ThaiPublica > คอลัมน์ > เว็บไซต์ “ลามกอนาจาร” กับอาชญากรรมทางเพศ

เว็บไซต์ “ลามกอนาจาร” กับอาชญากรรมทางเพศ

29 สิงหาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 นั้น มีเว็บไซต์ “ลามกอนาจาร” รวมทั้งสิ้นถึง 24,139 เว็บไซต์

บ่อยครั้งที่ผมได้เห็นผู้คนทำการเชื่อมโยงเว็บไซต์ลามกอนาจารเข้ากับ “การกระทำรุนแรงทางเพศ” โดยเฉพาะการข่มขืน ด้วยเหตุผลในเชิงว่าเว็บไซต์ดังกล่าวนั้น จะกระตุ้นอารมณ์เพศให้คุคั่งเสียจนผู้เสพไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนต้องออกไปหาเหยื่อมาข่มขืน เพื่อปลดปล่อยความอึดอัดคัดข้องที่ร่ำร้องอยู่ภายใน

เมื่อพบเจอการเชื่อมโยงเช่นนั้นคราใด ก็ให้สงสัยว่า ผู้พูดนั้นเคยได้เข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นบ้างหรือไม่ หรือหากเข้าถึง ผู้พูดนั้นใช้เว็บไซต์ทำนองนั้นไปในทางใด ใช้อย่างอาหารเรียกน้ำย่อยรอคอยจานหลักหรือ เพราะว่ากันจริงๆ แล้ว ในอีกทางหนึ่งก็น่าจะมองได้ว่า เว็บไซต์ลามกอนาจารทั้งหลายนั้น น่าจะให้ผลในการช่วยทดแทนการร่วมเพศจริง มากกว่าจะไปเป็นส่วนสนับสนุนให้คนวิ่งออกไปหา “เหยื่อ” มาระบายความใคร่ด้วยการขู่เข็ญบังคับ หรือถ้าพูดกันให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือ มันอาจจะเป็นทางออกของมนุษยชาติทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาการข่มขืนเสียด้วยซ้ำไป

กระนั้น ครั้นจะตัดสินว่าผู้พูดเช่นนั้นเพียงแต่กล่าวไปอย่างเลื่อนลอย ก็คงไม่ยุติธรรม ก็เลยต้องลองไปค้นไปหา เผื่อจะเจอว่า แท้จริงแล้ว ผู้พูดเช่นนั้นมีงานวิจัยใดๆ หนุนหลัง หากแต่ไม่อยากจะอ้างจะอิง ด้วยเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าตามก้นฝรั่ง

และจากการค้นการหา ก็พบข้อมูลมาดังที่จะขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยตามนี้ครับ

1. ในปี ค.ศ. 1991 เพื่อทดสอบว่าสื่อลามกอนาจารนั้นมีผลต่อการกระทำความรุนแรงทางเพศหรือไม่ แบร์ล คุตชินสกี (Berl Kutchinsky) ทำการศึกษาผลของนโยบายสาธารณะทางด้านสื่อลามกอนาจารต่ออัตราการข่มขืนใน 4 ประเทศ คือ 1) เดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่ทำให้สื่อลามกอนาจารเป็นสิ่งถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 (ยกเว้นประเภทที่มีตัวแสดงเป็นเด็กหรือ child pornography แต่ต่อมาก็ถูกกฎหมายในปี ค.ศ. 1980) 2) สวีเดน (ถูกกฎหมายในปี ค.ศ. 1970) 3) เยอรมนี (ถูกกฎหมายในปี ค.ศ. 1973 ตอนนั้นยังเป็นเยอรมันตะวันตก) และ 4) สหรัฐเอมริกา ซึ่งในตอนนั้นสื่อลามกอนาจารยังไม่ถูกกฎหมาย แต่ก็หาได้ง่ายดายและแพร่หลายไม่น้อย และผลการศึกษาก็ปรากฏว่า การที่สื่อลามกอนาจารถูกกฎหมายและเป็นที่แพร่หลายนั้น ไม่ได้มีผลอะไรกับการกระทำรุนแรงทางเพศ

