ThaiPublica > คอลัมน์ > แกรี เบกเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์สังคมวิทยา

แกรี เบกเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์สังคมวิทยา

23 กรกฎาคม 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 แกรี เบกเกอร์ (Gary Becker) ที่มาภาพ : http://d3qi0qp55mx5f5.cloudfront.net/www/i/features/accolades/becker.jpg
แกรี เบกเกอร์ (Gary Becker) ที่มาภาพ : http://d3qi0qp55mx5f5.cloudfront.net/www/i/features/accolades/becker.jpg

เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ แกรี เบกเกอร์ (Gary Becker) ผู้ริเริ่มการศึกษาปัญหาสังคมจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์ และได้ทิ้งมรดกทางวิชาการไว้อย่างน่าสนใจ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้รับรางวัลโนเบลในปี 1992 จากไปในวัย 83 ปี

แกรี เบกเกอร์ เกิดใน ค.ศ. 1930 เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในปี 1951 และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อมีอายุเพียง 25 ปี เขาสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียอยู่ 11 ปี ก่อนย้ายมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในปี 1968 และประจำอยู่ตลอดมาจนเสียชีวิต

อาจารย์ที่เบกเกอร์ชื่นชมและมีอิทธิพลต่อความคิดของเขามากคือ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1972 ผู้เป็นปรมาจารย์หัวโจกของแนวคิดตลาดเสรีนิยมของแวดวงเศรษฐศาสตร์โลกซึ่งรวมตัวกันอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก

คำอธิบายเหตุผลของการได้รับรางวัลของคณะกรรมการรางวัลโนเบลก็คือ เบกเกอร์เป็นผู้ริเริ่มใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งวิธีคิดนี้มิได้คับแคบอยู่แต่ในเรื่องที่ว่าปัจเจกชนแสวงหาเพียงแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากเขาได้นำเอาสิ่งที่ไม่ใช่เงินทองและการกระทำดีเพื่อคนอื่นโดยมิได้นึกถึงตนเองเข้ามาไว้ในการวิเคราะห์ด้วย

“เบกเกอร์เชื่อว่ามนุษย์ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์ตัดสินใจโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที พฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปตามแรงจูงใจ โดยแต่ละคนพยายามแสวงหาสิ่งที่ตนเข้าใจว่าเป็น “สวัสดิการ” (welfare) ให้มากที่สุด ซึ่ง “สวัสดิการ” ในที่นี้มิได้หมายถึงรายได้เท่านั้น หากหมายถึงความพอใจจากการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่น หรือความตื่นเต้นจากอะไรที่แหกคอกออกไปก็ตามที”

เบกเกอร์ใช้แนวคิดเช่นนี้วิเคราะห์ปัญหาของสังคมไม่ว่าเรื่องการลงทุนในมนุษย์ ครอบครัว การแต่งงาน การหย่าร้าง อาชญากรรม การเหยียดผิว ฯลฯ ในแง่มุมที่นักสังคมวิทยาไม่เคยพิจารณามาก่อน

ตัวอย่างแรกคือการประกอบอาชญากรรม เบกเกอร์อธิบายว่าอาชญากรเกือบทั้งหมดมิใช่คนที่ผิดปกติดังที่แวดวงวิชาการเชื่อกัน หากเป็นคนมีเหตุมีผลในการลงมือประกอบอาชญากรรม เมื่อใดที่ผลประโยชน์หรือ “สวัสดิการ” (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน อาจเป็นความพอใจแบบบ้าๆ ก็ได้) ที่คาดว่าจะได้รับสูงกว่าผลเสียที่คาดว่าจะเกิดจากอาชญากรรมแล้ว อาชญากรจะลงมือเสมอ

ในฝั่ง “สวัสดิการ” ที่คาดว่าจะได้รับจะประกอบด้วย 2 ตัวแปร คือ ความเป็นไปได้ในการได้รับ “สวัสดิการ” กับขนาดของ “สวัสดิการ” กล่าวคือ ถ้าอาชญากรรมนั้นง่ายก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับ ในฝั่งผลเสียก็ประกอบด้วย 2 ตัวแปร คือ ความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษกับบทลงโทษ เบกเกอร์พิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมไม่ใช่บทลงโทษหากแต่เป็นความเป็นไปได้ในการถูกลงโทษซึ่งขึ้นอยู่กับการถูกจับและกระบวนการลงโทษ

ถ้าประกอบอาชญากรรมแล้วไม่เคยมีใครถูกจับเลย ไม่ว่าบทลงโทษสูงแค่ไหน อาชญากรรมก็จะเกิดขึ้นเสมอ (คอร์รัปชันในราชการไทยก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน) ดังนั้นประสิทธิภาพของการลงโทษซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรม

ในเรื่องครอบครัวเบกเกอร์ก็วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ เขาถือว่าครอบครัวเปรียบเสมือนโรงงานเล็กๆ ซึ่งผลิตสินค้าพื้นฐาน เช่น อาหาร ความสนุกสนาน การอยู่อาศัย ฯลฯ โดยมีเวลาและสินค้าที่ซื้อมาจากตลาดเป็นวัตถุดิบ

