ThaiPublica > เกาะกระแส > “บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลัง 60 ปี เพื่อแลหน้า บริบทความเปลี่ยนแปลงของไทย – ของโลก (ตอนที่ 2)

“บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลัง 60 ปี เพื่อแลหน้า บริบทความเปลี่ยนแปลงของไทย – ของโลก (ตอนที่ 2)

29 กันยายน 2014


3rd.Aniversary-1

“บรรยง พงษ์พานิช” บรรยายพิเศษในงาน “ครบรอบ 3 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ในหัวข้อ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง เศรษฐกิจไทย” โดยเริ่มเล่าว่าวันที่เปิดตัว”ไทยพับลิก้า” ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่เขียนบทความเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และจากบทความนั่นทำให้ติดลมมาถึงวันนี้ มีบทความในไทยพับลิก้ากว่า 110 ชิ้น กลายเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำไป

จริงๆ หัวข้อที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เขียนบทความค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของการมองย้อนหลังไป 60 ปี ก็เลยเขียนบทความ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง สังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่าใน 60 ปีที่ผ่านมาเรามีวิวัฒนาการอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนแก่เล่าเรื่องเก่า ก็หวังว่าบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงแล้วเรามานั่งสังเกต แล้วจับมันมาร้อยเรียงกัน มันจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการที่จะได้บทเรียนหรือการที่จะนำไปใช้ในอนาคต

มาพูดถึงเรื่องพัฒนาการทางเศรษฐกิจ อันนี้ตัวเลขเยอะแยะไปหมด คือ ตัวเลขทั้งหมดคือจีดีพีหารด้วยจำนวนประชากร (ได้เป็นจีดีพีต่อหัว) ของประเทศต่างๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1960-2012 เป็นตัวเลขที่เป็นหน่วยเหรียญสหรัฐ ก็คืออัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ทอนลงไป อันนี้คือ เวลาดูระยะยาว ผมปรึกษานักเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่าให้ใช้เหรียญสหรัฐวิเคราะห์เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศจะเห็นภาพได้จริงๆ

พัฒนาการเศรษฐกิจไทย

ทำไมถึง 1960 ความจริง 60 ปี ต้องเป็นปี 1954 แต่ก่อน 1960 ตัวเลขหาได้ไม่ครบ เพราะว่าธนาคารโลกเขารวบรวมตัวเลขเริ่มจากปี 1960 แล้วก็เป็นปีที่ตัวธนาคารโลกเริ่มมีบทบาทออกไปช่วยในการพัฒนาประเทศให้กับประเทศด้อยพัฒนา ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ปี 1960 ประเทศไทยมีจีดีพีต่อหัว 111 เหรียญต่อคนต่อปี ขณะที่ปีเดียวกันประเทศเกาหลีใต้มี 155 เหรียญต่อคนต่อปี ประเทศพม่ามี 180 เหรียญต่อคนต่อปี ประเทศเวียดนาม 223 ฟิลิปปินส์ 257 มาเลเซีย 300 สิงคโปร์เกือบ 400 นี่เป็นตัวเลข ณ จุดเริ่มต้นเมื่อ 57 ปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศอเมริกาที่เป็นมาตรฐานที่ถือว่าเป็นความเจริญระดับสูงสุดอยู่ที่ 2,800 สหรัฐอเมริการ่ำรวยกว่าเรา 28 เท่า/คน มีผลผลิตมากกว่าเรา 28 เท่า/คน เมื่อ 56 ปีที่แล้ว

น่าสังเกตไหมว่า ทำไมไทยเราถึงเริ่มต้นต่ำเตี้ยขนาดนั้น มันก็คงมีหลายสาเหตุ แต่วันก่อนผมนั่งคุยกับประธานซัมซุงอินชัวรันส์ บริษัทขนาดใหญ่ เขามาจากเกาหลี ก็มีข้อสรุปความเห็นตรงกันว่า ที่ไทยและเกาหลีเริ่มต้นแย่กว่าใครเลย เพราะว่าเราเป็นประเทศที่ไม่เคยเป็น “เมืองขึ้น” ตะวันตกมาก่อน โดยเฉพาะในยุคก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นตะวันตก

การไม่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกมันไม่ดีอย่างไร ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องที่เราภูมิใจ เกาหลีเขาก็ไม่ได้เอกราชตลอด เคยเป็นเมืองขึ้นประเทศญี่ปุ่น เราก็พลาดท่าเป็นเมืองขึ้นพม่าระยะสั้นๆ แต่จริงๆ เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นตะวันตก