2. ในปี ค.ศ. 1999 มิลตัน ไดมอนด์ (Milton Diamond) ได้นำเสนอผลการวิจัยจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเข้าถึงสื่อลามกอนาจารและอาชญากรรมทางเพศในประเทศญี่ปุ่น โดยวิเคราะห์จากข้อมูลในช่วงปี ค.ศ. 1972-1995 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงจากสังคมอนุรักษนิยมมาสู่ความเปิดเผยทางเพศ ผลปรากฏว่า เมื่อสื่อลามกอนาจารกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย คดีข่มขืนก็ลดลงเป็นอย่างมาก โดยจากที่ในปี 1972 มีจำนวนถึง 4,677 คดี และมีผู้ก่อคดี 5,464 คน ก็ลดลงเหลือ 1,500 คดี และมีผู้ก่อคดี 1,160 คนในปี 1995

หากสังเกตจากตัวเลขของผู้ก่อคดีแล้ว ลักษณะของการข่มขืนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่ในปี ค.ศ. 1972 มีจำนวนผู้ก่อคดีมากกว่าจำนวนคดี ซึ่งหมายความว่ามีการกระทำผิดในลักษณะของการรุมโทรมอยู่ด้วย แต่ในปี ค.ศ. 1995 จำนวนผู้ก่อคดีนั้นน้อยกว่าจำนวนคดี

นอกจากนี้ คดีข่มขืนที่มีวัยรุ่นเป็นผู้ก่อคดีก็ได้ลดลงเป็นอย่างมากด้วย โดยในปี ค.ศ. 1972 นั้นมีผู้ก่อคดีที่เป็นวัยรุ่นถึง 33 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี ค.ศ. 1995 มีผู้ก่อคดีที่เป็นวัยรุ่นเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนผู้ก่อคดีที่เป็นวัยรุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 ถึง ค.ศ. 1995 ก็ลดลงจาก 1,803 คน เหลือ 264 คน ซึ่งเท่ากับลดลงถึงประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์

และในกรณีของการคุกคามทางเพศนั้น แม้ว่าจะลดลงจาก 3,139 คดีในปี ค.ศ. 1972 ลงมาเหลือน้อยกว่า 3,000 คดีในปี ค.ศ. 1990 ก่อนจะดีดตัวกลับไปสูงถึง 3,644 คดีในปี ค.ศ. 1995 แต่หากพิจารณาจำนวนคดีต่อจำนวนประชากร 1,000 คนแล้ว จะเห็นว่าก็ยังลดลงจาก 0.0292 เป็น 0.0290 ต่อประชากร 1,000 คน

สิ่งที่น่าสนใจจากงานวิจัยของไดมอนด์ก็คือ อัตราการตัดสินว่ามีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นเพิ่มจาก 85 เปอร์เซ็นต์ในปี ค.ศ. 1972 เป็น 90 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษ 1980 และเพิ่มเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษ 1990 ซึ่งไดมอนด์บอกว่า ในช่วงหลังๆ นั้น ผู้ก่อคดีนั้นมักจะไม่รู้จักกับเหยื่อ ทำให้พิสูจน์ได้ง่ายขึ้นว่าเป็นการข่มขืนจริงๆ (ตรงนี้คงต้องขอแทรกไว้นิดนึงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “มายาคติของการข่มขืน” หรือ rape myth ที่บ่อยครั้ง หากเป็นกรณีที่ผู้ก่อคดีเป็นผู้รู้จักมักคุ้นกับผู้เสียหายแล้ว โอกาสในการจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเราก็ยากขึ้นไปด้วย)

3. ในปี ค.ศ. 2009 คริสโตเฟอร์ เจ. เฟอร์กูสัน (Christopher J. Ferguson) และริชาร์ ดี. ฮาร์ตลีย์ (Richard D. Hartley) ทำการศึกษาอิทธิพลของสื่อลามกอนาจารกับการกระทำความรุนแรงทางเพศและการข่มขืนในประเทศสหรัฐเอมริกา ซึ่งผลที่ได้ออกมาก็คือ การที่สื่อลามกอนาจารมีอยู่อย่างแพร่หลายและหาเสพได้ง่ายนั้น ไม่ได้มีผลให้การข่มขืนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

นอกจากนั้น รายการ “ต้องรอด” ที่ออกอากาศทาง “ไทยรัฐทีวี” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ร.ต.ท.หญิง ศรีกุล เธียรประดิษฐ์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางรัก บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนร้ายก่อคดีข่มขืนนั้นมีอยู่ 4 ประการ คือ 1) รู้จักหรือหรือรู้พฤติกรรมของผู้เสียหาย 2) สถานที่ เช่น ที่เปลี่ยว บนรถแท็กซี่ สถานบันเทิงต่างๆ หรือที่พักที่เป็นส่วนตัว 3) สิ่งเร้าต่างๆ ซึ่งในทางของผู้ก่อคดีก็เช่น ยาเสพติด สุรา การแอบชอบเหยื่อมาก่อน ส่วนในทางของผู้เสียหาย ก็อาจเป็นการแต่งกายของตนเอง 4) ช่วงเวลาที่ผู้เสียหายอยู่ตามลำพัง

