ThaiPublica > คอลัมน์ > การข่มขืน: ปัญหาและทางออก

การข่มขืน: ปัญหาและทางออก

17 กรกฎาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

การข่มขืนนั้นเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยวันละ 87 ราย สถิติดังกล่าวได้จากการรวบรวมข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ (นั่นหมายความว่าย่อมมีที่ไม่เป็นข่าวอยู่อีกเท่าไรก็ไม่ทราบ) และข่าวการข่มขืนกระทำชำเราก็เป็นข่าวการกระทำรุนแรงทางเพศที่พบมากที่สุดจากหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกัน (51.5%)

ท่ามกลางปริมาณที่มากมายขนาดนั้น การข่มขืนเป็นภัยที่หลายคนหวั่นใจอยู่เงียบบ้างดังบ้างเป็นพักๆ จนกระทั่งข่าวพนักงานรถไฟข่มขืนเด็กหญิงอายุสิบสามปีที่โดยสารมาในตู้นอนชั้นสองแล้วโยนร่างทิ้งขณะรถไฟกำลังวิ่งได้สร้างความตื่นตัวให้แก่สังคมอีกครั้ง เป็นคดีสะเทือนขวัญที่ทำให้ทั้งคนที่ไม่รู้และรู้ว่ากรณีข่มขืนแล้วฆ่าเช่นนี้นั้นมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตอยู่แล้ว [ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 มาตรา 277 ทวิ (2)] ต่างก็พร้อมใจเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้การข่มขืนในทุกกรณีต้องได้รับโทษประหารสถานเดียวโดยไม่มีการลดหย่อนไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

คำถามที่น่าสนใจก็คือ แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องให้เพิ่มโทษนั้น เป็นไปโดยคาดหวังให้เกิดการป้องปรามไม่ให้กล้ากระทำผิด ทว่า แม้จะไม่ต้องยกอ้างซึ่งสถิติจากงานวิจัยที่ว่าการมีโทษประหารไม่ได้มีส่วนในการเพิ่มหรือลดอัตราการก่ออาชญากรรม ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า ในขณะที่การข่มขืนในปัจจุบันโดยรวมแล้วถูกมองว่าโทษเบา มีโอกาสรอด ที่ติดคุกก็ติดไม่นานพอจนอาจกลับออกมาก่อคดีใหม่ หรือที่สุดคือในบางกรณีสามารถยอมความกันได้ แม้อะไรเช่นนั้นจะทำให้ดูเหมือนไม่เด็ดขาดรุนแรงพอจะป้องปราม แต่ผู้กระทำผิดในกรณีข่มขืนหลายๆ กรณีก็ยังเลือกที่จะฆ่าปิดปากเหยื่อด้วยหวังจะรอดพ้นจากการถูกจับดำเนินคดี ดังนั้นแล้ว หากโทษทัณฑ์ที่ปลายทางรุนแรงขึ้น การตัดสินใจเพื่อหาทางให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกจับจะเป็นอย่างไร แนวโน้มในการฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปากจะสูงขึ้นหรือไม่ หรือในยุคที่โทรศัพท์มือถือแทบทุกเครื่องบันทึกได้ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหวนี้ การบันทึกภาพเหยื่อไว้เพื่อข่มขู่ไม่ให้แจ้งความดำเนินคดีจะกลายเป็นวิธีหลีกเลี่ยงโทษอย่างหนึ่งหรือไม่ ซึ่งตรงนั้นก็อาจต้องรอดูกันต่อไปในวันที่การข่มขืนทุกกรณีมีโทษเป็นการประหารชีวิตเท่ากันหมด

ทว่า ก็ต้องไม่ลืมว่า กระบวนการยุติธรรมนั้นสามารถผิดพลาดกันได้ และเคยผิดพลาดกันมาแล้ว ในเมื่อเป็นเช่นนั้น หากวันหนึ่งการข่มขืนต้องรับโทษประหารในทุกกรณี แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดไม่ใช่ผู้ที่กระทำผิดจริง กรณีแบบนี้จะทำเช่นไร โดยเฉพาะในเมื่อได้สังหารชีวิตบริสุทธิ์ชีวิตหนึ่งให้ตายตกตามกันไปแล้ว

