ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 6): กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้โรงงานละเลยคำสั่ง – ไม่ปฏิบัติตาม กม. – คนงานไม่รู้โทษและไม่รู้จักแร่ใยหิน

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 6): กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้โรงงานละเลยคำสั่ง – ไม่ปฏิบัติตาม กม. – คนงานไม่รู้โทษและไม่รู้จักแร่ใยหิน

17 กันยายน 2014


จากที่ได้นำเสนอซีรี่ส์สังคมไทยไร้แร่ใยหินมาต่อเนื่อง แต่เรื่องนี้ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ว่าควรยุติการนำเข้าหรือให้นำเข้าได้อยู่ต่อเรื่องนี้นางสาวสุวดี ทวีสุข ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยแรงงาน สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จากกระแสขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกแร่ใยหินนั้น โดยส่วนตัวไม่อยากใช้คำว่า “แบน” เพราะว่าการแบนต้องประกาศเป็น “วัตถุอันตรายชนิดที่ 4” คือ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งรวมทั้งแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประกอบ ทำให้ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตสินค้าบางชนิดที่ยังไม่มีสารทดแทนใช้ เช่น ผ้าเบรกของรถขนาดใหญ่ๆ ผ้าเบรกเครื่องบิน ดังนั้นควรใช้คำว่า “จำกัดการใช้หรือยกเลิกใช้แร่ใยหินเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีสารทดแทนเท่านั้น” เช่น กระเบื้อง ผ้าเบรก ท่อใยหิน แม้ว่าจะยังมีราคาแพงหรือมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะประเทศต่างๆ ในโลกที่ประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้วก็ไม่ได้แบน 100% เพียงแต่จำกัดการใช้

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนยกเลิกการใช้ใยหินในผลิตภัณฑ์ที่มีสารทดแทนแล้ว โดยวางแผนไว้ 3 ปี แต่ระยะเวลาตามแผนก็ยังไม่สรุป เพราะมีหลายฝ่ายมองว่าใช้ระยะเวลานานเกินไปอยากให้ลดเหลือแค่ 1-2 ปี

สำหรับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหน้าที่ดูแลสถานประกอบการทุกแห่งที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 คอยกำกับดูแล และมีกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย (ดูเพิ่มเติม พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554)

นอกจากนี้ นายจ้างต้องสอนลูกจ้างให้รู้วิธีการทำงานที่ปลอดภัย รู้จักอันตรายของไครโซไทล์ การป้องกันการรับสัมผัส ทั้งการแต่งกาย สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน การป้องกันการฟุ้งกระจาย การจัดเก็บ การขนส่ง และการกำจัดที่ถูกวิธี

สำรวจกิจการใช้แร่ใยหิน ผ้าเบรกพร้อมเปลี่ยนใช้สารทดแทน

เนื่องจากมีกระแสการยกเลิกใช้แร่ใยหินในประเทศไทยช่วง 4-5 ปีที่แล้ว ทางกรมสวัสดิการฯ จึงตั้งโครงการเฉพาะลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเมื่อปี 2551 เพื่อพูดคุยและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างว่าจะมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแร่ใยหิน ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับการผลิตเพื่อรองรับสารทดแทนที่จะนำมาใช้

หลังจากนั้นได้ติดตามโครงการอยู่ประมาณ 1 ปี บริษัทกระเบื้องมหพันธ์ก็ยกเลิกการใช้ใยหินในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา แต่ก็ยังมีเหลือบริษัทที่ใช้อยู่อีก 2-3 แห่ง ส่วนโรงงานผลิตผ้าเบรกก็ค่อยๆ ทยอยลดการใช้แร่ใยหินลง

“สถานการณ์ในตอนนี้ ผ้าเบรกพร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนหากยกเลิกการใช้แร่ใยหินจริง เพราะว่าไม่ต้องปรับกระบวนการผลิตมาก ขณะนี้บริษัทแห่งเดียวกันก็ผลิตผ้าเบรกทั้งที่มีแร่ใยหินและไม่มีแร่ใยหิน โดยผลิตแบบไร้ใยหินส่งออกต่างประเทศและบริษัทรถยนต์ ส่วนที่มีแร่ใยหินผลิตส่งร้านอะไหล่ สาเหตุที่ยังไม่เปลี่ยนทั้งหมดเพราะความต้องการตลาดยังมีอยู่ แล้วสารทดแทนก็ราคาแพง ถ้าจะไม่ผลิตผ้าเบรกใยหินก็จะทำให้สู้ราคาผ้าเบรกจากจีนและเวียดนามไม่ได้”

ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โรงงานผ้าเบรกก็พร้อมเลิกผลิตทันที ในขณะที่การผลิตกระเบื้องต้องปรับกระบวนการผลิตทั้งหมดทำให้กระทบต่อธุรกิจมาก

เกณฑ์ความปลอดภัยในการสัผัสแร่ใยหิน

จากการลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการในปี 2551 สามารถแบ่งสถานประกอบการได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. สถานประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎทุกอย่างที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศ คือ สถานที่จัดเก็บวัตถุดิบมีล็อกและติดประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ระบบขนส่งแบบป้องกันการฟุ้งกระจาย การผลิตมีระบบระบายอากาศและใช้ระบบเปียก ด้านพนักงานมีการอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนกลับบ้าน ส่วนระหว่างการทำงานก็มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน

2. สถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเลย คือ จัดเก็บวัตถุดิบกระจัดกระจาย มีการฟุ้งกระจายในสถานประกอบการ พนักงานไม่มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือมีแต่ป้องกันได้ไม่ 100%

ทั้งนี้ แม้ว่าทางกรมสวัสดิการฯ จะพบว่าสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ก็ไม่ได้ออกคำสั่งลงโทษ เพราะครั้งนั้นเป็นเพียงการลงพื้นที่สำรวจเชิงวิชาการ ไม่ใช่บทบาทของการตรวจสอบ โดยโครงการนี้จะส่งเสริมการสอนไปก่อน หลังจากนั้นกรมสวัสดิการฯ พื้นที่หรือจังหวัดจะลงไปตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามกฎก็จะออกคำสั่งลงโทษ โดยบทลงโทษสูงสุดคือปรับไม่เกิน 400,000 บาท จำคุก 1 ปี

“กฎหมายของเรามีมากพอและคิดว่าบทลงโทษไม่เบาเกินไป แต่ปัญหาคือสถานประกอบการไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน และเกิดความไม่ไว้ใจกันว่าต่างฝ่ายจะปฏิบัติตามมาตรฐานได้จริง ทำให้เกิดการผลักดันยกเลิกการใช้แร่ใยหินเพื่อตัดปัญหา” นางสาวสุวดีกล่าว

นอกจากนี้ การฟุ้งกระจายของแร่ใยหินไม่มีมาตรฐานขั้นต่ำที่ปลอดภัยเพียงพอ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงอยากห้ามใช้เพื่อให้ค่าฟุ้งกระจายเป็น 0 แต่ร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมใช้มาตรฐานระดับความเข้มข้นของแร่ใยหินในบรรยากาศการทำงาน 0.1 เส้นใยต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร เพราะถ้าจะไม่ฟุ้งกระจายเลยมันเป็นไปไม่ได้ในการทำงาน

โรงงานละเลยคำสั่ง-ข้อกฎหมาย

ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมสวัสดิการฯ มากถึงร้อยละ 70 ซึ่งต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ที่เมื่อรัฐบาลประกาศอะไรไปก็ต้องปฏิบัติตามให้ได้ แต่บ้านเราเมื่อประกาศไปแล้วหากไม่มีเจ้าหน้าที่เดินไปหาก็ยังไม่รู้เรื่อง คงอีกสัก 50 ปีประเทศไทยอาจจะเป็นเหมือนประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนตอนนี้ก็ต้องพึ่งหน่วยงานราชการลงไปดูแล ซึ่งทางกรมสวัสดิการฯ เองก็จัดอบรมผู้ประกอบการทุกครั้งที่ออกประกาศใหม่ และเผยแพร่ข่าวสารไปทุกช่องทาง แต่ผู้ประกอบการก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง และมีหลายรายที่แม้จะรู้เรื่องแต่ก็ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ

“การตรวจสอบต้องยอมรับว่าไม่ทั่วถึง มีเจ้าหน้าที่ 5 คนต่อสถานประกอบการกว่า 1,000 แห่ง ดังนั้นการลงพื้นที่สำรวจจึงเลือกไปตามลำดับความสำคัญ เช่น สถานการประกอบที่มีสถิติอุบัติเหตุหรือโรคจากการทำงานสูงก็จะไปตรวจสอบก่อน หรือมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็จะรีบไปตรวจสอบให้ทันที หรือจัดเป็นโครงการเฉพาะให้ตามสถานการณ์ เช่น กรณีแร่ใยหิน ส่วนเรื่องรายงานที่สถานประกอบการต้องส่งมาที่กรมสวัสดิการฯ ตรวจนั้นก็บังคับส่งบางกรณี เช่น ผลตรวจสุขภาพที่ผิปกติ และรายะเอียดการใช้วัตถุอันตราย” นางสาวสุวดีกล่าว

ที่มาภาพ : https://fenngeerati.files.wordpress.com/2012/10/asbestos1.jpg
ที่มาภาพ : https://fenngeerati.files.wordpress.com/2012/10/asbestos1.jpg

คนงานไม่รู้จัก-ไม่รู้โทษแร่ใยหิน

นอกจากนี้นางสาวสุวดียังกล่าวว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ในสถานประกอบการไม่รู้จักแร่ใยหินและไม่รู้ว่าก่อให้เกิดโทษอย่างไรบ้าง เพราะในสถานประกอบการเรียกแร่ใยหินว่า “สำลีขาว” และนายจ้างไม่เคยมาให้ความรู้ลูกจ้าง ซึ่งในสถานประกอบการที่เดียวกันก็มีทั้งลูกจ้างที่รู้และไม่รู้เรื่องแร่ใยหิน และบางแห่งไม่รู้จักแร่ใยหินเลยก็มี โดยลูกจ้างส่วนใหญ่ที่รู้จักแร่ใยหินจะอยู่ในสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน และเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่

สำหรับปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานที่ผ่านมานางสาวสุวดีกล่าวว่า ยังไม่เคยเจอการร้องเรียนกรณีเป็นโรคจากการทำงานเนื่องจากแร่ใยหิน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า แพทย์ของไทยขาดความเชี่ยวชาญที่จะวินิจฉัยแล้วสรุปว่าโรคปอดดังกล่าวเกิดจากแร่ใยหิน คือไม่กล้าและไม่แม่นพอที่จะพูดอย่างชัดเจน ทำให้มีแต่ผลการตรวจที่ระบุว่าปอดอักเสบหรือปอดผิดปกติ แต่ไม่ระบุสาเหตุ ทำให้กลายเป็นว่าป่วยด้วยโรคปอดทั่วไป

“แม้กฎกระทรวงเรื่องการตรวจสุขภาพจะเริ่มมีตั้งแต่ปี 2547 แล้ว แต่ผลการเอ็กซเรย์ปอดก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคจากแร่ใยหินแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่วินิจฉัยไม่เจอสาเหตุของโรค ซึ่งทางด้านกระทรวงแรงงานเองหากแรงงานคนใดสงสัยว่าโรคที่เป็นเกิดจากการสัมผัสแร่ใยหิน ก็สามารถไปขอเงินชดเชยได้ที่กองทุนทดแทน แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีแรงงานคนใดมาขอเงินชดเชยเนื่องจากได้รับอันตรายจากแร่ใยหิน” นางสาวสุวดีกล่าว

ปัจจุบัน สัดส่วนของแรงงานในสถานประกอบการที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหินมีประมาณ 9,000 คน ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมช่างก่อสร้างซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีจำนวนมากและอยู่อย่างกระจัดกระจาย และเป็นกลุ่มแรงงานที่ติดตามดูแลเรื่องความปลอดภัยลำบากเพราะทำงานไม่เป็นหลักแหล่งและเสี่ยงได้รับอันตรายจากการสัมผัสแร่ใยหินสูงที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรยกเลิกการใช้แร่ใยหินเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีสารทดแทนแล้ว ถ้าผลิตภัณฑ์ใดไม่มีสารทดแทนก็ต้องปล่อยให้นำเข้าได้บ้าง เพราะการแบนคือห้ามมีแร่ใยหินเลยในประเทศซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แค่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ที่มีสารทดแทนก็ทำให้ประเทศไทยมีแร่ใยหินน้อยลงมากๆ แล้ว