ดังนั้น จากข้อมูลที่นำมาแสดง ก็คงพอจะเห็นว่า การเข้าถึงสื่อลามกอนาจารได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อสามารถเข้าถึงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีผลกระทบให้การก่ออาชญากรรมทางเพศเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกัน บางกรณียังสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการก่ออาชญากรรมทางเพศอีกด้วย แต่ก็อยากย้ำกันสักนิดครับว่า การวิจัยเหล่านี้ก็เป็นการให้ภาพกว้างๆ และที่สำคัญคือศึกษาได้แต่จากกรณีที่เป็นที่เปิดเผยหรือได้รับการบันทึกไว้ ซึ่งตรงนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้เราอาจยังตั้งข้อสงสัยต่อไปได้ว่ามีอะไรอยู่บ้างในส่วนที่รอดพ้นไปจากการเปิดเผยนี้ (แต่ต้องสงสัยและค้นหาด้วยการศึกษาหาข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ใช้จินตนาการทึกทักสรุปเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น) ซึ่งการที่ไม่เป็นที่เปิดเผยนี้ก็โยงไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติต่อเรื่องเพศในสังคม มุมมองที่สังคมมีต่อผู้เสียหาย หรือกระทั่งวิธีการในการสอบสวนและดำเนินคดีของตำรวจ

มาถึงจุดนี้แล้ว ดูราวกับว่าสื่อลามกอนาจาร โดยเฉพาะเว็บไซต์ลามกอนาจารทั้งหลาย เหมือนจะไม่เคยถูกกล่าวถึงจากผู้กระทำผิด ในฐานะว่าเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เกิดการก่ออาชญากรรมทางเพศของตัวเองเลยด้วย ดังนั้นแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า เว็บไซต์ลามกอนาจาร ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่องทางการเข้าถึงสื่อลามกอนาจารได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ อาจจะมีผลในเชิงทดแทนการกระทำจริงทางเพศ (substitution effect) มากกว่าจะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการกระทำจริงทางเพศ (complementary effect)

จากนี้ไปคือสมมติฐานบนฐานข้อมูลการศึกษาที่มีอยู่ในมือดังกล่าวมาข้างต้นนะครับ ว่าเพราะอะไร เว็บไซต์ลามกอนาจารจึงอาจมีผลในเชิงสิ่งช่วยทดแทนการกระทำจริงทางเพศ

ในความที่เป็นสื่อชนิดหนึ่งแล้ว เว็บไซต์ลามกอนาจาร ย่อมตกเป็นข้อถกเถียงในเรื่องบทบาทของมันดุจเดียวกับละคร “น้ำเน่า” ว่าทำหน้าที่สะท้อนสังคมว่าสังคมขณะนี้เป็นอย่างไร หรือทำหน้าที่ชี้นำสังคมให้คนในสังคมออกไปทำตามอะไรก็ตามแบบที่เห็นปรากฏในสื่อ แต่ด้านหนึ่งที่ผู้คนมักไม่พูดถึงกันก็คือ สื่อเหล่านี้ในฐานะของสิ่งที่ช่วยเติมเต็ม “ความเพ้อฝัน” (fantasy) อันเกิดจากการไม่ได้รับการตอบสนองซึ่งเรื่องเหล่านี้ในชีวิตจริง รสนิยมทางเพศของคนเรานั้นหลากหลายมากๆ นะครับ ตั้งแต่ในเรื่องทั่วๆ ไปอย่างรูปร่าง ท่าทางต่างๆ ในการประกอบกิจกรรมทางเพศ หรือไปจนถึงกระทั่งรสนิยมการร่วมเพศบางแบบที่หลายๆ คนรู้แล้วก็อาจต้องรู้สึกว่ามัน “วิปริต” ซึ่งสื่ออย่างเว็บไซต์ลามกอนาจาร น่าจะช่วยตอบสนองในส่วนนี้ได้ โดยเฉพาะสื่อจากญี่ปุ่น ซึ่งทำกันเป็นธุรกิจอย่างถูกกฎหมาย ผลิตภัณฑ์วิดีโอสำหรับผู้ใหญ่ หรือ Adult Video (AV) ของญี่ปุ่นนั้นมีหลากหลายแนวมาก เรียกว่าตอบสนองรสนิยมทางเพศได้อาจจะแทบทุกรูปแบบ และถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ต่อหน้าอินเทอร์เน็ตแล้ว ผมคิดว่าไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมแบบไหน ก็สามารถค้นหาสื่อลามกที่ต้องตรงกับรสนิยมคุณได้ทั้งสิ้น (อย่างน้อยที่สุดคือในรูปของการแสดง) และการตอบสนองความเพ้อฝันตรงนี้นี่แหละ ที่น่าจะทำให้คนเราได้ปลดปล่อยความต้องการทางเพศของตัวเองไปในพื้นที่ปิดกั้นอันเป็นส่วนตัว และไม่เอามันไปปล่อยเรี่ยราดให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครต่อใครในโลกภายนอก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ไม่ได้เชื่ออย่างสมบูรณ์ว่าผลทางด้านการทดแทนการกระทำจริงของเว็บไซต์ลามกนั้นจะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ มันจะเป็นจริงเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อ

1. ผู้เสพมีพื้นที่ส่วนตัวพอที่จะปลดปล่อยความต้องการของตัวเอง หรือก็คือสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ตรงนี้สามารถมองให้กว้างออกไปอีกถึงเรื่องของกำลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยให้ผู้เสพสามารถมีพื้นที่ส่วนตัวดังกล่าวด้วยนะครับ (ใครจะไปรู้ เมื่อมองต่อไปแล้ว ไอ้เรื่องส่วนตัวอย่างการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอาจเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ ก็ได้)
2. กรณีที่อยากลองอะไรแบบที่เห็นมาในสื่อ การมี “คู่กิจกรรม” ที่พูดคุยกันได้ พร้อมจะทำความเข้าใจกัน เรียนรู้ไปด้วยกันว่าอะไรที่ดีกับทั้งคู่ ก็เป็นสิ่งจำเป็น ตรงนี้สัมพันธ์กับทัศนคติต่อเรื่องเพศของผู้คนในสังคมนะครับ ถ้าเราเปิดกว้างพอจะพูดคุยกันได้ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นคู่กิจกรรมนั้นควรจะคุยกันได้ ย่อมเป็นการดีกว่ามองมันเป็นเรื่องสกปรกหรือน่าเขินอายที่จะพูดคุย
3. ความใคร่ที่ไม่ได้รุนแรงเสียจนขนาดที่ว่า จัดการตัวเองซ้ำๆ จนหมดแรงหลับไปแล้วตื่นมาก็ยังไม่หาย ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ ผมแนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษานะครับ อย่าอายครับ เพราะนั่นแสดงว่ามันเริ่มรบกวนชีวิตปรกติของคุณแล้ว

อนึ่ง จากการค้นหาข้อมูลในครั้งนี้ พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสื่อลามกอนาจารกับอัตราการก่ออาชญากรรมทางเพศนั้นค่อนข้างเก่า จนชวนให้สงสัยว่า หรือเมืองนอกเมืองนาเขาจะเลิกพูดคุยในเรื่องพวกนี้กันไปแล้ว แต่ถ้าไทยเราจะคุยกันต่อ ผมว่าก็น่าจะเป็นในลักษณะของการพัฒนาการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นระบบ มากกว่าจะมานั่งจินตนาการเอาว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ จินตนาการจะสำคัญกว่าความรู้ก็เมื่อความรู้มันเดินทางไปถึงสุดขอบความสามารถตามกรอบของมันครับ ไม่ใช่สำคัญกว่ากันไปในทุกกรณี

เอกสารอ้างอิง

Diamond, M. (1999), The Effects of Pornography: an international perspective, Porn 101: Eroticism, Pornography, and the First Amendment, J. Elias, et al., Editors (p. 223-260)

Ferguson, C.J. and R.D. Hartley (2009), The Pleasure is Momentary…the Expense Damnable? The INfluence of Pornography on Rape and Sexual Assault, Aggression and Violent Behavior, Elsevier (p.323-329)

Kutchinsky, B. (1991), Pornography, Sex Crime and Public Policy, Institute of Criminology and Criminal Science, University of Copenhagen, Denmark 1991