ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปิดตำนานสลากเกินราคา สำนักรัฐฯ เสนอพิมพ์สลากฯ เพิ่มไม่อั้น-เปิดรับสมัครคนขายตัวจริงและผ่านเครื่องออนไลน์

ปิดตำนานสลากเกินราคา สำนักรัฐฯ เสนอพิมพ์สลากฯ เพิ่มไม่อั้น-เปิดรับสมัครคนขายตัวจริงและผ่านเครื่องออนไลน์

1 กรกฎาคม 2014


ปัญหาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ต้นเหตุสำคัญของปัญหาสลากเกินราคา คนในวงการค้าสลากทราบดีว่าเกิดจากนโยบายของรัฐไปจำกัดปริมาณการพิมพ์สลากออกขาย (Supply) ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ระบบจัดจำหน่ายสลากเป็นแบบขายขาด เลือกเลขไม่ได้ ขายเหลือ ขายไม่หมด ไม่รับซื้อคืน การจัดสรรโควตาสลากฯ “ไม่โปร่งใส” โควตาสลากทั้งหมดไปตกอยู่ในมือบริษัทตัวแทนจำหน่าย ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งไม่ใช่คนขายตัวจริง ขณะที่คนเร่ขายสลากตัวจริงไม่มีโควตาสลาก ต้องไปรับสลากราคาแพงจากพ่อค้าคนกลางมาขาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร แต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนจริงใจเข้ามาแก้ปัญหานี้ ปล่อยให้เป็นปัญหาหมักหมมมานานกว่า 2 ทศวรรษ

ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/65505.jpg
ที่มาภาพ : http://images.voicecdn.net/contents/640/330/horizontal/65505.jpg

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยว่า ปัจจัยที่ไปสนับสนุนให้พ่อค้าคนกลางขายสลากเกินราคามีดังนี้ 1. สลาก 1 เล่ม (100 คู่หรือ 200 ฉบับ) มีเลขไม่สวยอยู่ประมาณ 10% เช่น เลขซ้ำ หรือ “เลขเบิล” 00 11 22 001 002 หรือเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวบนและล่างที่เคยถูกรางวัลงวดที่ผ่านมา ในทางจิตวิทยา ผู้บริโภคไม่นิยมซื้อเลขกลุ่มนี้ เพราะเพิ่งถูกรางวัลไปแล้ว โอกาสถูกรางวัลซ้ำมีน้อยมาก จากนโยบายขายขาด เหลือไม่รับซื้อคืนนี้เอง ทำให้ตัวแทนจำหน่ายสลากต้องรับภาระส่วนนี้ กลุ่มเลขไม่ส่วยเหล่านี้ ผู้ค้าสลากต้องลดราคาสลาก หรือยอมขายขาดทุน หากขายไม่หมด ต้องเก็บไว้เล่นเอง ไม่ถูกรางวัลก็ขาดทุน

ประการที่ 2 ปริมาณสลากฯ ที่พิมพ์ออกขายมีจำกัด ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ระยะหลังคนที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลาก ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนขายสลากเอง ขณะที่คนเดินเร่ขายสลากจริงๆ ก็ไม่ได้รับการจัดสรรโควตา สลากทั้งหมดตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง หลายคนมักเข้าใจผิด คิดว่าสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายเป็นจำนวนมากถึง 72 ล้านฉบับต่องวด แต่ในความเป็นจริง สลาก 1 ใบ มี 2 ฉบับติดกัน ในทางปฏิบัติ สลากฯ ที่วางขายตามท้องตลาดจริงๆ มีแค่ 36 ล้านใบเท่านั้น เวลาซื้อต้องซื้อเป็นคู่ ไม่ได้ตัดแบ่งขายใบละ 40-50 บาท

