ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ (7): แม่น้ำป่าสักเสื่อมโทรมมากต่อเนื่อง 10 ปี

ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ (7): แม่น้ำป่าสักเสื่อมโทรมมากต่อเนื่อง 10 ปี

5 สิงหาคม 2014


จากยุทธศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางของการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทำให้อัตราการขยายตัวของท่าเทียบเรือและปริมาณการขนส่งสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำป่าสัก เนื่องจากมีปริมาณเรือจำนวนมากที่วิ่งไปมาในแต่ละวัน และจอดรอการขนถ่ายสินค้าอย่างน้อย 6-8 วัน รวมทั้งวิธีการขนถ่ายสินค้าจากเรือขึ้นท่าเรือของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นระบบเปิด สินค้าบางส่วนร่วงหล่นลงสู่แม่น้ำ ทั้งไม่มีการจัดระบบการจอดเรือที่รอขนถ่ายสินค้าให้เป็นระเบียบ จึงเป็นที่มาของปัญหามลภาวะทางน้ำที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน

สภาพด้านนิเวศวิทยาของชุมชนที่อำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา ประกอบด้วยคลองน้อยใหญ่ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้ประโยชน์จากการอุปโภคบริโภค การสัญจร และการสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การเล่นน้ำในคลอง ที่ถือเป็นความผูกพันต่อสายน้ำของชาวบ้านริมน้ำ ปัจจุบันวิถีชีวิตริมน้ำนั้นได้กลายเป็นอดีตเหลือเพียงภาพความทรงจำ ผลจากมลภาวะทางน้ำ ทั้งยังแปรสภาพมาเป็นสายน้ำหลักของระบบการขนส่งทางน้ำของประเทศ

แม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่าน 5 จังหวัด คือ จ.เลย, จ.เพรชบูรณ์, จ.ลพบุรี, จ.สระบุรี และ จ.อยุธยา โดยไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำหลักของเส้นทางคมนาคม จึงทำให้แม่น้ำป่าสักเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทั้งนี้ เส้นทางขนส่งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศส่วนมากมักจะจอดเปลี่ยนเป็นเรือเล็กที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี แล้วเดินเรือมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านทาง จ.สมุทรปราการ, กรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี เพื่อมาขนถ่ายสินค้าที่แม่น้ำป่าสัก บริเวณท่าเทียบเรือที่อำเภอนครหลวง จ.อยุธยา

แผนที่เส้นทางขนส่งถ่านหิน

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลรายงานของกรมควบคุมมลพิษย้อนหลังตั้งแต่ปี 2545-2555 พบว่าแม่น้ำป่าสักอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาตลอด 10 ปี โดยสาเหตุหลักมาจาก

1) ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (Total Coliform Bacteria: TCB) ที่มีค่าเกินมาตรฐานต่อเนื่องถึง 10 ปี ซึ่งบ่งบอกว่าแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียในระดับที่เป็นอันตราย และบ่งบอกถึงความไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ ที่มีอยู่ในน้ำ

2) มีปัญหาปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟิคอลโคลิฟอร์ม (Fecal Coliform Bacteria: FCB) ที่เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง 9 ปี ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้บ่งบอกถึงความไม่สะอาดของแหล่งน้ำและความไม่ถูกสุขลักษณะที่อาจมีการปนเปื้อนจากอุจจาระของคนหรือสัตว์เลือดอุ่น ทั้งนี้ยังมีปัญหาเรื่องสารโลหะหนักประเภทสังกะสี (Zn) ที่มีค่าเกินมาตรฐาน ในอำเภอนครหลวง และสารแคดเมียม (Cd) ในอำเภอวิเชียรบุรี จ.เพรชบูรณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าน้ำในบริเวณนั้นเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดให้แม่น้ำป่าสักเป็นแหล่งน้ำประเภทที่ 3 ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยต้องมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ (Dissolve Oxygen: DO) ไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand: BOD) ไม่มากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (TCB) ทั้งหมดไม่มากกว่า 20,000 MPN/100 มิลลิลิตร ปริมาณกลุ่มฟิคอลโคลิฟอร์ม (FCB) ไม่มากกว่า 4,000 MPN/100 มิลลิลิตร และปริมาณไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนีย (Ammonia: NH3-N: NH3 ) ไม่มากกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