อนึ่ง จากที่กล่าวมาจะเห็นเป็นนัยได้ว่า สิ่งที่จะทำให้บุคคลตัดสินใจกระทำผิดกฎหมายหรือไม่นั้น หากมองอย่างแคบ นอกจากเรื่องของบทลงโทษแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือโอกาสในการที่จะถูกจับได้ หรือโอกาสที่จะต้องถูกตัดสินให้รับโทษอย่างไม่อาจบิดพลิ้วเป็นอื่นได้ จึงน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่า หากไม่ใช่การเพิ่มโทษให้รุนแรงเด็ดขาดขึ้นแล้ว น่าจะลองหันไปเร่งรัดในเรื่องของการติดตามดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดมากกว่าหรือควบคู่กันไปหรือไม่

แต่อย่างไรก็ดี คดีข่มขืนนั้น บ่อยครั้งหรือแทบจะทุกครั้งไม่ได้เป็นการกระทำโดยมีการตระเตรียมการวางแผนอย่างดีเป็นเวลานาน หากแต่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนในทันทีที่สบโอกาส และบ่อยครั้งอีกเช่นการที่มีแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดชนิดอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นแล้ว ในภาวะที่สติสัมปชัญญะหละหลวมเช่นนั้น ไม่น่าจะมีใครมาทันคิดถึงโทษทัณฑ์อันรุนแรงที่ตนเองจะได้รับ นี่ยังไม่ต้องนับว่า แม้ในสภาพสติอันสมบูรณ์ครบถ้วน คนส่วนใหญ่ก็หารู้ไม่ว่าคดีแต่ละอย่างนั้นมีโทษทัณฑ์รุนแรงเพียงไหนอย่างไรบ้าง เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะแนวทางของการเพิ่มโทษให้รุนแรงเด็ดขาด หรือการเพิ่มโอกาสในการถูกจับดำเนินคดีให้สูงถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็อาจไม่ได้มีผลอะไรต่อการลดอัตราการก่อคดีทั้งนั้น และต่างก็อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งคู่ก็เป็นได้

เช่นนั้นแล้ว ที่น่าพิจารณาอีกทางอาจคือการพยายามทำให้ไม่เกิดหรือมีสถานที่และโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เกิดการข่มขืนก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา เนื่องจากการข่มขืนเป็นเรื่องของการกระทำด้วยสบโอกาส หากลดโอกาสที่จะสบ ก็อาจจะช่วยลดการพบการกระทำ

ต่อกรณีของการป้องปรามด้วยวิธีการทางด้านของการดำเนินคดีนั้น ผลทางสังคมวัฒนธรรมก็มีส่วนในการเป็นอุปสรรคขัดขวางเช่นกัน กล่าวคือ การล่วงละเมิดทางเพศทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอายและกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่กล้าแจ้งความกับตำรวจ ดังจะเห็นจากรายงานภาพรวมการคุกคามทางเพศในอังกฤษและเวลส์ (ในหัวข้อ Reporting of the most serious sexual offences among female victims) ที่รายงานว่ามีผู้ถูกกระทำเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีถึง 57 เปอร์เซ็นต์ที่แม้จะบอกคนอื่นแต่ก็ไม่แจ้งกับตำรวจ ซึ่งน่าสนใจว่า ตรงนี้อาจจะเป็นด้านลบประการหนึ่งของการทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด โดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งหากขยายความต่อไปในยุคนี้ที่ผู้ชายก็ถูกข่มขืนได้ ก็เป็นไปได้ที่ผู้ชายที่ถูกผู้ชายด้วยกันล่วงละเมิดทางเพศจะรู้สึกอับอายจนไม่กล้าแจ้งความ โดยเฉพาะในสังคมที่ความเป็นชายทางวัฒนธรรมยังแข็งแกร่งเข้มข้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความที่จะกล้าหรือไม่กล้าบอกใครหรือบอกตำรวจ ยังอาจโยงใยถึงการนำเสนอข่าวการล่วงละเมิดของสื่อ การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ และโดยเฉพาะในยุคที่การบอกต่อข่าวสารในโลกออนไลน์เฟื่องฟูขนาดนี้ ก็ย่อมรวมถึงการบอกต่อของผู้คนในสังคมออนไลน์ด้วย ว่าให้การคุ้มครองปกป้องผู้ถูกกระทำมากแค่ไหน หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือมีจรรยาบรรณกันขนาดไหนต่อเรื่องแบบนี้ (กรณีเด็กหญิงสิบสามปีนี่เพียงไม่ถึงสองวันก็ได้เห็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของเหยื่อกันแล้ว)

เมื่อพูดถึงปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม จำเลยอีกหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาก็คือละคร ด้วยเหตุที่มักนำเสนอภาพของการข่มขืนว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง เป็นเรื่องที่ชอบธรรม ไม่ว่าจะในกรณีของพระเอกข่มขืนนางเอก หรือตัวอิจฉาที่ถูกข่มขืนให้คนดูสะใจที่ได้เห็นบทลงโทษต่อความเลว และด้วยการนำเสนอภาพเหล่านั้น ละครไทยจึงเป็นอีกจำเลยที่ทำให้ถูกสงสัยว่ามีส่วนในการเพิ่มอัตราการข่มขืนขึ้นในสังคม

แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ น่าเสียดายที่ไม่อาจหาข้อมูลทางสถิติหรือการวิจัยมาสนับสนุนหรือคัดค้านข้อสันนิษฐานตรงนี้ได้ แต่หากให้ตอบโต้ด้วยข้อสันนิษฐานเช่นกันก็ต้องบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่ภาพการล่วงละเมิดทางเพศในละครจะส่งเสริมให้เกิดการข่มขืน ทว่า แม้ละครอาจทำให้การข่มขืนดูเป็นเรื่องที่เบาบางหรือไม่เสียหาย แต่ก็อาจไปส่งเสริมการล่วงละเมิดเพียงในบางมิติเท่านั้น ไม่ได้ถึงขั้นทำให้กลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรมจนใครๆ ก็คิดว่าทำได้ ซึ่งส่วนที่น่าจะเข้าข่ายนั้นน่าจะเป็นรูปแบบของการข่มขืนเพื่อแสดงอำนาจ หรือ Power Rape ที่กระทำการข่มขืนเพื่อแสดงว่าตนมีอำนาจที่เหนือกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการข่มขืนชนิดนี้นั้น ผู้ข่มขืนจะมีความเพ้อฝันว่าแม้เหยื่อจะขัดขืนในทีแรก แต่จะยินยอมจนอาจจะถึงขั้นรู้สึกพึงพอใจในภายหลัง ซึ่งลักษณะอย่างนี้ดูจะตรงกับการนำเสนอภาพการข่มขืนที่พระเอกกระทำต่อนางเอกในละครมากกว่า และถ้าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีกสักอย่าง ก็คงสถิติที่บ่งชี้ว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้กระทำนั้นไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ไหนหากแต่คือคนที่รู้จักหรือกระทั่งไว้วางใจใกล้ชิดกัน ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าอาจจะเป็นกรณีของการลงโทษตัวอิจฉาด้วยการข่มขืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความรุนแรงทางวัฒนธรรมว่าเราจะลงโทษคนไม่ดีด้วยวิธีการใดก็ได้ แม้มันจะเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายก็ตาม

ดังนั้น ด้วยกรณีของการข่มขืนเพื่อแสดงอำนาจ หากไม่มีฉากการข่มขืนในละคร ก็อาจไม่ได้แปลว่าจะทำให้การข่มขืนหายไปหรือกระทั่งทำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน มีกรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉากการปลุกปล้ำข่มขืนในละครญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องที่ดูเบาบาง ไม่เสียหาย หรือกระทั่งชอบธรรมในบางบริบท ยังกลับขับเน้นถึงความเลวร้ายของมัน ทั้งยังให้รายละเอียดต่อการล่มสลายของชีวิตผู้ถูกกระทำ ซึ่งน่าสนใจว่า บางที การทำอะไรแบบนี้ อาจจะส่งผลในการระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการข่มขืนได้มากกว่า

ตรงนี้อาจขยายความต่อไปได้อีกนิดว่า นี่อาจเป็นปัญหาเรื่องความหลากหลายในประเภทของละครไทยเอง ที่แทนที่คำว่า “น้ำเน่า” จะเป็นเพียงประเภทหนึ่งของละคร แต่กลับเป็นคำกำหนดคุณค่า โทรทัศน์ไทยไม่มีความหลากหลายในประเภทของสื่อบันเทิงที่ใช้คนแสดงตามเรื่องราวอย่างที่ได้รับชมกันจากเมืองนอกที่มีซีรีส์หลากหลายประเภทให้ผู้ชมได้เลือกชม สอบสวน แอ็กชัน ดราม่า ตลกโปกฮา ในขณะที่ในฝั่งของไทย ดูจะมีแค่ละครน้ำเน่ากับซิทคอม

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ หากถามว่าแล้วเราควรจะแก้ปัญหาเรื่องการข่มขืนกันอย่างไร คำตอบก็คือต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป ไม่ใช่ทำเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ดังนี้

1. ปลายทาง หรือก็คือในส่วนของการจับกุม-ดำเนินคดี-ตัดสินโทษ ต้องมีความเด็ดขาด ทำให้เห็นว่าหากกระทำผิดด้วยการข่มขืนแล้วจะต้องถูกจับกุมและได้รับโทษเป็นการคุมขังอย่างแน่นอน และอาจทำให้เป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความกันได้ในทุกกรณี (ซึ่งส่วนนี้อาจยังต้องถกเถียงกันในเรื่องความแม่นยำของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะจับถูกคนในทุกกรณีหรือไม่) ทว่า ก็จะมีความกังวลต่อไปว่าการคุมขังจะยาวนานเพียงพอต่อการสำนึกผิดและไม่กับออกมากระทำผิดซ้ำหรือไม่ ในส่วนนี้อาจจะต้องไปปรับแก้กันที่กระบวนการลดหย่อนผ่อนโทษหลังจากถูกคุมขังแล้ว การข่มขืนในบางลักษณะอาจถูกจัดให้เป็นคดีที่ห้ามลดหย่อนผ่อนโทษ ต้องรับโทษทัณฑ์ยาวนานเท่าที่ศาลได้กำหนดไว้เมื่อคดีสิ้นสุดเป็นเด็ดขาด

อนึ่ง สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปคือกระบวนการทำความเข้าใจและฟื้นฟูจิตใจของผู้กระทำผิด ตรงนี้อาจไม่ใช่หน้าที่ของคุกที่ดูเหมือนจะยังคาดหวังให้คนสำนึกผิดจากการลิดรอนอิสรภาพและให้เผชิญความยากลำบาก หากแต่คือนักจิตวิทยาที่ควรต้องทำงานแบบตัวต่อตัวกับผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อฟื้นฟูจิตใจและนำไปหาทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นจากคนอื่นๆ ในสังคม

2. ระหว่างทาง นี่จะเป็นส่วนของทางสังคมและวัฒนธรรม การส่งเสริมให้สังคมมองเห็นถึงความโหดร้ายของการข่มขืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ในมุมมองของการประณามผู้กระทำกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นหมายหัวว่าจะไม่ให้กลับมามีที่ยืนในสังคม และไม่ใช่ในเชิงของการบรรยายขั้นตอนการกระทำการข่มขืนให้เห็นถึงความโหดร้ายรุนแรงที่เหยื่อได้รับ การกระตุ้นอารมณ์สังคมอย่างไม่ระมัดระวังจนทำให้ความเห็นใจเหยื่อเติบโตเป็นความโกรธแค้นรุนแรงจนหันไปใช้ความรุนแรงในทุกมิติกับผู้กระทำผิดไม่ใช่ทางออกที่ดี ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอยู่เช่นเดิม และจะทำให้เกิดภาพตลกๆ อย่างการเรียกร้องด้วยท่าทีอย่างคนโกรธเกรี้ยวจนควบคุมตัวเองไม่ได้ให้ไปจัดการกับคนที่กระทำผิดเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้

วิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็ดังเช่นที่ได้ยกตัวอย่างไปในกรณีของละครญี่ปุ่น นอกจากนั้น การอบรมทางสังคมอย่างเข้มข้นถึงวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อ “เป้าหมายตามรสนิยมทางเพศ” ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ส่วนนี้อาจจะรวมถึงการพยายามฉุดกันไม่ให้เกิดความคิดเข้าข้างตัวเองว่าการกระทำเช่นนั้นเช่นนี้ของเป้าหมายตามรสนิยมทางเพศคือการให้ท่า เชื้อชวน หรือกระทั่งการเข้าใจผิดว่าที่ขัดขืนนั้นก็เพียงแต่พอเป็นพิธี และในขณะเดียวกัน การระมัดระวังตัวของทุกคนก็เป็นสิ่งจำเป็น อย่าพาตัวเองให้ต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ต้องระมัดระวังแม้แต่กระทั่งกับคนใกล้ชิด กรณีที่มักยกขึ้นมาพูดกันไม่รู้จบคือการแต่งตัวของผู้หญิง แม้ความจริงคือเมื่อผู้กระทำตัดสินใจแล้วต่อให้แต่งตัวมิดชิดก็ใช่ว่าจะรอด และการจะแต่งตัวอย่างไรนั้นก็เป็นสิทธิเหนือร่างกายของผู้แต่ง ทว่า ในเมื่อสังคมไม่ได้เคารพสิทธิผู้อื่นกันโดยสมบูรณ์ขนาดนั้น ความระมัดระวังก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ซึ่งนี่ไม่ได้หมายควมว่าห้ามแต่งกายอวดสัดส่วนรูปทรง แต่คือหากแต่งแล้ว ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตัวเองต้องเข้าไปอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และย้ำอีกที แม้กระทั่งต่อคนที่ใกล้ชิดไว้ใจ (ที่ไม่ได้ปรารถนาว่าจะมีอะไรด้วยในตอนนั้น)

3. ต้นทาง ส่วนนี้นั้นจะมีความสัมพันธ์อยู่กับการแก้ปัญหาที่ปลายทางด้วย กล่าวคือ ควรมีการทำความเข้าใจระบบความคิดจิตใจของผู้ที่กระทำการข่มขืนผู้อื่นอย่างเป็นระบบ ทำกันอย่างเชิงลึก ศึกษาถึงความเป็นมาของผู้กระทำผิด เพื่อหาทางเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ผลักดันให้คนคนหนึ่งสามารถเติบโตมาถึงจุดที่ทำให้คิดและกระทำต่อผู้อื่นในลักษณะเช่นนั้น ซึ่งถ้าทำได้ ส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวในการทำให้สังคมไม่อาจผลิตคนที่มีศักยภาพจะเติบโตไปเป็นผู้ข่มขืนหรืออย่างน้อยๆ คือล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่นขึ้นมาอีก

สุดท้ายนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะย้ำเตือนก็คือ หากสังคมยังไม่ตื่นตัว-พยายามทำความเข้าใจ-แก้ไขซึ่งปัญหานี้อย่างจริงจัง ยังโกรธเกรี้ยวแค่เพียงในทุกครั้งที่มีคดี “สะเทือนขวัญ” เมื่อโกรธตัวสั่นกันจนพอใจแล้วก็เงียบหายไป เราก็อาจจะได้โกรธเกรี้ยวกันอย่างนี้ไปอย่างน้อยๆ ปีละหนึ่งครั้งไปเรื่อยๆ

และเผื่อไม่มีใครรู้ ในขณะที่คดีของเด็กหญิงสิบสามปีเริ่มจากไปในหน้าสื่อ เมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม 2557) มีข่าวสาวประเภทสองที่เมาสุราแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศจนพยายามข่มขืนหญิงชราที่เป็นอัมพาต โดยข่าวระบุว่ากระทำไม่สำเร็จเพราะ “เกิดเหตุ” ให้ผู้กระทำหมดอารมณ์ไปเสียก่อน แต่ข่าวนี้ก็ไม่ได้มีพื้นที่ในโลกออนไลน์มากมายเท่ากรณีที่มีเรื่องมีราวชวนตื่นเต้นระทุกขวัญให้ผู้คนติดตามอย่างกรณีเด็กหญิงสิบสามปีแต่อย่างไร

บางที ก่อนจะเรียกร้องให้มีโทษเท่ากันในการข่มขืนทุกกรณี สังคมเองก็อาจต้องให้ความสำคัญกับการข่มขืนในทุกกรณีก่อนด้วย