ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่4) : DUST – The Great Asbestos Trial – การต่อสู้ของคนงานแร่ใยหินอิตาลี “คนที่นี่ตายกันก่อนอายุ 60 รึไง?”

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่4) : DUST – The Great Asbestos Trial – การต่อสู้ของคนงานแร่ใยหินอิตาลี “คนที่นี่ตายกันก่อนอายุ 60 รึไง?”

6 กันยายน 2014


“ปี 1974 ผมดีใจมากที่อิเทอร์นิตจ้างผม โรงงานอิเทอร์นิตเป็นงานที่มั่นคง แต่พอเริ่มงาน ผมก็สังเกตว่าทุก 2 วัน ชื่อคนตายที่แปะอยู่ตรงทางเข้าจะเปลี่ยนใหม่ วันนี้คาร์โล วันต่อมามิเคล อีกวันฟรานเซสโก ที่แปลกคือแต่ละคนอายุแค่ 50, 52, 58, 61, 46

ผมถามตัวเอง “คนที่นี่ตายกันก่อนอายุ 60 รึไง?” เลยไปดูแผนกที่รับกระสอบแร่ใยหินมาเตรียมไว้สำหรับใช้ในการผลิต ได้เจอคนงานรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ ปิเอโตร มาเรงโก ท่าทางใจดีแต่ดูเหนื่อยล้าเหมือนคนที่สูญเสียทุกอย่างให้กับงาน ไม่ว่าลมหายใจ ความมุ่งหมาย ความฝัน

พอเห็นไอ้หนุ่มอย่างผม เขาก็พูดด้วยภาษาท้องถิ่นว่า “มาที่นี่ทำไม อยากตายอีกคนรึไง” …และสองปีต่อมา ปิเอโตร มาเรงโก ก็ตาย”

DUST - The Great Asbestos Trial (2011)  ที่มาภาพ : http://www.imdb.com/video/withoutabox/vi2053872665
DUST – The Great Asbestos Trial (2011)
ที่มาภาพ: http://www.imdb.com/video/withoutabox/vi2053872665

นิโคลา พอนดราโน จากฉากหนึ่งใน Dust-The Great Asbestos Trial ภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดการต่อสู้ของชาวบ้านในอิตาลีต่อโรงงานแร่ใยหินยักษ์ใหญ่ของโลก

ภาพยนตร์สารคดีนี้เขียนบทและกำกับโดย นิกโคโล บรูนา (Niccolo Bruna) และ อังเดร ปรานด์สตรอลเลอร์ (Andrea Prandstraller) ซึ่งเริ่มเล่าถึงสถานการณ์การใช้แร่ใยหินที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ทำให้มีการผลิตแร่ใยหินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ 70% ของประชากรโลกกำลังสัมผัสกับสารก่อมะเร็งหลากชนิดนี้

สารคดีเน้นกรณีการรับพิจารณาคดีของศาลครั้งแรกในเมืองตูริน (Turin) ประเทศอิตาลี เกี่ยวกับกรณีบริษัทข้ามชาติชื่อว่า “อิเทอร์นิต” (Eternit) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องของการเสียชีวิตของคนงานและชาวบ้านละแวกเมืองคาซาเล มอนเฟอร์ราโต (Casale Monferrato) เกือบ 30,000 ราย โดยใช้ข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องของเหยื่อแร่ใยหินกว่า 800 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานหลายสิบจากหลายพันคนที่ทำงานในโรงงานอิเทอร์นิตทั่วโลกมากกว่า 20 ปี

“ในช่วงเริ่มต้น เราค่อนข้างไร้เดียงสา เราเคยคิดเหมือนชาวยุโรปส่วนมากว่าโรคใยหิน (Asbestosis) และโรคเมโสเธลิโอมา (Mesothelioma) เป็นโรคของอดีต แม้ว่ามันเป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเส้นใยแร่ใยหิน แต่แร่ใยหินก็ได้ถูกห้ามใช้แล้วมิใช่หรือ?

แต่จากการวิจัยเพื่อสร้างภาพยนตร์แสดงให้เราเห็นว่าความจริงเป็นสิ่งตรงกันข้าม อุตสาหกรรมแร่ใยหินยังคงดำเนินอยู่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเข้มแข็งที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย และบราซิล ในอินเดียเราพบว่าการใช้แร่ใยหินกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

นิกโคโล บรูนา และ อังเดร ปรานด์สตรอลเลอร์ ตุลาคม 2554

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เผยแพร่ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์สาธารณะในเบลเยียม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ในเดือนพฤศจิกายน 2554 เช่นเดียวกันกับในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและทีวีช่องอื่นๆ ในปี 2555 ในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์พวกเขาหวังว่า งานของพวกเขาจะเข้าถึงผู้คนนับล้านคน ผู้ชมจะเป็นผู้พิจารณาหลักฐานและตัดสินด้วยตัวเองว่าผู้บริหารแร่ใยหินทั้งในอดีตและปัจจุบันผิดจริงหรือบริสุทธิ์

คำถามหนึ่งที่ยังไม่ได้รับคำตอบ คือ บรรดาโรงงานแร่ใยหินรู้เรื่องราวเหล่านี้หรือไม่? และถึงรู้ พวกเขาทำอะไรเพื่อปกป้องคนงานและผู้บริโภคบ้าง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ภาพทั้งด้านการเมืองและด้านแรงผลักดันของสังคม แต่ก็ยังขับเคลื่อนอารมณ์ของคนดูในการมีส่วนร่วมของคนดูกับประชาชนในเมืองคาซาเล มอนเฟอร์ราโต ศักดิ์ศรีและความเยือกเย็นของชายหญิงที่นั่นในการต่อสู้หลายทศวรรษเพื่อสิทธิ ใบหน้าและเสียงของการเรียกร้องถูกส่งออกมาจากสามี ภรรยา ญาติ และเพื่อนของผู้ที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคจากแร่ใยหิน และหากเรียนรู้แร่ใยหินจากโลกจะพบว่าในยุโรปมีการแบนแร่ใยหินแล้ว แต่ส่วนอื่นๆ ของโลกก็ยังมีการเปิดเสรีอยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ แร่ใยหินยังเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนที่ดีใน 2 ประเด็นอีกด้วย ประเด็นแรก ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ ประเด็นที่สอง ในความเป็นจริงแล้วปัญหาแร่ใยหินยังเป็นปัญหาที่สามารถเชื่อมโยงถึงปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์และการใช้สารกำจัดศัตรูพืช พลังงานนิวเคลียร์ การใช้พลังงานฟอสซิลที่ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งโยงไปถึงคำถามที่เหมือนๆ กัน คือ บรรดาโรงงานมีส่วนในปัญหาสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อมนุษย์เพื่อผลประโยชน์ พวกเขารู้เรื่องราวเหล่านี้หรือไม่? และถึงรู้พวกเขาทำอะไรเพื่อปกป้องคนงานและผู้บริโภคบ้าง หรือว่าปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่ทำอะไรเลย?

ชาวอิตาลีในเมืองคาซาเล มอนเฟอร์ราโต จะได้รับความยุติธรรมมากน้อยเพียงใด และมีกระบวนการการต่อสู้เพื่อสิทธิอย่างไร ขอเชิญชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง DUST – The Great Asbestos Trial พร้อมเสวนา ในวันเสาร์ 4 ตุลาคมนี้ เวลา 12.00 น. ที่โรงภาพยนตร์ลิโด สยามสแควร์

ติดตามรายละเอียดการจองที่นั่งได้ที่ https://www.facebook.com/moviedomatter จัดโดย แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ร่วมกับ Movies Matter