Web

Web

จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2545 พบว่าแม่น้ำป่าสักอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม โดยสถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐานคือ บริเวณอำเภอเมือง อำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา และอำเภอเมือง จ.เพชรบูรณ์ มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม 44,700 MPN/100 มิลลิลิตร และค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟิคอลโคลิฟอร์ม 6,100 MPN/100 มิลลิลิตร

รายงานสถานการณ์คุณภาพแหล่งน้ำปี 2546 มีผลการตรวจวัดที่เกินค่ามาตรฐาน คือ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม มีค่าสูงถึง 123,000 MPN/100 มิลลิลิตร และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟิคอลโคลิฟอร์มมีค่า 21,900 MPN/100 มิลลิลิตร ทั้งนี้ คุณภาพของแม่น้ำป่าสักอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมนั้นสืบเนื่องมาจากมีการระบายน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ ชุมชนเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ

ขณะที่ในรายงานประจำปีของสำนักจัดการคุณภาพน้ำปี 2547-2549 นั้น คุณภาพน้ำของแม่น้ำป่าสักอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ซึ่งผลการตรวจวัดในปี 2547 พบว่ามีค่าที่เกินมาตรฐาน คือ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มมีค่า 4,500 MPN/100 มิลลิลิตร ขณะที่ในปี 2548 มีค่าการตรวจวัดที่เกินมาตรฐาน คือ ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มมีค่า 24,000 MPN/100 มิลลิลิตร และปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม มีค่า 4,500 MPN/100 มิลลิลิตร ส่วนในปี 2549 ปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มมีค่า 20,400 MPN/100 มิลลิลิตร ซึ่งสถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐานคือบริเวณอำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา

จากรายงานประจำปีของสำนักจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2550 คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมโดยมีแนวโน้มคงที่ ซึ่งสถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐานคือบริเวณอำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา ในช่วงน้ำน้อยมีค่าปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำสุดถึง 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ ออกซิเจนละลายในน้ำนั้นมีความจำเป็นต่อการหายใจของพืชและสัตว์ นอกจากนี้ การตรวจวัดปริมาณโลหะหนักพบว่า บริเวณอำเภอวิเชียรบุรี จ.เพรชบูรณ์ มีค่าแคดเมียม 0.0052 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานกำหนดไว้ที่ 0.005 มิลลิกรัมต่อลิตร

ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2551 พบว่าคุณภาพของแม่น้ำป่าสักมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ จากสถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐานคือบริเวณอำเภอนครหลวง จ.อยุธยา มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มสูงถึง 160,000 MPN/100 มิลลิลิตร และบริเวณอำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าปริมาณไนโตรเจนเกินที่มาตรฐานกำหนดคือ มีค่า 1.90 มิลลิกรัมต่อลิตร บ่งบอกถึงความสกปรกของแหล่งน้ำที่เกิดจากของเสียหรือน้ำทิ้งที่มีส่วนประกอบของไนโตรเจน อาทิ แหล่งชุมชน ฟาร์มหมู ซึ่งถ้ามีปริมาณมากแสดงว่าแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนสูงและอาจเป็นพิษต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

ส่วนรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2552-2554 แม่น้ำป่าสักลดระดับไปอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมและมีแนวโน้มความเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 สถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐานคืออำเภอเมือง อำเภอนครหลวง อำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม 160,000 MPN/100 มิลลิลิตร และค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม 160,000 MPN/100 มิลลิลิตร

ในปี 2553 สถานีตรวจวัดที่มีค่าเกินมาตรฐาน คือ บริเวณอำเภอนครหลวง และอำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มสูงถึง 160,000 MPN/100 มิลลิลิตร และค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม 54,000 MPN/100 มิลลิลิตร โดยกรมควบคุมมลพิษให้สาเหตุว่า ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมเกิดจากการเพิ่มข้ึนของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร การทำการเกษตรโดยไม่มีการบำบัดน้ำเสียก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำ โดยในปี 2554 สถานีตรวจวัดที่เกินค่ามาตรฐานคือบริเวณอำเภอนครหลวง อำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม 160,000 MPN/100 มิลลิลิตร และมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม 92,000 MPN/100 มิลลิลิตร

