ThaiPublica > คอลัมน์ > เหลียวหลังเพื่อแลหน้า (ตอนที่ 2): เรื่องการเมืองไทย

เหลียวหลังเพื่อแลหน้า (ตอนที่ 2): เรื่องการเมืองไทย

10 สิงหาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ผมเกริ่นไว้ว่าจะเล่าความเป็นไปของเรื่องสำคัญสี่ด้านรอบตัวเรา ในช่วงชีวิตผม (2497-ปัจจุบัน)

บทแรกเลย ขอเริ่มด้วยเรื่องการเมืองไทย ในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมา (ไทยมีนายกรัฐมนตรี 21 คน ในช่วงนี้ ผมเลยเขียนเสียยาวมาก ถ้าใครกลัวเสียเวลา จะข้ามไปอ่านบทสรุปข้างท้ายเลยก็ได้นะครับ)

ปีมะเมีย 2497 ที่ผมเกิด อยู่ในช่วงอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะ อันประกอบด้วย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ จอมพลผิน ชุณหะวัณ แห่งซอยราชครูเป็นกำลังหลัก และมีพรรคเสรีมนังคศิลาเป็นลูกหาบ ในช่วงปลายศตวรรษ ท่านจอมพลเกิดไว้ใจให้จอมพลขะม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นบัญชาการกองทัพบก ซึ่งระยะแรกก็ดูจะจงรักภักดีเหนียวแน่นกันดี แต่พอย่างเข้าศตวรรษใหม่ ก็เริ่มมีเรื่องกระทบกระทั่ง พอดีกับมีความวุ่นวายจากการเลือกตั้งใหญ่ นิสิตนักศึกษาประท้วงว่าไม่โปร่งใส เดือนกันยายนปี 2500 ท่าน ผบ.ทบ. ก็เลยยึดอำนาจ (ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นไม่กี่เดือน เอาลูกสุนัขไปให้วันเกิดนาย ประกาศว่าจะภักดีเหมือนสุนัขนี้ สงสัยจะอ้างว่านายดันเตะลูกสุนัขก่อน) ปล่อยให้หลวงพิบูลหนีกระเซอะกระเซิงลงเรือไปเขมร (มี พล.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจประจำตัว คอยพิทักษ์ไปด้วย)

ช่วงแรกท่านจอมพลเทครัวอาจยังเคอะเขิน เลยขอให้ คุณพจน์ สารสิน กับ พล.ท. ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ ไปก่อน แต่พอปลายปี 2501 ท่านก็เกิดรำคาญ ปฏิวัติอีกทีแล้วเป็นนายกฯ เสียเอง มีการออกธรรมนูญชั่วคราวปกครองประเทศ ที่มีมาตรา 17 อันลือลั่น ให้อำนาจล้นฟ้าแก่นายกฯ ซึ่งท่านก็ใช้อย่างเด็ดขาด ปราบฝิ่น ปราบอันธพาลอั้งยี่ ปราบวางเพลิง เป็นที่ถูกใจแฟนซาดิสต์ทั้งหลาย (บางคนยังชื่นชมถวิลหาอยู่เลย) กลางวันงานหนัก ตกค่ำเริงสำราญ มีวิมานสีชมพูอันโด่งดัง สาวๆ ดารานางงามห้อมล้อม สุขภาพท่านเลยร่วงโรย ตับไตเสื่อมโทรม แค่ปลายปี 2506 ก็ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ 8 ธันวาคม อายุแค่ 55 ปี ตรงนี้มีเกร็ดเรื่องหนึ่งที่มีผู้อาวุโสเล่าให้ฟังว่า ตอนต้นเดือนธันวาคม ในการสวนสนามวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ท่านนายกฯ นอนป่วย ไปร่วมไม่ได้ แต่ดันมอบหมายให้ พล.อ. จิตติ นาวีเสถียร ไปทำหน้าที่แทน ไม่ยักกะให้ พล.อ. ถนอม มือขวาเหมือนที่เคย ไม่กี่วันหลังจากนั้นก็เลยทรุดฮวบจากไปกะทันหัน ทั้งๆ ที่ตามอาการยังไม่น่าจะถึงฆาต (นี่ฟังเขาเล่ามานะครับ)

ความจริงในเรื่องเศรษฐกิจ ท่านจอมพลผ้าขะม้าแดงท่านมีผลงานอยู่ไม่น้อย มีทีมงานเทคโนแครตเก่งๆ หลายท่านคอยช่วย วางรากฐานเศรษฐกิจยุคใหม่ไว้ดีๆ หลายอย่าง แต่ผมจะขอยกยอดไปเล่าในบทที่สอง

