ThaiPublica > เกาะกระแส > USRมช. ใช้ “พร้าวโมเดล” บ่มเพาะบัณฑิต “สร้างคน-สร้างองค์ความรู้” ส่งมอบจิตสาธารณะและดูแลสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่การวัดผลที่กระบวนการเรียนรู้

USRมช. ใช้ “พร้าวโมเดล” บ่มเพาะบัณฑิต “สร้างคน-สร้างองค์ความรู้” ส่งมอบจิตสาธารณะและดูแลสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่การวัดผลที่กระบวนการเรียนรู้

12 สิงหาคม 2014


ด้วยความตกต่ำของระบบการศึกษาของไทย ส่งผลให้สถาบันการศึกษาต่างหันกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองว่า “กระบวนการสร้างคน สร้างองค์ความรู้” ต้องเป็นอย่างไรที่จะช่วยยกระดับประเทศ

สอดรับกับกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ปลุกให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบัน รวมทั้งสถาบันศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองหันมาใส่ใจสังคมรอบข้างมากขึ้น โดยนำจุดแข็งในฐานะนักวิชาการผู้มีองค์ความรู้มาช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็งและก้าวสู่สังคมที่ยั่งยืนต่อไป

โดยแต่ละเครือข่ายของสังคม ได้เข้ามาขับเคลื่อนในด้านที่ตนเชี่ยวชาญ นับเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ที่หลากหลายมาทำงานร่วมกัน ท่ามกลางวิกฤติการเมือง วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤติชุมชน ที่นับวันจะตกต่ำไปเรื่อยๆ การบริหารจัดการในแนวดิ่งเริ่มปรับวิถีมาสู่แนวราบมากขึ้น ฟังมากขึ้น ได้ยินมากขึ้น

สถาบันต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาคประชาชน ต่างถอยกันคนละหลายๆ ก้าวเพื่อหันหน้ามาหารือกัน เกื้อกูล กำหนดทิศทาง เป้าหมาย เพื่อเดินไปสู่การสร้างคน สร้างสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมารับใช้สังคมในภาคเหนือ ด้วยเป้าหมายดังกล่าวทำให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยได้นำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปปรับใช้ในชุมชนและท้องถิ่น ผ่านกิจกรรม งานวิจัย การบริการวิชาการ มาอย่างต่อเนื่อง ได้กำหนดนโยบายในการรับใช้ชุมชน ท้องถิ่น และสังคม และแปลงนโยบายการรับใช้สังคม ให้เป็นรูปธรรม ด้วยการตั้งฝ่าย USR (University Social Responsibility)

โดยยุทธศาสตร์ USR จะมุ่งการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ (Area-based Research and Development) ที่อยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชน มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในระดับการตัดสินใจ ตั้งแต่ร่วมเป็นทีมวิจัย ร่วมกำหนดประเด็นวิจัยและโจทย์วิจัย ร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการ ร่วมดำเนินการ ร่วมประเมินผล และร่วมรับประโยชน์จากการวิจัย โดยการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพของทรัพยากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาบูรณาการกับภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถื่น จนสามารถสร้างความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนได้จริง (Practical knowledge) อย่างกรณีพร้าวโมเดล,อมก๋อย,สารภี

รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานประเมินผลโครงการพร้าวโมเดล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557
รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงานประเมินผลโครงการพร้าวโมเดล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า“พร้าวโมเดลคงเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้น เพราะคนพื้นที่มีปัญหาหมอกควัน และเขาต้องการทางวิชาการช่วย เขาเลือกที่จะเดินมาพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี 2554 ขอเข้ามาพบว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะช่วยเหลืออะไรเขาได้ ดังนั้น ถ้าพื้นที่พร้อม ชุมชนพร้อม นักวิชาการพร้อม นโยบายชัดเจน อันนี้หมุนได้ทันที แต่ถ้านักวิชาการเราพร้อม แต่เราเดินไปหาชุมชน ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าเขาต้องการให้มีการทำงานร่วมกัน อันนี้จะมีแรงเฉื่อยค่อนข้างมาก แต่บังเอิญที่พร้าวเป็นสูตรผสมที่ลงตัวกัน ชาวบ้านขอมาก่อน มหาวิทยาลัยก็เห็นว่าเป็นนโยบายที่เราต้องกลับมาตอบโจทย์รับใช้สังคม แล้วก็นักวิชาการของเราบางส่วนก็ทำงานเชิงพื้นที่อยู่แล้ว แทนที่จะไปกระจัดกระจายก็มาลงที่พร้าวเลย เลยกลายเป็นพร้าวโมเดลที่เราตั้งต้นไว้”

