ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ขึ้นรถไฟไปเลือกตั้งกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่าสถานีเสี่ยง 7 จุด ถอดหมุด-ปลดล็อก “ทักษิณ” มุ่งหน้าสถานีประชาธิปไตย

ขึ้นรถไฟไปเลือกตั้งกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่าสถานีเสี่ยง 7 จุด ถอดหมุด-ปลดล็อก “ทักษิณ” มุ่งหน้าสถานีประชาธิปไตย

14 กรกฎาคม 2014


ขบวนรถไฟสายสืบทอดอำนาจ จากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) กำลังเดินเครื่องออกจากสถานีรัฐประหาร มุ่งหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย อีกครั้ง

เมื่อสิ้นเสียงพลขับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ บอกเส้นทางที่จะเคลื่อนผ่านไปสู่สถานีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม 2558 ประกอบด้วย สถานีหลัก คือการทูลเกล้าฯ ธรรมนูญการปกครอง ภายในเดือนกรกฏาคม 2557

จากนั้นจะจอดป้ายสถานีต่อไป คือการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ประธานสภาแห่งนี้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ในราวเดือนกันยายน 2557

สถานีหลักที่ต้องจอดรับความคิด คือการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากการสรรหาและเลือกตั้งทางอ้อม ทั่วประเทศเบ็ดเสร็จ 250 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2557

ระหว่างนั้น จะมีการจัดทำข้อเสนอ จากสภาปฏิรูปทั้ง 11 กลุ่ม และข้อเสนอทางกฎหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังสถานีใหญ่ระดับใกล้ศูนย์กลางอำนาจ คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับคืนความสุข” ในเดือนกรกฏาคม 2558 เพื่อเตรียมการเลือกตั้งอีกครั้ง หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นเสียก่อน ในเดือน ตุลาคม 2558

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.  ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2013/12/27/1388147943080/General-Prayuth-Chan-ocha-011.jpg
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2013/12/27/1388147943080/General-Prayuth-Chan-ocha-011.jpg

แต่รถไฟสายที่มุ่งสู่การคืนความสุข และมุ่งหน้าไปที่ปลายทางการเลือกตั้ง นั้นคงไม่ราบรื่นทุกสถานี และอาจมีอุปสรรค มีความเสี่ยงบางประการ ที่ส่งผลสะเทือนระดับที่ทำให้รถไฟสายนี้ตกรางได้ในบางสถานี

ความเสี่ยงแรก สนิมเกิดแต่เนื้อในตนฉันใด รถไฟขบวนนี้ก็ฉันนั้น ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่เบ็ดเสร็จด้วยความปราถนาดี ของคณะนายทหาร ทั้ง 7 นายพล ที่คุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอยู่ในเวลานี้ เมื่อต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี นายพลเหล่านี้ย่อมต้องเปลี่ยนเก้าอี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรีโดยปริยาย ดังนั้น ความหวัง ความฝัน ของหัวหน้า คสช. ที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่ภาพลักษณ์ดี เก่ง มีส่วนผสมของข้าราชการ พลเรือน นักธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ อาจกลายเป็นคณะรัฐบาลนายพลไปอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง 7 ชื่อที่ต้องอยู่ในโผคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร, พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง, พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร

ความเสี่ยงที่สอง การเปลี่ยนผ่าน ผ่องถ่ายอำนาจ จากคณะที่ปรึกษา 10 อรหันต์ ที่ประกอบด้วยประธาน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายณรงค์ชัย อัครเศรณี, นายวิษณุ เครืองาม, นายยงยุทธ ยุทธวงศ์, พล.อ.อ. อิทธิพร ศุภวงศ์, พล.อ. นพดล อินทปัญญา และ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เข้าสู่การเป็นคณะรัฐมนตรี หากมีความไม่ลงตัว ไม่ลงรอย ในการจัดทัพ ปรับขบวน เพราะความขัดแย้งในทีมเศรษฐกิจกับทีมการต่างประเทศเริ่มปรากฏร่องรอยให้เห็นแทบทุกครั้งในวงประชุมคณะที่ปรึกษา ซึ่งบางคราเกิดการโต้แย้งกันไปมาต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์แบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม ดังนั้น หากถึงเวลาต้องปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีแล้วยังคงมีเสียงโต้แย้งดังก้องขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องระดับนโยบายและแนวปฏิบัติ อาจมีใครคนใดคนหนึ่งต้องปฏิบัติการ ลาออก ถอยห่างจาก “รัฐบาลคืนความสุข” ก็เป็นได้

เพราะเคยมีปรากฏการณ์ความขัดแย้งในความเงียบ ซึ่งเป็นศึกศักดิ์ศรีระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาแล้ว ในยุค พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คราวนั้นเพียงแค่เตรียมแต่งตั้งนายสมคิดให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็เกิดปฏิบัติการลาออกของอีกฝ่ายทันที กระทั่งนายสมคิดต้องเปิดเวทีแถลงข่าว ยุติการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษากับรัฐบาล หลังรัฐประหาร 2549

ความเสี่ยงที่สาม แรงกดดันจากต่างประเทศจะเพิ่มดีกรีขึ้น เมื่อเห็นหน้าตาของคณะรัฐมนตรีที่ชัดเจน หาก คสช. เพลี่ยงพล้ำในการเปิดปฏิบัติการตอบโต้ และวางตัวบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ไม่มีบารมีมากพอในการเจรจาทั้งทางรุกและทางรับ

