ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี’57 ลดลง ขยายตัว 1.5 – 2 % ระบุมี 4 ปัจจัยเสี่ยง

สภาพัฒน์ฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี’57 ลดลง ขยายตัว 1.5 – 2 % ระบุมี 4 ปัจจัยเสี่ยง

18 สิงหาคม 2014


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ แถลงอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2557 และคาดการณ์การขยายตัวทั้งปี 2557 ซึ่ง สภาพัฒน์ฯ ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการใหม่ จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ในไตรมาสแรกว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% ปรับใหม่เป็น 1.5-2.0% และคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัว 3.5 – 4.5%

“อัตราการขยายตัวปี 2558 แม้จะสูงกว่าปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สามารถโตได้ 4.5-6% โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟ, ทางหลวง, การลงทุนด้านพลังงาน, ระบบขนส่วนมวลชนในกรุงเทพฯ และโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งในและนอกระบบชลประทาน ขณะที่การส่งออกจะโตได้ 5-7% ต่ำกว่าศักยภาพที่คาดว่าจะโตมากกว่า 10%” นายอาคมกล่าว

ประมารการจีดีพี2557

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีการปรับตัวเลขประมาณเศรษฐกิจปี 2557 จากร้อยละ 2.5 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 เป็นร้อยละ 2.0 ในวันนี้ (18 ส.ค. 2557) ประกอบด้วยเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผล กระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อต่อเนื่อง การส่งออกขยายตัวช้า และการหดตัวของการจำหน่ายรถยนต์ และการขยายตัวในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มต่ำกว่าศักยภาพ

นายอาคมกล่าวถึงสาเหตุที่การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว แม้ความเชื่อมั่นจะดีขึ้น จนนำไปสู่การปรับลดตัวเลขประมาณการของ สศช. ว่า ความเชื่อมั่นเป็น “ความรู้สึก” ของประชาชนที่มองว่าสถานการณ์ดีขึ้นและพร้อมที่จะทำงานหรือลงทุนต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงก็ดีขึ้น แต่ความเร็วของการฟื้นตัวในแต่ละส่วนย่อมไม่เท่ากัน โดยจากตัวเลขของ สศช. พบว่าการใช้จ่ายของประชาชนจะฟื้นตัวก่อนเป็นอันดับแรก ขณะที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวตามมาเป็นลำดับสอง และสุดท้ายคือการลงทุนของเอกชน เนื่องจากการชะลอการลงทุนก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนสูง ระดับ 100-1,000 ล้านบาท ทำให้การกลับมาลงทุนเพิ่มเติมต้องมีการทบทวนและใช้เวลามากกว่า

“หากเราสามารถปรับระบบการออกใบอนุญาตโรงงาน เรื่องของการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนได้เร็ว ก็จะทำให้เอกชนตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรจะเริ่มลงมือก่อสร้าง อันนี้มีผลมากที่จะทำให้เม็ดเงินกลับเข้ามา คือเราต้องอนุญาตก่อนเขาถึงจะตัดสินใจ เขาจะไม่ลงทุนในทันทีในขณะที่ไม่ได้รับอนุญาต มันก็จะเสี่ยงสำหรับเขา” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับส่วนนอกภาคเกษตรกรรม เกิดจากการใช้จ่ายล่วงหน้าในมาตรการรถคันแรก ขณะที่หนี้ครัวเรือนจากการอุปโภคบริโภคจะมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง ลูกหนี้ก็จะมีความสามารถชำระหนี้ได้ และไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่ด้านหนี้ในภาคเกษตรกรรม สามารถแบ่งได้เป็นสามด้าน คือ 1) การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ 2) การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และ 3) การซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งส่วนที่สามสามารถนับเป็นการลงทุนของเกษตรกร เพื่อจะมีรายได้ในอนาคต การนำมาคิดรวมกันกับหนี้อีกสองส่วน รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนอกภาคเกษตรกรรม จะทำให้ตัวเลขสูงกว่าความเป็นจริง ควรแยกและไม่นำมาปะปนกัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสสอง ปี 2557
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาสสอง ปี 2557

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ (1) การขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก (2) การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน และ (4) การลดลงจากฐานที่สูงของปริมาณการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 ว่ายังมีข้อจำกัด ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2557 ควรให้ความสำคัญกับ 6 ประเด็น คือ 1. เร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค โดยการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน ตลอดจนเร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในด้านการผลิตของสินค้าสำคัญๆ

2. การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวโดยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และการเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

3. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.3 และการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 31 รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการสำคัญๆ ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

4. การแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของการลงทุน โดยการเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการสำคัญๆ ที่ยังรอการพิจารณาอนุมัติ และสนับสนุนให้การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมแล้วเริ่มการลงทุนและมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว รวมทั้งการเร่งรัดการประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่

5. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจ โดยการเร่งรัดดำเนินการโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในช่วงที่เหลือของปี 2557 และในปี 2558 ซึ่งผ่านการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและบรรจุไว้ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและในงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวม ปตท.) ปี 2557 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 259,113 และ 267,895 ล้านบาท ตามลำดับ และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง รวมทั้งการเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติโครงการลงทุน โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสายส่งไฟฟ้า ระบบการขนส่ง ก็จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ที่มีการจัดเม็ดเงินอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณหรือไตรมาส 4 ของปี 2557 จะมีเม็ดเงินจากรัฐประมาณ 5 แสนล้านบาท รวมกับของรัฐวิสาหกิจอีก 1.5 แสนล้านบาท เป็น 6.5 แสนล้านบาท

6. การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามเงื่อนไขของเศรษฐกิจโลกและการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