ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (6) : ปักกิ่งมีคำสั่งใช้รถยนต์ทางเลือก

มลภาวะจีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (6) : ปักกิ่งมีคำสั่งใช้รถยนต์ทางเลือก

21 กรกฎาคม 2014


รายงานโดย…อิสรนันท์

ไม่ทราบเป็นเพราะเกิดปัญหาที่แก้ไม่ตกจริงๆ หรือแค่ฉลาดแกมโกงรู้จักฉกฉวยหาประโยชน์จากกระแสตื่นกลัวเรื่องอากาศเป็นพิษ สนามบินในเวเนซุเอลาในลาตินอเมริกาจึงเรียกเก็บค่าอากาศบริสุทธิ์หายใจถึงกว่า 500 บาทจากผู้โดยสารทุกคน

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้โดยสารทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ ทั้งที่จะบินในประเทศหรือต่างประเทศ ถ้าหากต้องไปขึ้นเครื่องที่สนามบินไมเกเตีย (Maiquetia) สนามบินนานาชาติใหญ่สุดในกรุงคาราคัสแล้ว จะถูกมัดมือชกให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 127 โบลิวาร์ หรือประมาณ 580 บาท เป็นค่าอากาศบริสุทธิ์ที่หายใจเข้าไป ทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องหมายรับประกันว่าอากาศบริสุทธิ์จริงหรือไม่

สนามบินCaracas's

กระทรวงการขนส่งทางอากาศและทางน้ำของเวเนซุเอลาแถลงว่า สนามบินไมเกเตียได้สร้างประวัติการณ์เป็นสนามบินแห่งแรกในอเมริกาใต้และแคริบเบียน ที่ติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศใหม่เมื่อต้นปีมาที่ผ่านมา ซึ่งระบบนี้นอกจากสามารถกำจัดมลพิษในอากาศแล้ว ยังได้ปล่อยโอโซน ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น แถมยังปกป้องสุขภาพของผู้โดยสารด้วย

แต่ปรากฎว่าผู้โดยสารต่างไม่ปลื้ม เพราะต้องเสียเงินก้อนใหญ่โดยใช่เหตุ หนำซ้ำทันทีที่เดินออกจากสนามบินก็ต้องเผชิญกับสารพัดปัญหามลภาวะทั้งมลภาวะในอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นและควันจากท่อไอเสีย บนดิน และน้ำ ฯลฯ อยู่ดี

ผิดกับรัฐบาลจีนที่ยังเดินหน้าแก้ปัญหามลภาวะในอากาศอย่างยั่งยืนต่อไป รวมไปถึงการกำหนดมาตรการลดการใช้พลังงานลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อกลางเดือน ก.ค. นี้ว่า รัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาตรการล่าสุดบังคับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า

ด้านเว็บไซต์ของรัฐบาลปักกิ่งรายงานเพิ่มเติมว่า ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะเป็นหัวหอกในการซื้อรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งหมายถึงรถยนต์ไฟฟ้า รถปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง โดยสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นหลังปี 2559 เนื่องจากมณฑลต่างๆ ต้องเริ่มบังคับใช้คำสั่งนี้เช่นกัน

รัฐบาลต้องยื่นมือเข้าไปสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเนื่องจากยอดขายไม่เข้าเป้า สืบเนื่องจากปัญหาด้านราคา ความน่าเชื่อถือในประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า และความสะดวกสบาย แม้ว่าทางการจะพยายามรณรงค์ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อ้างว่าเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อช่วยกระตุ้นความเป็นผู้นำโลก ลดการพึ่งพาพลังงานและมลภาวะทางอากาศ ที่ทวีความรุนแรงกลายเป็นหมอกควันพิษในกรุงปักกิ่งและเมืองต่างๆ อีกหลายสิบเมือง

ก่อนหน้านี้เพียงสัปดาห์เดียว รัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาตรการจูงใจด้านภาษี ด้วยการประกาศยกเว้นการจัดเก็บภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิงรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ทางการยังได้บังคับให้หน่วยงานภาครัฐและสถาบันต่างๆ เพิ่มลานจอดรถ และให้สงวนที่ไว้เป็นที่จอดรถสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จากขณะนี้ ที่รัฐบาลได้ช่วยอุดหนุนด้านราคา ทำให้รถซีดานไฟฟ้ามีราคาอย่างมากไม่เกิน 180,000 หยวนเท่านั้น

มาตรการนี้มีขึ้นหลังจากรัฐบาลเพิ่งแถลงเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ว่ามีแผนจะกำจัดรถเก่าบุโรทั่งและก่อมลพิษมากถึง 5.33 ล้านคัน ให้พ้นจากท้องถนนในกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่น้อยภายในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายปรับปรุงคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในประเทศ นอกเหนือจากที่ได้สั่งจำกัดปริมาณรถยนต์ในปี 2557 ให้อยู่ที่ 5.6 ล้านคันจากปีที่แล้ว โดยทางการได้สั่งระงับการเพิ่มจำนวนรถใหม่ลง 37 เปอร์เซ็นต์ หรือ 150,000 คัน แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้าคือในปี 2560 ก็จะอนุญาตให้ขยายเป็น 6 ล้านคัน

อย่างไรก็ดี ทางการปักกิ่งไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของมาตรการโละทิ้งรถเก่าว่าจะดำเนินการเช่นไร ก่อนหน้านี้ เทศบาลมหานครปักกิ่งได้ให้เงินสนับสนุนจำนวน 2,500-14,500 หยวน (ราว 12,500-72,500 บาท) แก่เจ้าของรถเก่า 200,000 คันที่สมัครใจยอมโละทิ้งรถเก่าหรือยอมนำรถเก่าไปปรับปรุงสภาพให้มีประสิทธิภาพให้ดีขึ้น แต่เงินช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงรถยนต์ป้ายเหลืองในกรุงปักกิ่งกว่า 330,000 คัน ที่ไม่ผ่านมาตรฐานด้านเชื้อเพลิง และต้องถูกโละทิ้งหลังจากถูกห้ามเข้ามาวิ่งในเขตเมือง เช่นเดียวกับรถเก่า 660,000 คัน ในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นเมืองหมอกพิษหนาแน่นลำดับที่ 7 ของแดนมังกร

สำนักงานติดตามสิ่งแวดล้อมในปักกิ่งแถลงว่า ไอเสียจากยานพาหนะก่อให้เกิด “ฝุ่นพิษขนาดเล็ก” ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ราว 31 เปอร์เซ็นต์ของมลภาวะ เทียบกับควันจากโรงงานถ่านหินที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะราว 22.4 เปอร์เซ็นต์

กระนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมมลภาวะของระบบคมนาคมขนส่ง สำนักงานติดตามสิ่งแวดล้อมกรุงปักกิ่ง ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าการบังคับใช้คำสั่งนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากขาดการเฝ้าติดตามและตรวจจับที่เพียงพอ อีกทั้งคนขับก็สามารถหลบหลีกการตรวจสอบได้เสมอ หรือถ้าถูกจับและถูกปรับก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ที่สำคัญ รถยนต์จำนวนไม่น้อยก็สอบตกมาตรฐานตั้งแต่ปล่อยออกมาจากโรงงานผลิตแล้ว

เมื่อปลายปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ อ้างความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ปริมาณรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นปีละ 22 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว จีนมีรถยนต์ 43 ล้านคัน มอเตอร์ไซค์ 94 ล้านคัน คาดว่าปริมาณรถยนต์อาจจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคันในอีก 15 ปีหลังจากนี้ ซึ่งหากระดับการควบคุมมลภาวะยังคงหย่อนยานอยู่เช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหามลภาวะหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความมั่นคงทางสังคม และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายในสายตาของต่างประเทศ

จากสถิติล่าสุดของสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์จีนที่เผยเมื่อราวกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ได้เติบโตขึ้น 12.8 เปอร์เซ็นต์และ 13.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นจำนวน 5.3971 ล้านคันกับ 5.4245 ล้านคัน ตามลำดับ โดยเดือน มี.ค. จะเป็นเดือนที่สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในด้านการผลิตและจำหน่ายรถยนต์

ที่มาภาพ : http://www.ctvnews.ca/autos/30-per-cent-of-china-s-government-cars-to-run-on-new-energy-1.1911685
ที่มาภาพ : http://www.ctvnews.ca/autos/30-per-cent-of-china-s-government-cars-to-run-on-new-energy-1.1911685

นอกเหนือจากใช้มาตรการจำกัดและควบคุมรถยนต์ที่มีสภาพไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว มาตรการใหญ่อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลปักกิ่งลงมือทำทันทีเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศก็คือ สั่งปิดโรงงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือบังคับให้ย้ายไปดำเนินการนอกเขตเมืองหลวง โดยเฉพาะให้ย้ายไปที่มณฑลเหอเป่ยที่อยู่ติดกัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างเอกสารทางการที่เปิดเผยรายละเอียดแผนปฏิบัติการปรับปรุงคุณภาพอากาศของกรุงปักกิ่งไปจนถึงปี 2560 ว่า ทางการมีแผนจะควบคุมจำนวนโรงงานทั้งหมดให้มีได้ไม่เกิน 18 ล้านโรงงานภายในปี 2563 ในส่วนของปีนี้ ทางการตั้งเป้าจะสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลภาวะราว 300-500 แห่ง อีกทั้งมีแผนย้ายโรงงานถึง 5 ล้านแห่งไปยังมณฑลเหอเป่ย จนถึงขณะนี้ ทางการได้สั่งให้ผู้ประกอบการ 53 รายย้ายโรงงานผลิตเหล็ก เครื่องจักรกลและสารเคมีไปยังพื้นที่อื่น โดยจ่ายค่าชดเชยให้เป็นเงิน 90.5 ล้านหยวน (ราว 466 ล้านบาท)

ในรายงานของสำนักข่าวซินหัวเผยด้วยว่า รัฐบาลยังได้วางแผนจะบังคับให้โรงงานที่เป็นตัวก่อมลภาวะหลายร้อยแห่งต้องเร่งติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่นละออง ตามกฎระเบียบควบคุมมลภาวะฉบับใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมบางอย่างจะต้องเลิกกิจการในที่สุด ไม่นับรวมไปถึงการวางแผนย้ายสถานที่ราชการบางแห่งไปยังเมืองเป่าติ้งในมณฑลเหอเป่ยด้วย

อีกมาตรการหนึ่งที่จะแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศที่รัฐบาลวางแผนจะทำอยู่ก็คือ การสั่งปิดระบบทำความร้อนโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมไปถึงการติดตั้งเครื่องมือลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนของโรงไฟฟ้า โรงงานเหล็ก และโรงงานปูนซีเมนต์อีกด้วย เชื่อว่าถ้าทำเช่นนี้ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ และมากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 เพื่อบรรลุเป้าหมายรวมที่ 17 ตามแผนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2554-2558

หลังจากตบหัวด้วยมาตรการบังคับขู่เข็ญและลงโทษแล้ว รัฐบาลก็เตรียมลูบหลังด้วยการตบรางวัลให้ หนึ่งในมาตรการลูบหลังก็คือการจัดตั้งกองทุนต่อต้านมลภาวะมูลค่า 10,000 ล้านหยวน (ราว 50,000 ล้านบาท) โดยกองทุนนี้จะเสนอให้รางวัลต่างๆ แก่บรรดาผู้บริหารระดับท้องถิ่นที่สามารถทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งได้ตั้งเป้าที่จะลดปริมาณสารอันตรายที่ปะปนอยู่ในมลภาวะทางอากาศ

แต่สิ่งที่ผู้บริหารมณฑลต่างๆ สนใจไม่ใช่รางวัลตอบแทน หากเป็นเรื่องที่ทางการปักกิ่งจะบังคับย้ายโรงงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ไปประกอบการในมณฑลใกล้เคียง โดยเฉพาะที่มณฑลเหอเป่ยที่อยู่ติดกัน ซึ่งเหมือนกับแค่ปัดสวะให้พ้นตัว ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไป ก็เกิดกระแสคัดค้านทันที เพราะเท่ากับผลักภาระให้มณฑลนี้ต้องแบกรับปัญหามลภาวะมากขึ้นจากขณะนี้ที่ถือเป็นปัญหาสุดแสนจะหนักหน่วงอยู่แล้ว หนำซ้ำ ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา เหอเป่ยยังต้องเผชิญภาวะหมอกควันสูงเกินระดับปกติ ติดต่อกันนานกว่า 230 วัน

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นคล้ายคลึงกันว่า การย้ายโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงปักกิ่งมายังมณฑลเหอเป่ยไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะเท่ากับโยนปัญหาไปให้คนอื่นต้องรับผิดชอบแทน โดยเฉพาะเหอเป่ยซึ่งขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะที่มีแต่เลวร้ายลงตามลำดับอยู่แล้วแลกกับการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไม่ขาดระยะ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ถ่านหินอันเป็นตัวการก่อมลภาวะทางอากาศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 4 จากปี 2554-2558 ถ้าหากต้องมาแบกรับภาระโรงงานหลายร้อยแห่งที่ย้ายมาจากปักกิ่งแล้ว เหอเป่ยก็จะเกิดปัญหาใหญ่ไม่ผิดไปจากกรุงปักกิ่ง

ที่สำคัญ แผนปัดสวะให้พ้นตัวของปักกิ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการควบคุมมลภาวะทางอากาศของมณฑลนี้ที่เตรียมทุ่มงบประมาณกว่า 192 ล้านบาทในรูปของทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อดึงผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน ส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้มาเป็นหัวหอกในการแก้ปัญหานี้รวมทั้งรณรงค์ต่อต้านมลภาวะในโครงการนำร่องใน 11 เมืองใหญ่ในเหอเป่ย

จะว่าไปแล้ว โครงการนี้เป็นการเลียนแบบโครงการนำร่องที่เมืองฉางเจียเกา ทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง ที่ได้สร้างเขตอุตสาหกรรมคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างศูนย์วิจัยและเปิดสำนักงานใหญ่ เพื่อรองรับบริษัทและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

นอกจากนี้ มณฑลเหอเป่ยยังวางแผนพัฒนาโครงการต่างๆ 50 โครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ในอีก 4 ปีข้างหน้า รวมไปถึงจะกำหนดเขตภายใต้การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 2 เขตในปีนี้ ตลอดจนกำหนดมาตรการขั้นต้นที่จะลดปริมาณการปล่อยมลภาวะของอุตสาหกรรมต่างๆ ในมณฑลนี้

ผู้เชี่ยวชาญในเหอเป่ยยังเสนอทางออกให้รัฐบาลสั่งย้ายโรงงานเหล่านั้นไปยังพื้นที่ทางตะวันตกหรือทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งยังด้อยพัฒนาและจำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตมากกว่านี้