นอกจากพร้าวโมเดล ในเชิงพื้นที่ ยังมีกลุ่มที่ทำที่อำเภอสารภีซึ่งเป็นชุมชนเมือง มีกลุ่มที่ทำที่อำเภออมก๋อยซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล ยากจน อันนั้นเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ ส่วนพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

“ทุกพื้นที่ที่ลงไป จะไม่ใช่หน่วยงานเดียวเสมอ จะมีหน่วยงานจิตอาสาอื่นๆ ลงไปด้วย การซ้ำซ้อนกันไม่ใช่ปัญหา เช่น เราเข้าไปในพื้นที่อมก๋อย เป็นพื้นที่ยากจนลำดับต้นของประเทศไทย ก็มีหลายองค์กรเข้าไปมาก หากไม่รู้จักกันก็จะไม่ได้เสริมแรงกัน พอเราเข้าไป เขาเข้าไป ในที่สุดมีโอกาสพุดคุยกัน ก็เสริมแรงกัน”

สำหรับโครงการที่พร้าว ในแง่การเดินทางใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง แต่ที่อมก๋อยใช้เวลาเดินทางถึงอำเภอใช้เวลา 3 ชั่วโมง ถ้าออกตำบลอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง ฉะนั้นถามว่าการทำงานจะยกทีมเข้าไปแบบสมบูรณ์แบบเลยก็อาจจะไม่ง่ายมาก ที่อมก๋อยทำงานมา 2 ปีเช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้เข้าไปในภาพกว้างเหมือนโครงการพร้าว แต่ทำเป็นเรื่องๆ และด้วยความที่ชาวบ้านยากจน สิ่งแรกที่เขาต้องการคือเรื่องสุขภาพ ดูแลเรื่องพยาธิ ห้องน้ำ จากนั้นเข้าไปเรื่องอาชีพ ทำอย่างไรไม่ให้เขาเผาป่า แนะนำให้ปลูกกาแฟ หากเขามีผลผลิตเขาจะไม่เผาป่า เพราะอมก๋อยเป็นพื้นที่ปัญหาหมอกควัน

ส่วนอำเภอสารภี คณะพยาบาลศาสตร์เข้าไปทำในเรื่องสุขภาพ การรายงานปัญหาสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งของเยาวชน

“แต่ที่พร้าวเป็นโมเดลที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ มีหลายๆ สาขาเข้าไปทำ มีทั้งวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เกษตร สิ่งแวดล้อม ดังนั้น การพัฒนามหาวิทยาลัยใน 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่เราสร้างบัณฑิตของเรา ผลลัพธ์สุดท้ายที่คนเดินออกจากมหาวิทยาลัย จำนวน 5-6 พันคนมีความเข้มแข็งในตัวเขา มีจิตสาธารณะ ซึ่งเป็นเป้าหมายของทุกมหาวิทยาลัย”

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์กล่าวต่อว่า“หลังจากที่เราพัฒนามา 50 ปี บทบาทเราจะเดินบนทางเดินของเรา มีหน้าที่ผลิตนักศึกษาที่ทำงานแบบจิตอาสามากขึ้น เป็นเอกลักษณ์ที่เราสามารถสร้างได้ โดยลงพื้นที่ปฏิบัติงานกับอาจารย์ ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง ในด้านทฤษฎีอาจจะรู้น้อย แต่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ และเรารู้ว่านักศึกษาเรียนรู้ทุกอย่างไม่ได้ ประเด็นที่เราต้องการคือนักศึกษาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องสื่อการเรียนรู้ทั้งหลายให้นักศึกษา ทั้งวางระบบดิจิทัล วายฟาย ให้เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยรวมแล้วเราจะบ่มเพาะให้นักศึกษามีจิตอาสา ปฏิบัติงานได้จริง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้กลไกทุกอย่างที่เรามี”

