ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกมองไทย หลังรัฐประหาร ลุ้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เข้าสู่เลือกตั้ง จัดระเบียบอำนาจเศรษฐกิจ การค้ากับมหาอำนาจใหม่…อีกครั้ง

โลกมองไทย หลังรัฐประหาร ลุ้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เข้าสู่เลือกตั้ง จัดระเบียบอำนาจเศรษฐกิจ การค้ากับมหาอำนาจใหม่…อีกครั้ง

19 กรกฎาคม 2014


หนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องกอบกู้ฟื้นฟู หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือการบริหารความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทั้งด้านการทูต ความมั่นคง และด้านการค้า-การลงทุน ท่ามกลาง “โผรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” ที่มี 2 ชื่อคู่คี่-แข่งขัน คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย

โดยตอนหนึ่งของรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้กล่าวว่า”บัดนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนไทยและมิตรประเทศทุกประเทศจะช่วยกันมองไปสู่อนาคตและหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามา ในอดีตในการเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย มิตรประเทศเหล่านั้นคงไม่ปฏิเสธว่า ไทยมีสถานะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของมหาอำนาจต่างๆในโลก เป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอีกหลายประเทศในชาติตะวันตก กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติประจำเอเซียแปซิฟิค ที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคขององค์กรระหว่างประเทศ และมี จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นสมาชิก นอกจากนั้นยังเป็นหุ้นส่วนความร่วมมืออีกมากมาย ทั้งในระดับภูมิภาค และนานาชาติ ในหลายมิติ ใน 3 เสาหลัก คือ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ตลอดจนความร่วมมือช่วยเหลือป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ร่วมปฏิบัติการสันติภาพโลกมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับแรก ๆ ของอาเซียน ไทยมีส่วนสร้างให้เกิดฐานการผลิตและการบริการ การลงทุนร่วมหลายต่อหลายแห่ง ไทยมีบทบาทหลักในการก่อตั้งอาเซียน และการประชุมความร่วมมือแห่งเอเชียหรือที่เรียกว่า ACD ซึ่งมีประเทศในเอเชียกว่า 30 ประเทศเป็นสมาชิก และไทยมีบทบาทเป็นสมาชิกที่แข็งขันของ APEC และ ASEM ของเอเชีย ยุโรป และในการประชุมเชิงบวกของ EAS (สุดยอดเอเชียตะวันออก) ที่ทั้งสหรัฐฯและออสเตรเลียเป็นสมาชิก เราได้เข้าสู่การเจรจาตามที่สหรัฐฯ ได้เชื้อเชิญในเวที TPP (หุ้นส่วนความร่วมมือแห่งแปซิฟิค) เป็นสมาชิกแข็งขันของ RCEP (ร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน) และกำลังจะเป็นเวที AEC ในภูมิภาค 10 ชาติอาเซียนในอนาคต

ดังนั้น เราควรต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง ในอนาคต การที่ คสช. เข้ามาจัดระเบียบต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะฉะนั้นไม่น่าทำให้ความจริงแห่งพื้นฐานทางเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลงไป หรือมีผลกระทบต่อโอกาสของประเทศไทยที่มีต่ออาเซียนและประชาคมโลก ในการที่จะก้าวต่อไปเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน เราไม่อยากให้มิตรประเทศจำกัดบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของทหารหรือ คสช. ในเวลานี้ โดยขอให้ไทยยังคงมีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อมิตรประเทศมากกว่าเดิม”

ทั้งนี้ความพยายามในการเคลื่อนประเทศเข้าสู่มหาอำนาจโลก ได้ดำเนินการผ่าน นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และทีมที่ปรึกษาคณะ คสช. อย่างเป็นระบบ ทั้งการไปปรากฏตัวในวงประชุมระดับสูงของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (ECOSOC) ที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ในช่วงต้นเดือนกรฏกาคม และการกำหนดบุคคลระดับสูงในทีมที่ปรึกษา คสช. เดินทางไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมๆ กับการเดินทางไปเจรจาการค้า และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในช่วงถัดไป

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ หลังรัฐประหาร เป็นไปทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ มีทั้งฝ่ายคณะผู้บริหาร คสช. ต้องการไปเจรจากับประเทศต่างๆ และฝ่ายประเทศต่างๆที่ต้องการ “เข้าถึง” คณะนายทหารจากกองทัพ