การไม่เคยเป็นเมืองขึ้นตะวันตก จริงอยู่ว่าตะวันตกเข้ามาเพื่อกอบโกยทรัพยากร มาเอารัดเอาเปรียบ แต่รากฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรากฐานการผลิตก็ดี รากฐานการค้า รากฐานสถาบัน ระบบกฎหมาย ระบบเกณฑ์ต่างๆ ที่เขาวางไว้ให้ มันก็ทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างจะดีกว่าประเทศที่ใช้ภูมิปัญญาของตัวเองมาโดยตลอด อันนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์อันหนึ่ง เป็นเรื่องของการแบ่งปันความเจริญ ผ่านการค้าการลงทุน แต่ยุคนั้นเป็นยุคอาณานิคม

อย่างไรก็ดี ผมขอสรุปไปปัจจุบันเลยแล้วกัน ปัจจุบันในประเทศทั้งหลายที่ยกมา แน่นอนที่สุดมีอยู่ 2 ประเทศที่โดดเด่น คือ สิงคโปร์และเกาหลีใต้ สิงคโปร์เติบโตโดยเฉลี่ย 10% ต่อปี ตลอด 56 ปีที่ผ่านมา วันนี้สิงคโปร์มีจีดีพีต่อหัว 53,000 เหรียญต่อคนต่อปี สูงกว่าอเมริกาไปแล้ว

แล้วในการคาดการณ์ เกือบทั้งหมดบอกว่า ปี 2030 สิงคโปร์จะมีจีดีพีต่อหัวสูงที่สุดในโลก โดยคิดว่าน่าจะมีประมาณ 100,000 เหรียญต่อคนต่อปี ก็ถือว่าเขาเป็นประเทศเล็ก ที่จีดีพีต่อหัวของเขาดีเพราะเขาไม่ค่อยมีลูก ประชากรไม่เพิ่ม ไม่รับการอพยพ ตัวหารก็เลยค่อนข้างน้อย

ประเทศที่ประสบความสำเร็จอันดับ 2 ในกราฟนี้ก็คือเกาหลีใต้ แน่นอนสุด เกาหลีใต้อัตราเติบโตเฉลี่ยดีกว่าสิงคโปร์อีก 10.1% ต่อปี ตลอด 56 ปี อันนี้ก็เป็นรูปแบบที่ทุกคนอิจฉา ว่าจากประเทศเล็กๆ ด้อยพัฒนา ทำอย่างไรถึงสามารถที่จะขึ้นไปเป็นประเทศข้างหน้า แล้วมีรูปแบบที่น่าสนใจเยอะแยะไปหมด

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)

ตอนผมเด็กๆ ไทยได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ในปี 2510 ส่วนปี 2514 เกาหลีได้เป็นเจ้าภาพ แต่พอจะถึงเวลา ไม่มีเงิน มาขอให้ไทยช่วยรับจัดเอเชียนเกมส์ ไทยได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 เป็นการจัดเอเชียนเกมส์ 2 ครั้งติดกัน คือครั้งที่ 5 และ 6 หลังจากนั้น ตอนนี้เกาหลีใต้จัดโอลิมปิกส์ไปแล้วหนึ่งครั้ง การแข่งขันฟุตบอลโลกไปแล้วอีกหนึ่งครั้ง (หัวเราะ)

ประเทศไทย หากดูเฉพาะเรื่องอัตราก็เป็นอัตราที่รองมาจาก 2 ประเทศนี้ เราดีกว่าประเทศมาเลเซียหน่อยๆ ในแง่อัตราเติบโตนะครับ แต่เริ่มต้นเขา 3 เท่าเรา เขาถึงรวยกว่าเรา

แต่อย่างไรก็ดี การพัฒนาของประเทศไทยในระยะยาวถือว่าค่อนข้างที่จะใช้ได้ เป็นประเทศที่สามารถไต่ระดับจากประเทศด้อยพัฒนา มาเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลางค่อนไปทางสูง (Upper Middle Income) คือตรงเส้นกลางอยู่ที่ 5,000 เหรียญ หากสูงกว่าเส้นกลางก็ถือว่าค่อนไปทางสูง

แต่ว่าเป้าหมายของเราคือการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มาตรที่ตั้งไว้ตอนนี้คือ 12,000 เหรียญต่อคนต่อปี ซึ่งมาเลเซียเขาบอกว่าเขาไปถึงแน่นอน ภายใน 6 ปีข้างหน้า ในปี 2020 วิสัยทัศน์ของเขาเขาจะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วแน่นอน แล้วเขาคงจะได้เป็น