โมเดลพร้าว

ขบวนการพร้าวโมเดล

การทำงานร่วมกันของนักวิชาการกับชุมชน
การทำงานร่วมกันของนักวิชาการกับชุมชน

ในส่วนของงานวิชาการ หน่วยงานต่างๆ สามารถทำคร่อม/ข้ามหน่วยงานได้ อย่างโครงการลุ่มแม่น้ำปิง คณะวิศวกรรมศาสตร์ทำร่วมกับสิ่งแวดล้อม หรือโครงการพร้าว มีหลายคณะมาทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้ มช. สามารถขับเคลื่อนงานวิชาการแบบบูรณาการได้ จากนี้ไปเราจะเน้นงานวิชาการเป็นเรื่องๆ ไม่ใช่เน้นที่ตัวบุคคลคืออาจารย์แล้ว ทำให้สามารถผสมผสานงานวิชาการให้มีคุณค่ามากขึ้น

“แน่นอน งานวิชาการกับการศึกษาจะโยงมาถึงงานบริการวิชาการที่เราออกมาช่วยสังคม เอาปัญหาสังคมกลับเข้าไปศึกษาวิจัยและกลับมาตอบสังคม จะมีความบูรณาการมากขึ้น”ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์กล่าว

นอกจากนี้ จากภูมิทัศน์ความสวยงามของมหาวิทยาลัย การทำแคมปัสให้สวยงาม ไม่ใช่แค่เรามีบ้านที่สวย แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราถ่ายทอดส่งมอบจิตวิญญาณการรักสิ่งแวดล้อมให้นักศึกษา ในอีกสองปีข้างหน้าเราจะทำให้ข้างในมหาวิทยาลัยไม่มีรถยนต์เข้ามา เน้นการใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยทำถนนวงแหวน ทำแคมปัสให้มีความสวยงานเฉกเช่นในอดีต นักศึกษาที่มาจะรู้จักใช้ระบบขนส่งมวลชน ใช้จักรยาน รู้จักลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง รู้จักการเดิน รู้ว่าต้นไม้มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้เป็นแผนงานในเชิงที่จับต้องได้

“สิ่งที่มช.ได้ทำมา 50 ปี เรารู้ว่าตัวตนของ มช. คืออะไร และ มช. มีสิ่งซึ่งที่อื่นไม่มี โดยจุดเด่นคือ 1. ในแง่ขนาด มช. เป็นมหาวิทยาลัยระดับใหญ่ มีนักศึกษา 3-4 หมื่นคน มียี่สิบกว่าคณะ และด้วยเจตนารมณ์การก่อตั้งว่าต้องเชื่อมโยงกับสังคมในพื้นที่ 2. มช. เป็นมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาปีหนึ่งอยู่ในหอทั้งหมด 3. มช. มีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม และ 4. มช. อยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมล้านนา เรามีนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 3-4 หมื่นคน หากเราสร้างให้เขารู้สึกว่าในช่วงเวลาที่เขาเรียนที่นี่ เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อเขาจบออกไปเขาจะได้คำนึงถึงคำว่า…อะไรคือสิ่งแวดล้อมดีๆ อะไรคือพลังงานสะอาด ที่เขาเคยอยู่ เพราะทุกปีมีนักศึกษาจบออกไป 6,000 คน และ 10 ปีก็มี 60,000 คนแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ มหาวิทยาลัยอื่น สถาบันการศึกษาอื่นๆ ทำด้วย ก็ช่วยยกระดับประเทศของเราได้”

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์กล่าวย้ำว่า“เป้าหมายสุดท้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นไม่ได้ทำเพื่อมหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำแค่พื้นที่ (ภาคเหนือ) แต่ที่เราทำทั้งหมดเพราะเรารู้ว่าจุดอ่อนของประเทศไทยคือระบบการศึกษา ไม่ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือที่ไหนๆ ไม่มีแนวคิดในการแข่งขันกัน มีแต่แนวคิดว่าทำคนของเราให้ดี แล้วเราจะช่วยยกประเทศเราขึ้นมา”