นางคริสตี เอ. เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เพื่อหารือถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ที่มาภาพ : U.S. Embassy Bangkok's Photos
นางคริสตี เอ. เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เพื่อหารือถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับไทย
ที่มาภาพ : U.S. Embassy Bangkok’s Photos

ความสัมพันธ์ ที่มีทั้งบวกและลบ ที่ปรากฏชัดจากท่าทีของ นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบบุคคลสำคัญในคณะผู้บริหารประเทศ ที่มาจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. เป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 เดือน หลังการรัฐประหาร และทั้ง 3 ครั้งเป็นการเข้าพบบุคคลสำคัญระดับ “หัวหน้าสูงสุด” ของฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเศรษฐกิจ และฝ่ายพลเรือน

ครั้งแรกที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ปรากฏตัวร่วมกับคณะ คสช. คือการเข้าพบ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เมื่อคราวครบรอบ 1 เดือน หลังรัฐประหาร (23 มิ.ย.) จากนั้น เข้าพบ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ (10 ก.ค.) และล่าสุดเข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (17 ก.ค.)

ขณะที่มหาอำนาจอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น มีสภาอุตสาหกรรมและนักธุรกิจรายใหญ่ทางการเงิน การธนาคาร เข้าพบหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว ก่อนที่จะมีการส่งผู้นำในทีมที่ปรึกษา คสช. ไปเยือนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในโลกตะวันออก

องค์กรเหนือรัฐและรัฐบาลต่างประเทศมีปฏิกิริยาเอนเอียงไปในทางลบต่อการทำรัฐประหารของ คสช. ทั้งยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยด้วย การโจมตีจากต่างชาตินั้นมุ่งไปในประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและการลิดรอนสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน อาทิเช่น ความเห็นจากสหภาพยุโรป (EU) สหประชาชาติ (UN) รัฐบาลออสเตรเลีย กัมพูชา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี มาเลเซีย รัสเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ทาง คสช. เองยังมีการติดต่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลต่างชาติด้วย

หลังจากการบริหารของคสช. ไม่นาน กระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยรายชื่อประเทศที่มีการประกาศเตือนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย 62 ประเทศ มี 19 ประเทศประกาศให้ ‘หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทยหากไม่จำเป็น’ ในระดับ ‘สีแดง’ (avoid non-essential travel) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฟินแลนด์ รัสเซีย กรีซ ฮังการี มอลตา อิหร่าน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม โครเอเชีย และไซปรัส

อีก 43 ประเทศนั้น ได้แจ้งเตือน ‘ให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางในประเทศไทยโดยให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม’ ในระดับ ‘สีเหลือง’ (warning/exercise caution/monitor situation/avoid certain sites) ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล ชิลี อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ลิทัวเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก โรมาเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย สโลวัก ลักเซมเบิร์ก ตุรกี อินเดีย คูเวต กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เคนยา ไนจีเรีย อิสราเอล คาซัคสถาน มัลดีฟส์ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเก๊า อินโดนีเซีย บรูไน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ปฏิกิริยาต่างประเทศที่มีต่อไทยในระดับองค์กรเหนือรัฐ

บัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ไทยกลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เช่นเดียวกันกับ เนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวประณามรัฐประหาร และกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดกฎอัยการศึก การระงับรัฐธรรมนูญและมาตรการฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังอยากให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยโดยเร็วด้วย

ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาว่า มีการเฝ้าติดตามการพัฒนาในประเทศไทยด้วยความวิตกอย่างยิ่ง กองทัพต้องยอมรับและเคารพอำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย ทำให้ข้อตกลงทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจต้องชะลอออกไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายรวมถึงการชะลอการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือไทย-ประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (พีซีเอ) และการเดินทางเยือนอียูและไทยอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะต้องระงับไว้ชั่วคราว (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ท่าทีต่างประเทศต่อรัฐประหารไทย

ปฏิกิริยาต่างประเทศที่มีต่อไทยในระดับรัฐบาล

ในด้านปฏิกิริยาระดับรัฐบาลนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย จูลี บิชอป กล่าวถึงสถานการณ์ในไทยว่า ‘กังวลอย่างยิ่ง’ ต่อรัฐประหาร ทั้งยังขอให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียใช้ความระมัดระวังและให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของตนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังลดความสัมพันธ์กับไทย ห้ามผู้นำรัฐประหารเข้าประเทศ และเลื่อนกิจกรรมทางทหารกับกองทัพไทย

ทางการออสเตรเลียได้สั่งเลื่อนกิจกรรม 3 อย่างที่มีแผนดำเนินการร่วมกันกับไทย คือ หนึ่ง การฝึกอบรมปฏิบัติการทางทหารตามหลักสูตรกฎหมายให้กับเจ้าหน้าที่ทหารไทย สอง การฝึกปฏิบัติการลาดตระเวนเพื่อกอบกู้วัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง สาม การฝึกปฏิบัติการลาดตระเวนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย โดยทางการออสเตรเลียยังจะพิจารณากิจการด้านการกลาโหมและกิจกรรมอื่นๆ ที่มีแผนดำเนินการร่วมกันกับไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้นำการรัฐประหารเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย และยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้กองทัพไทยวางแนวทางเพื่อนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงขอให้ยกเลิกการจับกุมผู้คนตามอำเภอใจ ให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง และให้เคารพในสิทธิมนุษยชนและหลักการเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้วย

ขณะที่โฆษกคณะรัฐมนตรี ปาย สิฟาน (Phay Siphan)ของกัมพูชา กล่าวว่า อยากเห็นการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ ที่ยังเคารพเจตจำนงและผลประโยชน์ของชาวไทย รัฐบาลกัมพูชาจะเคารพผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเสมอ

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาหลังจากการประกาศจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติของ คสช. ตามมาตรการความสงบตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 59 เรื่องการรักษาความสงบและการกำกับดูแลการบริหารแรงงานข้ามชาติ ประกาศเมื่อ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา แรงงานกัมพูชาทยอยกลับประเทศ ผ่านด่านพรมแดนคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว รวมแล้วกว่า 84,234 คน โดยมีตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว คอยอำนวยความสะดวกจัดรถรับ-ส่ง

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ กัมพูชา เดลี่ ในประเทศกัมพูชารายงานเมื่อ 18 มิ.ย.ว่า นายซาร์ เค็ง รมว.มหาดไทยกัมพูชา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กองทัพไทยต้องรับผิดชอบต่อกรณีแรงงานชาวกัมพูชาอย่างน้อย 150,000 คนหลั่งไหลออกจากประเทศไทยกลับบ้านเกิด รวมถึงต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่มีชาวกัมพูชาเสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และบาดเจ็บ 19 คน จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะพยายามหลบหนีกลับประเทศ

ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็มีการออกแถลงการณ์สั้นๆ จากกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และหวังให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศไทย นอกจากนี้โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงด้วยความหวังว่าทุกฝ่ายจะอดกลั้น และร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นบวก ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะฉุดให้ไทยและชาติอาเซียนโดยรวมก้าวถอยหลัง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว

ตามด้วยกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย แนะนำให้พลเมืองมาเลเซียหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้และเลื่อนการเยือนประเทศไทยที่ไม่จำเป็น ทั้งแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียในประเทศไทยปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ออกความเห็นว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่กระทบต่อประเทศมาเลเซียในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ

ความเห็นจากอีกซีกโลก ฝรั่งเศสออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการรัฐประหาร ผ่านนาย ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรบะบุว่า ฝรั่งเศสเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย

เช่นเดียวกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งและฟื้นฟูการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ก็เรียกร้องให้หวนคืนสู่กระบวนการการเมืองและการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญด้วย

ขณะที่ วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ แสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการรัฐประหาร อังกฤษขอเร่งให้ประเทศไทยคืนสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตย รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน และเป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

พร้อมแสดงความหวังว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะกำหนดตารางเวลาที่รวดเร็วและชัดเจนสำหรับการเลือกตั้งเพื่อช่วยฟื้นฟูกรอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรมีการหันไปสู่ความรุนแรง การหารืออย่างเปิดกว้างถึงประเด็นทั้งหลายเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปและมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ พร้อมทั้งกล่าวว่ากำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างระมัดระวังที่สุด

มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ปฏิบัติการตอบโต้ทันที ด้วยการ ทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ และการเกี่ยวพันกับประเทศไทย โดยอาจจะรวมถึงการซ้อมรบร่วมที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ ส่งนาวิกโยธินและทหารเรือเข้าร่วมประมาณ 700 นาย และสหรัฐฯ ยัง ระงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและชะลอการเยือนของข้าราชการที่ไม่จำเป็น

ถึงแม้สหรัฐฯ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพไทยมายาวนาน แต่กฎหมายสหรัฐฯ และหลักการความเป็นประชาธิปไตยทำให้ทางการสหรัฐฯ จำเป็นต้องพิจารณาปรับความสัมพันธ์กับกองทัพไทย

ด้านนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ผิดหวังต่อการตัดสินใจของทหารไทยที่ล้มรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมการปกครองภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนาน ไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับรัฐประหารในครั้งนี้ ทั้งยังกังวลถึงการระงับการแสดงออกของสื่อ และได้ร้องขอให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพของสื่อ พร้อมทั้งเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

นานาประเทศเยือนไทยหลังเกิดรัฐประหาร – คสช. รุกชี้แจงโรดแมป ‘ปรองดอง-ปฏิรูป-เลือกตั้ง’

หลังจากการทำรัฐประหาร นอกจากจะมีปฏิกิริยาทางลบจากนานาชาติแล้ว อีกทางหนึ่งก็มีการเดินทางของตัวแทนรัฐบาลต่างๆ เพื่อเข้ามาหารือกับ คสช.

ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นรัฐบาลต่างประเทศชาติแรกที่เดินทางมานับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ซึ่งการเดินทางเยือนครั้งนี้อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมทั้งอาจมีความเข้าใจในสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างดียิ่ง พร้อมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและความร่วมมือที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

ตามด้วยกลุ่มนักธุรกิจจากจีน ที่เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม และนักธุรกิจรายใหญ่ของจีน ได้แก่ นักธุรกิจภาคการเงิน การธนาคาร ธนาคาร ICBC ธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และภาคอุตสาหกรรม ภาค ICT ไฟฟ้า บริษัทผลิตรถยนต์ เกษตรกรรม โรงงานผลิตปุ๋ย และอุปกรณ์พื้นฐานในการเกษตร นอกจากนั้น มีผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ นักลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ

สำหรับการเข้าพบในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือด้านการลงทุน สร้างความมั่นใจในการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งหัวหน้า คสช. ได้อธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการใช้อำนาจบริหารประเทศเพื่อแก้ไขข้อจำกัดทั้งด้านข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ให้ระบบบริหารราชการแผ่นดินสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรค รวมถึงนโยบายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ โดยหัวหน้า คสช. ได้ให้ความมั่นใจว่า จากนี้ไป การค้า การลงทุน จะมีความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริต คอร์รัปชัน โดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

ทั้งนี้ นักธุรกิจจีนที่ต้องการมาลงทุนในประเทศไทย ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งแก่แรงงานไทย โดยเฉพาะการตั้งบริษัทลูกที่บริหารโดยคนไทย จะเป็นการสนับสนุนบริษัทแม่ของจีน และสามารถเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในประเทศโดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ นอกจากนี้ ให้นักธุรกิจจีนที่ต้องการจัดตั้งโรงงานขึ้นใหม่ในไทยนั้น คำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทน รักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพและพัฒนาบุคลากร ขอความร่วมมือกับนักธุรกิจชาวจีนในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ถูกต้องแก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อให้มีความมั่นใจต่อการลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทย

นอกจากนี้ เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศรายงานว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณจีนที่แสดงความเข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทย และชี้แจงพัฒนาการทางการเมืองของไทย การเดินหน้าการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามโรดแมป 3 ขั้นตอน และสร้างความเชื่อมั่นถึงการดำเนินการของ คสช. ในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐมนตรีช่วยฯ ของจีนสนับสนุนแนวทางที่ไทยดำเนินอยู่ และเห็นว่าการเมืองไทยเป็นเรื่องที่คนไทยต้องหาทางแก้ไขกันเองเพื่อนำประเทศกลับสู่เสถียรภาพ ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพของไทยมีความสำคัญต่ออาเซียนและภูมิภาคโดยรวม