แต่ของเรานี่ 50 ปีมาได้ครึ่งหนึ่ง ยังต้วมเตี้ยม และผู้ว่าแบงก์ชาติยังบอกว่าประเทศไทยควรจะมีศักยภาพการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.5 แต่เราทำได้แค่ร้อยละ 1 ร้อยละ 2 มาหลายปี ร้อยละ 4.5 หากศักยภาพเราหยุดแค่นั้น เราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจึงจะได้เป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งค่อนข้างจะช้า

มันมีประเด็นเยอะว่าอะไรที่เป็นตัวถ่วงศักยภาพเรา ในขณะที่ emagine market โดยทั่วๆ ไปศักยภาพเขาจะสูงกว่าเรา จีนเป็นประเทศที่น่าสนใจ ปี 1979 เป็นปีที่เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศนโยบายจีนใหม่ คือเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของจีนจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยม แต่เขาไม่เรียกทุนนิยมเขาเรียก market economy เพราะว่าคำว่า “ทุนนิยม” นั้นเหมา เจ๋อ ตุง ไม่ชอบ ก็เลยเรียก market economy แต่ก็คือทุนนิยม

1979 จีนมีจีดีพีต่อหัว 180 เหรียญต่อคนต่อปี ไทย 570 เหรียญต่อคนต่อปี คิดเป็น 3 เท่า ปีที่แล้ว 2014 จีนแซงเราไป คงไม่เหลียวหลังกลับมา นี่คือเห็นได้ว่าไทยเราไม่ถึงกับเลวแต่ไม่ถึงดี เป็นตัวกลางๆ

แต่ในชั้นหนึ่งเราดูค่อนข้างหล่อ เพราะในชั้นนี้มี 3 ประเทศ ที่มันถือว่ามันเป็น “fail state” เป็นประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนา

ในแผนภูมินี้ก็ค่อนข้างหลอก เพราะมันมี 3 ประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนา และที่ผมลืมบอกไปก็คือ ข้างหลังนี่เป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี อย่างที่บอกมันเป็นหน่วยเหรียญสหรัฐ ถ้าจะให้ดีต้องลบเงินเฟ้อนะครับ เพื่อจะดูว่าเติบโตจริงหรือป่าว เงินเฟ้อของเงินดอลลาร์ใน 56 ปีนี้คือ 4% 3.9% กว่าๆ คือเงินดอลลาร์มูลค่าลดลง ถ้าลบ 3.9% ไป คุณก็จะเห็นว่าพม่าติดลบ แต่ว่าคนพม่าวันนี้ แย่ว่าคนพม่าในปี 1960 ด้วยซ้ำไป ขณะที่เวียดนามก็โตแค่นิดเดียว ฟิลิปปินส์ก็ดีนิดเดียว

ถามว่าสามประเทศนี้เป็นประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการพัฒนาเพราะอะไร?

รายได้ต่อหัว

พม่าชัดเจน เพราะนายพลเน วิน จอมเผด็จการยึดอำนาจเมื่อปี 2505 จากอูนุ นายพลเน วิน ยึดอำนาจแล้วประกาศระบบสังคมชาตินิยมแบบพม่า คือปิดประเทศ สังคมชาตินิยม คือเป็นคอมมิวนิสต์ ชาตินิยมก็คือฝรั่งชั่วฝรั่งเลว เพราะฉะนั้นเราปิดประเทศ เราจะพัฒนาประเทศตามภูมิปัญญาพม่าแต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้น หลังจากนั้น 40-60 ปี พอเปิดประเทศมานี่คนอื่นไปไหนแล้วไม่รู้ จากเขารวยกว่าเรา 1.8 เท่า วันนี้เขาอยู่แค่ 1/6 ของเรา

พม่าเป็นประเทศยากจนอันดับสองของเอเชีย ในเชิงของรายได้ต่อหัว รองจากอัฟกานิสถาน ทั้งๆ ที่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์มาก นี่ก็ให้เห็นถึงระบบ ให้เห็นถึงการไม่ตามวิวัฒนาการ

คือหลักการของการพัฒนาประเทศแบบปิดประเทศ คือเราจะใช้ 50 ล้านคนช่วยพัฒนาประเทศ แต่ขณะที่ประชากรโลก 6 พันล้านคนเขาแบ่งกัน แบ่งสรรเทคโนโลยี ความรู้ ความสามารถ ทรัพยากรกัน

ผมพูดตรงนี้ เน้นเป็นพิเศษ เพราะว่าตอนที่ปฏิวัติใหม่ๆ แล้วฝรั่งด่าเรา ก็มีท่านหลายคนเลยบอกว่า กลัวทำไม ปิดประเทศไปเลย เลิกคบให้หมด พม่าปิดประเทศ 50 ปี ยังอยู่ได้ อยู่แบบไหนล่ะครับ…