ที่จอมพลสฤษดิ์โด่งดังมากอีกเรื่อง ก็เป็นเรื่องเงินทอง ตอนเรืองอำนาจไม่มีใครกล้าแตะกล้าวิจารณ์ แต่พอตายลงความก็แดงออกมา นอกจากเมียน้อยหลายสิบ ที่ได้รับบ้าน รับรถ รับเงินกันไปอ่วมทั่วหน้า ลูกเมียดันทะเลาะกัน แย่งทรัพย์จนขึ้นศาล พอเปิดพินัยกรรมที่เขียนตอน 2502 ก่อนเป็นนายกฯ ว่า “ในวันที่ข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ถ้ามีเงินสดและเงินฝากธนาคารเกินสิบล้านบาท ขอยกให้ลูกชายสองคน คนละหนึ่งล้านบาท” ปรากฏว่า ตอนตายหลังจากเป็นนายกฯ ได้แค่สี่ปี มีเงินในบัญชีธนาคารกว่าสี่ร้อยล้านบาท แถมมีที่ดินอีกกว่า 28,000 ไร่ทั่วราชอาณาจักร ต้องสอบสวนกันวุ่นวาย พบว่าเงินบางส่วนโอนไปจากกองสลากฯ จากกรมวิเทศฯ ดื้อๆ เลยก็มี จนสุดท้าย จอมพลถนอม จำต้องออกกฎหมายยึดทรัพย์ส่วนใหญ่ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

พอสิ้นยุคจอมพลสฤษดิ์ มรดกอำนาจก็ตกทอดเป็นของสองจอมพลคู่ดูโอ ถนอม กิตติขจร กับประภาส จารุเสถียร ที่สามารถครองอำนาจยาวนานสิบปีรวด ตั้งแต่ 2506 จนถึงตุลาคม 2516 ไม่มีเว้นวรรคให้ใครทั้งนั้น แถมกลัวไม่สนิทแนบแน่นจริง เลยให้ลูกชายลูกสาวแต่งงานเป็นทองแผ่นเดียวกัน สัญญาณชัดเจนว่าจะส่งทอดอำนาจผ่านให้กับทายาท พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร (ยศขณะนั้น) ตั้งใจจะให้เป็นแบบอย่างที่ดีนำหน้าท่านคิม ปู่-พ่อ-ลูก แห่งเกาหลีเหนือเสียอีก แต่ดันมี “ปฏิวัติประชาชน 2516” เสียก่อน วงจรก็เลยสะดุด

ยุคสองจอมพลถนอม-ประภาสนี้ ทำสถิติโลกไว้อย่างหนึ่ง คือใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 12 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ มีสภาร่างตั้งหลายชุด ประชุมกันเป็นหลายพันครั้ง ประมาณว่าประชุมกันทีร่างได้ทีละประโยค กว่าจะประกาศใช้ มีเลือกตั้งครั้งแรกก็ครบปีนักษัตรพอดี พอเลือกตั้งปี 2512 ก็เป็นไปตามคาด คือพรรคสหประชาไทย ของท่านสองจอมพลได้ที่นั่งมากสุด ซึ่งถึงแม้จะไม่ถึงครึ่ง แต่ก็กวาดต้อนพวกอิสระมาเป็นพวก ตั้งรัฐบาลได้สบายแฮ แค่มีพรรคประชาธิปัตย์ตามมาห่างๆ เป็นฝ่ายค้าน ค้านดะตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของพรรค เรียกได้ว่าวางแผนออกแบบรัฐธรรมนูญไว้ได้ดีมาก ผลการเลือกตั้งออกมาตามประสงค์ น่าที่ท่านสภาที่จะร่างรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบันจะไปศึกษาวิจัย เพื่อที่จะได้ออกแบบการเมืองให้ได้ตามประสงค์ คือสามารถกีดกันกลุ่มคนที่พวกท่านๆ คิดว่าไม่ควรจะได้อำนาจปกครองแผ่นดินได้สำเร็จเสียที เราจะได้ไม่ต้องมานั่งฉีกๆ ร่างๆ รัฐธรรมนูญวนเวียนกันอยู่อย่างนี้

