ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินนี้ท่านได้แต่ใดมา…

เงินนี้ท่านได้แต่ใดมา…

28 กรกฎาคม 2014


หางกระดิกหมา

เด็กไทยเรารู้มานานแล้วว่าเงินใช้ทำอะไรได้หลายอย่าง อย่างน้อยๆ ก็น่าจะตั้งแต่ที่ได้ฟังสุนทรภู่ท่านสอนไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า “คำโบราณท่านว่าเหล็กแข็งกระด้าง เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์” นั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม อ่านข่าวที่มีท่านผู้อ่านใจดีส่งมาให้เมื่อสองสามวันผ่านมาแล้วก็เลยทราบว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะเด็กไทยเท่านั้น เด็กฝรั่งเขาก็รู้อย่างเดียวกัน แถมคงยังรู้วิชาอื่นอีกหลายหลายอย่างด้วย เพราะปรากฏว่าขณะนี้ มีเด็กอเมริกัน อายุ 16 ขวบ ชื่อนิโคลัส โรบิน(Nicholas Rubin) คิด “ปลั๊กอิน”กล่าวคือซอฟต์แวร์เสริมที่ใครก็สามารถดาวน์โหลดเอาไปใช้ประกอบกับโปรแกรมดูอินเทอร์เน็ตของตนได้ โดยโหลดไปแล้ว ผู้ใช้จะสามารถใช้ปลั๊กอินนี้สอดส่องอำนาจของเงินในวงการเมืองได้เป็นอย่างดีทีเดียว

วิธีการทำงานของปลั๊กอินนี้ก็ง่ายๆ คือปกติเราอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต เราก็เห็นชื่อนักการเมืองคนนั้นคนนี้โลดแล่นทำพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าในสภา นอกสภาอยู่แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่เราดาวน์โหลดเอาปลั๊กอินนี้เข้าไปใช้ เราจะมีความสามารถเพิ่ม คือสามารถเอาลูกศรไปวางบนชื่อของนักการเมืองเหล่านั้นได้ และปลั๊กอินก็จะทำงาน โดยผุดกล่องข้อความขึ้นมาโชว์ให้เราเห็นข้อมูลจากดาต้าเบสว่านักการเมืองนั้นๆ มีใครเป็นผู้บริจาครายใหญ่ ซึ่งรับรองว่าหลายครั้งจะทำให้เราหูตาสว่างได้ขึ้นอีกแยะ

อย่างเช่น สมมติคนอเมริกันเปิดเว็บของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ขึ้นมาแล้วเจอว่า ส.ส. ท่านหนึ่งมีความเห็นคัดค้านการออกกฎหมายการควบคุมมลพิษเป็นบ้าเป็นหลัง แถมยังไม่ค่อยเชื่อวิกฤติโลกร้อน ถ้าไม่มีปลั๊กอินนี้ก็แล้วไป คนอเมริกันอ่านข่าวแล้วก็คงไม่เห็นสัจธรรมอะไรนัก แต่พอมีปลั๊กอินนี้ขึ้นมา คนอเมริกันนั้นก็เลยจะสามารถเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจน้ำมันและแก๊สเป็นผู้ให้เงินบริจาคสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของท่าน ส.ส. ผู้นี้มากเป็นอันดับที่หนึ่ง และอาจเชื่อมโยงคิดปุจฉาวิสัชนาต่อไปได้ว่าตา ส.ส. นั้น ค้านกฎหมายตามหลักวิชา หรือว่าค้านเพราะโดนเงินง้างจนอ่อนตามความประสงค์เข้าให้แล้ว

