ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ประยุทธ์ ” ใช้เวลา 5 ชั่วโมง แจงงบฯ ปี 58 ผ่านฉลุย เตรียมเสนอวาระ 2-3 วันที่ 17-18 ก.ย. นี้

“ประยุทธ์ ” ใช้เวลา 5 ชั่วโมง แจงงบฯ ปี 58 ผ่านฉลุย เตรียมเสนอวาระ 2-3 วันที่ 17-18 ก.ย. นี้

19 สิงหาคม 2014


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เวลา 10.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 โดยเปิดให้สมาชิก สนช. ใช้เวลาในการอภิปรายประมาณ 5 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 15.30 น. พล.อ. ประยุทธ์กล่าวปิดการอภิปราย พร้อมกับให้สมาชิก สนช. ลงคะแนนเสียงเพื่อโหวตรับหลักการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 186 คน ลงคะแนนรับหลักการ 183 คน งดออกเสียง 3 คน เป็นอันว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 วาระที่ 1 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ฉบับล่าสุดมีรายละเอียดดังนี้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่มาภาพ : http://www.brecorder.com
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ : http://www.brecorder.com
งบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีกรอบวงเงินรายจ่ายรวม 2,575,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2557 มีวงเงินเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของจีดีพี โดยในปีนี้รัฐบาลคาดว่าจะเก็บรายได้ทั้งสิ้น 2,325,000 ล้านบาท จึงกำหนดกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 250,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.9% ของจีดีพี การจัดทำงบประมาณครั้งนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้อ 1.8-2.8%

การจัดทำงบประมาณปี 2558 มีหลักการและเหตุผลที่สำคัญดังนี้

1. จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง และความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ
2. ให้ความสำคัญกับภารกิจของกระทรวงและหน่วยงานที่มีผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, กระตุ้นเศรษฐกิจ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง
3. บูรณาการการดำเนินภารกิจต่างๆ ทั้งในระดับกระทรวง หน่วยงาน และพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทั้งระบบ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
4. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบฯ ของหน่วยงาน ควบคู่กับการพิจารณา การใช้จ่ายงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน จัดสรรตามลำดับความสำคัญของภารกิจ และพิจารณาทบทวน ชะลอ ปรับลด และยกเลิก การดำเนินงานของหน่วยงานที่มีลำดับความสำคัญลดลง หรือหมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์
5. ส่งเสริมการสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้มีการถ่ายโอนภารกิจในระดับท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และเพิ่มประสิทธิผลการใช้จ่ายเงินของ อปท.

โครงสร้างงบประมาณรายจ่าย

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ประกอบด้วย

1. รายจ่ายประจำ 2,027,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,550.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ของงบประมาณทั้งหมด
2. รายจ่ายลงทุน 450,158.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,030 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.5% ของงบประมาณทั้งหมด
3. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 41,965.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28,541.7 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 1.6% ของงบประมาณทั้งหมด
4. รายจ่ายชำระคืนเงินต้น 55,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,878.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.2% ของงบประมาณทั้งหมด

งบประมาณ 5 อันดับแรก

ทั้งนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ตามหน่วยงาน หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 502,245.5 ล้านบาท 2. งบกลาง 365,084.4 ล้านบาท 3. กระทรวงมหาดไทย 341,220.3 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม 193,499.8 ล้านบาท 5. กระทรวงการคลัง 186,366.5 ล้านบาท 6. รัฐวิสาหกิจ 148,650.4 ล้านบาท 7. กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 137,760.5 ล้านบาท 8. กระทรวงคมนาคม 112,382.2 ล้านบาท 9. กระทรวงสาธารณสุข 109,883.3 ล้านบาท 10. ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง 106,137.7 ล้านบาท

งบกลางของแต่ละรัฐบาล

สัดส่วนรายจ่ายงบกลาง

งบประมาณทหาร

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับงบประมาณปี 2557 จะพบว่าหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมากที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย

1. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมามากที่สุด จำนวน 28,541.6 ล้านบาท
2. งบกลาง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 21,953.4 ล้านบาท
3. กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19,456.9 ล้านบาท
4. กระทรวงคมนาคม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 11,804.9 ล้านบาท
5. กระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9,679.8 ล้านบาท

การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2558 อยู่ภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 1 รายการ ประกอบด้วย 50 แผนงาน โดยแผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 10 อันดับแรกมีดังนี้ 1. แผนงานขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา 412,603 ล้านบาท 2. แผนงานพัฒนาระบบประกันสุขภาพ 267,396 ล้านบาท 3. แผนงานบริหารบุคลากรภาครัฐ 218,784 ล้านบาท 4. แผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ 189,380 ล้านบาท 5. แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 183,271 ล้านบาท 6. แผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. 161,965 ล้านบาท 7. แผนงานเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน 93,320 ล้านบาท 8. แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 91,076 ล้านบาท 9. แผนงานปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม 87,750 ล้านบาท 10. แผนงานดูแลผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส 74,509 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 จำนวน 50 คน โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติแต่งตั้ง พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ส่วนรองประธานกรรมาธิการมี 10 คน ประกอบด้วย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์, นายวุฒิพันธ์ุ วิชัยรัตน์, พล.อ. โสภณ ศีลพิพัฒน์, พล.อ. รังสาทย์ แช่มเชื้อ , นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ, นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร, น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ, นายปรีชา วัชราภัย, นางสุมณฑา พรหมบุญ และนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ โดยมีนายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และมีนายวีระยุทธ ปั้นน่วม กับ พล.ท. อนันตพร กาญจนรัตน์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ส่วนโฆษกมี 5 คนคือ นางนิสดารก์ เวชยานนท์, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, พล.ท. ชาตอุดม ติตถะสิริ, พล.ต. กลชัย สุวรรณบูรณ์ และนายกิตติ วะสีนนท์

คณะกรรมาธิการฯ เริ่มพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2557 โดยมีกำหนดแปรญัตติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 กันยายน 2557 เพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสาร เสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช. วาระ 2 และ 3 วันที่ 17-18 กันยายน 2557

อ่านเพิ่มเติม “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2558 “