เรามีสภาผู้แทนอยู่แค่ปีเศษ ลุปลายปี 2514 ท่านสองจอมพลก็เริ่มเบื่อพวกนักการเมือง ทั้ง ส.ส. ในพรรค และพวก ส.ส. อิสระที่ซื้อมาร่วมรัฐบาล ดันเรียกร้องโน่นนี่นั่นมากเกินสมควร ท่านก็เลยลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองเสียเลย กลับไปใช้อำนาจเด็ดขาดเผด็จการปกครองประเทศอย่างเดิม แต่อย่างว่า คนเราพอได้ชิมรสชาติความหอมหวานของเสรีภาพเข้าบ้างแล้ว กอปรกับพัฒนาการของประชาธิปไตยทั่วโลกที่เริ่มเผยแพร่เข้าสู่ประเทศ ปัญญาชน และนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย ก็เริ่มรวมตัวกัน มีกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีการลองชิมลางไปประท้วงญี่ปุ่นก่อน แล้วเริ่มมีการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการเลือกตั้งมากขึ้น พอรัฐบาลใช้มาตรการตอบโต้ที่ผิดพลาด ฝูงชนเลยรวมกันติด โค่นล้มเผด็จการสองจอมพลได้ในอาทิตย์เดียว เกิดเป็น “ปฏิวัติประชาชน” ครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 (บ้างก็ว่าที่สองจอมพลยอมเผ่นแน่บออกนอกประเทศก็เพราะมีการปฏิวัติเงียบในกองทัพ)

เดชะบุญที่เรายังมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเสาหลักของประเทศ ทรงพระราชทานรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เจ้าของฉายา “มะเขือเผา” ให้มาเป็นกันชนชั่วคราว จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญจากสภาสนามม้าขึ้น รักษาการจนมีเลือกตั้งใหม่ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเราอาจจะวุ่นวายเหมือนกับการ “ปฏิวัติประชาชน” ในหลายแห่ง เช่น พวก “อาหรับสปริงส์” ทั้งหลาย ที่ผ่านไปหลายปีแล้วยังเละเทะตั้งหลักไม่ได้เสียที หรือจะย้อนไปดูปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อกว่าสองร้อยปีก็ได้ ว่าเละอยู่พักใหญ่ๆ กว่าจะตั้งหลักได้

พอเลือกตั้งใหม่ มกราคม ปี 2518 ก็ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก ประชาธิปัตย์ถึงจะได้มากสุด แต่ก็อ่อนเชิงการเมือง (ก็มันไม่มีการเมืองให้ฝึกตั้งนานนี่ครับ 17 ปีได้ฝึกด่าอยู่แค่ปีเศษเอง) ไม่สามารถดึงพรรคอื่นมาร่วมได้ รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดนตีตกแค่วันแถลงนโยบาย ต้องปล่อยให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้น้อง ขึ้นเป็นนายกฯ แทนทั้งๆ ที่พรรคกิจสังคมของท่านได้ ส.ส. แค่ 18 คนเอง และยุคนี้เองที่ประเทศไทยได้รู้จักกับนโยบาย “ประชานิยม” เป็นครั้งแรกในนามของ “นโยบายเงินผัน”

อย่างไรก็ตามทการบริหารรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องง่าย หม่อมน้องตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2519 ซึ่งถึงแม้พรรคกิจสังคมจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ตัวหัวหน้าพรรคกลับพ่ายแพ้ให้กับ สมัคร สุนทรเวช แห่งประชาธิปัตย์ ที่เขตดุสิต ต้องยอมปล่อยให้หม่อมพี่ตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศ แต่ไปได้ไม่กี่เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทหารและฝ่ายขวา สร้างสถานการณ์เข่นฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง แล้วทหารก็เลยชิงปฏิวัติ มี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า แล้วไปเชิญ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกฯ ซึ่งได้ประกาศขอเวลาปฏิรูปสักแปดปี เพื่อเตรียมตัวให้ประชาชนพร้อมที่จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เสียที (ร.6 ร.7 ท่านก็เคยมีพระราชดำรัสทำนองนี้ สฤษดิ์-ถนอม ก็พูดอย่างนี้ วันนี้ผ่านไปร้อยปี ก็ยังมีคนพูดแบบเดิมๆ อยู่อีก)

คุณธานินทร์ นำ “รัฐบาลหอย” บริหารอยู่ได้แค่ปีเดียว ไม่ใช่ประชาชนไม่ให้เวลาหรอกครับ แต่เป็นทหารที่ตั้งท่านมากับมือเองแหละ ที่ทนรอโรดแมปยืดยาวไม่ไหว พอเดือนตุลาคม 2520 พล.ร.อ. สงัด ก็เลยปฏิวัติอีก แล้วก็เลยตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกฯ แทน ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ จัดเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 แล้ว พรรคการเมืองทั้งหลายก็ไปเชิญ พล.อ. เกรียงศักดิ์กลับมาเป็นนายกฯ โชว์ฝีมือแกงเขียวหวานเนื้อใส่บรั่นดีต่ออีกวาระหนึ่ง จนกระทั่งเกิดวิกฤติน้ำมันโลก ท่านนายกฯ จัดการได้ไม่เป็นที่ถูกใจปวงประชา คะแนนนิยมตก ถูกกดดันให้ต้องลาออก ในเดือนมีนาคม 2523 เปิดทางให้ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นพรวดจาก รมช.มหาดไทย มาเป็นนายกฯ นำรัฐบาลผสมต่อไป