ประการที่ 3 โควตาสลากฯ ถูกผูกขาดโดยกลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊วรายใหญ่ๆ ไม่กี่ราย ปัญหานี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2518 รัฐบาลขณะนั้นต้องการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนที่มีรายได้น้อย จึงสั่งให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากฯ แก่ประชาชนทั่วไป รายละ 5 เล่ม (เล่มละ 4,000 บาท) คิดเป็นมูลค่า 20,000 บาท ได้รับส่วนลด 7% ของราคาหน้าสลาก หากขายสลากหมด ผู้ค้ารายย่อยกลุ่มนี้จะมีรายได้งวดละ 1,400 บาท หรือเดือนละ 2,800 บาท ณ ขณะนั้นถือว่ามีรายดีมาก เพราะข้าราชการที่จบปริญญาตรีรับเงินเดือนที่ 750 บาท

ต่อมาข้าราชการได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น แต่สำนักงานสลากฯ ไม่ได้เพิ่มโควตาสลากฯ ให้กับผู้ค้าสลากกลุ่มนี้ ในที่สุดรายได้ 2,800 บาทต่อเดือนก็ไม่พอเลี้ยงชีพ บางรายต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น นำโควตา 5 เล่มมาขายล่วงหน้าให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊วเป็นรายปี ยุคแรกแรกจะมีการแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง เช่น นาย ก. มีโควตาสลากฯ 5 เล่ม มูลค่า 20,000 บาท ได้รับส่วนลดจากสำนักงานสลากฯ งวดละ 1,400 บาท หรือเดือนละ 2,800 บาท โดยนาย ก. เจรจากับพ่อค้าว่าจะแบ่งกำไรให้เท่าไหร่ อดีตแบ่งกันคนละครึ่ง คือ 1,400 บาทต่อเดือน พ่อค้าก็จะจ่ายเงินล่วงหน้าให้ 12 เดือน คิดเป็นเงิน 16,800 บาท โดยเจ้าของโควตาต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้พ่อค้าไปรับสลากฯ แทน ก่อนครบกำหนด 1 ปีก็มาเจรจากันใหม่

ผู้ค้าสลากกลุ่มนี้มีประมาณ 30,000 ราย ส่วนใหญ่นำโควตาสลากไปขายให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่บางรายไม่มารับสลากฯ ไปขาย กลายเป็นภาระของสำนักงานสลากฯ ที่ต้องหาคนอื่นมาขายแทน ปี 2532 สำนักงานสลากแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการเปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายประเภทนิติบุคคล บริษัท หรือสมาคม มูลนิธิที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากจะได้รับการจัดสรรโควตาสลากฯ รายละ 20,000 เล่ม ได้ส่วนลด 9% สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการขายสลากฯ ต้องสมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทตัวแทนจำหน่ายประมาณ 20-30 ราย ในจำนวนนี้มีรายใหญ่ๆ อยู่ 5 บริษัท หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 5 เสือ ได้แก่ บริษัทปลื้มวัธนา, บริษัทไดมอนด์ ล็อตโต้, บริษัทสลากมหาลาภ, บริษัทบีบี เมอร์ชานท์ และบริษัทหยาดน้ำเพชร กลุ่มบริษัท 5 เสือที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงนี้

ปรากฏว่า ระบบนี้ไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทตัวแทนจำหน่ายเอาชื่อญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัท พอประชาชนทั่วไปติดต่อขอสมัครเป็นสมาชิก เพื่อที่จะนำสลากฯ ไปขาย บริษัทตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ก็จะบอกว่า “เต็มแล้ว” โควตาสลากฯ ลอตนี้ จึงตกอยู่ในมือบริษัทตัวแทนจำหน่ายเกือบทั้งหมด(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การจัดสรรสลากกินแบ่ง

บริษัทตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ นอกจากจะมีโควตาสลากฯ เป็นของตนเองแล้ว ยังไปตั้งโต๊ะรับซื้อโควตาสลากจากผู้ค้าสลากฯ รายย่อย (เปลี่ยนอาชีพ) สมาคมคนพิการทุกประเภท มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลนิธิทั่วไป องค์กรการกุศล และโควตาในส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศที่สำนักงานสลากฯ จัดสรรให้ ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่คู่ละ 72.8 -74.4 บาท ก็จะมีนายหน้าไปรวบรวมโควตาสลากฯ มาขายให้กับพ่อค้าที่ตลาดสี่แยกคอกวัวได้ราคาไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อคู่

ทุกๆ วันที่ 2 และวันที่ 17 ของทุกเดือน ตลาดสี่แยกคอกวัวจึงคึกคักเป็นพิเศษ คล้ายตลาดฮั่งเส็ง หรือท่าข้าวกำนันทรงในอดีต พ่อค้าที่อยู่ตามซุ้มต่างๆ ก็จะขึ้นป้ายตั้งราคารับซื้อคู่ละ 80 บาท หากไม่มีคนนำโควตามาขาย ราคารับซื้อจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นคู่ละ 80.50 บาท หรือ 81 บาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันปีใหม่ หรือวันตรุษจีน สลากขายดีมาก ราคารับซื้ออาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 82-83 บาทต่อคู่ แต่ถ้างวดไหนไปตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ หรือช่วงเปิดเทอม สลากขายไม่ดี ก็จะมีคนนำโควตาสลากฯ มาขายกันเป็นจำนวนมาก ราคารับซื้อปรับลดลงมาเหลือ 79.25 บาท เป็นต้น ดังนั้นการตั้งราคารับซื้อของพ่อค้าที่สี่แยกคอกวัว ขึ้นอยู่กับจำนวนโควตาที่นำมาขาย และช่วงวันเทศกาลสำคัญๆ

หลังจากที่กลุ่ม 5 เสือ และกลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ตั้งโต๊ะรับซื้อโควตาสลากฯ มาได้แล้ว ก็จะนำไปรวมกับโควตาเดิมที่ได้รับการจัดสรรโดยตรงจากสำนักงานสลากฯ เพื่อทำการตรวจโควตาสลากฯ ที่มีอยู่ในมือ มีเลขอะไร ขาดเลขอะไร จากนั้นบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็จะนำสลากมาเทรดกันอีกรอบ เพื่อคัดเลือกเลขสวยๆ เลขดังๆ มาจัดรวมเป็นชุดใหญ่ ขายกลุ่มลูกค้าที่ต้องการถูกรางวัลใหญ่ (โลภมาก เล่นหวยหวังรวย)

สมัยก่อนเทคโนโลยีด้านการสื่อสารยังไม่ทันสมัย การติดต่อสื่อสารระหว่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รายใหญ่ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดจะสั่งออเดอร์ซื้อ-ขายโควตาสลากฯ ผ่าน FAX แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช่ LINE บรรดาเจ๊ทั้งหลายแถวสี่แยกคอกวัวก็จะตั้งราคารับซื้อสลากเลขที่ตนเองไม่มี และก็ขายเลขที่ตนเองมีมากออกไป แต่ถ้าผู้ซื้อ-ผู้ขายมีเลขสวยๆ ตรงกัน สามารถนำมารวมเป็นชุดใหญ่ได้ ก็เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ หรือตกลงซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันไป ก็มีการจัดส่งสลากจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด และก็มีการจัดส่งสลากจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ ยิ่งรวมกันเป็นชุดใหญ่มากเท่าไหร่ยิ่งแพง เพราะมีต้นทุนค่าขนส่งและการดำเนินการจัดหา

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นได้ว่า กลุ่มตัวแทนจำหน่าย ทั้งยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ที่มีโควตาสลากในมือ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ขายสลากฯ คอยหักหัวคิว หรือบวกกำไร ขณะที่คนเดินเร่ขายสลากตัวจริงไม่มีโควตาสลาก ต้องยอมรับสลากราคาแพงจากพ่อค้าคนกลางมาเดินเร่ขายหารายได้เลี้ยงชีพ ผู้ค้าสลากบางรายไม่มีเงินไปรับสลากมาขายก็เอาโฉนดที่ดินไปวางเป็นหลักประกัน ถูกพ่อค้าคนกลางบวกดอกเบี้ยเข้าไปอีก เช่น ราคาสลากขายส่งคู่ละ 85 บาท บวกดอกเบี้ย 1-2 บาท กลายเป็นคู่ละ 86-87 บาท บางรายรับสลากจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาแล้วขายคนเดียว เกรงว่าจะขายสลากฯ ไม่หมด ส่งต่อให้ลูกทีมช่วยขาย กินหัวคิวอีกคู่ละ 2 บาท ถึงมือคนเร่ขายสลากจริงต้นทุนอยู่ที่คู่ละ 90 บาท คนเดินเร่ขายไปบวกกำไรอีกคู่ละ 10 บาท กว่าจะมีรายได้เท่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต้องขายให้ได้วันละ 30 คู่

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับผลประโยชน์ที่กลุ่มพ่อค้าคนกลางได้รับจากการขายสลากเกินราคามีหลักในการคำนวณง่ายๆ ดังนี้ สำนักงานสลากฯ ขายสลากให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายที่เป็นนิติบุคคลคู่ละ 72.80 บาท ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาขายส่งคู่ละ 74.40 บาท กว่าจะถึงมือผู้บริโภคราคาสลากเพิ่มเป็นคู่ละ 100-110 บาท มีส่วนต่างกำไรคู่ละ 25.60-37.20 บาท สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขายทั้งหมด 72 ล้านฉบับ วางขายจริงแค่ 36 ล้านใบเท่านั้น เนื่องจากสลาก 1 ใบมี 2 ฉบับติดกัน สลากฯ ทั้ง 36 ล้านใบมีทั้งเลขไม่สวย เลขซ้ำ เลขที่เคยถูกรางวัลงวดที่ผ่านมา ขายเกินราคาไม่ได้ ต้องตัดเลขกลุ่มนี้ออกไป เหลือสลากฯ ที่ขายเกินราคาได้ประมาณ 30 ล้านใบ นำไปคูณกับส่วนต่างกำไร สรุปว่ากลุ่มพ่อค้าคนกลางไปจนถึงคนเร่ขายสลากได้รับผลประโยชน์จากสลากเกินราคางวดละ 768-1,116 ล้านบาท หรือปีละ 9,216-13,400 ล้านบาทต่อปี (1 ปีพิมพ์สลากออกขาย 24 งวด) ใกล้เคียงกับเงินรายได้ที่สำนักงานสลากฯ นำส่งคลังปีละ 14,600 ล้านบาท

ภาพ สคร.เสนอแนวทางแก้ปัญหาสลากเกินราคา

“ต้นเหตุของปัญหาสลากเกินราคา คือ คนที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากฯ ไม่ใช่คนขายสลากตัวจริง ขณะที่คนเร่ขายสลากตัวจริงไม่มีโควตาสลากขาย ยอมซื้อสลากราคาแพงจากพ่อค้าคนกลางมาขาย ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ สำนักงานสลากฯ ต้องเพิ่มปริมาณสลากให้เพียงพอกับความต้องการ กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบนโยบายให้สำนักงานสลากฯ ไปกวดขันจับกุมหรือบีบบังคับให้ผู้ค้าสลากฯ ตัวจริงขายคู่ละ 80 บาทเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุด ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา 2 แนวทาง คือ 1. เพิ่มปริมาณสลาก โดยเปิดให้ผู้ค้าสลากทั้งที่มีโควตาอยู่แล้วและไม่มีโควตาสั่งจองซื้อสลากล่วงหน้า 2 เดือนได้อย่างเสรี ไม่จำกัดจำนวน 2. เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสลาก โดยให้ประชาชนซื้อสลากผ่านเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์ ข้อเสนอแนะดังกล่าวก็เป็นแค่ผลการศึกษา เพราะฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย” แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากฯ กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากฯ กล่าวต่อไปอีกว่า สรุปมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาในระยะสั้นที่สำนักงานสลากฯ สามารถดำเนินการได้ทันที คือ 1. ตัดสลาก 36 ล้านคู่ออกเป็น 2 ใบ หรือทำให้เป็น 72 ล้านฉบับจริง จากนั้นนำสลากที่ถูกตัดครึ่งกระจายไปให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว 70,000 รายทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้การนำสลากฯ มารวมชุดทำได้ยากและมีต้นทุนสูงขึ้น 2. เพิ่มปริมาณสลากฯ ให้เพียงพอกับความต้องการ โดยเปิดโครงการให้ประชาชนเข้ามาจองซื้อล่วงหน้า 2 เดือน และ 3. เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสลากผ่านเครื่องออนไลน์ในราคาที่เหมาะสม ตามข้อเสนอของ สคร. ทั้งพ่อค้าคนกลาง และคนเดินเร่ขายสลากจริงๆ สามารถมารับโควตาสลากจากสำนักงานสลากฯ ได้โดยตรง หรือไปกดสลากจากเครื่องออนไลน์ เพื่อนำไปขายได้ตามความต้องการ

ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ แก้ปัญหาสลากเกินราคาไม่ได้ผลเพราะไปจำกัดปริมาณการพิมพ์สลากฯ และจัดสรรโควตาสลากฯ ให้กับคนที่ไม่ได้ขายสลากจริงๆ และก็ปล่อยให้ปริมาณสลากไม่เพียงพอกับความต้องการ พ่อค้าคนกลางจึงถือโอกาสปรับขึ้นราคา ดังนั้น การเปิดให้คนที่ต้องการขายสลากจริงๆ เข้ามาซื้อสลากโดยตรงอย่างไม่มีข้อจำกัดจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด ปริมาณการผลิตสลากฯ เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า หากซื้อสลากฯ มาก ขายไม่หมด ก็ขาดทุน

“มีผู้ใหญ่บางคนในสำนักงานสลากฯ ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีนี้อาจจะมีคนมารับสลากไปขายส่งให้พ่อค้าคนกลางอีก คำถามว่าพ่อค้าจะซื้อไปทำไม ในเมื่อซื้อไปก็ขายไม่ได้ เพราะคนเร่ขายสลากฯ ทุกคนสามารถมาซื้อสลากจากสำนักงานสลากฯ ได้โดยตรงคู่ละ 74.40 บาท แต่ถ้าใครอยากจะไปซื้อที่ตลาดสี่แยกคอกวัวคู่ละ 84-85 บาทก็เป็นสิทธิของเขา ห้ามไม่ได้ หาก คสช. ต้องการแก้ปัญหาสลากเกินราคาจริงๆ ต้องช่วยคนขี่จักรยานเร่ขายสลากตัวจริงมีสลากในราคาที่เป็นธรรม ส่วนพ่อค้าคนกลางที่เสียผลประโยชน์ ออกมาเดินขบวนประท้วงก็เป็นเรื่องของพ่อค้า” แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากฯ กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานสลากฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาในระยะสั้นคือสำนักงานสลากฯ ไม่ทราบว่าความต้องการสลากฯ จริงๆ มีเท่าไหร่ ประเมินยากมาก ดังนั้นวิธีการคือ ต้องเปิดให้ประชาชนที่ต้องการเร่ขายสลากมาสั่งจองล่วงหน้า 2 เดือน เพื่อดูปริมาณความต้องการสลากที่แท้จริง จากนั้นก็ให้เวลาไปเตรียมตัวจัดหาหลักทรัพย์หรือเงินสดมาวางเป็นหลักประกันกับสำนักงานสลากฯ ครบกำหนด 2 เดือนก็มารับสลากไปขาย แต่ในระยะยาวต้องนำระบบการจำหน่ายสลากแบบออนไลน์มาใช้ควบคู่ไปกับการขายสลากแบบใบ ทั้ง 2 แนวทางต้องทำคู่ขนานกันไปถึงแก้ปัญหาสลากเกินราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การนำระบบจำหน่ายสลากออนไลน์มาใช้ ข้อดีคือสามารถตอบสนองกลุ่มคนที่นิยมซื้อหวยชุดใหญ่ ต้องการซื้อกี่ชุดก็กดเอาจากเครื่อง นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาขายสลากเหลือ ขายไม่หมด เลขซ้ำ เลขที่เคยถูกรางวัลแล้วได้อีกด้วย ใครอยากขายสลากแบบใบหรือขายสลากผ่านเครื่องออนไลน์ก็ขายไป เลือกขายได้อย่างเสรี ซึ่งในที่สุดแล้ว การจำหน่ายสลากแบบใบก็จะหายไปหมด เพราะปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้เครื่องออนไลน์กันเกือบหมดแล้ว มีเพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่ยังขายสลากแบบใบอยู่