ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ภาษีปี ’57 หลุดเป้า 9 หมื่นล้าน นโยบายโค้งสุดท้าย “อธิบดีสรรพากรคนใหม่” – สั่งเลิกเรียกเงินใต้โต๊ะ – ตรวจเข้ม สนง.บัญชี

ภาษีปี ’57 หลุดเป้า 9 หมื่นล้าน นโยบายโค้งสุดท้าย “อธิบดีสรรพากรคนใหม่” – สั่งเลิกเรียกเงินใต้โต๊ะ – ตรวจเข้ม สนง.บัญชี

8 กรกฎาคม 2014


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่ มอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูง สรรพากรภาคและสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ ณ หอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ โดยนายประสงค์เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (1 ต.ค.2556-30 มิ.ย.2557) กรมสรรพากรเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 90,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2557 กรมสรรพากรได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้จัดเก็บภาษี 1.89 ล้านล้านบาท ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 2557 ขยายตัว 4.6% ต่อปี ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 1.5% ต่อปี คาดว่าการจัดเก็บภาษีในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายแน่นอน แต่ต้องพยายามจัดเก็บภาษีไม่ให้หลุดเป้าเกินกว่า 90,000 ล้านบาท

ต่อกรณีที่มีข่าวว่ากรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบภาษีกลุ่มคนที่มีฐานะดี แต่เสียภาษีไม่ครบถ้วน โดยนำข้อมูลการเสียภาษีเงินได้มาเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินที่ครอบครอง เช่น รถยนต์คันละ 3 ล้านบาท หรือบ้านราคา 40 ล้านบาท เงินที่นำมาซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ได้มาจากแหล่งใด เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ประเด็นนี้นายประสงค์ ยืนยันว่ากรมสรรพากรยังไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แต่ในระหว่างนี้ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการสร้างรายจ่ายเทียม

ส่วนกลยุทธ์การจัดเก็บภาษีช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2557 แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า นายประสงค์มอบหมายให้สำนักกฎหมายและสรรพากรพื้นที่ เร่งรัดและติดตามหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นเกิดจากผู้ประกอบการเสียภาษีไม่ถูกต้อง โกงภาษี และกิจการล้มละลาย กรมสรรพากรคาดว่าจะติดตามเร่งรัดหนี้ นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 50,000 ล้านบาท แต่ต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และในจำนวนนี้ถูกศาลสั่งบังคับหลักประกันโอนทรัพย์สินเข้ามาอยู่ในความครอบครองของกรมสรรพากร หรือที่เรียกว่า “สินทรัพย์รอการขาย” (NPA) คิดเป็นมูลค่าทางบัญชี 9,000 ล้านบาท ดังนั้น นายประสงค์จึงมีแนวคิดที่จะขายหนี้กลุ่มนี้ไปให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) นำไปบริหารจัดการต่อไป ส่วนหนี้ภาษีอากรที่เหลืออีก 50,000 ล้านบาท เป็นหนี้สูญหมดแล้ว ไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้ ต้องทำเรื่องถึงกระทรวงการคลังขอตัดเป็นหนี้สูญ

จากนั้นนายประสงค์ได้ขอให้ผู้บริหารกรมสรรพากรที่เข้าร่วมประชุมกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาบางรายที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ขบวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” เรียกเงิน หรือขอส่วนแบ่งจากผู้ประกอบการที่มีสิทธิได้รับคืนเงิน VAT รายละ 3-5% ของมูลค่าภาษีที่ได้คืน หากผู้ประกอบการรายใดไม่ยอมจ่าย อาจจะได้รับเงินคืนภาษีล่าช้า บางรายอาจจะใช้เวลานานเกือบ 1 ปี โดยนายประสงค์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ต้องเลิกพฤติกรรมดังกล่าว หากยังไม่เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ถ้าถูกจับได้ ต้องได้รับโทษทั้งทางวินัยและอาญา

นอกจากนี้ นายประสงค์ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารสรรพากรพื้นที่กลับไปหารือกับสำนักงานบัญชีทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 10,000 แห่ง ขณะนี้กรมสรรพากรได้จัดแบ่งกลุ่มสำนักงานบัญชีออกเป็น 5 ระดับ คือ ดีมาก, ดี, ปานกลาง, ค่อนข้างเสี่ยง และเสี่ยงสูง สำหรับสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชีและยื่นภาษีให้ลูกค้าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก เกิดข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง หรือมีเจตนาช่วยลูกค้าตกแต่งบัญชีหลบเลี่ยงภาษี สำนักงานบัญชีกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “แบล็คลิสต์” ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นบริษัท ห้างร้าน ที่ไปใช้บริการสำนักงานบัญชีกลุ่มนี้จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบภาษีอย่างเข้มงวด