ป๋าเปรมครองตำแหน่งนายกฯ นานถึงแปดปีเศษ ตั้งแต่ปี 2523-2531 เป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมหลากหลายพรรค ที่ตัวเองไม่เคยลงเลือกตั้ง แถมประกาศตนว่าไม่ใช่นักการเมือง ที่ต้องทนมาเป็นนายกฯ ก็เพราะความจำเป็นที่ต้องรับใช้ชาติ ท่านยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลายครั้ง เลือกเสร็จทุกทีทุกพรรคก็รีบจับมือกันกรูเข้าไปเชิญท่านเป็นนายกฯ ใครกรูเข้าไปไม่ทันก็อาจต้องตกรถไฟไปเป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้งไป (ท่านหัวหน้าพรรคหนึ่งเคยพูดตรงๆ อย่างนี้จริงๆ นะครับ) ตลอดสมัยท่านมีทหารอื่นจ้องทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ก็ต้องแพ้พ่ายบารมีป๋าทุกครั้งไป

ในยุคป๋าเปรม มีเหตุการณ์การเมืองที่สำคัญที่สุด คือการสิ้นสุดของสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งภัยคอมมิวนิสต์นี่มีมายาวนาน ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่แล้วต่อเนื่องเรื่อยมา เป็นผลพลอยมาจากยุคสงครามเย็นในโลก มากระพือรุนแรงขึ้นเมื่อคราว 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาโดนปราบปรามฆ่าฟันอย่างโหดเหี้ยม จนทยอยเข้าป่าไปร่วมสงครามก่อการร้ายเป็นจำนวนมาก มีการรบรากับฝ่ายทหารตำรวจไปทั่วทุกภาค พอสงครามเย็นในโลกสิ้นสุดลงจากการเปลี่ยนนโยบายของจีนยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง และการล่มสลายของโซเวียตรัสเซีย รัฐบาลไทยเลยออกนโยบาย 66/2523 เชื้อเชิญให้เพื่อนร่วมชาติที่อยู่ในป่าออกมาร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นอันสิ้นสุดสงครามก่อการร้ายกับพรรคคอมฯ ไทย

พอเลือกตั้งใหญ่เดือน ก.ค. ปี 2531 ก็เป็นเหมือนเดิม เสร็จเลือกตั้ง วันรุ่งขึ้นหัวหน้าทุกพรรคก็กรูกันเข้าบ้านสี่เสาฯ ไปเชิญป๋าเป็นนายกฯ แต่คราวนี้ป๋าบอก “ผมพอแล้ว” พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เลยถูกหวยขึ้นเป็นนายกฯ เพราะพรรคชาติไทยที่ท่านเป็นหัวหน้าได้ ส.ส. มากที่สุด (น่าสงสารเสี่ยหมากหอม คุณพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ครั้งก่อนๆ มักมีเสียงมากสุด แต่ป๋ายังฟิต ยังไม่ร้องพอ ท่านเลยต้องรั้งแค่ตำแหน่งรองนายกฯ มาทุกครั้งไป) ถึงน้าชาติท่านจะมียศพลเอก แต่ต้องถือว่าท่านเป็นนักการเมืองอาชีพ ยศแท้จริงเป็นแค่พลจัตวา (เทียบเท่าพันเอกพิเศษสมัยนี้) เอง แต่พอมีอำนาจ พวกสอพลอทั้งหลายก็ตั้งแท่นเสนอยศพลเอกให้ หรืออย่าง พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร ก็เหมือนกัน พอเป็น รมต.มหาดไทย ได้คุมตำรวจ (สมัยนั้น) เค้าก็เสนอให้เป็น พล.ต.อ. ทั้งๆ ที่เกิดมาไม่เคยเป็นตำรวจสักนาทีเดียว นี่ถ้า พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่แป้กโดนรัฐประหารไปเสียก่อน ป่านนี้อาจจะฉลองยศเป็นจอมพลตำรวจคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไปแล้วก็เป็นได้

น้าชาติเป็นนายกได้สองปีเศษ กำลังคึกเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ดันไปสร้างความระแวงให้เหล่าขุนทหาร พอวันที่ 23 ก.พ. 2534 เลยถูกจี้บนเครื่องบินพร้อม พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก โดยทหารอากาศนำโดยบิ๊กเต้ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ร่วมกับ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ทำรัฐประหาร เอาบิ๊กจ๊อด พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ นายพลเสื้อคับเป็นหัวหน้าคณะ แล้วไปเชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ เป็นคณะรัฐมนตรีอำมาตย์ผู้ดี บริหารประเทศอยู่ปีเศษ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

