ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ทุกข์ชาวบ้านผ่านช่องทางการร้องทุกข์ของรัฐบาล “1111” – สัปดาห์เดียว”คสช.” รับไปกว่า 4,500 เรื่อง

ทุกข์ชาวบ้านผ่านช่องทางการร้องทุกข์ของรัฐบาล “1111” – สัปดาห์เดียว”คสช.” รับไปกว่า 4,500 เรื่อง

20 กรกฎาคม 2014


รายงานโดย..ปวีร์ ศิริมัย

ไม่ว่ายุครัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ หรือมาจากการเลือกตั้งของประชาชน รัฐบาลทหาร หรือพลเรือน ทำเนียบรัฐบาล คือศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ความเดือดร้อนให้คนทุกระดับ ทั้งประเทศ ดังนั้นพื้นที่รอบๆทำเนียบรัฐบาล จึงกลายเป็นจุดบริการสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหารายบุคคลจนไปถึงปัญหาระดับจังหวัดหรือระดับชาติ พร้อมกับเปิดช่องทางต่างๆให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์ผ่านศูนย์บริการประชาชนเพื่อนำเรื่องความเดือดร้อนเหล่านี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการวางตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์ ไว้หน้าบ้านพิษณุโลก เพื่อเป็นลายแทง หาเบาะแส ในการลงพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา สร้างคะแนนนิยม นอกเหนือจากข้อมูลข้อศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ศูนย์บริการประชาชนได้เปิดช่องทางการให้บริการไว้ 4 ช่องทาง ประกอบด้วย สายด่วนของรัฐบาล 1111 บริการ 24 ชั่วโมง จุดบริการประชาชน 1111 ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ตู้ ปณ.1111 ปณ.ทำเนียบรัฐบาล กทม. 10302 เว็บไซต์ www.1111.go.th โดยเมื่อมีการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว ศูนย์บริการประชาชน จะจดบันทึกข้อมูลและส่งเรื่องไปยังหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 317 หน่วยงานเพื่อดำเนินการต่อไป(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สัดส่วนเรื่องราวร้องเรียนแต่ละประเภท

สถิติเรื่องที่มีการร้องเรียนมาทางศูนย์บริการประชาชนมีจำนวนดังนี้ ศูนย์บริการประชาชนจะแบ่งประเภทของเรื่องร้องเรียนออกเป็น 6 ประเภทคือ 1. สังคมและสวัสดิการ 2. การร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3. การเมือง-การปกครอง 4. เศรษฐกิจ 5. กฎหมาย 6. ทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากสถิติการดำเนินงานที่ผ่านมาประชาชนมีการร้องเรียนในเรื่องสังคมและสวัสดิการมากที่สุด และรองลงมาเป็นการร้องเรียนหรือกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับสังคมและสวัสดิการประกอบด้วย ปัญหาด้านสาธารณูปโภค สังคมเสื่อมโทรม การไม่เข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษา สวัสดิการสงเคราะห์ ปัญหาแรงงาน อีกทั้งปัญหาสิทธิมนุษย์ชน แสดงให้เห็นว่ายังมีประชาชนอีกมากที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐให้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

จำนวนเรื่องร้องเรียนแต่ละปี

เรื่องร้องเรียนแต่ละสัปดาห์

หากจำแนกผู้ที่มาร้องเรียนตามพื้นที่ที่อยู่อาศัย ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนนั้นเป็นคนต่างจังหวัด เนื่องจากการร้องเรียนกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาคอาจไม่ได้รับการช่วยเหลือ และคิดว่าการมาร้องเรียนกับศูนย์บริการประชาชนที่ขึ้นตรงกับหน่วยงานส่วนกลางคือสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะได้รับความสนใจ รวมทั้งมีโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือมากกว่า

จากรายงานสถิติการร้องทุกข์ของศูนย์บริการประชาชนเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้วนั้นคิดได้เป็นร้อยละ 81 ในปีงบประมาณ 2550 และร้อยละ 91 ในปีงบประมาณ 2551 หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องทุกข์เหล่านี้เพื่อให้ประชาชนที่มีเรื่องต้องการร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส ข้อเสนอแนะ และติชม สามารถแจ้งเข้ามาได้ อีกทั้งได้ใช้ศูนย์บริการประชาชนนี้เป็นศูนย์รับร้องเรียนต่อ คสช. โดยตรงด้วย โดยเปลี่ยนจากการร้องเรียนที่สโมสรกองทับบกให้มาที่จุดบริการประชาชน 1111 ที่ทำเนียบรัฐบาลแทน

แหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ทุกเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาไม่ว่าจะผ่านช่องทางใด ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.จะรับทราบทุกเรื่องเพราะศูนย์บริการประชาชนจะสรุปรายงานการร้องทุกข์ให้ทาง คสช. ทราบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน รวดเร็วกว่ารัฐบาลปกติ ที่จะมีการรายงานกับนายกรัฐมนตรีเป็นรายเดือนและรายไตรมาส

ที่ผ่านมา ผลของการประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องทุกข์เหล่านี้ของ คสช. ทำให้การร้องทุกข์ของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกช่องทาง จำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เห็นได้ชัดที่จุดบริการประชาชน 1111 ณ ทำเนียบรัฐบาล ที่มีประชาชนมาใช้บริการถึงวันละหลายร้อยราย ทำให้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต้องมีการเตรียมเปิดจุดบริการร้องทุกข์เพิ่มที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ค้าขายในพื้นที่ที่มีการจัดระเบียบทางเท้าเข้ามาร้องทุกข์ เนื่องจากการจัดระเบียบทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางสัญจรมาทำให้ไม่มีพื้นที่ค้าขาย ซึ่งปัญหาสิ่งกีดขวางบนทางเท้าในหลายพื้นที่ในกรุงเทพนั้นได้มีการร้องเรียนมาเป็นเวลานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการจัดพื้นที่ส่วนอื่นให้ทำการค้าขายได้แต่อาจไม่เพียงพอหรืออาจไม่สะดวกต่อผู้ประกอบการ การแก้ปัญหาหนึ่งอาจมีผู้ได้รับผลกระทบหลายฝ่ายทำให้ต้องกลับมาร้องทุกข์อีก ทางภาครัฐจึงต้องมีการจัดการปัญหาหรือเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย

จำนวนการร้องทุกของประชาชนที่มีจำนวนมากและยังเพิ่มขึ้นอาจแสดงถึงความไว้วางใจและความหวังที่จะให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆให้กับประชาชน แต่จำนวนการร้องทุกข์จำนวนมากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข