ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > วิกฤติการเมืองไทยในสายตานักวิชาการต่างชาติ…ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

วิกฤติการเมืองไทยในสายตานักวิชาการต่างชาติ…ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง

20 สิงหาคม 2014


เสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) นายเอ็ดเวิร์ด คนุท (กลาง)(Edward Knuth) อาจารย์ประจำภาควิชาอังกฤษและอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) นายมาร์ค  ศักซาร์ (Marc Saxer) (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์ Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ประเทศไทย องค์กรด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในประเทศไทย และ 3) นายคลอดิโอ โซปรานเซตติ (Claudio Sopranzetti)(ซ้าย) นักมานุษยวิทยา จบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
เสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) นายเอ็ดเวิร์ด คนุท (กลาง)(Edward Knuth) อาจารย์ประจำภาควิชาอังกฤษและอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) นายมาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) (ขวา) ผู้อำนวยการศูนย์ Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ประเทศไทย องค์กรด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในประเทศไทย และ 3) นายคลอดิโอ โซปรานเซตติ (Claudio Sopranzetti)(ซ้าย) นักมานุษยวิทยา จบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

วันที่ 18 สิงหาคม 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

1) นายเอ็ดเวิร์ด คนุท (Edward Knuth) อาจารย์ประจำภาควิชาอังกฤษและอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) นายมาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการศูนย์ Friedrich-Ebert-Stiftung (FES) ประเทศไทย องค์กรด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในประเทศไทย และ 3) นายคลอดิโอ โซปรานเซตติ (Claudio Sopranzetti) นักมานุษยวิทยา จบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ด้วยวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบทบาทรถจักรยานยนต์ในสังคมไทย ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ

นายเอ็ดเวิร์ดเริ่มต้นอธิบายถึงรูปแบบของการเมืองไทยในประวัติศาสตร์ โดยกล่าวว่าการเมืองไทยมีลักษณะเป็นวงจรอุบาทว์ 5 ขั้นตอน เริ่มจากระบอบเผด็จการที่มีการควบคุมของทหาร ตามด้วยการสร้าง “ประชาธิปไตยกระดาษ” คือมีรัฐธรรมนูญแต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากประชาชน เข้าสู่ระบอบ “ประชาธิปไตย” หลังจากนั้นจะเกิด “วิกฤติบางอย่าง” อันนำไปสู่การแทรกแซงทางทหาร และการปกครองเผด็จการอีกครั้ง

วงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย
1. ระบอบเผด็จการ
2. ประชาธิปไตยกระดาษ
3. ประชาธิปไตย
4. วิกฤติบางอย่าง
5. การแทรกแซงจากทหาร

การเมืองไทยดำเนินมาในรูปแบบนี้มาโดยตลอด จาก 82 ปีของประชาธิปไตยไทย มีเพียง 19 ปีเท่านั้นที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีการรัฐประหาร 19 ครั้ง สำเร็จ 12 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ทั้งถาวรและชั่วคราว ขณะที่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง 9 คน จากนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 28 คน และมีเพียงคนเดียวที่อยู่จนครบวาระและได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง

จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกฝ่ายมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางออกจากวงจรอุบาทว์นี้ โดยการร่างกฎหมายสูงสุดให้ได้รับความเคารพและเชื่อถือจากทุกฝ่าย มีการฟังความเห็นถึง 3 ปี ก่อนจะทำสำเร็จ สิ่งที่แตกต่างออกไปของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างบนปัญหาของการเมืองไทย มีการรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุง จนเป็นที่ยอมรับและเคารพจากทุกฝ่าย ในเชิงรูปธรรมก็ได้จัดตั้งองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น

ในช่วงเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าสู่อำนาจ โดยมีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ เป็นแกนนำความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ (Head of broad coalition) รวมไปถึงเป็นชื่นชอบของคนจน ขณะเดียวกันก็มีภาพลักษณ์ของการต่อต้านคอร์รัปชัน เนื่องจากไม่มีใครเชื่อว่าคนรวยขนาดนี้จะโกงได้ นายเอ็ดเวิร์ดระบุอีกว่า ในช่วงเวลานั้น งานวิจัยและบทความหลายชิ้นได้กล่าวว่าประเทศไทยได้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว

อย่างไรก็ดี วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น นายเอ็ดเวิร์ดสร้างคำอธิบายขึ้นมา 3 อย่าง คือ

1) คอร์รัปชัน/อันตราย หรือเรียกว่ามุมมองของเสื้อเหลือง โดยเป็นความคิดของเหล่าชนชั้นกลางในเมืองที่มอง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นซูเปอร์คอร์รัปชัน มีการใช้อำนาจทางการเมือง เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้อง พวกพ้อง และประชาชนที่อยู่ฝั่งเดียวกัน เป็นอาชญากรที่ต้องจัดการ ขณะเดียวกันก็มองผู้สนับสนุนว่า เป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงไปจนถึงเป็นพวกต้องการสงครามกลางเมือง

2) ชนชั้น/ประชาธิปไตย หรือมุมมองของเสื้อแดง ที่มองว่าประเทศไทยถูกชนชั้นนำในเมืองชี้นำการเมืองมาโดยตลอด จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย เป็นการดิ้นรนเพื่อสิทธิของพลเมืองของตนเอง

3) มองตามความเป็นจริง/อำนาจ คำอธิบายนี้กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอำนาจต่างๆ ซึ่งต้องการรักษาฐานอำนาจของตน โดยใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ ด้านเสื้อเหลืองโฆษณาชวนเชื่อว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นตอของการโกง ฝ่ายเสื้อแดงก็โฆษณาว่าเราต้องนำประชาธิปไตยกลับคืนมาจากชนชั้นนำ เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง

นายเอ็ดเวิร์ดสรุปว่า ยุคของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังอยู่ในวงจรอุบาทว์เช่นเดิม แต่มีความแตกต่างบางประการ ตัวอย่างเช่น วิกฤติการเมืองหลายครั้งเป็นวิกฤติที่สร้างขึ้นโดยตั้งใจ เพื่อทำให้การเมืองหยุดชะงักและเข้าสู่ทางตัน, มีการใช้วงจรอุบาทว์เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เช่น การไม่ลงเลือกตั้ง การชุมนุม และเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร และองค์กรอิสระและศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

ทางออกของปัญหานี้ นายเอ็ดเวิร์ดกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย ทางออกของปัญหาคือทุกฝ่ายต้องยอมรับกฎหมาย ต้องต่อสู้กันในระบบ แม้จะแพ้หรือแม้กฎหมายจะไม่ยุติธรรมก็ตาม โดยกรณีหลังถึงแม้เราจะยอมรับคำตัดสิน แต่เรายังสามารถวิจารณ์คำตัดสิน นำออกมาเผยแพร่ให้ทุกฝ่ายรับรู้และค่อยปรับปรุงต่อไป

จากแนวทางดังกล่าว ทำให้นายเอ็ดเวิร์ดสรุปเพิ่มว่า คำอธิบายแรกหรือแนวคิดเสื้อเหลืองนั้นไม่ถูกต้องแน่นอน เนื่องจากการอ้างคำว่า “โกง” แล้วไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้นอกหนทางประชาธิปไตย ถ้ามีการโกงจริงต้องฟ้องร้องออกมา ต้องนำหลักฐานออกมาแสดงต่อสาธารณชน แต่จากการศึกษาพบว่าหลักฐานที่มีอยู่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะมัดตัว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ นอกจากนี้ ทางออกทางการเมืองยังมีอีกหลายทางนอกเหนือไปจากที่แนวคิดของฝ่ายเสื้อเหลืองกระทำอยู่และมองว่าทหารควรออกมาปกป้องประชาธิปไตยมากกว่า

เสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”
เสวนา “วิกฤติการเมืองไทยในสายตาต่างชาติ: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”