พอถึงเดือนมีนาคม 2535 ก็จัดเลือกตั้ง พรรคสามัคคีธรรม ทายาททหาร ได้ที่นั่งมากสุดร่วมกับพวกพรรคร่วมขาประจำ ตั้งรัฐบาลให้ พล.อ. สุจินดานั่งนายกฯ เกิดการประท้วงวุ่นวายเพราะบิ๊กสุเคยลั่นวาจาไม่รับตำแหน่ง พล.ต. จำลองนำม็อบอดข้าวอยู่หลายวัน รัฐบาลพยายามเข้าปราบ เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” มีคนตายไปเยอะก็ยังไม่สงบ จนพระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จลงให้โอวาทผู้นำทั้งสองด้าน การณ์จึงสงบ บิ๊กสุลาออก สามัคคีธรรมจะเอาคุณณรงค์ วงศ์วรรณ ขึ้นนายกฯ ก็ติดที่อเมริกาดันแบล็กลิสต์ ไม่ให้เข้าประเทศ หวยเลยไปลง พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยแทน

ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดันเสนอคุณอานันท์ ปันยารชุน กลับมาใหม่ ปล่อยให้ พล.อ.อ. สมบุญเป็นแม่สายบัวแต่งตัวรอเก้อ คราวนี้คุณอานันท์อยู่แค่ 4 เดือน ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ เดือนกันยายน 2535 คราวนี้ประชาธิปัตย์มาวิน ได้เก้าอี้มากสุด คุณชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกฯ เริ่มสมัยชวน 1 เอานายแบงก์คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นขุนคลังคู่ใจ อยู่ได้ 3 ปีก็เกิดอุบัติเหตุ สปก. 4-01 ท่านกำนันแผลงฤทธิ์ พรรคร่วมทำท่าจะตีจาก เลยต้องยุบสภา

เลือกตั้งใหม่เดือน ก.ค. 2538 คราวนี้บิ๊กเติ้งจากสุพรรณ บรรหาร ศิลปอาชา ทุ่มเต็มที่นำพรรคชาติไทยเข้าวินฉิวเฉียด ได้ปรับสภาพจากหลงจู๊ยาวนานขึ้นนั่งหัวโต๊ะเป็นนายกฯ สมภาคภูมิ แต่แค่เดือนกันยายนปีถัดมา ก็โดนถล่มอภิปรายเละกลางสภา จนต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือน พ.ย. 2539 คราวนี้พี่จิ๋วหวานเจี๊ยบ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ พาพรรคความหวังใหม่เข้าเส้นชัยฉิวเฉียดได้จัดตั้งรัฐบาลเสียที หลังจากนั่งวางหมากมานานหลายปี

แต่ถึงคราวซวยของขงเบ้งกองทัพ กลางปี 2540 ฟองสบู่เศรษฐกิจที่สะสมมานานหลายปีก็ถึงคราวแตกลง เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งอันลือลั่น ประเทศถดถอยทรุดโทรมทุกด้าน อยู่ๆ ไม่มีปี่ขลุ่ย พล.อ. ชวลิตก็ลาออกในวันที่ 9 พ.ย. 2540 ท่ามกลางความงงงวยของทุกคน (ผมว่าท่านเองก็คงงงๆ)

คราวนี้ เสธ.หนั่น สร้างสถานการณ์งูเห่า คุณชวน หลีกภัย เลยได้เป็นผู้นำอีกครั้ง พร้อมขุนคลังคู่ใจคุณธารินทร์ ช่วยกันแก้วิกฤติ แล้วก็อยู่ยาวจนครบวาระสภา ต้นปี 2544 ถึงยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ย้อนไปในช่วงสมัยคุณบรรหาร เป็นนายกฯ ปี 2539 ประชาชนเบื่อหน่ายระบบ “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” เรียกร้องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีหลักใหญ่ 3 อย่าง ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ให้มีการกระจายอำนาจและทรัพยากร และให้มีองค์กรตรวจสอบคานอำนาจ (ผมคิดว่าเป็นหลักที่ดีมาก) รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 นี้ กว่าจะได้ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ก็ปาเข้าไปต้นปี 2544