ยิ่งในวันนี้โลกาภิวัตน์ เราส่งออกนำเข้ารวมกัน 150% ของจีดีพี ปีหนึ่งประมาณ 18 ล้านล้านบาท ปิดประเทศนี่ตายเลย พูดเอามันได้ แต่อย่าทำจริง ก็โชคดีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่บ้าจี้ตาม ยังตามตื๊อให้ต่างประเทศเห็นใจเรา

ประเทศที่สองที่ล้มเหลวในการพัฒนาก็คือเวียดนาม เวียดนามแตกในปี 2518 แต่เวียดนามก็เริ่มเสื่อมถอยมาตั้งแต่ปี 2512 ยามศึกสงครามมันก็ไม่ดีกับใคร พอเวียดนามแตกในปี 2518 ก็เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ถ้าลงไปในรายละเอียด จะเห็นนะครับว่าเศรษฐกิจเขาในปี 2523 ก็เริ่มถอยแล้ว จริงๆ เขาขึ้นไป 800 กว่าเหรียญต่อคนต่อปี ประมาณตอนที่เวียดนามใต้แตก แล้วมันก็ถอถอยลงไปๆ เพราะว่าคอมมิวนิสต์มันเป็นระบบที่พิสูจน์ว่ามันล้มเหลว เหมือนกับสำหรับประชาชน อาจจะดูดี เพราะได้ส่วนหารมากขึ้นในระยะต้น เหมือนเวเนซุเอลา ประชาชนชอบนโยบายคุณชาเวซ แต่ว่าเศรษฐกิจติดลบๆ ประชาชนชอบเพราะคุณชาเวซไม่ได้ทำอะไรมาก เขายึดของคนรวยไปแจกคนจน คือใช้สังคมนิยม ยึดของต่างชาติ ยึดของคนมีเงิน แล้วเอาไปเฉลี่ยให้คนจน พลังงานก็ยึดกลับเป็นของรัฐหมด ทำให้การผลิตน้ำมันหดลงเหลือ 1/3

เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่น่าอิจฉา เขามีน้ำมันสำรอง คือน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วหารด้วยกำลังผลิต มี 120 ปี ซึ่งทุกคนรู้ว่าอีก 120 ปีไม่มีใครเขาใช้หรอกน้ำมัน แต่สำรองไม่ใช่เอาไว้ให้ลูกหลานนะ เพราะมันผลิตออกมาไม่ได้ ระบบมันพัง ผมพูดเพราะมีคนชอบยกตัวอย่างประเทศนี้ ซึ่งน้ำมันสำรองมีมากกว่าซาอุดีอาระเบียอีก มีมากที่สุดในโลก

ปี 2518 เวียดนามก็มีเปลี่ยนตาม รัสเชีย จีน คือเปลี่ยนเพื่อจะกลับมาเป็นทุนนิยม เขาเปลี่ยนประมาณ ปี 2533 แต่ในช่วงปี 2518-2533 เป็นเวลา 15 ปีเองนะครับ จากสองเท่าของเราในอดีต มาเป็นหนึ่งในสาม นี่ขนาดมาแรงแต่รายได้ต่อหัวยังแค่หนึ่งในสามของเรา

ประเทศที่ล้มเหลวในการพัฒนาประเทศที่ 3 ก็คือฟิลิปปินส์ อันนั้นเป็นทุนนิยมมาตลอด แต่บังเอิญได้ท่านมาร์กอสมาเป็นผู้นำ 21 ปี ใช้ระบบพรรคพวกนิยมสุดขั้ว ถึงจะมีที่ให้ทำธุรกิจ แต่ใช้ระบอบเผด็จการ สมองไหลออกหมด เพราะฉะนั้นฟิลิปปินส์นี่สมัยผมเด็กๆ เขาเรียกว่า “แมนฮัตตันออฟเอเชีย” ขณะที่ไซ่ง่อน ซึ่งวันนี้เป็นเมืองโฮจิมินห์ เขาเรียก “ปารีสออฟเอเชีย” แต่ฟิลิปปินส์ตอนนี้โทรมสนิท เพราะเจอเผด็จการ ตอนนี้คนที่เป็นปัญญาชนก็ไหลออกนอกประเทศหมด แล้ววิธีหนึ่งที่เขาจะปกครองได้ง่ายก็คือ ทำให้คนโง่ๆ ไว้ ระบบการศึกษาฟิลิปปินส์ อะไรมันก็พังไปโดยตั้งใจ