แน่นอน ส.ส.อเมริกันไม่ได้บวชเป็นพระธรรมยุติ ดังนั้น ถึงจะรับเงินใครมาก็ไม่ใช่เรื่องผิด เรื่องจะผิดก็ต่อเมื่อการรับเงินนั้น ทำให้ ส.ส. ทำผิดหน้าที่ คือไปโหวตโนตรงที่ควรโหวตเยส หรือโหวตเยสเมื่อควรจะโหวตโนเท่านั้น อย่างไรก็ตามการจะลงความเห็นว่า ส.ส. ทำผิดหน้าที่หรือไม่ จะทำได้ง่ายก็ต่อเมื่อมีกลไกของ “ความโปร่งใส” เข้ามาช่วยให้คนทั่วไปรู้เห็นได้ชัดๆ ว่าอะไรเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของ ส.ส. คนหนึ่งๆ เท่านั้น ซึ่งนี่เองก็คือจุดมุ่งหมายของปลั๊กอินที่นิโคลัส ผู้คิดค้นตั้งชื่อล้อกับปรัชญาความโปร่งใสไว้ว่า Greenhouseหรือ “เรือนกระจก”

นิโคลัสเขียนอธิบายผลงานของตัวเองไว้ในแถลงการณ์ “ทำไมต้องเรือนกระจก?” ว่า

“ร้อยปีที่แล้ว หลุยส์ แบรนไดส์ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาของสหรัฐฯ) ได้พูดประโยคที่คนมักจะอ้างกันเสมอๆ ว่า “แสงอาทิตย์นั้นเป็นยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด” คำพูดวรรคก่อนหน้านั้น แม้ไม่ดังเท่าแต่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือประโยคที่ว่า “การทำให้เป็นข่าวนั้นเหมาะแล้วที่จะใช้เป็นยารักษาโรคของสังคมและภาคอุตสาหกรรมใดๆ”

ผมสร้าง “เรือนกระจก” ขึ้นมาก็เพื่อฉายแสงลงบนโรคของสังคมและภาคอุตสาหกรรมในทุกวันนี้ กล่าวคือโรคที่เกิดจากอิทธิพลของเงินในสภาคองเกรสของเรา เพราะอิทธิพลนี้มีอยู่ทุกที่ แม้เราจะมองไม่เห็น ผมตั้งใจจะเปิดโปงและแฉโรคร้ายนี้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ข้อมูลสำคัญปรากฏขึ้นในที่ที่ข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ที่สุด กล่าวคือบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้คนจะต้องได้อ่านเกี่ยวกับการทำหรือไม่ทำอะไรของคนในสภาคองเกรสอยู่ทุกๆ วัน…

คติของ “เรือนกระจก” มีอยู่ว่า “บางพรรคสีแดง บางพรรคสีน้ำเงิน แต่ทุกพรรคล้วนสีเขียว” สิ่งที่คตินี้ต้องการสื่อคือว่าอิทธิพลของเงิน (สีเขียวๆ) ในระบบการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเป็นรีพับลิกันหรือเดโมแครตก็ตาม เราต่างน่าจะต้องการระบบการเมืองที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของเงิน และไม่อิงแอบอยู่กับการรับทุนสนับสนุนรอบแล้วรอบเล่าจากบรรดากลุ่มผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับใช้ปัจเจกชนทุกๆ คน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ กระนั้น ทุกปีเรากลับเดินห่างออกไปจากวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งประเทศไกลขึ้นทุกทีๆ”

อ่านแล้วก็จะเห็นได้ว่าเด็กนิโคลัสนี่ความคิดความอ่านลึกซึ้งเสียยิ่งกว่า ส.ส. เมืองไทยหลายคน ทั้งๆ ที่อายุยังไม่พอจะเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่นั้นแหละ กระทั่งเด็กนิโคลัสเองมาเมืองไทยก็อาจทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน เพราะเงินสนับสนุนนักการเมืองในประเทศนี้เขาไม่ได้จ่ายกันอย่างถูกกฎหมายโดยล็อบบี้ยิสต์ให้มันมีฐานข้อมูลสำหรับมาทำปลั๊กอินอย่างนี้ได้

แต่เขาจ่ายกันใต้โต๊ะที่แสงแดดส่องไม่ค่อยจะถึงต่างหาก

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม 2557