จีนแสดงความพร้อมที่จะหารือและลงนามในสนธิสัญญาเพื่อความเป็นมิตรภาพและเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และผลักดันให้เริ่มการเจรจายกระดับความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาเซียนจีน เพื่อพัฒนาไปสู่ระดับใหม่ ส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank- AIIB) เพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนให้กับประเทศในเอเชียเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค จีนประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เสริมสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระดับบุคคล

ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความสัมพันธ์และการเป็นหุ้นส่วนไทย – จีน ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อสองประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อภูมิภาคโดยรวม เนื่องในโอกาสครอบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 40 ปี ในปี 2558 ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสองประเทศ เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ ผู้นำ และการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ทางรัฐบาลจีนได้เชิญ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เยือนจีน โดยจะมีการหารือเรื่องกำหนดการในโอกาสต่อไป

คสช. พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตและกงสุลจำนวน 23 ประเทศ

เมื่อ 11 มิ.ย. 2557 คสช. ได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตและกงสุลจำนวน 23 ท่าน จาก 28 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นจากกลุ่มประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับประเทศไทย คสช. ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากขึ้น ทั้งนี้ประเทศต่างๆ เห็นพ้องว่าไทยเป็นมิตรประเทศที่สำคัญ มีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และมีความร่วมมือครอบคลุมทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การลงทุน

คสช. ได้ย้ำเกี่ยวกับความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า (2015) โดยจะได้มีการตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

และเมื่อ 9 มิ.ย. 2557 คสช. แถลงว่า นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม East Asia Summit ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ โดยได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา พร้อมย้ำกับประเทศต่างๆ ถึงความจำเป็นของไทย และขอให้สนับสนุนประเทศไทย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐ ได้ยืนยันความสำคัญของไทยในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ และหวังให้ไทยกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยืนยันไทยเป็นมิตรประเทศที่สำคัญ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นภายหลังที่ไทยได้มีการประกาศโรดแมป นอกจากนี้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับหัวหน้าคณะผู้แทนของอินเดีย ซึ่งได้แสดงความเข้าใจในสถานการณ์การเมืองของไทย และเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนไทยต้องหาทางออกด้วยตนเอง และความสัมพันธ์ไทย-อินเดียยังคงดำเนินไปตามปกติ โดยยังได้เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปเยือนอินเดียด้วย

ต่อมา 19 มิ.ย. 2557 ผู้แทนหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย จาก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมัน และออสเตรเลีย เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ มีเนื้อหาสำคัญว่าไทยได้เร่งสร้างความพร้อมประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 การขับเคลื่อนและการสนับสนุนการลงทุนที่มีการหยุดชะงักไป รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และมีการอนุมัติโครงการไปแล้วกว่า 18 โครงการเป็นเงินกว่าแสนล้านบาท การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ทั้งที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย และได้รับการผ่อนผัน เพื่อความสร้างความมั่นคง ปลอดภัย แก่ประชาชน การแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุน การเร่งเจรจาความตกลงการค้าต่างๆที่คั่งค้าง เช่น FTA RCEP การเร่งขยายความร่วมมือในกรอบต่างๆ เช่น อาเซียน EU ให้ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ร่วมกัน

ทูตคริสตี้-หอการค้าอเมริกา กุศโลบาย 2 ทาง

เมื่อ 23 มิ.ย.2557 นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย พล.อ. ธนะศักดิ์ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ของไทยและแผนโรดแมปของ คสช. ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แสดงความเข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทย และยินดีที่ไทยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

สำหรับการประกาศผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 นั้น พล.อ. ธนะศักดิ์กล่าวแสดงความผิดหวังและไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ ลดอันดับไทยไปอยู่ในกลุ่ม Tier 3 พร้อมกับได้ยืนยันว่าไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ยืนยันที่จะร่วมมือและสนับสนุนไทยในการดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการหารือด้านความร่วมมือทางทหาร โดยทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่จะยังให้มีการฝึกร่วม/ผสมที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคต่อไป