หลังจากเข้าไปเป็นรองนายกสมัยบิ๊กจิ๋วได้ไม่กี่เดือน แล้วพ้นตำแหน่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจตั้งพรรคไทยรักไทยในปี 2541 เตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ตอนเริ่มตั้งพรรค เคยคิดจะใช้ฐานเดิมของพรรคพลังธรรม ที่ พล.ต. จำลองมอบมรดกให้ แล้วค่อยๆ สร้าง ส.ส. จากคนดี น้ำดีล้วนๆ แต่คิดไปคิดมา ทำอย่างนั้นไม่น่าจะได้บริหารประเทศเสียที เลยเปลี่ยนกลยุทธ์ กวาดต้อน ส.ส. จากทุกพรรค แมวขาวแมวดำไม่เกี่ยง เอาเข้าเล้าไว้ก่อน หวังว่าได้อำนาจมาแล้วจะค่อยคัดพันธุ์ในภายหลัง (เรื่องนี้ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเล่าให้ผมฟัง แต่กาลภายหลังชักน่าสงสัย ว่าแมวดำหรือแมวขาวกันแน่ที่ถูกคัดออก)

พอเลือกตั้ง 2544 ไทยรักไทยชนะท่วมท้น ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา (248 จาก 348) พ.ต.ท. ทักษิณขึ้นเป็นนายกฯ ดำเนินนโยบายประชานิยมควบคู่ไปกับพรรคพวกนิยม (รายละเอียดเคยเขียนในข้อเสนอต่อประเทศไทย 7 ตอน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วครับ) อยู่จนครบเทอม พอเลือกตั้งใหม่ 2548 ยิ่งชนะขาด ได้ ส.ส. ถึง 375 จาก 500 ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างสบาย ทำท่าว่าจะเถลิงอำนาจยาวนาน แต่ดันไปพลาด ยุบสภาหนีอภิปรายไม่ไว้วางใจ พอจัดเลือกตั้งใหม่ เม.ย. 2549 มี 3 พรรคบอยคอต คนโหวตโนตั้ง 31% วุ่นวายกันมาก ศาลให้เป็นโมฆะ ยังไม่ทันเลือกตั้งใหม่ ก็เกิดรัฐประหารโดยบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 ก.ย. 2549

ขิงแก่ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ อยู่ปีเศษ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จ จัดเลือกตั้ง ธ.ค. 2550 ซึ่งผลก็ยังคงเดิม ถึงตัวจะลี้ภัยอยู่ดูไบ แต่พรรคพลังประชาชนที่ พ.ต.ท. ทักษิณสั่งให้ตั้งขึ้นก็ยังชนะขาด ได้เสียงเกือบครึ่ง ตั้งรัฐบาลให้นายกจมูกชมพู่ สมัคร สุนทรเวช ขึ้นนำรัฐบาล ตัวทักษิณบินกลับกรุงฯ แต่กระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่เริ่มตั้งแต่ก่อนรัฐประหารยังเดินหน้าไม่หยุด สั่งจำคุก 3 ปี ต้องเผ่นออกนอกก่อนอ่านคำพิพากษา สุดท้าย ตุลาการก็สอยสมัคร สุนทรเวช โทษฐานทำกับข้าวออกทีวี ในเดือนกันยายน 2551 หลังจากเป็นนายกฯ ได้แค่แปดเดือน แล้วก็ตามไปสอยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยทักษิณ ที่ขึ้นเป็นนายกฯ แทนคุณสมัคร ตอนสิ้นปีอีกคน

ทีนี้ ท่านกำนันแสดงสีมือ สร้างกลุ่มงูเห่าพันธ์ุใหม่ ทำให้ประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำ คุณอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ ในวันที่ 17 ธ.ค. 2551 เป็นผู้นำอยู่ได้นานสองปีครึ่ง ถึงจะโดนประท้วงหลายครั้ง ทั้งทุบรถ ทั้งเผาเมือง ก็แคล้วคลาดมาได้ จนยุบสภา เลือกตั้งกลางปี 2554 แล้วก็แพ้ยับเหมือนเดิม พรรคทักษิณที่มาในชื่อใหม่ “เพื่อไทย” ทุ่มใช้ประชานิยมสุดโต่งทุกด้าน ได้เสียงเกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลหลายพรรค โดดเดี่ยวประชาธิปัตย์ให้เป็นฝ่ายค้าน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก บริหารประเทศโดยใช้เสียงท่วมท้นเข้าว่า ออกนโยบายไร้เหตุผลได้ทุกอย่าง ทำท่าว่าไม่มีใครทานอยู่ มาได้เกือบสามปี ดันอ่านเกมพลาด จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย เลยเกิดประท้วงไปทั่ว ต้องยุบสภา จัดเลือกตั้งก็ไม่สำเร็จ ประเทศเข้าสู่จุดอับหาทางออกไม่เจอ เป็นเหตุให้ขุนทหารทั้งหลาย นำโดยท่านแก้มยุ้ย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหารอีกที เมื่อ 22 พ.ค. 2557 แล้วเราก็มาถึงวันนี้ในปัจจุบัน

สรุป ที่เล่ามายาวเหยียด เป็นวิวัฒนาการการเมืองไทยในช่วง 60 ปีของชีวิตผม 2497-2557 ที่เริ่มต้นด้วยระบอบเผด็จการ ไปๆ มาๆ ก็มาจบลงที่ระบอบเผด็จการเหมือนเดิม มาเริ่มโรดแมปสู่ประชาธิปไตยกันใหม่

ดูเผินๆ เหมือนเราไม่ได้ไปไหน แต่จริงๆ แล้ว ตลอดหกสิบปีมีบริบทการเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการมากมาย เผด็จการวันนี้ ก็ย่อมแตกต่างจากเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ (อย่างน้อย บิ๊กตู่ก็คงไม่สามารถโอนเงินจากกองสลากใส่บัญชีตัวเองได้อย่างดื้อๆ)

ในช่วงหกสิบปี ผมขอแบ่งช่วงของวิวัฒนาการการเมืองไทย ตามช่วงเวลาต่างๆ ตามลักษณะใหญ่ๆ เป็น 4 ช่วง ดังนี้นะครับ

ช่วงที่หนึ่ง ยุคเผด็จการทหาร 19 ปี (2497-2516)

เริ่มตั้งแต่จอมพล ป. 3 ปี แล้วต่อด้วยสามจอมพล สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส อีก 16 ปี ถือเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบ อำนาจถูกรวมศูนย์ ขุนทหารแทบไม่เปลี่ยนหน้าตา รัฐมนตรีแทบซ้ำคนตลอดเวลา ส่วนหนึ่งเป็นทหารตำรวจที่อยู่กลางศูนย์อำนาจ เช่น เสธ.ทวี จุลละทรัพย์, พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์, สองพี่น้องนายพลสกุลปุณณกันต์ พลโท กฤช พลโท พงษ์, พล.อ. กฤษณ์ สีวะรา, พล.ท. แสวง เสนาณรงค์ ฯลฯ กับมีกลุ่มเทคโนแครตขาประจำ เช่น มล.ปิ่น มาลากุล, เสริม วินิจฉัยกุล, พจน์ สารสิน พระบำราศนราดูรย์ ฯลฯ เรียกได้ว่า สิบกว่าปีวนเวียนกันอยู่ไม่กี่คน ใช้รัฐมนตรีน้อยกว่าสมัยนี้แค่สองปีเสียอีก เพราะฉะนั้น อำนาจ นอกจากรวบยอดแล้ว ยังกระจุกตัวสุดๆ คนทั่วไป พ่อค้าประชาชนเข้าไม่ถึง ใครเข้าถึงก็สบายไป เสวยสุขยาวนาน แล้วก็คอยกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึง มาแบ่งปันแย่งชิง ตามรูปแบบพรรคพวกนิยมอำมาตย์ดั้งเดิม

หลังช่วงที่หนึ่ง เกิดช่วงชิมลองประชาธิปไตยสั้นๆ 4 ปี อาจารย์สัญญามาขั้นรายการ ต่อด้วย มรว.สองพี่น้องวิ่งผลัดสลับกัน ไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างอะไรเป็นชิ้นอัน แล้วอำมาตย์ฝ่ายขวาก็ตั้งตัวติด สร้างเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 รวบอำนาจกลับได้ใหม่

ช่วงที่สอง ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ 12 ปี (2519-2531)

พอทหารกลับมาครองเมืองอีกครั้ง ก็พบว่าต้องคลายความกดดัน เลยยอมให้มีเลือกตั้ง แต่เลือกกันยังไง ตอนจบคนเป็นนายกฯ ต้องขอให้มียศพลเอก (เกรียงศักดิ์ ต่อด้วย ป๋าเปรม) ช่วงนี้ นักการเมืองเริ่มได้รับแบ่งปันเศษชิ้นส่วนแห่งอำนาจ ทะลวงเข้าถึงศูนย์ผลประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าสังเกต กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ เช่น คลัง ต่างประเทศ มหาดไทย หรือเรื่องพลังงาน เรื่องสภาพัฒน์ฯ แบงก์ชาติ สำนักงบประมาณ จะให้เทคโนแครตดูแล ยังไม่ยอมให้นักการเมืองล้วงตับไปได้หมด ช่วงนี้โอกาสการเข้าถึงอำนาจเริ่มกว้างขึ้น อำนาจรัฐเริ่มแปลงตนเป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ กว้างขวางกว่าเดิม