ด้านนายมาร์ค มองว่าสาเหตุของปัญหาทางการเมือง (Political Crisis) เกิดจากประชาธิปไตยทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติการเปลี่ยนผ่าน (Transformation Crisis) ประชาธิปไตยในกรณีแบบนี้จะสร้างเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (Elected Autocrat) โดยอาศัยเสียงของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการคุกคามชนชั้นกลางผ่านกฎระเบียบที่พวกเขาสร้างขึ้นมา เนื่องจากชนชั้นกลางรู้ตัวว่าจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ และรับรู้ถึงการลุแก่อำนาจของผู้นำเผด็จการ

ทั้งนี้ วิกฤติการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่ความพิเศษหรือเอกลักษณ์ของประเทศไทยเพียงประเทศเดียวแบบที่หลายฝ่ายได้กล่าวอ้าง ในหลายประเทศก็พบวิกฤติลักษณะนี้เช่นกัน คือเมื่อมีการเปิดให้มีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น ก็จะมีการจัดลำดับชั้นทางสังคมใหม่ ทำให้เสถียรภาพการเมืองลดลง ซึ่งกรณีของประเทศอื่นจะพบว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกระบวนการดำเนินไปจนเสร็จสิ้น เสถียรภาพการเมืองจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเอง (ดูรูป)

แต่กรณีของประเทศไทย ทางออกของชนชั้นกลางคือหันไปหาชนชั้นนำ เพื่อมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การลดการมีส่วนร่วมทางการเมือง แม้จะได้เสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้นแทน (ดูลูกศร) ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ นอกจากนี้ การอยู่ในวงจรนี้เป็นเวลานานจะส่งผลให้การต่อสู้จะย้ายจากต่อสู้ด้วยเหตุผลหลักการเป็นต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างฝ่ายมากขึ้น ทำให้แก้ปัญหายากขึ้นไปอีก

ทางออกของปัญหา นายมาร์คระบุว่า ต้องมีการประนีประนอมของสังคม (Social Compromise) เพื่อให้สามารถสร้างสัญญาประชาคม (Social Contract) ใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ด้านนายคลอดิโอ มองว่าวิกฤติการเมืองเกิดจากการต่อสู้ของอำนาจสองรูปแบบ คือ บารมีหรือความชอบธรรมในการปกครองและความสามารถในการขับเคลื่อนมวลชนหรือมีมวลชนสนับสนุน หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การเมืองไทยก็คือการเผชิญหน้าของสองอำนาจนี้ ฝ่ายหนึ่งมองว่าความชอบธรรมต้องมาก่อน ผู้ปกครองต้องเป็นคนดี อีกฝ่ายมองว่าต้องมีมวลชนสนับสนุน ผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีหรือมีบารมี

อย่างไรก็ดี แนวคิดทั้งสองอย่างขัดต่อหลักการประชาธิปไตยทั้งสิ้น แนวทางแรกขัดแย้งเพราะประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองโดยคนดี การปกครองโดยคนดีจะนำไปสู่เผด็จการคนดีของเพลโต แนวทางที่สองขัดแย้งเพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ต้องคำนึงระบบกฎหมาย การถ่วงดุลอำนาจ อื่นๆ ที่ต้องประกอบกันด้วย

นอกจากนี้ นายคลอดิโอวิเคราะห์ต่อไปว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความเชื่อข้างต้นและทฤษฎีสมคบคิดที่มองว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มีผู้นำของตน ฝ่ายเสื้อแดงมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายเสื้อเหลืองมี “อะไรก็แล้วแต่” การคิดแบบนี้ทำให้มองข้ามองค์กรอื่นๆ อย่างกองทัพไป ส่งผลให้กองทัพสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ แม้ก่อนหน้านี้จะไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คณะรัฐประหารมีอำนาจจนเปลี่ยนนิยามของนิติรัฐได้ด้วย จากปกติที่กฎหมายเป็นตัวกำหนดการกระทำทางการเมืองของรัฐ แต่ปัจจุบันจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหาร ระบุว่าการกระทำทางการเมืองเป็นกฎหมายแทน