อันนี้ผมยกตัวอย่างพัฒนาการของประเทศต่างๆ เพื่อที่จะให้ดูว่าของเราไม่ดีนัก แต่ก็ไม่ขี้เหร่อะไร

บรรยง พงษ์พานิช

มาดูประเทศไทยว่าเราพัฒนาขึ้นมาอย่างไร ถ้าจะดู พอแยกระยะเวลา จะเห็นว่า ผมแยกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรามีแผนพัฒนาฉบับที่ 1 เมื่อปี 2505 โดยธนาคารโลกมาช่วย ที่ทำให้เราตั้งสภาพัฒน์ฯ มีเทคโนแครตในสมัยนั้น แล้วเราก็พัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ในยุคแรกๆ จะเห็นว่าการเติบโตก็ดี ในแผนฯ 1-5 ต้องถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปตามที่วางไว้ในแผนฯ 1-5

ผมพูดหลักๆ อีกนิดหนึ่ง หลักๆ ก็คือ “ตั้งรากฐานสถาบันให้กับระบบเศรษฐกิจ” ตั้งรากฐานสถาบันก็คือปรับปรุงกฎหมายให้ได้มาตรฐานที่จะค้าขายกัน มีการตั้งสถาบันที่สำคัญๆ ซึ่งอาจจะตั้งมาก่อนหน้านั้น แต่จะมาส่งผลมากขึ้น เช่น แบงก์ชาติ สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ ตั้งหลักและกฎเกณฑ์ต่างๆ

ทั้งหมดในแผนฯ 1-5 ถ้ากลับไปสอดคล้องกับยุค ก็คือยุคเผด็จการต่อเนื่องมาถึงประชาธิปไตยครึ่งใบ ยุคนั้น ต้องบอกว่าระบบเศรษฐกิจถูกบริหารโดยเทคโนแครต หรือก็คือนักวิชาการที่เป็นข้าราชการ

เทคโนแครตแปลว่าอะไร ผมขอเอ่ยนามนะครับ เพราะกลุ่มท่านเหล่านี้มีคุณูปการอย่างมาก ที่ถือว่าเป็นผู้นำก็มีอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์บุญมา วงศ์สวรรค์ คุณสุนทร หงส์ลดารมภ์ อันนี้ยุคก่อนๆ และต่อมาก็จะมี ดร.เสนาะ อูนากูล, ดร.อำนวย วีรวรรณ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล คือเป็นข้าราชการที่สืบเนื่องกันมา เทคโนแครตจะมีลักษณะที่เด่นชัดอยู่ 3-4 ประการ คือ

1. ทุกคนเป็นนักเรียนนอก เริ่มจาก อ.ป๋วย อ.บุญมา อยู่ LSE (London School of Economics) แล้วหลังจากนั้นท่านก็สนับสนุนส่งข้าราชการไปเรียนหนังสือ แต่ตอนหลังก็จะไปทางอเมริกาเยอะ ผมกำลังจะบอกว่าวิธีการที่เทคโนแครตใช้ก็คือทำให้ประเทศเราเป็นอย่างชาติตะวันตก (westernize) ตั้งสถาบันต่างๆ ตามอย่างต่างประเทศ

2. เทคโนแครตเป็นข้าราชการหมด แล้วจะวนเวียนอยู่ในหน่วยงานสำคัญๆ ที่กล่าวมา ยกตัวอย่าง อาจารย์เสนาะ อูนากูล ท่านเคยอยู่กรมบัญชีกลาง เป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาสภาพัฒน์ฯ ผู้อำนวยการ สศค.(สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ก็จะวนเวียนอยู่ เพราะฉะนั้นก็จะมีสายสัมพันธ์ ทำให้การประสานงานแนวราบในหน่วยงานเศรษฐกิจค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพในยุคนั้น

หลัง 2529 ป๋าเปรมก็เป็นนายกฯ อีก 2 ปี พอปี 2531 ก็เป็นพลเอกชาติชาย อยู่ในระหว่างแผนฯ 5 แผนฯ 6 ซึ่งที่สำคัญก็คือเปลี่ยนประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรม การเปลี่ยนไม่ใช่เพราะแผนอย่างเดียว เพราะบริบทโลกมันช่วย บริบทที่ช่วยอันแรกมันเกิด Plaza Accord ขึ้นในปี 1985 ก็คือประเทศตะวันตกบีบให้ญี่ปุ่นยอมให้ค่าเงินแข็งจาก 300 เยนต่อเหรียญ เหลือ 100 เยนต่อเหรียญ ญี่ปุ่นก็ต้องให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศตัวเอง อันนั้นเป็นจุดสำคัญของเศรษฐกิจไทย เกิดจากวิกฤติค่าเงินเยน

แล้วบังเอิญในยุคนั้นประเทศไทยเรามีเสถียรภาพต่อเนื่องยาวนาน ในยุคเกรียงศักดิ์-เปรม นั่นคือประการที่หนึ่ง ประการที่สองคือเรามีมาตรฐานสถาบันที่ต่างชาติยอมรับ ประการที่ 3 เรามีแผนการสร้างอีสเทิร์นซีบอร์ด แผนการทำปิโตรเคมี อะไรขึ้นมา มันทำให้การย้ายฐานการผลิตของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างมากมาย ตั้งแต่ปี 2529-2533 ประเทศเราก็เริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม

สิ่งที่ตามมาก็คือ ในยุคเดียวกัน กระแสเงินที่เคยกระจุกตัวอยู่แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เริ่มออกไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เกิดสิ่งที่เขาเรียกว่า emerging market trend ตลาดเกิดใหม่ คำว่าตลาดเกิดใหม่ก็ดี โลกาภิวัตน์ก็ดี ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงนั้นนะ ก่อนหน้านั้นไม่มีตลาดเกิดใหม่ เมื่อก่อนเขาเรียกว่าประเทศกำลังพัฒนา ตลาดเกิดใหม่เป็นศัพท์ที่เกิดจากตลาดการเงิน ก็คือประเทศที่เริ่มพลิกตัวขึ้นมา กระแสเงินทั้งเงินซื้อหุ้น เงินให้กู้ ก็ทะลักเข้ามา ประเทศพวกนี้ก็เติบโตมาก เราก็ได้รับอานิสงส์ จะเห็นว่าช่วง ปี 2529-2539 เราเติบโตเฉลี่ยถึง 14% เลย เพราะว่าผลจากเงินไหลเข้า มันก็เป็นการเติบโตที่ส่วนหนึ่งก็เป็นการเติบโตที่มีพื้นฐานรองรับ แต่ส่วนไม่น้อยมันเป็นฟองสบู่ มันโตดีก็จริง แต่มันนำไปสู่หายนะในวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งเป็นตอนที่แผนฯ 7 สิ้นสุดพอดี

“แผนฯ 7 ผมอยากพูดนิดหนึ่ง พอพลเอกชาติชายขึ้นมาเป็นนายกฯ ท่านก็เลิกใช้สภาพัฒน์ฯ ไปเลย ท่านตั้งทีมบ้านพิษณุโลกขึ้นมาแทน แล้วสภาพัฒน์ฯ ก็เหมือนหายไปเลย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้ากลับไปดูประวัติศาสตร์ตอนนั้น เราก็นึกว่าเป็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ แต่จริงๆ พอมองย้อนกลับไปแล้วเราเข้าใจได้เลย ถ้าคุณไปอ่านแผนฯ 7 ซึ่งบอกว่าต้องชะลอเศรษฐกิจ เป็นแผนที่ทั้งแผนว่าด้วยเรื่องการ soft-landing ทำอย่างไรเราจะสามารถลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ แผนฯ 7 จะพูดถึงเรื่องพวกนี้

แต่ในแง่ทางการเมือง การลดความร้อนแรง ถ้าพูดเป็นภาษาวิชาการหน่อย ก็ให้ระบบยอมลดความร้อนแรง คือ “bite the bullet” หรือกัดลูกปืน มันเป็นศัพท์ที่บอกว่าต้องทำใจยอมรับมัน ยอมอยู่กับความยุ่งยากเสียก่อนที่จะเกิดวิกฤติ ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยมันเป็นไปแทบไม่ได้เลย สังคมไม่ยอม

สมัยนั้นแบงก์ชาติออกมาเตือน ออกมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงิน เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า Macro-prudential measures พยายามที่จะหดเครดิต คุณกำจร สถิรกุล (ผู้ว่าการ ธปท.) ถูกปลด เพราะว่า รมว.คลังที่เป็นนักการเมืองคนแรก คือคุณประมวล สภาวสุ ก่อนหน้านั้นเป็นคุณสมหมาย คุณสุธี สิงเสน่ห์ ก็ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติเลย พอสมัยคุณวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการ ธปท. ก็ออกมาตรการจำกัดสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ห้ามขยายสินเชื่อเกินปีละ 8% ทาง รมว.คลังเหลียวหน้ามามองเท่านั้นแล้วถอนมาตรการทันที เพราะในแง่การเมืองแล้วไม่สนใจระยะยาว แต่จะสนใจว่าระยะสั้นมันต้องบูม มันเป็นเรื่องของคะแนนนิยม จึงนำไปสู่วิกฤติ

หลังวิกฤติเราเติบโตแย่มาก เฉลี่ย 3.76% เอง ยุคที่ท่านบอกว่าเชี่ยวชาญเศรษฐกิจเหลือเกิน เติบโตแค่ 4% เท่านั้นเอง ยุคหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกฯ 5 ปี เติบโตไม่ได้ดี ต้องบอกว่าต่ำที่สุดในตลาดเกิดใหม่ด้วยซ้ำ แต่ว่ามันมีมิติอื่นๆ ที่ทำให้คะแนนนิยมมา มันคือมิติการกระจาย แต่เป็นมิติที่ทำให้พัง ก็คือมิติพรรคพวกนิยม คือข้างล่างก็กระจายออกไปได้ตามสมควร แต่ข้างบนดันใช้พรรคพวกนิยมสุดขั้ว

พรรคพวกนิยมนี่ไม่มีอะไร ในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือทำอย่างไรจะใช้อำนาจกู ทำให้คนที่เป็นพวกกูได้เปรียบคนที่ไม่ใช่พวก เพราะมันไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ตามหลักพอนานไปๆ คนที่ไม่ใช่พวกมันมากกว่า นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่ง

ตรงนี้ก็เชิญชวนไปอ่านในไทยพับลิก้าได้ ผมเขียนเรื่องระบอบทักษิณไว้ 8 ตอนยาวเหยียดว่าคืออะไร เป็นการวิเคราะห์เพื่อพยายามเข้าใจ

พัฒนาการเศรษฐกิจโลก

หันกลับมาดู 50 ปี ระหว่าง ปี 1950-2000 เชื่อไหมครับ เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของโลกขยายตัวดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ใครเข้าไปดูในเว็บไซต์ก็ดูได้ ตัวเลขนี้ GWP (Gross World Product) ตอนต้นผมใช้ดอลลาร์สหรัฐ แต่พอดูของโลกในระยะยาว อันนี้ตัดเงินเฟ้อออก ใช้ปีมูลค่าเงินปี 1990 เป็นฐาน 50 ปีนั้นโลกเติบโตทั้งโลก ผลผลิตของโลกไม่มีเงินเฟ้อ เติบโตขึ้นเกือบ 10 เท่า จาก 4.4 ล้านล้านเหรียญ มูลค่าปี 2533 เป็น 41 ล้านล้านเหรียญ เติบโตเกือบ 10 เท่า เป็น 50 ปีที่บอกว่าโลกพัฒนามากที่สุด

50 ปีที่ 2 ระหว่างปี 1850-1900 เติบโตแค่ 5 เท่า เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในยุโรป

50 ปีที่ 3 ระหว่างปี 1900-1950 ที่มันไม่เติบโตเพราะมันเจอสงครามโลกเข้าไป 2 ครั้ง

แต่พอหลังปี 2000 โลกก็เติบโตปีละไม่ถึง 1% โดยเฉลี่ย ปี 2009 ติดลบ ผลมาจากวิกฤติปี 2008 โดยรวมแล้วเติบโตแค่ 1% ต่อปี ก็ต้องถือว่าแย่ เริ่มตั้งแต่ปี 2001 เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้โลกชะลอตัวอย่างมาก วันที่ 11 กันยายน แล้วโลกก็เข้าสู่โหมดของการก่อการร้าย

นี่ก็คือภาพโดยรวมของโลก

“อย่างผมนี่ก็ถือว่าเกิดมาถูกจังหวะที่สุดในโลกคนหนึ่ง พวกที่เกิดในช่วงที่โลกมันพัฒนา ไม่มีสงคราม ทุกอย่างมันดีไหมหมด ดูเหมือนเป็นอย่างงั้น แล้วในวันนี้ มีข้อกังวลมาก ว่าโมเดลการเติบโตเดิมๆ มันจะยังเดินต่อไปได้ไหม มีการวิเคราะห์วิจัยเต็มไปหมด”

พัฒนาการเศรษฐกิจโลก

ถามว่าทำไมมันถึงเติบโต อย่างที่หนึ่งเลย ปี 1950-1970 เรียกว่าเป็นช่วงสร้างใหม่หลังสงคราม (post-war reconstruction) ก็คือต้องลงทุนกันมากมาย เพื่อซ่อมซากปรักหักพังที่มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงนั้น 1950-1985 เป็นช่วงที่เรียกกันว่า “สงครามเย็น” พอหลังสงครามโลก โลกก็แบ่งออกเป็น 2 ค่าย ทั้งค่ายที่เกี่ยวกับอำนาจทางทหารและค่ายเศรษฐกิจ ก็คือค่ายทุนนิยมตะวันตกกับค่าย “หลังม่านเหล็ก” ซึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์แบบรวมศูนย์ 35 ปี ถือว่าอยู่ในยุคที่เป็นสงครามเย็น