ราคาของสินค้าพื้นฐานใดสินค้าหนึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือต้นทุนโดยตรงที่มาจากการซื้อสินค้าจากข้างนอกมาเข้าโรงงาน และส่วนที่สองคือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากเวลาที่ใช้ไปในการผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐาน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เท่ากับค่าจ้างคูณด้วยเวลาที่ใช้ไปในการผลิตแต่ละหน่วยสินค้าที่ออกมาจากโรงงาน

เมื่อค่าจ้างของคนหนึ่งในโรงงานหรือครอบครัวนี้สูงขึ้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแรงจูงใจที่จะทำงานในโรงงานและการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตและบริโภคสินค้าพื้นฐานชนิดที่ต้องใช้เวลาเข้มข้นให้น้อยลง

พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคนหนึ่งในครอบครัวมีฐานะดีขึ้น ก็จะใช้เวลากับครอบครัวน้อยลง เพราะมูลค่าเวลาที่เคยใช้กับครอบครัวนั้นสูงขึ้นกว่าเดิม (ค่าเสียโอกาสสูง) หันไปใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องซักผ้า ล้างชาม ตลอดจนใช้คนมาช่วยงาน (คนสวน คนทำความสะอาดบ้าน) เอาลูกไปฝากศูนย์เลี้ยงเด็ก การใช้บริการโรงเรียน การจ้างช่างประปา ไฟฟ้า แทนงานที่ตนเองเคยใช้เวลาทำมากๆ

แนวคิดเช่นนี้ช่วยอธิบายว่าเหตุใดแม่บ้านจึงมีสัดส่วนในแรงงานของประเทศมากขึ้น เมื่อรายได้ของพ่อบ้านสูงขึ้น การใช้เครื่องทุ่นแรงที่สามารถหาซื้อมาเพื่อทดแทนแรงงานแม่บ้านก็จะเกิดขึ้น อีกทั้งสามารถมีเงินเอาลูกไปฝากศูนย์ดูแลได้ ดังนั้น แรงงานในบ้านของแม่บ้านก็เหลือพอจะออกไปทำงานนอกบ้านได้

เบกเกอร์พบว่าคนรวยจะมีอัตราหย่าร้างน้อยกว่าคนจน จะมีลูกจำนวนน้อยกว่าเพราะต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณ เนื่องจากเข้าใจดีว่าการเลี้ยงลูกให้มีการศึกษาดีคือการลงทุนในระยะยาว และเปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดของการไร้ความทุกข์ใจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากลูกขาดการศึกษาที่ดี เบกเกอร์พบว่าทางโน้มนี้ล้วนเกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น

การมองปัญหาสังคมในแง่มุมที่แปลกออกไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามที่ทำให้เกิดการคิดในแนวที่แปลกออกไปของแวดวงวิชาอื่น ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ เบกเกอร์มีชื่อเสียงอื้อฉาวในยุคทศวรรษ 1960 เพราะเขากล้าที่จะริเริ่มใช้การวิเคราะห์แบบข้ามสาขาวิชา ไม่แยกส่วนดังที่นิยมกันในยุคนั้น

การวิเคราะห์ของ เบกเกอร์ในเรื่องการเหยียดผิวในยุคต้นทศวรรษ 1960 ยิ่งทำให้เขาเป็นเป้าของการโจมตีจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน พวก Civil Right Movement ในสหรัฐอเมริกาชื่นชอบงานวิจัยของเขาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการเหยียดผิวก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งผู้จ้างและผู้ถูกเหยียดผิว (“ทุกครั้งที่ผู้จ้างเหยียดผิวด้วยการปฏิเสธการจ้างคนผิวดำและจ้างคนผิวขาวแทนโดยที่ทั้งสองมีความสามารถเท่ากัน แต่คนผิวดำมีค่าจ้างถูกกว่า ผู้จ้างนั้นกำลังสูญเสีย”)

เบกเกอร์เชื่อว่ามนุษย์ตอบรับต่อแรงจูงใจเสมอโดยมีการคิดสะระตะอย่างมีเหตุมีผล (Theory of Rational Choice) มิได้เป็นมนุษย์ที่กระทำตามพฤติกรรมเป็นนิสัยดังที่เคยเชื่อกันในสังคมวิทยา ความเชื่อใหม่นี้สามารถนำมาวิเคราะห์ปัญหาสังคมและพยากรณ์พฤติกรรมตลอดจนสามารถเสนอแนะนโยบายเพื่อแก้ไขและหาทางออกได้

นักวิชาการที่ประยุกต์เศรษฐศาสตร์เข้ากับศาสตร์อื่นๆ อย่างกว้างขวางในเวลาต่อมานั้นล้วนเป็นหนี้เบกเกอร์ผู้ริเริ่มการแสดงให้เห็นว่าหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้นมิได้มีอยู่แต่เฉพาะในทฤษฎีเท่านั้น หากอยู่ในชีวิตจริงด้วย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 ก.ค.2557