ส่วนเรื่องการจัดอันดับหรือ ranking ในมุมมองของสถาบันการศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว แต่เน้นการผลิตบัณฑิต เติมเต็มเรื่องจิตอาสามากขึ้น ให้เขาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้เขามีโอกาสสัมผัส ขณะที่งานวิชาการที่อาจารย์ทำ ก็เริ่มออกมาข้างนอก ลงพื้นที่มากขึ้น ซึ่งการออกมาข้างนอก ก็มีโอกาสดึงนักศึกษามาด้วย ออกมาเป็นโครงการ หรือออกมาเป็นครั้งๆ เพื่อให้นักศึกษาซึมซับเข้าไป และเรามีพื้นที่ที่เราจะนำนักศึกษามาทำกิจกรรมเป็นกลุ่มให้มากขึ้น อย่างโมเดลพร้าวที่กล่าวมาข้างต้น

ข้อจำกัด-ก้าวข้ามสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์กล่าวถึงข้อจำกัดว่า “ถ้าถามแบบทั่วๆ ไป คงหนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณ แต่เราไม่ได้เอาข้อจำกัดมาเป็นตัวตั้ง พยายามดูว่าเราจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ด้วยการบริหารจัดการได้ไหม ดังนั้น ข้อจำกัดในช่วงนี้คือการบริหารจัดการบางเรื่องยังไม่สามารถข้ามไปได้ เพื่อให้เราไม่ต้องติดกับกับการขาดแคลนงบประมาณ โดยการเพิ่มประสิทธิผลการบริหารงบประมาณ ว่าเราสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้”

ส่วนการผลิตบัณฑิต แน่นอน ด้วยอาจารย์จำนวน 2,000 คน กับนักศึกษา 30,000 คน ความยากที่สุด ปัญหาอุปสรรคคือการก้าวข้ามความคิดของอาจารย์ นักศึกษา และผู้ปกครอง คนที่มาศึกษาเขาคาดว่าคนที่เข้ามาแล้วจะเรียนเรื่องนี้ๆ ต้องได้เกรดดีๆ ตรงนี้ต่างหากที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้ ในการก้าวข้ามโดยให้พ่อแม่บอกว่า เออ มาเรียนแล้วความรู้ไม่ได้มากขึ้น แต่มีกระบวนการเรียนมากขึ้น รู้ชีวิตมากขึ้น รู้วิธีการเรียนรู้มากขึ้น หากพ่อแม่ถามว่า ลูกเรียนอันนี้หรือเปล่า ลูกบอกว่าอันนี้ไม่ค่อยได้เรียน เดี๋ยวพ่อแม่จะเป็นกังวล

“เราจึงพยายามก้าวข้ามประเด็นการเรียนรู้ทางเนื้อหาวิชาการ แต่ให้เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นปัญหาของทั้งประเทศ ที่ระบบการศึกษาของไทยถดถอยลงมาอย่างนี้เพราะเราเน้นเรื่องของเนื้อหา ต้องสอบอย่างนี้ถึงผ่าน ต้องรู้อย่างนี้ อันนี้คือความยากที่สุด”

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์กล่าวต่อว่า “ถามว่าถ้านักศึกษาคนหนึ่งมาเรียนรู้กับเรา 4 ปี ปีละประมาณ 6-7 เดือน เราให้เขาอยู่ในห้องเรียนน้อยๆ และให้เขามาใช้ชีวิตในพื้นที่ เราให้คะแนนเขาได้ ให้เกรดเขาได้ ให้เขาจบได้ไหม นี่คือความยาก ซึ่งเราได้ทดลองทำบางส่วนที่เราเรียกว่าวิชาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม สมัยก่อนนักศึกษาก็ไปทำกิจกรรมของตัวเอง เราบอกว่าน้องทำไปเถอะ เด็กบางคนก็บอกว่าไม่ไหว ทำแล้วคะแนนสอบจะตกหรือทำคะแนนได้ไม่ดี เราจึงมีกระบวนวิชาที่ให้ไปทำ แล้วมาสรุป แล้วมาบอกว่าไปทำอะไรมา ได้เป็นเครดิตหน่วยไป ดังนั้นนักศึกษาต้องลงทะเบียนวิชานี้ ไปทำกิจกรรมอาสา เพื่อการเสริมให้นักศึกษาไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ”