นอกจากนี้ ในรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำปี 2555 พบว่ามีค่าที่เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ บริเวณสะพาน อำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา มีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม สูงถึง 28,500 MPN/100 มิลลิลิตร และค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มสูงถึง 6,400 MPN/100 มิลลิลิตร ทั้งนี้ จากการตรวจวัดทั้งหมด 4 ครั้ง พบว่ามีค่าสูงถึง 3 ครั้ง โดยค่าการปนเปื้อนของปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์มมีค่ามากกว่า 4,000 MPN/100 มิลลิลิตร จำนวน 44 ครั้ง จากการตรวจวัดทั้งหมด 218 ครั้ง จุดตรวจวัดที่เป็นปัญหาคือบริเวณอำเภอท่าเรือ จ.อยุธยา

ส่วนในบริเวณอำเภอนครหลวง จ.อยุธยา ในเดือนสิงหาคมมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มสูงถึง 22,000 MPN/100 มิลลิลิตร และในเดือนธันวาคมมีค่าปริมาณแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม 4,900 MPN/100 มิลลิลิตร ทั้งนี้ยังพบว่าบริเวณอำเภอนครหลวงมีค่าปริมาณโลหะหนักที่เกินมาตรฐาน คือ สังกะสี มีค่า 2.52 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่ามาตรฐานกำหนดไว้ไม่เกิน 1.00 มิลลิกรัมต่อลิตร

“สำนักงานทรัพยากรฯ ตรวจฝุ่น-น้ำปีละครั้ง ยืนยันไม่เกินค่ามาตรฐาน”

นายสุรชัย อจลบุญ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรฯ ได้มีการประสานกับกรมควบคุมมลพิษให้มาตรวจวัดฝุ่นละออง ซึ่งผลตรวจค่าความทึบแสงของฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 และร้อยละ 5 แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีฝุ่นละออง มีฝุ่นละอองเหมือนกัน อาจทำให้เกิดอาการคันหรือแพ้ ซึ่งภูมิต้านทานแต่ละบุคคลแตกต่างกัน

“ฝุ่นละอองที่ค่าความทึบแสงที่ 15 บางคนอาจเกิดอาการคันหรือเป็นผื่นได้ แต่บางคนค่าความทึบแสงที่ 5 ก็ไม่เป็นอะไร ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน โดยปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของเหตุเดือดร้อนรำคาญ โดยการตรวจวัดฝุ่นละอองจะทำการตรวจในขณะที่มีการปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมักเกิดในช่วงเวลาที่มีการขนถ่ายสินค้า เช่น เวลาตักหรือเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้นรถบรรทุก”

นายสุรชัยกล่าวต่อว่า ในเรื่องน้ำเสียค่อนข้างมีผลกระทบน้อย ซึ่งจากการตรวจการปนเปื้อนของน้ำนั้นยังไม่เกินค่ามาตรฐาน ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการจอดเรือที่ท่าเทียบเรือซ้อนกันหรือฝุ่นละอองจากการขนถ่ายที่ตกลงไปบ้าง ส่วนมากมักเป็นถ่านหิน แต่ก็มีบางบริษัทที่ทำเป็นระบบปิด คือจะทำการฉีดสเปรย์น้ำไว้ก่อน ซึ่งเวลาขนถ่ายลงเรือจะเกิดการฟุ้งกระจายน้อย

ทั้งนี้การตรวจวัดเรื่องฝุ่นละอองและการปนเปื้อนของน้ำจะทำการตรวจปีละครั้ง แต่ถ้าชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน เช่น มีอาการคันหรือแพ้ก็สามารถขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้

“การเทกองถ่านหินบนพื้นดินค่อนข้างทำให้เกิดฝุ่นละอองมากกว่าการเทกองบนพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งการเทกองบนพื้นดินจะทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่ดินหรือเปล่า ทางสำนักงานทรัพยากรฯ ยังไม่มีการตรวจสอบว่าบริเวณน้ำใต้ดินมีสารเคมีหรือมลพิษไหม เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการตรวจสอบ แต่น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลไม่แนะนำให้มีการบริโภคอยู่แล้ว เนื่องจากมีเชื้อราปนเปื้อนในน้ำ แต่สามารถนำมารดน้ำต้นไม้ได้”

นายสุรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานทรัพยากรฯ มีหน้าที่ให้ความรู้และทำการตรวจสอบเรื่องคุณภาพน้ำ เสียง และอากาศ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งแก้ไขหรือปิดกิจการใดๆ ทั้งนี้ จากการตั้งคณะกรรมการพหุภาคีขึ้นทำให้หลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมเจ้าท่า โรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานสาธารณสุข เข้ามาช่วยดูแลปัญหานี้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่คาดว่าจะดีขึ้นกว่าเดิม

นักวิชาการแนะนำควรตรวจน้ำ-อากาศทุกวัน ถึงไม่เกินค่ามาตรฐานไม่ได้แปลว่าไม่มีมลภาวะ

ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า”การตรวจค่ามาตรฐานบ้านเราส่วนใหญ่ อาจจะกำหนดไว้ว่า 1 เดือนตรวจวัดวันเดียว เท่ากับวัดอยู่แค่ 12 ตัวอย่าง จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนได้เลยเพราะปีหนึ่งมี 365 วัน จริงๆ ควรมีการวัดให้ได้ทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องอากาศ เพราะจะมีปัจจัยในการวัด อาทิ ถ้าลมพัดไปอีกทิศก็ไม่สามารถวัดได้ สมมติว่าแหล่งกำเนิดออกมาอย่างนี้ ถ้าลมพัดมาทิศนี้เราวัดตรงนี้ก็เจอ แต่ถ้าลมพัดแล้ววัดเหนืลมยังไงก็ไม่เจอ บ้านเราก็จะมีปัญหาในการตรวจวัดแบบนี้”

“เคยมีตัวอย่างกรณีที่เรื่องของเขาคูหา จ.สงขลา ที่มีการทำเหมืองหินปูน ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะมากแต่วัดออกมาแล้วไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ศาลเขาพิพากษาให้เหมืองชดเชยชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้ว่าค่าที่วัดจะไม่เกินมาตรฐานแต่เหมืองเป็นผู้ก่อมลพิษจริง แล้วชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจริง เพราะฉะนั้น การที่จะมาพูดว่าไม่เกินค่ามาตรฐานแล้วไม่ผิด อันนี้ไม่ใช่ คือมันมีรายละเอียดและปัจจัยที่ต้องดูให้ลึกกว่านั้นในหลายเรื่อง เช่น วัดกี่ครั้ง ความถี่เท่าไหน วัดที่ไหน ซึ่งวัดที่ไหนกับความถี่ คือสิ่งสำคัญ การวัดเดือนละครั้งแล้วบอกไม่เกิน มันจะมีประโยชน์อะไรเพราะไม่ใช่สิ่งชี้วัดที่แท้จริง”

ดร.อาภา กล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสว่า อย่างกรณีของต่างประเทศ ชาวบ้านเขาลุกขึ้นมาเก็บตัวอย่างเองเพราสามารถเก็บตัวอย่างได้ดีที่สุด เนื่องจากเขาอยู่ใกล้แหล่งกำเนิด คือ พอเกิดมลภาวะเขาก็สามารถรู้ได้เลย ชาวบ้านเขาก็ไปจ้างวิเคราะห์ตัวอย่างเองแล้วก็ฟ้องศาล ทั้งนี้ไม่ได้เสนอว่าชาวบ้านต้องจัดการเอง แต่สังคมมันเป็นแบบนี้ คือจริงๆ มันไม่ควรเป็นภาระที่จะต้องให้ชาวบ้านมาพิสูจน์เองว่าได้รับมลพิษ แท้จริงแล้วต้องเป็นภาระของคนที่ทำให้เกิดมลพิษ แต่หลักการก็คือว่า วิธีคิดเรื่องค่ามาตรฐานมันเป็นแบบนี้หมด คือ 1 เดือนเก็บครั้งเดียว และถ้าชาวบ้านจะสู้ ก็ต้องลุกขึ้นมาทำเอง ทั้งเก็บตัวอย่างและทำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะไปต่อสู้