พอมาปี 1985 โซเวียตก็ล่มสลาย แตกออกเป็น 10 กว่าประเทศ ตามที่ทราบกันอยู่ แล้วประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์เขาก็ทราบว่า ระบบแบบนี้ ที่มุ่งเน้นความเป็นธรรม ความเท่าเทียม พอเอาเข้าจริงแล้วมันไม่ไหว มันไม่มีแรงจูงใจให้คนสร้างผลิตภาพ (productivity) สู้ระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นความเห็นแก่ตัวไม่ได้ เขาก็เลยเปลี่ยนเป็นระบบทุนนิยมกันหมด

ทีนี้ ลองนึกว่าพอโลกเข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันทั้งโลก การสื่อสารต่างๆ เทคโนโลยี มันก็ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว

เหตุที่ทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ นอกจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ยังมีช่วงเวลาที่น่าสนใจ คือมีช่วงเวลาที่เรียกว่า “ลดกฎระเบียบและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” (deregulation and privatization) ซึ่งเริ่มด้วย มาร์กาเรต แทตเชอร์, โรนัลด์ เรแกน คือลดกฎระเบียบ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ความเชื่อมโยงของโลกมันเป็นไปได้สะดวกและเร็วขึ้น

ในส่วนของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คือ ประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ทุกอย่างมันเป็นของรัฐ พอจะเป็นทุนนิยมมันต้องแปรรูป ก็ต้องคืนทรัพย์สินให้กับตลาดและเอกชน มันก็มีวิธีคืนที่ดีและไม่ดี มีตัวอย่างเยอะแยะ อย่างที่ คนชอบอ้างถึง โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ว่าเป็นการแปรรูปที่ไม่ดี โดยเฉพาะในรัสเซีย ก็คือผลีผลาม และก็ค่อนข้างที่จะมีวาระซ่อนเร้น ขายของถูกๆ ไปให้พรรคพวก

แต่โดยภาพรวมแล้วการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมีภาพที่ดี ส่งผลดีมากกว่า ใน 12 ปีที่อยู่ในอำนาจ แทตเชอร์แปรรูปรัฐวิสาหกิจไป 40 แห่ง มีงานวิจัยระบุย้อนหลังว่า 40 แห่งที่แปรรูปไปทำให้เศรษฐกิจอังกฤษบวก 30% ใน 12 ปี เป็นผลจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถ้าไม่แปรรูปมันไม่มี ลองนึกสภาพ บริษัทที่คุณได้ยินชื่อ บริษัทใหญ่อังกฤษ บริทิช แก๊ส, บริทิช ปิโตรเลียม, บริทิช แอร์เวย์ เหล่านี้ รัฐบาลอังกฤษถือหุ้นเป็นศูนย์หมดแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีมาทั้งหมด

เขาบอกว่ามีการรวบรวมข้อมูลของธนาคารโลกที่มีการทำธุรกรรมเกิน 100 ล้านเหรียญที่เกิดในปี 1988-2008 มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 12,000 แห่งใน 139 ประเทศทั่วโลก ถ้าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติจริงอย่างที่เขาด่า แล้ว 139 ประเทศตั้งหน้าขายชาติจริงหรือ

มันก็เลยเกิดโลกาภิวัตน์เกิด regulation globalization สิ่งหนึ่งที่โลกาภิวัตน์นำมาก็อย่างที่โจเซฟ สติกลิตซ์ พูด คือ discontents [น่าจะมาจากหนังสือGlobalization and Its Discontents ของ Stiglitz] ก็คือความบิดเบี้ยวก็มี ไม่ใช่เจริญอย่างเดียว มันเกิดความบิดเบี้ยว มันเกิดสิ่งที่เขาเรียกว่าความไม่สมดุล (imbalance) ประเทศอย่างอเมริกาสามารถที่จะบริโภคได้เยอะทั้งที่ผลิตได้น้อย ยาวนาน และในที่สุดมันนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤตินั้นก็คลี่คลายลงมาก โลกเรียนรู้มากขึ้นที่จะจัดการกับเรื่องพวกนี้

ตอนที่เกิดวิกฤติปี 2008 หลายคนคิดไปถึงช่วงที่ 1930 แต่ในที่สุดมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น

ตอนต่อไปเรื่องตลาดการเงินไทย