และย้ำว่า “นี่คือเรื่องความเข้าใจของผู้ปกครอง ของเด็กเอง หากเราทำแบบนี้สักหนึ่งปี ปีที่สอง ปีที่สาม เด็กที่เข้ามาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาจะมีความสุขตรงที่เขาเรียนรู้ของเขาเองได้ เขาไม่มีข้อจำกัดบางเรื่อง สมมติเด็กที่ไม่ชอบกิจกรรม เขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ควรเลือกที่นี่ เพราะไม่ฟิตกับเขา เชียงใหม่ก็จะมีอัตลักษณ์ของตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มี 2 พันธกิจตั้งแต่ก่อตั้ง คือ สร้างคนกับสร้างองค์ความรู้ อย่างกรณีการให้บริการวิชาการข้างนอก ต้องเน้นว่าทำแล้ว ตอบโจทย์เรื่องการสร้างคนไหม เราเอานักศึกษามาทำงาน สร้างคนไหม เรามีองค์ความรู้จากการสังเคราะห์กับชาวบ้าน เราได้สร้างความรู้ หากเราออกมาทำกิจกรรมแล้วไม่ตอบโจทย์นี้ นักศึกษาก็ไม่ได้เรียนรู้ องค์ความรู้กับชุมชนก็ไม่เกิด ไม่ควรทำ ถือว่าไม่เกิดมรรคผลใดๆ

“เราต้องไม่เน้นการแข่งขัน เพราะถ้าหากมหาวิทยาลัยที่อยู่กันอย่างปัญญาชนยังอยู่ด้วยการแข่งขัน ขณะที่เราหันมาบอกชาวบ้านว่าปรองดอง อย่าแข่งขัน ให้รักกัน แต่คนที่พูดก็แข่งขันกัน เราต้องแสดงให้ประชาชนรู้ สังคมรู้ ว่ามหาวิทยาลัยการอุดมศึกษาอยู่ด้วยการสมานฉันท์ อยู่ด้วยการเกื้อหนุนกัน ช่วยเหลือกัน แล้วจึงจะบอกสังคมได้ว่าต้องปรองดองกัน ต้องเสริมกัน มหาวิทยาลัยต้องเล่นบทบาทอยู่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับชุมชน ดังนั้น การออกมาทำงานกับชุมชน ก็เป็นการนำพาคณาจารย์ให้ออกมาทำงานร่วมกับชุมชน ไม่งั้นจะเป็นเหมือนอดีต ที่นักวิชาการอยู่บนหอคอยงาช้าง และปีนี้ ปีหน้า เราจะจัดการศึกษาที่นักศึกษาเน้นกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น ตามศตวรรษที่ 21 สอนน้อยๆ อภิปรายมากขึ้น ส่วนพ่อแม่ก็ต้องปรับใหม่ว่าเด็กได้เกรดจากการประเมินผลไม่ใช่ข้อสอบเหมือนที่ผ่านมา”

ดังนั้นใน 10-20 ปีข้างหน้า เรามีเป้าหมายที่ทำแคมปัสให้ที่มีพื้นที่สวยงาม ทุกคนเข้ามาแล้วติดใจ เป็นพื้นที่ใครๆ ก็อยากมาเรียน จนในที่สุดคนอยากจะเลือกมาเรียนที่นี่ รวมทั้งอยากให้นักวิชาการต่างชาติอยากร่วมงานกับเรา เพราะทั้งหมดนี้เราดึงสิ่งดีๆ เข้ามา และเรามีขบวนการบ่มบัณฑิตของเรา ให้บัณฑิตของเราที่ออกไป แม้จะไม่ 100% แต่เราอยากให้เข้าใจธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีความห่วงใยประเทศชาติ มีเรื่องจิตสาธารณะมากขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยจะเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียหรือไม่ เป็นแล้วประเทศชาติไม่ได้อะไร ไม่รู้จะเป็นไปทำไม