ThaiPublica > คอลัมน์ > งานดีๆ…สำหรับสภาสีเขียว

งานดีๆ…สำหรับสภาสีเขียว

5 สิงหาคม 2014


หางกระดิกหมา

ถ้าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นเพราะการปฏิวัติครั้งนี้อย่างที่หลายคนคาดหวังได้จริงๆ ก็น่าจะมีส่วนไม่น้อยที่เกิดขึ้นเพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งประกาศแต่งตั้งไปเขียวพรึบเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่ละ

เพราะแม้การปฏิรูปจะไม่ได้ใช้แค่กฎหมายที่ออกโดย สนช. แต่แน่นอนว่ากฎหมายย่อมเป็นเครื่องมือหลักของการปฏิรูปเสมอ จริงอยู่ ทุกวันนี้เราอาจจะมี คสช. คอย “ปฏิรูป” อะไรต่อมิอะไรแทนเราวันละประกาศสองประกาศอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้คิดจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไป สุดท้าย อยากจะให้บ้านเมืองเป็นอย่างไร ก็จำเป็นจะต้องพยายามออกแบบและไปเขียนไว้เป็นกฎหมายให้เป็นกิจจะลักษณะ วันหน้าหมดโปรโมชั่นคืนความสุขอย่างไรก็ยังเหลือกฎหมาย ใครจะลุกขึ้นลบล้างโดยไม่มีเหตุผลดีๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ตาม เพราะกฎหมายมันอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ และแก้ยากนี่เอง ที่อาจทำให้เราควรคิดให้หนักหน่อยก่อนจะหวังให้ สนช. ร่างอะไรขึ้นมา เพราะแม้ สนช. จะดูดีกว่า คสช. แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอยู่ดี และในเมื่อไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายออกแบบบ้านเมืองต่างๆ ที่จะออกมาย่อมพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เขาอยากได้กันจริงๆ

อย่าลืมว่าการออกแบบบ้านเมืองที่ดีนั้นไม่เหมือนกับการออกแบบไอโฟน ที่จะมีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนตรงจุดส่งออกมาจากโรงงาน ทั้งนี้ก็เพราะส่วนใหญ่การเมืองจะไม่มีคำตอบที่ “ถูกต้อง” มันเป็นเพียงสนามของการให้คนต่างกลุ่มต่างความต้องการเข้ามาต่อรองกัน เราอาจจะคิดว่าเรื่องต่างๆ มันมีวิธีทำที่ถูกของมันอยู่ อย่างเช่นว่าสร้างระบบคมนาคมที่ดี มีความยั่งยืนทางพลังงาน หาทางรักษาสุขภาพให้กับผู้คน แต่เอาเข้าจริง แต่ละเรื่องมันก็มีเรื่องให้ต้องเถียงต้องต่อรองกันต่อทั้งนั้น เช่น ระบบคมนาคมนั้นจะเอารถไฟทางคู่หรือจะเอารถไฟความเร็วสูง พลังงานที่ยั่งยืนนั้นหมายถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือแก๊สชีวภาพ หรือที่ว่ารักษาสุขภาพนั้นจะให้จ่ายโดยบริษัทประกันหรือโดยระบบสวัสดิการ เรื่องเหล่านี้ถ้าจะอาศัย สนช. ลุยออกกฎหมายไปเลยอย่างไม่ต้องฟังอีร้าค่าอีรมมันก็ย่อมได้ แต่ออกไปแล้ว ถ้ามันไปทำให้คนที่มีส่วนได้เสีย แต่ไม่ได้มีสิทธิเข้ามาอยู่ใน สนช. ต้องไปเถียงหรือประท้วงนอกสภากันอีก ก็จะผิดความต้องการของรัฐประหารครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม ไหนๆ สนช. ก็กำเนิดขึ้นมาแล้ว ถ้าจะไม่ให้ร่างกฎหมายอะไรเลยและปล่อยให้เข้าไปนั่งปั้นจิ้มปันเจ๋อกันอยู่ก็จะเป็นการ “เสียของ” อย่างที่ที่ปรึกษา คสช. ท่านกังวลนัก ส่วนตัวจึงเห็นว่าถ้าจะ สนช. จะกรุณาเพ่งไปที่เรื่องการออกกฎหมายเพื่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันก่อนก็จะแยบคายดีอยู่

ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องต้านคอร์รัปชันนั้น เทียบแล้วน่าจะเป็นเรื่องที่มีคนเถียงกันน้อยที่สุด คือจะเสื้อสีไหนต่างก็เชื่อว่าคอร์รัปชันไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น และต่อให้ใน สนช. จะตกหล่นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ไปบ้าง ก็ใช่เรื่องต้องเดือดร้อน เพราะผู้มีส่วนเสียในเรื่องนี้จะเป็นคนโกงที่ไม่ควรได้อะไรมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว อันที่จริง พูดอีกอย่างได้ว่า กฎหมายต้านทุจริตเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรต้องมีมาตั้งนานแล้ว เพราะประชาชนค่ายไหนๆ ก็ต้องการ แต่ที่มันไม่มี ก็เพราะในเวลาปกตินักการเมืองไม่มีแรงจูงใจให้ต้องเล่นเรื่องกฎหมายต้านทุจริต

เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้มีแต่จะทำให้ตัวนักการเมืองเองมีความรับผิดเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งจะสักๆ แต่ว่าออกกฎหมายไปเพียงเพื่อใช้เป็นเล่ห์เอาใจประชาชนก็ยังไม่คุ้ม เพราะส่วนใหญ่กฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องของประโยชน์ลึกซึ้งระยะยาว ไม่ใช่อะไรที่จะทำให้คนถูกใจนักการเมืองขึ้นมาได้อย่างทันตาเห็น

ว่าไปทำไม่มี ไหนๆ ในคอลัมน์นี้เองได้เคยพูดถึงมาตรการต้านคอร์รัปชันหลายต่อหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำโดยออกกฎหมาย จึงขอนำมาโปรยๆ ไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อ สนช. จะสนใจเอาไปพิจารณาบ้าง

หนึ่ง กฎหมายควบคุมประชาสัมพันธ์ภาครัฐ คือกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหลายที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อห้ามการโฆษณาที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเอาเงินรัฐไปหาเสียงส่วนตัว ทั้งนี้เพื่อลดความสิ้นเปลือง และป้องกันการใช้งบประชาสัมพันธ์เพื่อบิดเบือนการทำงานของสื่อมวลชน

สอง กฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-Strategic Litigation Against Public Participation Law: Anti-SLAPP Law) คือกฎหมายที่กำหนดว่าหากมีคนถูกฟ้องหมิ่นประมาทเพราะพูดหรือวิจารณ์เรื่องใดที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นประเด็นประโยชน์สาธารณะ ก็ให้มีวิธีพิจารณาความแบบพิเศษ เพื่อลดทอนระยะเวลาหรือความยุ่งยากในการต่อสู้คดีของคนคนนั้น และผลักภาระไปให้แก่ฝ่ายผู้ฟ้องแทน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้มีคนร่วมกันพูดถึงความผิดปกติต่างๆ ในสังคมมากขึ้น

สาม กฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล (Whistleblower’s Protection Law) คือกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชัน เพื่อไม่ให้เขาถูกแก้แค้นจากฝ่ายที่ถูกเปิดโปง ไม่ว่าจะเป็นการภาคฑัณฑ์ การไล่ออก หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำงานโดยประการใดๆ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้การเปิดเผยข้อมูลทำได้ง่ายๆ ไม่เป็นภาระแก่คนเปิด

สี่ กฎหมายจัดตั้งสำนักงานพิจารณางบประมาณแห่งรัฐสภา (Parliamentary Budget Office) คือจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่เป็น “หัวเศรษฐศาสตร์” ของทางรัฐสภา เพื่อจะได้ทำหน้าที่พิจารณางบประมาณของรัฐบาลว่าใช้ตัวเลขประมาณการณ์ และสมมติฐานต่างๆ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่บรรดา ส.ส. จะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวไล่บี้รัฐบาลได้อย่างมีสาระและถูกประเด็นต่อไป

ห้า กฎหมายอาทิตย์อัสดง (Sunset Legislation) คือกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานหรือกฎหมายบางอย่างของรัฐถูกยุบไปภายในเวลาที่กำหนด หากปรากฏว่ามูลเหตุที่จะต้องมีหน่วยงานหรือกฎหมายเช่นนั้นหมดไป ทั้งนี้ เพื่อลดอำนาจรัฐอันเป็นต้นทางของคอร์รัปชัน หรืออย่างน้อยๆ ในส่วนของกฎหมายใหม่ที่จะมีการออกต่อไป ก็ควรจะมีกำหนดวันหมดอายุไว้ตั้งแต่ต้น โดยหากถึงวันหมดอายุแล้วรัฐสภาไม่ต่ออายุให้เพราะประเมินแล้วไม่เห็นประโยชน์ที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุนที่กฎหมายนั้นสร้างให้กับสังคม ก็ให้กฎหมายนั้นสิ้นผลไป

หก แก้กฎหมายที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่ค่อยได้เรื่องทั้งหลายให้สมบูรณ์ขึ้น เช่น แก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ให้ง่ายต่อการที่ประชาชนจะเรียกดูข้อมูลได้ และลดข้ออ้างในการปฏิเสธข้อมูลของราชการ แก้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ยกเลิกการไม่ใช้ พ.ร.บ. กับรัฐวิสาหกิจ และกำหนดโทษปรับเป็นสัดส่วนกับความเสียหาย แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ให้เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลทางงบประมาณตามมาตรฐานเรื่องความโปร่งใสทางการคลัง กล่าวคือ ครบถ้วน ทันเวลา และเป็นระบบ โดยนำเสนอในรูปแบบที่เอื้อต่อการวิเคราะห์และกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ เป็นต้น

เชื่อว่าถ้ากฎหมายเหล่านี้ผ่านออกมาได้จริงๆ คนส่วนใหญ่ก็คงประหลาดใจและดีใจไปตามๆ กัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม 2557