ThaiPublica > คอลัมน์ > วิวาทะพลังงาน: เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น

วิวาทะพลังงาน: เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น

1 กรกฎาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

หนึ่งในข้อกังขาของกลุ่มผู้เรียกร้องให้มีการ “จับตาพลังงาน” และ “ทวงคืนพลังงาน” ก็คือ “ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันหน้าโรงกลั่น” มีการกล่าวถึงกันมาตลอด หลายท่านคิดว่าการที่เราใช้กลไกราคา ที่เรียกว่า “ราคาทดแทนการนำเข้า” (Import Parity) นี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เป็นราคาที่ “มโน” ขึ้นมาเอง ไม่มีพื้นฐาน ไม่ได้ใช้กลไกตลาด และถ้าจะใช้กลไกตลาดก็ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะ ปตท. ครอบงำตลาด มีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันมากเกินไป

แล้วควรจะใช้อะไรกำหนดดีล่ะครับ จะใช้ราคาต้นทุนบวกกำไรตามสมควร (Cost Plus) ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน แถมการใช้วิธีนี้ก็อาจไม่จูงใจให้มีการลงทุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ (ซึ่งถ้าใช้ต้นทุนการสร้างโรงกลั่นใหม่ ราคาปัจจุบันนี้ ต่ำกว่าราคา Cost Plus อยู่แล้วครับ)

หลายท่านไพล่ไปขอให้ตั้งราคาตาม Export Parity เพราะเราเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปวันละ 150,000-200,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกำลังการกลั่นมีมากกว่าความต้องการในประเทศ ซึ่งท่านก็คำนวณให้ดูเลยว่า ถ้าทำอย่างนั้น เราจะลดราคาน้ำมันทุกชนิดได้ตั้ง แต่ 1-2 บาทต่อลิตรเลยทีเดียว ปีนึงเราใช้น้ำมันกันประมาณ 50,000 ล้านลิตร บรรเทาภาระประชาชนไปได้ปีละ 50,000-100,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งข้อเสนอนี้ ฟังดูเผินๆ เหมือนจะสมเหตุสมผล แต่ผมขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงกลั่นที่เรามีอยู่ 6 โรง กำลังการกลั่นประมาณ 1,050,000 บาร์เรลต่อวันนั้น มีกำไรรวมกันทั้งหมดแค่ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าให้ลดราคาอย่างที่เสนอ ก็คงต้องเจ๊งหมด หยุดกลั่น ต้องไปนำเข้าในราคา Singapore Price: Import Parity แถมถ้ากำลังการกลั่นในภูมิภาคหายไปตั้งล้านบาร์เรลต่อวัน ราคา Singapore Price ก็คงพุ่งสูงขึ้นอีกไม่น้อย ลงท้ายเราคงได้ใช้น้ำมันแพงขึ้นลิตรละหลายบาทเลยทีเดียว

แล้วมันควรจะเป็นอย่างไรล่ะครับ อย่างไหนถึงจะถูกต้องเหมาะสม

เรื่องน้ำมันเป็นเรื่องซับซ้อน เรามีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง มีเกณฑ์คุณภาพต่างๆ กัน แถมอุตสาหกรรมก็มีประวัติพัฒนาการมายาวนาน ผมจะพยายามอธิบายเรื่องนี้โดยใช้หลักการกว้างๆ ที่ผมเชื่อว่ามีตรรกะเพียงพอ และง่ายต่อการเข้าใจนะครับ

ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจคำว่า “ราคาสิงคโปร์” หรือ Singapore Price (SP) กันก่อน SP นี้คือราคาน้ำมันที่กำหนดซื้อขายกันที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของตลาดน้ำมันใหญ่ในโลก ซึ่งอีกสองแห่ง คือ London กับ US Gulf ที่ทำให้ราคาน้ำมันมีการซื้อขายกันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง SP นี้ถือเป็นราคาอ้างอิง น้ำมันที่ซื้อขายโดยใช้ SP ไม่จำเป็นจะต้องส่งไปหรือส่งออกจากสิงคโปร์ อาจจะซื้อจากไทยไปลาว ไปเขมร เวียดนาม แต่ถ้าซื้อขายในภูมิภาคนี้ ก็จะใช้ SP นี่แหละเป็นเกณฑ์ โดยถ้าลาวซื้อ ก็จะเป็น SP: Import Parity คือบวกค่าขนส่งค่าประกันจากสิงคโปร์ไปลาว โรงกลั่นไทยที่ขาย ก็จะได้เงินสุทธิเท่ากับราคานั้น ลบด้วยค่าขนส่งค่าประกันจากไทยไปลาว