ความเสี่ยงที่สี่ ปฏิบัติการที่ผสมโรงกับแนวรบจากต่างประเทศ โดยเครือข่าย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งการแสดงสัญญลักษณ์การต่อสู้โดยตรงผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กของ พ.ต.ท. ทักษิณเอง และเครือข่ายเสรีไทย ที่นำโดยอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติการคู่ขนานกับขบวนการของนายจักรภพ เพ็ญแข และแนวร่วมเสื้อแดงปัญญาชนไทยในต่างแดน ที่ยังสามารถสร้างกระแสใต้ดิน เล็ดลอดปลุกมวลชนเสื้อแดงในเมืองไทย

ความเสี่ยงที่ห้า การออกนโยบายของรัฐบาลคืนความสุข ที่มีความพยายามจะยกเลิก งดเว้น การดำเนินนโยบายประชานิยม สไตล์ ลด แลก แจก จ่าย ให้กับประชาชนระดับรากหญ้า อาจทำให้กระแสความนิยมของรัฐบาลค่อยๆ ลดลง และนโยบายบางประการ ที่อาจต้องตอบสนองความต้องการกลุ่มชนชั้นนำ ชนชั้นนายทุน ที่เคยเสียเปรียบมาตลอดในยุค พ.ต.ท. ทักษิณครองอำนาจ ทั้งนายทุนธนาคาร นายทุนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อาจสร้างความไม่พอใจให้กับนายทุกอีกขั้ว อย่างยากที่จะปรองดอง

ความเสี่ยงที่หก กลุ่มนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และบรรดาวุฒิสมาชิก หากมีการกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การเข้าสู่อำนาจและการคืนสู่ความเป็นนักเลือกตั้งทั้งสภาบน-สภาล่าง ยากลำบากเกินกว่าที่ผ่านมา ก็อาจก่อความไม่พอใจให้กับนักการเมือง อย่างน้อยก็มีนับพันคน ที่เคยเป็นนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก

ความเสี่ยงที่เจ็ด ความเสี่ยงสุดท้าย ที่อาจจะเกิดจากบริหารอำนาจของพลขับหลัก ของรถไฟขบวนสืบทอดอำนาจ มีความชัดเจน ว่าเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนกระทั่งทำให้เกิดปัญหาการจัดแถว การแต่งตั้ง โยกย้ายในกองทัพ ซึ่งบทสนทนาว่าด้วย “การต่ออายุ” เริ่มดังขึ้น และการควบอำนาจทั้ง 3 ไว้ในมือคนกลุ่มเดียว คือ ผู้บัญชาการทหารบก-นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช. ก็อาจทำให้ขบวนรถไฟสายนี้ตกรางไปได้ในบางขณะ

ความเสี่ยงทั้งเจ็ดประการนี้ มีการประเมิน ประมวล มาจากห้องประชุมคณะที่ปรึกษา คสช. ที่มีการพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีอย่างเข้มข้น และมีผู้เสนอทางแก้จุดเสี่ยงต่อการ “ตกราง” ของขบวนรถไฟสายนี้ไว้แล้ว เพื่อส่งตรงไปยังห้องทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

ข้อเสนอนี้ ประกอบด้วย 1. ต้องเฟ้นหาบุคคลที่มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ครบเครื่อง เป็นที่ยอมรับทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การเมือง มีลูกล่อลูกชนกับสื่อ และทำได้ทั้งการตอบโต้และประนีประนอมกับต่างประเทศ และสไตล์การทำงานเข้ากันได้กับระบบ คสช.

2. ต้องวางบุคคลที่จะเป็นคณะรัฐมนตรี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว การลงทุนภาคเอกชนไม่มีสัญญาณชัดเจน และการลงทุนภาครัฐผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ยังมียอดขาดดุลที่คำนึงถึงปัญหาการเมือง ด้วยการขาดดุลเพียง 2.5 แสนล้านนั้นน้อยเกินไป สำหรับการกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ

3. จัดทีมเฉพาะกิจพิเศษด้านต่างประเทศ ในการบริหารสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ 3 ประเทศ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

4. ใส่ใจเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ สร้างความเข้าใจ มีกลยุทธ์ในการสื่อสารผ่านสื่อทั้งไทยและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมือง ที่อาจเกิดจากความไม่เข้าใจแนวทางการทำงานของรัฐบาลและ คสช. โดยจะต้องหาบุคคลที่พบปะทำความเข้าใจกับผู้บริหารสื่อในประเทศก่อน แล้วขยายไปยังสื่อต่างประเทศ รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อบริษัทล็อบบี้ยิสต์ด้านสื่อต่างประเทศของของ พ.ต.ท. ทักษิณ เพื่อปฏิบัติการหาทางในการตอบโต้ด้วยข้อมูลใหม่

5. หลังจากมีนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องยกเลิกนโยบายประชานิยม แต่ปรับปรุงสร้างแบรนด์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อล้างภาพจำว่าเป็น “นโยบายทักษิณ” และให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนปฏิบัติการนำทีมคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่พบปะประชาชน โดยเน้นพื้นที่ภาคอีสานเป็นความจำเป็นเร่งด่วน จากนั้นจึงค่อยขยายไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

ทั้งหมดนี้ คือการขับเคลื่อนรถไฟขบวนที่มีพลขับระดับนายพลหมายเลข 1 ที่ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำพาคนไทยทั้งประเทศขึ้นขบวนรถไฟสายคืนความสุข มุ่งหน้าสู่เส้นทางสายเลือกตั้งอีกครั้งอย่างปลอดภัย และถึงจุดหมายปลายทางสถานีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์