ช่วงที่สาม ยุคบุฟเฟ่ต์คาบิเนต 13 ปี (2531-2544)

พอป๋าร้อง “พอแล้ว” ก็เลยเป็นยุคนักการเมืองเบ่งบาน ได้เป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” เข้าคุมกันได้ทุกส่วน แต่เนื่องจากโครงสร้างทางการเมืองถูกวางให้กระจาย ไม่มีพรรคใดยิ่งใหญ่เข้มแข็งพอ ทุกครั้งต้องเป็นรัฐบาลผสม นโยบายเลยไร้ทิศทาง ไร้เอกภาพความต่อเนื่อง การเมืองเป็นเรื่องต่อรองแบ่งเค้ก เทคโนแครตกลายเป็นเรื่องเกะกะรุงรัง ถูกบ่อนเซาะทำลาย หรือไม่ก็ปรับตัวมาให้บริการนักการเมืองแทน อย่างไรก็ตาม ถือว่าอำนาจที่เคยกระจุก ถูกปลดปล่อยขนานใหญ่ (ทรัพยากรบางส่วนก็ถูกปลดปล่อยไปด้วย) อำนาจที่กระจายขึ้น แล้วสับเปลี่ยนหมุนเวียน ทำให้การเข้าถึงง่ายและกว้างขึ้น ระบบ “พรรคพวก” เริ่มพัฒนา จากญาติมิตรที่ห้อมล้อมใกล้ชิด มาเป็นสินค้า ซื้อขายต่อรองกันได้ ใครๆ ก็อยากตะเกียกตะกายเข้าร่วมวง “โต๊ะบุฟเฟ่ต์ประเทศไทย” ไม่ว่าผู้ซื้อผู้ขาย ผู้ปรุงผู้เสริฟ (ข้าราชการ) อันนี้เลยเกิดความกดดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญ2540” เพื่อปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

ช่วงที่สี่ ยุคเผด็จการรัฐสภา ที่ซื้อหามาด้วยประชานิยม 13 ปี (2544-ปัจจุบัน)

ผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคการเมืองแข็งแรง ประกอบกับธุรกิจการเมืองมีวิวัฒนาการสร้างสรร จากต้องคอยซื้อคอยหา พ่อค้าอัจฉริยะก็เลยเข้าใช้เทคนิค M&A ครอบงำการเมืองเสียเลยบูรณาการเชื่อมโยงอำนาจกับผลประโยชน์เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน มีนวัตกรรมสุดยอด พบว่าการซื้อเสียงด้วยเงินส่วนตัวไม่มีประสิทธิภาพพอ แถมสิ้นเปลืองเข้าเนื้อ สู้เอางบรัฐเข้าซื้อเสียงซื้ออำนาจไม่ได้ ในนามของ “ประชานิยม” อ้างการกระจาย (Redistribution) เข้าไว้ ตอนแรกๆ ก็มีประโยชน์ดี แต่นานเข้าก็เลอะเทอะ ทำลายตลาด สิ้นเปลืองหายนะ ในช่วงยุคนี้เรามีพักยก รัฐประหารเอาเทคโนแครตขิงแก่เข้ามาหนึ่งปี ดันตัดประชานิยม แถมยังต้วมเตี้ยม พอเลือกตั้งคนเลยคิดถึง “นักแจก” เจ้าเก่า ชนะถล่มกลับมา บรรเลงหนักข้อขึ้น แม้ตุลาการจะช่วยสลับขั้ว ฝ่ายค้านก็กลายพันธ์ุ หันมาแข่งกันแจก สุดท้ายพอเลือกตั้งเลยต้องทุ่มแจกหมดหน้าตัก ประเทศเกือบฉิบหายขายตัว

แล้วเราก็มาถึงจุดนี้ จุดที่ต้องขอเว้นวรรคอีกแล้ว

ที่เล่าแยกแยะมาแสนยาวนี้ ก็เพื่อใช้เป็นหลัก ร้อยเรียงเรื่องอื่นๆ อีกสามด้าน ที่ผมจะค่อยๆ เล่าต่อไป เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่อง ความมีอิทธิพลซึ่งกันและกันของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

ประโยชน์อีกอย่าง กำลังนี้ใครๆ ก็เรียกหาแต่การ “ปฏิรูป” จะเดินหน้าอะไร ปรับเปลี่ยนอะไร ให้เป็นอย่างไร ลองเหลียวหลังกลับไปดูที่มาที่ไป น่าจะช่วยได้บ้างนะครับ

ขอจบบทการเมืองที่ยาวเหยียดนี้เสียที รออ่านบทต่อไปที่จะว่าด้วยพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 8 สิงหาคม 2557