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ พอจะอธิบายได้คร่าวๆ ดังนี้

– สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเปรียบในการกลั่นน้ำมันมากที่สุดในภูมิภาคนี้ มีท่าเรือน้ำลึก มีสิ่งอำนวยความสะดวกชั้นยอด มีคลังน้ำมันครบ มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (ที่ Jurong Industry Park) กล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก ในภูมิภาคนี้ไม่มีใครสามารถมีต้นทุนการกลั่นน้ำมันเทียบเท่าได้ สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นวันละ 1,300,000 บาร์เรล แต่บริโภคเพียงไม่เกิน 300,000 บาร์เรลต่อวัน ที่เหลือส่งออก

– ถึงกระนั้นก็ตาม ในระยะหลัง อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันของสิงคโปร์ก็ไม่นับว่ามีกำไรดีอะไร ยิ่งประเทศต่างๆ ขยายกำลังการผลิตกันเยอะเพื่อพึ่งตนเอง (เช่น อินเดีย ขยายหลายล้านบาร์เรลต่อวัน) กดดันให้ค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin) อยู่ในระหว่าง 4-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่คุ้มกับการที่จะลงทุนใหม่ ลงทุนเพิ่มด้วยซ้ำ จึงแทบไม่มีการขยายการผลิตเลยในระยะสิบปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย การกำหนดราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นทั้งหกโรง เป็นการใช้ราคา SP: Import Parity (ต่อไปจะขอเรียกว่า SPIP นะครับ) เป็นราคาอ้างอิงหลัก ซึ่งก็คือราคา SP บวกด้วยค่าขนส่ง บวกด้วยค่าประกันภัย บวกด้วยค่าประกันสูญเสีย ซึ่งบางท่านเรียกว่าเป็น “ต้นทุนเทียม” ที่มโนขึ้นมาเอง แต่ผมขอเรียนว่าจริงๆ แล้วเป็น “ต้นทุนจริง” ที่ต้องจ่าย หากต้องมีการนำเข้า หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น “ราคาตลาดของสินค้าทดแทน” ซึ่งเป็นราคาที่มีความหมายมาก

ที่พวกท่านโวยวายว่า การใช้ SPIP มากำหนดราคานั้น ทำให้เราใช้น้ำมันแพง ไม่เป็นธรรม จริงๆ แล้วเป็นการกลับข้างกัน การที่มีน้ำมันจากสิงคโปร์ให้เรานำเข้าในราคา SPIP นี่ต่างหาก ที่กลับทำให้เราได้ใช้น้ำมันต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ถ้าใช้แต่กลไกตลาดในประเทศเป็นหลัก หรือแม้จะใช้ราคา Cost Plus ด้วยซ้ำ

ตรงนี้ซับซ้อนหน่อยนะครับ ผมจะค่อยๆ อธิบายให้ฟัง

1. ถ้าจะสร้างโรงกลั่นน้ำมันในปัจจุบัน (Replacement Cost) จะตกประมาณ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 barrel of CDU หรือต้องใช้เงิน 1,875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงกลั่นขนาด 150,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม (Optimal Size)

2. เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า คือมีอัตราผลตอบแทนต่อทุน (Equity IRR) ที่ 15% ต่อปี จะต้องได้ค่าการกลั่น (GRM) เฉลี่ย 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตลอดอายุ 25 ปี ถ้า GRM 6 ดอลลาร์ จะได้ IRR 12.7% GRM 5 ดอลลาร์ จะมี IRR เหลือเพียง 8.6% ซึ่งไม่คุ้มลงทุนอย่างมาก

3. โรงกลั่น Thai Oil ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ควรจะมี GRM สูงสุดในประเทศไทย ได้ GRM เฉลี่ยแค่ 5.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ขายได้ในราคา SPIP โรงกลั่นอื่นๆ ได้ GRM ต่ำกว่านี้อีก โดยเฉพาะ RPIC แทบจะไม่มีกำไรเลย

4. ถ้าเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ถ้าไม่มีน้ำมันสิงคโปร์ที่สามารถทดแทนการนำเข้าได้ ราคาหน้าโรงกลั่นจะปรับเพิ่มกว่านี้แน่นอนครับ (ใครเรียนเศรษฐศาสตร์ย่อมเข้าใจดี ยิ่งเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ยิ่งต้องเข้าใจใหญ่)

5. ราคา SPIP จึงเป็นราคาเพดานที่ทำให้ราคาน้ำมันในไทยไม่แพงเกินไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นอุตสาหกรรมที่ดีเลย ไม่มีใครอยากขยาย หลายคนที่ทำอยู่ต้องดิ้นรนไปหากำไรจากด้านอื่นๆ

6. คิดง่ายๆ ว่า เรามีกำลังการกลั่น 1,050,000 บาร์เรลต่อวัน เอกชนลงทุนไป (replacement value) 13,125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 420,000 ล้านบาท ให้เขามีกำไรปีละ 30,000 ล้านบาท นับว่าเป็นกำไรที่ต่ำมากๆ แค่ 7.1% ต่อปี จริงๆ แล้วไม่คุ้มเสี่ยงเลย ไหนจะต้องมาเจอกลุ่มคนไม่รู้เรื่องคอยกดดันขู่จะยึดคืนอีก ลองไปดูหุ้น ESSO ในตลาดก็ได้ ว่ากำไรดีไหม (นี่ขนาดเก่งที่สุดในโลกแล้วนะครับ เจอตลาดไทยยังแป๊กเลย)

7. ถ้าบ้าจี้ ทำตามกลุ่มจับตา กลุ่มยึดคืน มันก็เท่ากับยึดแนวทางสังคมนิยม ละทิ้งเสรีนิยม นักลงทุนทั้งหลาย (รวมอุตสาหกรรมอื่น ด้วย) ก็คงต้องโบกมือลา ละทิ้งไทยแลนด์ รัฐก็เลยต้องลงทุนเองหมด ทั้งคมนาคม ทั้งพลังงาน ทั้งสวัสดิการทั้งหลาย กลายเป็นรัฐสังคมนิยม ถอยหลังสวนทางกับเวียดนาม พม่า ลาว เขมร ที่เค้าพยายามเชิญชวนเอกชนทั่วโลกมาลงทุนแทนรัฐ

8. ผมขอยืนยันว่า แนวทางใหญ่ของทั้งสองกลุ่ม (จับตา กับ ทวงคืน) เป็นแนวทาง “สังคมนิยม” ชัดๆ ถึงได้ยึดเอาท่านชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา เป็นแม่แบบ นี่ก็หันไปเชิดชูฮังการี (ที่กำลังจะพังในไม่ช้าเช่นกัน) อีก ที่ได้รับแรงเชียร์มากก็เพราะ บวก “ประชานิยม” สุดขั้วเข้าไป ถ้าขืนทำตามทุกอย่าง เราจะเจอปัญหาอนาคตที่ร้ายแรงกว่า “จำนำข้าว” อีกนะครับ (ส่วนข้อเสนอหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ เช่น การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ราคาแอลพีจี ก็นำมาพิจารณาได้ครับ แต่โดยรวม เป็น “สังคมนิยม”)

9. สรุปได้ว่า SPIP จึงเป็นราคาที่สมควรใช้เป็นเพดานราคาน้ำมันในเมืองไทย เพราะมันคือราคาตลาดของน้ำมันไทย ที่กำหนดโดย อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันในภูมิภาคนี้ ถ้าบังเอิญ GRM ขึ้นสูงเกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ไม่ต้องกลัวครับ จะมีคนขยายกำลังการผลิต คนลงทุนใหม่ จนเราอาจได้ใช้น้ำมันราคาต่ำกว่า SPIP ก็ได้

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมปริมาณน้ำมันสำรอง 6% ที่โรงกลั่นไทยต้องคงไว้ตามกฎ ในขณะที่โรงกลั่นสิงคโปร์และผู้นำเข้าไม่ต้องมี

ถ้าเข้าใจตามนี้ ก็จะเข้าใจกลไกตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่ซื้อขายกันในภูมิภาคได้ครับ และจะเข้าใจด้วยว่า ราคา Export Parity ที่มีการพูดถึงต่างหากล่ะ เป็นราคาที่ “มโน” ขึ้นมา โดยที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีตรรกะใดๆ มารองรับเลย

ความจริงเรื่องการกลั่นนำมันยังมีเรื่องซับซ้อนอื่นๆ อีกเยอะครับ เช่น เรื่องของคุณภาพของแต่ละชนิด เรื่องของความต้องการใช้ที่บิดเบือนเพราะการอุดหนุน ทำให้ต้องมีเหลือส่งออกในน้ำมันบางชนิด ไว้โอกาสหน้าจะขยายให้ฟังนะครับ

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ในเฟซบุ๊กBanyong Pongpanich