ThaiPublica > คอลัมน์ > จะต้านโกงต้องเพิ่มอำนาจประชาชน: บทเรียนจากการเลือกตั้งอินโดนีเซีย

จะต้านโกงต้องเพิ่มอำนาจประชาชน: บทเรียนจากการเลือกตั้งอินโดนีเซีย

4 สิงหาคม 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

22 กรกฏาคม 2557 – วันเดียวกับที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารเหนืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ต่างจากอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว ประชาชนชาวอินโดนีเซียก็ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ของอินโดนีเซีย ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ให้ โจโค วิโดโด สมญา “โจโควี” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เอาชนะคู่แข่งคืออดีตนายพล ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายทหารคนสนิท “ซูฮาร์โต” ด้วยคะแนนเสียง 53 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 47 เปอร์เซ็นต์

โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ในวันประกาศชัยชนะ
โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ในวันประกาศชัยชนะ

นี่เป็นการเลือกตั้งเลือกประธานาธิบดีทางตรงครั้งที่สามเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

การเลือกตั้งครั้งนี้ทำสถิติ “ครั้งแรก” มากมายในอินโดนีเซีย ที่สำคัญที่สุดคือ โจโคโวเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็น “นักการเมืองติดดิน” อย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นทหาร เครือญาติหรือเครือข่ายของซูการ์โนหรือซูฮาร์โต นายพลที่ปกครองประเทศแบบ “ประชาธิปไตยอุปถัมภ์” (ซูการ์โนเรียก “guided democracy” ซูฮาร์โตเรียก “new order”) ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ทันทีที่ทราบผลทางการ คู่แข่งคือปราโบโวก็ประกาศถอนตัวจากกระบวนการเลือกตั้ง อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ

แต่มีน้อยคนที่จะใส่ใจเสียงประท้วงของปราโบโว เพราะผู้สังเกตการณ์ภายนอกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเรียบร้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

ความดีความชอบต้องยกให้สถิติ “ครั้งแรก” อีกเรื่องของการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือ การระดม “พลังมวลชน” ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (crowdsourcing) มาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนเสียงรวมในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งความดีความชอบนี้ต้องยกให้ทั้งนักเทคโนโลยี ประชาชน รวมไปถึงคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง หรือ กกต. อินโดนีเซีย ที่ตัดสินใจปล่อยสแกนผลการรวมคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศรวม 480,000 หน่วย เอาขึ้นเว็บ กกต. ให้ใครก็ตามมาดาวน์โหลดไปช่วยตรวจสอบ

การตัดสินใจให้ข้อมูลคะแนนเสียงระดับหน่วยเลือกตั้งเป็น “ข้อมูลเปิด” (open data) แบบหยาบๆ เช่นนี้เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเช่นกัน สาเหตุหลักคือเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน เพราะทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง คู่ท้าชิงทั้งสองต่างก็ออกมาประกาศชัยชนะและกล่าวหาว่าคู่แข่งของตนโกงกระบวนการนับคะแนนเสียง ซึ่งก็เป็นปัญหาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ความที่การนับคะแนนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 1.4 ล้านคน นับคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศที่มีเกาะรวมกันกว่า 17,500 เกาะ มีผู้มาใช้สิทธิกว่า 140 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์กว่าจะประกาศผลอย่างเป็นทางการ

หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมาเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจงใจเปลี่ยนผลคะแนน แลกสินบนจากผู้สมัคร และระหว่างกระบวนการส่งต่อจากระดับหมู่บ้านไปตำบล จากตำบลไปอำเภอ หลายครั้งก็เกิดการบวกเลขผิดทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ ส่งผลให้การประกาศ “ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง” และการร้องเรียนเป็นแฟชั่นย่อมๆ ที่คนอินโดคุ้นเคย

ตัวอย่างแบบรวมคะแนนผลหน่วยเลือกตั้งที่บวกเลขผิด - ให้ปราโบโวได้เพิ่มอีก 100 คะแนน เป็น 104 คะแนน ทั้งที่ควรเป็น 4 คะแนน เพราะผลรวมคะแนนเสียงของผู้สมัครทั้งสองคนเท่ากับ 137 เท่านั้น ที่มาภาพ:  http://www.rappler.com/world/regions/asia-pacific/indonesia/63257-indonesia-election-fraud-allegations
ตัวอย่างแบบรวมคะแนนผลหน่วยเลือกตั้งที่บวกเลขผิด – ให้ปราโบโวได้เพิ่มอีก 100 คะแนน เป็น 104 คะแนน ทั้งที่ควรเป็น 4 คะแนน เพราะผลรวมคะแนนเสียงของผู้สมัครทั้งสองคนเท่ากับ 137 เท่านั้น ที่มาภาพ: http://www.rappler.com/world/regions/asia-pacific/indonesia/63257-indonesia-election-fraud-allegations

แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ ครั้งนี้พลังตรวจสอบจากมวลชนทำให้เสียงประท้วงของผู้แพ้เบาหวิวแทบจะไร้น้ำหนักเอาเลยทีเดียว

การที่ กกต. ปล่อยข้อมูลระดับหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ชาวอินโดฉวยโอกาสระดมพลังมวลชนมาช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้อย่างรวดเร็ว มีเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นมือถือ ฯลฯ ผุดขึ้นมาหลายแห่งภายในชั่วข้ามคืน เว็บที่ใหญ่ที่สุดคือ Kawal Pemilu ซึ่งแปลว่า “ปกป้องการเลือกตั้ง” ในภาษาบาฮาซาอินโด ก่อตั้งแบบปัจจุบันทันด่วนโดยโปรแกรมเมอร์ชาวอินโดสามคนที่ทำงานอยู่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในต่างแดน พวกเขานำข้อมูลจากเว็บ กกต. มาจัดระเบียบเป็นฐานข้อมูล เสร็จแล้วก็เชิญชวนเพื่อนๆ และคนรู้จักผ่านเฟซบุ๊ก ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบผลการนับคะแนน รวบรวมผลขึ้นเว็บ kawalpemilu.org ให้คนอื่นได้ดูด้วย

เว็บไซต์ Kawal Pemilu รวมพลังมวลชนมาช่วยกันตรวจสอบผลการนับคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ
เว็บไซต์ Kawal Pemilu รวมพลังมวลชนมาช่วยกันตรวจสอบผลการนับคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

ความที่เว็บนี้ใช้ง่ายมาก – ผู้ใช้สามารถใส่ผลการนับคะแนนหนึ่งหน่วยทุกๆ 5 วินาที จากการตรวจสอบสแกนผลการนับคะแนนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ – ทำให้ Kawal Pemilu เติบโตอย่างรวดเร็ว วันแรกมีอาสาสมัคร 4 คน หลังจากนั้นเพียง 2-3 วันถัดมาก็มีถึง 700 คน ส่งผลให้สามารถอัพเดทผลคะแนนได้ทุก 10 นาที และนับคะแนนเสียงได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียง 6 วัน นานนับสัปดาห์ก่อนที่ กกต. จะประกาศผลทางการ

ตัวเลขที่พลังมวลชนช่วยกันนับชี้ว่า โจโควีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52.8 เทียบกับร้อยละ 47.2 ของปราโบโว แทบจะตรงกันเป๊ะกับผลที่ กกต. ประกาศในอีกหลายวันถัดมา

ไอนัน นาจิบ (Ainun Najib) วัย 28 ปี หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งอธิบายว่า เขาเชิญชวนอาสาสมัครจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักในเฟซบุ๊กก่อน เพราะไม่อยากเริ่มจากคนแปลกหน้า นอกจากนี้ยังโค้ดกลไกป้องกันอื่นๆ เช่น กำหนดให้หนึ่งไอพีแอดเดรส (IP address) ไม่สามารถส่งผลการนับได้หลายหน่วย นอกจากนี้ยังคอยเช็คข้อมูลกลับไปกลับมา (cross check) ระหว่างฐานข้อมูลของเว็บ กับเว็บทางการของ กกต. อย่างต่อเนื่อง

Kawal Pemilu ไม่ใช่โครงการของประชาชนโครงการเดียวที่ใช้ข้อมูลจากเว็บ กกต. แต่เป็นโครงการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตัวอย่างโครงการอื่นๆ เช่น Kawal Suara (“พิทักษ์เสียง”) และ C1 Yanganeh ให้คนอัพโหลดสแกนผลการนับระดับหน่วยที่ผิดปกติ

เว็บ Kawal Suara
เว็บ Kawal Suara

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอินโดนีเซียทั้งในระดับนักการเมืองและพลเมืองครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากความเข้าใจว่า วิธีต้านกลเกมโกงเลือกตั้งที่ดีที่สุด ก็คือการทำให้ข้อมูล “เปิด” ให้ได้มากที่สุด และเชื้อเชิญให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากที่สุด

ไม่ใช่การไปกีดกันผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยข้ออ้างว่าจะเกิดการโกง ไม่เข้าใจพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่ไว้ใจพลังการตรวจสอบของประชาชน.