ด้านนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการ ถ้าหากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ก็มักจะทำทุกอย่างได้ตามมาตรฐาน ด้านการดูแลความปลอดภัยของพนักงานก็ดูแลอย่างดีมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ แต่พนักงานของโรงงานนั้นๆ มีเพียงแค่ร้อยละ 40 เท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักอยู่ในห้องแอร์ ในขณะที่พนักงานอีกร้อยละ 60 จ้างมาเป็นรายวันผ่านบริษัทย่อย ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำหน้าที่คัดกระเบื้อง ต้องสัมผัสกับแร่ใยหินโดยตรง แต่ก็มักไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากาก ถุงมือ หรือการตรวจสุขภาพจากเจ้าของโรงงาน โดยเขาถือว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทย่อย

จากกรณีดังกล่าว นางสาวสุวดีกล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ นายจ้างคือเจ้าของสถานประกอบกิจการซึ่งมีความรับผิดชอบสูงสุดต่อลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินให้ลูกจ้างโดยตรงหรือไม่ ดังนั้น ถ้าแรงงานได้รับอันตรายในสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นโรคจากการทำงานหรือได้รับอุบัติเหตุ นายจ้างที่เป็นเจ้าของสถานประกอบกิจการจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ดังนั้น การดูแลลูกจ้างให้มีความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องที่นายจ้างจะปฏิเสธไม่ได้ เจ้าของบริษัทย่อยก็ถือเป็นลูกจ้างเช่นกัน ทั้งนี้ หากเกิดอันตรายแก่ลูกจ้าง นายจ้างเจ้าของสถานประกอบการและนายจ้างเจ้าของบริษัทย่อยก็อาจถูกดำเนินคดีทั้งคู่

“ความปลอดภัยของลูกจ้างเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องทำ ซึ่งนายจ้างแต่ละคนต้องไปคุยกันเองว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยนั้น เพราะทางกรมสวัสดิการฯ จะไม่เข้าไปยุ่งว่าใครต้องเป็นคนทำเพราะความรับผิดชอบอยู่ที่ทั้งสองคน เพียงแต่เจ้าของสถานประกอบการถือเป็นผู้รับผิดชอบหลักเพราะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ” นางสุวดีกล่าว

1. พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ข้อ 29 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจวัดและวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศของสถานที่ทำงานและสถานที่เก็บรักษาสารเคมีอันตรายและส่งรายงานผลการตรวจวัดให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบผลการตรวจวัด

หลักเกณฑ์วิธีการตรวจวัดและการวิเคราะห์ผลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

ในกรณีที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินการตามวรรคสองได้เอง จะต้องให้ผู้ขึ้นทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการให้

2. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4409 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แนวปฏิบัติการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านเคมีและกายภาพจากการประกอบอาชีพในสถานประกอบกิจการ

ตามประกาศข้อ 4 การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงทางด้านเคมี ในข้อย่อยเรื่องใยหิน (asbestos) ระบุการตรวจสุขภาพ ใน 3 โรค คือ 1. การเกิดโรคฝุ่นจับปอด 2. มะเร็งปอด และ 3. การเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และการตรวจเพื่อเฝ้าระวังการสัมผัส 2 รูปแบบ คือ 1. ตรวจสมรรถภาพปอด และ 2. การถ่ายภาพรังสีทรวงอก

3. กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551

ส่วนที่ 3 เรื่องการป้องกันอันตรายจากการพังทลายและการกระเด็นหรือตกหล่นของวัสดุ

หมวดที่ 14 เรื่องการรื้อถอนทำลาย ข้อ 107 การรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรกำหนดขั้นตอน วิธีการ และควบคุมดูแลการทำงานของลูกจ้างให้มีความปลอดภัย และจัดการอบรมหรือชี้แจงลูกจ้างเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน

หมวด 15 การคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล
ข้อ 111 ให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงาน

ข้อ 112 อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามข้อ 111 ต้องจัดให้เหมาะสมกับลักษณะของงานและเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับความเห็นชอบจากวิศวกรหรือผู้ควบคุมงานโดยให้มีการตรวจสอบและอบรมการใช้อุปกรณ์นั้นก่อนการใช้งาน