ในวันเดียวกัน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. ได้พบกับนายดาร์เรน บัคลีย์ ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (Mr. Darren N Buckley President, the American Chamber of Commerce Thailand) พร้อมด้วย นายปวิน รอดลอยทุกข์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารซิตี้แบงก์ เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์และการพัฒนาด้านการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ประธานหอการค้าอเมริกันได้เสนอที่จะให้การสนับสนุนประเทศไทยและคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเรื่องที่เกี่ยวกับด้านการค้าและเศรษฐกิจ อีกทั้งจะเป็นผู้ประสานงานกับบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทย-อเมริกัน ในการสนับสนุนประเทศไทยและการทำความเข้าใจกับบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยในการที่จะเข้าเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และยินดีที่จะสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้แก่ฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอย่างเต็มที่

ประธานหอการค้าเกาหลีใต้-ไทย เข้าหารือความร่วมมือธุรกิจ

เมื่อ 26 มิ.ย. 2557 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ให้การต้อนรับ นายจอน แจ-มัน (H.E. Mr.Joen Jae-man) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย และคณะเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่มีความสำคัญมาก จากสถานการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมาทำให้เกิดผลกระทบกับการติดต่อทางด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศทั้งในด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว

ในการสนทนาหารือกันครั้งนี้ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ได้นำข้อเสนอในการที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนชาวเกาหลีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งการชักชวนให้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้กลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากเหมือนเดิมหลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ลดลงไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง และได้ยืนยันว่าสาธารณรัฐเกาหลีใต้จะเป็นมิตรที่ดีกับประเทศไทยตลอดไป

หลังจากนั้น 2 ก.ค. 2557 ประธานหอการค้าเกาหลี-ไทย นำคณะผู้แทนภาคธุรกิจเกาหลี เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือไทย-เกาหลี ในการทำธุรกิจ การค้า และการลงทุน โดยหวังว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนผลักดันให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยไทยและเกาหลีต่างสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นมิตรที่ใกล้ชิดในด้านความมั่นคงด้วย

หัวหน้า คสช. ยืนยันว่า ไทยมุ่งมั่นพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือ และพร้อมที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับเกาหลีต่อไป รวมถึงการผลักดันความร่วมมือที่ยังคั่งค้าง เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic Partnership Agreement-CEPA) ระหว่างไทยกับเกาหลีให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไปโดยขณะนี้ คสช. กำลังดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน สำหรับโครงการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขณะนี้ คสช. กำลังทบทวนและปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้เกาหลีได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไปด้วย

ผู้นำทหารสูงสุดเมียนมาร์ เข้าพบผู้นำสูงสุด คสช.

พล.อ. อาวุโส มีน ออง ไลง์ (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาร์ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองบัญชาการกองทัพไทย ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2557

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาร์ที่มีความร่วมมือกันอย่างดีทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค อาทิ การประชุมคณะผู้นำระดับสูงกองทัพไทย-เมียนมาร์ (HLC) การประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) และการประชุมคณะกรรมการประสานงานชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีการแลกเปลี่ยนฝึกอบรมในด้านต่างๆ อาทิ การเกษตรตามทษฎีใหม่แก่เกษตรกรเมียนมาร์และกำลังพล พร้อมชื่นชมในการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 8 ได้มีการขยายความร่วมมือทางการแพทย์ทหาร ซึ่งกองทัพไทยพร้อมให้การสนับสนุน และยินดีต้อนรับคณะทหารเมียนมาร์ที่จะเข้าร่วมการฝึกร่วมอาเซียนในด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ด้วย

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาร์ได้มีความร่วมมือในทุกระดับ โดยเฉพาะการจัดระเบียบตามแนวบริเวณชายแดนและการป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ การปราบปรามการค้ายาเสพติด การค้าอาวุธสงคราม รวมถึงความร่วมมือตามแนวทางการบริหารจัดการชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผบ.สส. ประเทศเมียนมาร์ ได้กล่าวขอบคุณที่ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนในการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ พร้อมจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือในทุกระดับ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพไทยและเมียนมาร์ ซึ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขและลดลง นอกจากนี้ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทย ในการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก เพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศร่วมกัน

ทั้งหมดนี้ คือความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างคณะผู้บริหารสูงสุด ของคณะรักษาความสงบแห่งขาติ กับผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจ และนานาประเทศ ทั้งในฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายการค้า การลงทุน

คือ ภาระของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ว่าในโผ จะมีเป็นชื่อของ ดร.สมคิด จาตุศริพิทักษ์ หรือ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย