงๆแล้ว บอยน์ตัน เป็นผู้หญิงที่แกร่งมาก เพราะนอกจากจะต้องถ่ายทำกว่าห้า-หกปีแล้ว มีทีมงานไม่กี่คน เทียวไปเทียวมาข้ามทวีป ระหว่างนั้นเธอยังอุ้มท้องลูกคนที่สองอีกด้วย…ตอนที่เธอเข้ามาคุยกับแพลนบี (บริษัทของแบรด พิตต์) ซึ่งไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร แต่เราก็รู้สึกโชคดีที่เธอนึกถึงเราก่อนเลย และเรายังเป็นแฟนหนังสารคดีเรื่องแรกของเธอด้วย แถมประเด็นเข้มข้นอย่างที่เธอทำก็ไม่ค่อยเห็นในสารคดีเดี๋ยวนี้อีกแล้ว ที่มักจะเลือกทำแต่ประเด็นป๊อปๆเอาใจคนดูวงกว้าง”

แม้สารคดีเรื่องนี้จะมีชื่อดาราใหญ่ระดับแบรด พิตต์ มานั่งแท่นเอ็กเซ็กคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ แต่หนังเรื่องนี้ก็ไปได้ไม่สวยในทางการตลาดนัก ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะ Big Men ไม่ใช่สารคดีที่ให้ความบันเทิงเต็มที่ เต็มไปด้วยเพลงเพราะๆ อย่าง 20 Feet from Stardom ที่นอกจากจะทำเงินแล้วยังคว้าออสการ์ในปีที่ผ่านมาได้ด้วย หรืออย่างสารคดี Blackfish ที่ฮิตขึ้นมาได้เพราะอยู่ในกระแสข่าวที่ช่อง CNN ติดตามทำสกูปเจาะลึกจนพอหนังลงโรงผู้คนเลยตามแห่กันไปดูเพียบ

Big Men6

ขณะที่ Big Men ซึ่งเริ่มหาข้อมูลในช่วงปลายปี 2005 โดยคาดว่าประเด็นน้ำมันจะกลายเป็นประเด็นฮอต แต่ทุกวันนี้ตลาดหนังสารคดีมีการแข่งขันกันสูง และมีความหลากหลายมากขึ้น ประเด็นข้นๆทางการเมืองที่ไม่ใช่ข่าวโด่งดังอะไร ผู้คนจึงพร้อมใจกันเบือนหน้าหนี และแม้ว่า Big Men จะเรียกกระแสวิจารณ์ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีพิตต์หนุนหลังอีก แต่ก็กลายเป็นว่านายทุนต่างส่ายหน้า เพราะประเด็นหนักหน่วงเกินไป สุดท้ายหนังต้องจัดจำหน่ายเอง คือเช่าโรงฉายโรงเดียว แล้วก็ขายผ่านเว็บ (สามารถจ่ายเงินเพื่อดาวน์โหลดหรือดูออนไลน์ได้ที่ http://vimeo.com/ondemand/bigmen )

ในแง่คำวิจารณ์ นิตยสารไทม์ยกย่องว่า “Big Men พาเราเข้าไปสู่ใจกลางพายุแห่งความโลภลูกใหญ่ ด้วยวิธีเล่าเรื่องที่ดีเยี่ยม และมีประเด็นแหลมคม” ส่วนนิตยสารเอ็นเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ ก็ให้ความเห็นว่า “เมื่อธุรกิจขนาดยักษ์กลายเป็นเรื่องดราม่าทางศีลธรรม ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยที่หากินกับชาวบ้านยากจน หาผลประโยชน์กันเป็นทอดๆ ถูกเล่าออกมาอย่างเข้มข้นด้วยงานภาพอันงดงามที่ปอกเปลือกอันน่าละอายใจของคนโลภออกมาได้อย่างจริงใจ”

ขณะที่คนดูหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมหนังจึงสามารถถ่ายเหตุการณ์ทุ่มเถียงกันในห้องประชุมออกมาได้ ทั้งๆที่เป็นความลับทางธุรกิจ ตัวผู้กำกับบอกว่า “ฉันเข้าไปพูดคุยกับพวกเขาว่าสารคดีเรื่องนี้จะเป็นเหมือนการโปรโมทบริษัทของเขาด้วย และการโฆษณาที่ดีที่สุดคือการทำหนัง และฉันใช้เวลาปีกว่า กว่าที่คอสมอสจะยอมให้พวกเราเข้าไปถ่ายทำ”

Big Men7

ในแง่นึงสารคดีเรื่องนี้จึงถูกมองว่าย้อนแย้ง เพราะมันเริ่มด้วยการเจรจาว่าจะโฆษณาให้ด้วยการทำหนัง อันเป็นเหมือนการสร้างภาพให้กับองค์กร คนดูบางกลุ่มจึงมองว่าตัวหนังเองก็ไม่กล้าฟันธงชัดๆด้วยว่าผู้ร้ายตัวจริงคือใครกันแน่ ซึ่งอาจเป็นผลจากการต่อรองกับบริษัทน้ำมัน ให้มันไม่ใช่กลายเป็นสารคดีแฉข่าวฉาวจนเกินไป Big Men จึงลงเอยด้วยความคลุมเครือ ในขณะที่แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องจริง และเล่าเรื่องด้วยความท้าทายแบบถึงลูกถึงคน แต่บทสรุปก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาหรือหาทางออกอะไรได้ในธุรกิจนี้ หรือสามารถสาวไปถึงตัวการเบื้องหลังได้อยู่ดี

แต่ก็มีคนดูอีกจำนวนนึงว่า การทำสารคดีนี่จะต้องหาทางแก้ปัญหาอะไรให้สังคมขนาดนั้นด้วยหรือ ในเมื่อตัวหนังเองก็ตั้งใจว่าจะเป็นเพียงผู้ตั้งคำถามให้คนดูให้ฉุกคิดถึงปัญหาเหล่านี้ที่ผู้บริโภคอย่างเราๆไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย