ThaiPublica > เกาะกระแส > “แม่วงก์-คลองลาน” ผืนป่าแห่งความหวัง ฟื้นฟูเสือโคร่ง

“แม่วงก์-คลองลาน” ผืนป่าแห่งความหวัง ฟื้นฟูเสือโคร่ง

29 กรกฎาคม 2014


งานเสวนาเรื่อง “เสือโคร่งและแม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ , นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ, ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ และดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ณ เซนทรัลพระราม 9
งานเสวนาเรื่อง “เสือโคร่งและแม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา(จากซ้ายไปขวา)คือ ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ , นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ, ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ และดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ณ เซนทรัลพระราม 9

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ WWF-ประเทศไทย จัดงาน “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” และเปิดตัวหนังสือภาพ “แม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” ซึ่งรวบรวมเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ป่า รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทุ่มเทเพื่อปกป้องคุ้มครองผืนป่าตะวันตกของไทยเอาไว้ ซึ่งจัดทำโดย WWF-ประเทศไทย โดยรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายหนังสือจะมอบให้กองทุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการภาพถ่าย “แม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” ซึ่งจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 โดย “โดม ประทุมทอง” การแสดงดนตรีสดวง “The Big Cat” ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อการอนุรักษ์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานซึ่งก่อตั้งมา 3 ปี แล้ว และการเสวนาเรื่อง “เสือโคร่งและแม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้, ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ นักวิจัยจาก WWF-ประเทศไทย และนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ ศิลปินนักอนุรักษ์ โดยมีนายกิตติ สิงหาปัด เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่ารวม 132 ล้านไร่ แต่ที่เป็นผืนป่าใหญ่เหลือที่เดียวคือผืนป่าตะวันตกขนาด 11.7 ล้านไร่ ซึ่งผืนป่านี้มีความสำคัญและความโดดเด่นเฉพาะตัวคือ มีน้ำตกขนาดใหญ่ มีป่าไม้สมบูรณ์และเป็นที่ราบขนาดกว้าง มีช่วงใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยงาม และที่สำคัญที่สุดคือเป็นแหล่งที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์อย่างมากของป่า เพราะว่าเสือโคร่งอยู่ลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ผืนป่าตะวันตกมีจุดสำคัญที่เป็นไข่แดงคือห้วยขาแข้ง และผืนป่าอื่นรอบๆ เป็นเสมือนไข่ดาว และบริเวณขอบๆ จะมีผู้คนอาศัยอยู่ ซึ่งหน้าที่ของกรมป่าไม้นอกเหนือจากการลาดตระเวนพิทักษ์ผืนป่าอย่างยากลำบากแล้ว ได้เข้าไปดูแลพื้นที่ป่ากันชน ป่าชุมชน และคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่กับป่า เพราะเมื่อคนมีชีวิตที่ดีก็จะไม่บุกรุกป่า ป่าไม้ก็จะสมบูรณ์ดี เมื่อป่าไม้สมบูรณ์สัตว์ป่าก็จะอาศัยอยู่ได้และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

ด้าน ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผืนป่าตะวันตกเป็นป่าแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ โดยมีห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นหัวใจของผืนป่าแห่งนี้ และหากเปรียบเทียบเฉพาะในป่าแม่วงก์บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ สภาพป่าเมื่อปี 2536 กับปัจจุบัน พบว่า จากอดีตที่ป่าไม้เสื่อมโทรม และเป็นลานโล่งเพราะถูกตัดทำลาย อีกทั้งไม่มีร่องรอยของสัตว์ป่า แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นป่าไม้สมบูรณ์ มีไม้สักขนาดสูงใหญ่มากมาย และพบรอยเท้าสัตว์จำนวนมาก ทั้งกวาง เก้ง กระทิง เสือ ฯลฯ

“ในปี 2553 ประเทศไทยเคยให้ปฏิญญาไว้ว่า “จะไม่มีโครงการพัฒนาในพื้นที่ที่มีเสือโคร่ง” อีกทั้งมีแผนในระดับชาติระหว่างปี 2553-2565 ว่า จะทำให้มีเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอีก 20 ตัว” ดร.อนรรฆกล่าว

ตัวอย่างภาพในหนังสือ “แม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง”
ตัวอย่างภาพในหนังสือ “แม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง”

เช่นเดียวกับที่ ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ นักวิจัยจาก WWF-ประเทศไทย กล่าวถึงประสบการณ์การทำงานวิจัยเสือโคร่งว่า เมื่อ 20 ที่แล้วเคยเดินไปสำรวจผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน เดินอยู่ 5 วันไม่พบร่องรอยสัตว์ใดๆ เลยนอกจากเม่น และป่าไม้เสียหายมาก แต่ปัจจุบันพบเสือโคร่งโตเต็มวัยถึง 15 ตัว ลูกอีก 3 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่พบเสือโคร่งโตเต็มวัย 12 ตัวและลูก 2 ตัว ซึ่งการที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ได้นั่นแปลว่าแหล่งอาหารของมันกลับมาแล้ว เช่น กระทิง เก้ง กวาง ฯลฯ

“แนวโน้มการฟื้นฟูเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มาก ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเท่านั้น และงานที่ทำตลอดมาคือเฝ้าติดตามจำนวนประชากรเสือโคร่งทุกๆ 2 ปีโดยการติดตั้งกล้องเอาไว้ ร่วมมือกับชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ และทำวิจัยเพื่อการฟื้นฟูเสือโคร่ง ซึ่งจากงานวิจัยจากต่างประเทศ เช่น รัสเซีย พบว่า ถ้าหากไม่มีการคุกคามจากมนุษย์จะสามารถฟื้นฟูเสือโคร่งให้เพิ่มจำนวนได้ร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจะฟื้นฟูจำนวนเสือโคร่งได้เร็วกว่านี้ เนื่องจากเสือโคร่งของป่าแม่วงก์ส่วนหนึ่งย้ายออกมาจากห้วยขาแข้งเพื่อสร้างอาณาเขตของตนเอง และขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ในป่าแม่วงก์” ดร.โรเบิร์ตกล่าว

ด้านนายวัชรบูล ลี้สุวรรณ ศิลปินนักอนุรักษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์เดินป่าที่ผ่านมาหลายแห่งไม่มีป่าแห่งไหนสมบูรณ์เท่าผืนป่าตะวันตกแห่งนี้ อีกทั้งปัจจุบันจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลกอยู่ในขั้นวิกฤติ ถือเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการล่าของมนุษย์ และพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงเรื่อยๆ จนทำให้เสือโคร่งมีพื้นที่หากินน้อยลงกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังถ่ายรูปได้ยากด้วย เพราะเสือโคร่งจะหนีทันทีที่ได้กลิ่นมนุษย์ เนื่องจากมันเรียนรู้มาตลอดหลายชั่วอายุว่ากลิ่นนี้จะมาทำร้ายมัน นั่นแสดงให้เห็นว่าเสือโคร่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายๆ คนคิดตามที่ได้รู้ว่าจากหนังสือหรือละคร

“หากเราทุกคนคิดว่าผืนป่าตะวันตกนี้เป็นทรัพย์สมบัติของเราที่ต้องปกป้องไม่ให้ใครมาฉกฉวยไปได้ เราก็จะช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่านี้ไว้ แล้วเราก็จะได้อนุรักษ์เสือโคร่งไปด้วย” นายวัชรบูลกล่าว

ทั้งนี้หนังสือภาพ “แม่วงก์-คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง” ราคา 1,500 บาท มีจัดจำหน่ายที่ ร้านนายอินทร์ ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ และร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ โดยรายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้กองทุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน โดยติดตามข่าวเกี่ยวกับโครงการของ WWF-ประเทศไทยได้ที่ facebook.com/WWF-Thailand