ThaiPublica > คอลัมน์ > ล่มจมเพราะพรรคพวกนิยม

ล่มจมเพราะพรรคพวกนิยม

14 กรกฎาคม 2014


หางกระดิกหมา

รับรองว่าในชั่วโมงนี้ นอกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว คนอีกกลุ่มที่กำลังต้องเร่งทำงานแทบจะเอาตีนตะกุยไม่แพ้กัน ก็คือบรรดาพ่อค้านักวิ่งและข้าราชการนักชงทั้งหลาย เพราะนักคอร์รัปชันพวกนี้ย่อมรู้ดีว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐแล้ว จะประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ประเดี๋ยวก็ต้องมีการเอาอำนาจรัฐมาขายแลกสินบนด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น พออะไรต่างๆ ชัดเจน เป็นต้นว่าอำนาจเรื่องใดอยู่ในความควบคุมของใคร มันจึงเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า “ร้านเปิด” ชวนให้พวกนี้รีบกรูเข้ามาช็อปปิง

แน่นอน ท่ามกลางกระแสต้านคอร์รัปชันโหมจัดอย่างนี้ ที่ช็อปปิงไม่สำเร็จก็คงมาก แต่ที่สำเร็จก็คงไม่น้อยเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ตำแหน่งอำนาจรัฐระดับพรีเมียมในวันนี้ก็ยังเหลืออีกเต็มหิ้ง ตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ สมาชิกสภาปฏิรูป เรื่อยไปจนกระทั่งตำแหน่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจและข้าราชการระดับสูงที่กำลังโยกย้ายกันอุตลุด

นี่จึงเป็นจังหวะที่คนไทยต้องจับตาอย่าให้กระพริบทีเดียว เพราะถ้าปล่อยให้การซื้อขายอำนาจรัฐเกิดขึ้นได้ง่าย เมืองไทยก็จะก้าวเข้าสู่ภาวะของ “ระบบทุนนิยมพรรคพวก” หรือ Crony Capitalism เต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง จะไปเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ เพราะที่ประชาธิปไตยเมืองไทยมันถอยเข้าถอยออกกันอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะทุนนิยมพรรคพวกนำไปสู่ม็อบประท้วง และม็อบประท้วงนำไปสู่รัฐประหารนี่แหละ

อย่างไรก็ตาม การให้จับตานี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องไว้ใจไม่ไว้ใจทหารอะไรทั้งนั้น เพราะอันที่จริง แม้แต่ประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้ว ก็ยังนอนใจเรื่องทุนนิยมพรรคพวกอย่างนี้ไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นผลสามัญของการมีรัฐ กล่าวคือ ทันทีที่มีรัฐ และรัฐมีอำนาจ (ไม่ว่าจะอำนาจในทางการออกกฎระเบียบ หรืออำนาจในการใช้จ่ายใดๆ ) เมื่อนั้นก็เท่ากับรัฐอยู่ในฐานะที่จะสร้าง “ผลได้” ให้กับคนบางกลุ่ม และสร้าง “ผลเสีย” ให้กับคนอีกกลุ่มแล้ว ซึ่งเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอต่อการสร้างให้เกิดระบบทุนนิยมพรรคพวกขึ้นมา เพราะมันเกิดแรงจูงใจที่ทำให้บรรดาธุรกิจอยากเป็น “พรรคพวก” กับรัฐบาล จะได้คอยกำกับให้นโยบายของรัฐออกมาเป็นผลได้กับตน หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่เป็นผลเสีย

แต่นั่นเอง ก็คือจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของรัฐ

เคยมีงานวิจัยบอกว่าในประเทศต่างๆ นั้น ตอนเริ่มที่ภาคธุรกิจยังต่อกับภาคการเมืองไม่ติด อะไรต่างๆ ย่อมยังคงดีอยู่ เพราะภาคธุรกิจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต่างคนต่างพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีเพื่อให้ตัวเจริญ ผลิตภาพโดยรวมของประเทศก็เลยพลอยเจริญไปด้วย แต่ต่อมา เมื่อภาคธุรกิจชักรู้จักช่องทางวิ่งเต้นแล้ว ไม่ว่าจะโดยผิดกฎหมาย (การจ่ายใต้โต๊ะ) หรือโดยถูกกฎหมาย (การล็อบบี้) ทีนี้ก็เลยไม่เป็นอันทำมาหากินกัน วันๆ หาเรื่องพบผู้ใหญ่อย่างเดียว รัฐก็เลยพาลจะฉิบหาย เพราะหาคนทำงานจริงๆ ไม่ได้

ตัวอย่างในเรื่องนี้ ก็คือประเทศอินเดียในยุคเจ็ดศูนย์ ซึ่งเขาบอกว่าบรรดาคนหัวกะทิของประเทศนั้น ไม่ได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเลย แต่พากันถูกจ้างให้ไปทำหน้าที่ล็อบบี้รัฐบาลให้เพิ่มมาตรการขัดขวางธุรกิจของบริษัทคู่แข่งกันหมด อันจัดเป็นการใช้ทรัพยากรที่สูญเปล่าอย่างยิ่ง เพราะประเทศย่อมไม่ได้ประโยชน์จากพฤติกรรมอย่างนี้อยู่แล้ว และแม้บริษัทผู้จ้างเองก็จะพลอยไม่พัฒนา เพราะรู้จักแต่ใช้วิชามารขัดขามากกว่า R&D

ยิ่งกว่านั้น ทุนนิยมพรรคพวกนี้ยังมีธรรมชาติที่เป็นวงจรอุบาทว์ กล่าวคือ พอมีพ่อค้ารายหนึ่งเข้าไปใช้อำนาจเงินขับดันรัฐบาลให้ออกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ตน และเอื้อโทษคนอื่นเข้าแล้ว พ่อค้ารายอื่นก็ย่อมนิ่งเป็นพระอิฐพระปูนอยู่ไม่ได้ ต้องรีบหาทางกระเสือกกระสนเข้าไปติดสินบนเล่นพรรคพวกกับรัฐบาลบ้างเหมือนกันเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เช่น พวกหนึ่งมายุให้รัฐบาลออกกฎแกล้ง อีกพวกก็ต้องถูกกดดันให้เข้ามาง้างไม่ให้ออกกฎ แม้ว่าแท้ที่จริงแล้ว พวกหลังนี่อาจจะไม่เคยอยากเล่นพรรคเล่นพวกมาก่อนก็เลยก็ได้ พูดอีกอย่างก็คือ ระบบทุนนิยมแบบเล่นพรรคพวกนี้ นักธุรกิจไม่ค่อยมีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าไปเล่นกับเขาด้วย หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องสูญพันธุ์

นี่นิตยสารอีโคโนมิสต์ก็เพิ่งลงว่าทางการจีนกำลังทำการตรวจสอบวงการวิจัยและพัฒนาของรัฐ เพราะวงการนี้ก็กำลังถูกทำลายโดยระบบทุนนิยมพรรคพวกเหมือนกัน กล่าวคือการได้รับทุนสนับสนุนใหญ่ๆ จากรัฐบาลจีนเดี๋ยวนี้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพงานวิจัยอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยรู้จักเส้นสายภายในแค่ไหน จนว่ากันว่านักวิจัยในจีนเดี๋ยวนี้ หาที่อยู่ในแล็บไม่ได้ เพราะมัวแต่ออกไปสร้าง “เส้นสาย” กับข้าราชการกันหมด งบ R&D ของประเทศที่เพิ่มจาก 10,800 ล้านเหรียญในปี 2000 มาเป็น 168,000 ล้านเหรียญในปี 2012 และปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 1.98 ของ GDP (ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าสหภาพยุโรป) จึงปรากฏว่าสูญเปล่าไปไม่รู้เท่าไหร่ๆ ไม่ค่อยนำไปสู่นวัตกรรม

แล้วความจริงก็ไม่ต้องดูถึงจีนด้วยซ้ำ เพราะแม้กระทั่งหนังสือชีวประวัติ สตีฟ จ็อบส์ ยอดนักประกอบการและผู้ก่อตั้งบริษัทที่มีนวัตกรรมก้าวไกลอย่างแอปเปิ้ลยังมีลงว่า ในระหว่างที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ดำเนินคดีกับไมโครซอฟต์เรื่องการผูกขาดทางการค้านั้น สตีฟ จ็อบส์ ได้เชิญอัยการหัวหน้าคดีมากินกาแฟแล้วบอกว่าทางรัฐบาลไม่ต้องห่วงเรื่องการเอาผิดไมโครซอฟต์ให้มากความไป เพราะขอแค่เพียงรัฐหน่วงคดีไว้ให้เนิ่นช้า ก็เพียงพอกับการที่แอปเปิ้ลจะฉวยโอกาสแย่งตลาด และทำลายการผูกขาดของไมโครซอฟต์
ได้เอง ซึ่งจะมากน้อย นี่ก็นับเป็นการพยายามใช้ความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจตนในทางหนึ่ง

ดังนั้น ขอให้คิดดู ขนาดคนเก่งๆ บริษัทเก่งๆ ในประเทศที่มีระบบกฎหมายแน่นหนารัดกุมที่สุดอย่างอเมริกา หรือแม้แต่ในประเทศที่ผู้ครองประเทศมีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างจีน ระบบทุนนิยมพรรคพวกก็ยังคืบคลานเข้าไปจนได้ แล้วประเทศเราในตอนนี้ ซึ่งกฎหมายก็ไม่ชัด คนเกี่ยวข้องก็เยอะ แถมมีโปรเจกต์มีกฎหมายที่เข้าคิวต้องทำต้องออกบานตะไทไปหมด สถานการณ์มันจะชุลมุนขนาดไหน

เอาใจช่วยคสช.อย่างเดียวไม่พอ ต้องเอาตาช่วยจับผิดกันให้ดีทีเดียว

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม 2557