ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ความบกพร่องท่าเรือแหลมฉบังกรณีสารเคมีรั่ว – เสนอทบทวนแผนฉุกเฉินและตอบโต้

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้ความบกพร่องท่าเรือแหลมฉบังกรณีสารเคมีรั่ว – เสนอทบทวนแผนฉุกเฉินและตอบโต้

19 กรกฎาคม 2014


นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยและอดีตเลขาและอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา กล่าวว่า กรณีการเกิดเหตุการณ์สารเคมีบิวทิล อะคริเลต (Butyl Acrylate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผสมสีและเคลือบสีรั่วไหลจาก ISO tank บริเวณท่าเรือ B3 ของท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ทำให้ประชาชนและนักเรียนบริเวณใกล้เคียงต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ด้วยอาการคลื่นใส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ แสบตา แสบจมูก เกือบ 200 คนนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์สาเหตุแล้วน่าจะมาจากความผิดพลาดในหลายประการ ดังนี้

1. ความบกพร่องในการประสานงานและการสื่อสารกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อาศัยโดยรอบ

เมื่อเกิดเหตุการณ์สารเคมีอันตรายร้ายแรงรั่วไหลในบริเวณท่าเทียบเรือตั้งแต่ตอนเช้ามืดของวันที่ 17 เมษายน 2557 การท่าเรือฯ ได้พยายามแก้ไขเพื่อให้หยุดการรั่วไหลแต่ไม่สำเร็จโดยไม่ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต่อเมื่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบได้รับผลกระทบแล้วจึงได้ทำการสื่อสารแจ้งให้ประชาชนทราบถึงประเภทสารเคมีที่รั่วไหล แต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้ว

2. เจ้าหน้าที่รัฐทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนผิดพลาด

ท่าเรือแหลมฉบังและเทศบาลนครแหลมฉบังใช้วิธีสอบถามประชาชนในชุมชนต่างๆ ว่าได้กลิ่นหรือไม่และแจกผ้าปิดปากปิดจมูก ทั้งที่การดำเนินการที่ถูกต้องจะต้องพิจารณาทิศทางและความเร็วลม เนื่องจากสารเคมีที่รั่วไหลมีพิษอย่างเฉียบพลัน การได้รับเข้าไปในร่างกายเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น เมื่อลมพัดผ่านไปทิศทางใดต้องอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้ลมไปยังอื่นที่ห่างไกลเท่านั้น

3. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีที่รั่วไหลอย่างแท้จริงจึงประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนผิดพลาดและไม่มีการสั่งการให้อพยพประชาชน

ทั้งนี้จากข้อมูล Safety Data sheet ของ OSHA (Occupational Safety and Health Administration) ระบุไว้ชัดเจนว่าสารบิวทิล อะคริเลต เป็นของเหลวและไอระเหยไวไฟ ผลกระทบอย่างเฉียบพลัน คือ เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการแพ้ที่ผิวหนัง ทำอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ผลกระทบเรื้อรังในระยะยาวคืออาจทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนัง เกิดอาการคันและเป็นลมพิษได้ มาตรการเมื่อเกิดการหกหรือรั่วไหลต้องอพยพคนออกจากพื้นที่เท่านั้น ในกรณีนี้พื้นที่ได้รับผลกระทบในระยะทาง 3 กิโลเมตร คือ ชุมชนบ้านนาเก่า ชุมชนบ้านแหลมทอง โรงเรียนเทศบาล 1-2 และบางส่วนของชุมชนบ้านแหลมฉบัง แต่ไม่มีการสั่งการให้มีการเคลื่อนย้ายประชาชนหรือเตือนให้ประชาชนอพยพออก ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเกือบ 200 คนดังกล่าว

สารเคมีรั่วท่าเรือแหลมฉบัง

4. ไม่มีแผนฉุกเฉินในการป้องกันตนเองของชุมชนโดยรอบกรณีเกิดการรั่วไหลของสารเคมี

ที่ผ่านมาการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีสารเคมีรั่วไหลส่วนใหญ่จะฝึกซ้อมเกี่ยวกับการตอบโต้เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น การดับเพลิง การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย การส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ แผนฉุกเฉินในการป้องกันตนเองของชุมชนโดยรอบ ทั้งนี้การซ้อมแผนฉุกเฉินต้องให้ประชาชนโดยรอบมีส่วนร่วมในการรับรู้ ร่วมคิด ร่วมให้ความเห็นต่อการวางแผน และที่สำคัญคือชุมชนต้องมีมาตรการในการป้องกันตนเองหรือลดอันตรายจากการที่ต้องสัมผัสสารเคมี เมื่อมีข้อมูลเพียงพอผู้นำชุมชนต้องสามารถตัดสินใจให้ประชาชนในชุมชนอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้มีอำนาจเพียงคนเดียวเหมือนที่ผ่านมา

5. ท่าเรือแหลมฉบังต้องเร่งทบทวนกระบวนการในการขนย้ายถังบรรจุสารเคมีให้ปลอดภัย รวมทั้งทบทวนระบบการตอบโต้กรณีเกิดการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว

“เนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบขาดความเชื่อมั่นและเชื่อใจในการทำงานของการท่าเรือฯ และเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจึงควรจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคประชาชนในพื้นที่ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รับรู้ระบบการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจและไว้วางใจต่อการทำงานของท่าเรือต่อไป อย่างไรก็ตาม คิดว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นฟูเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนในพื้นที่กลับมา” นายสนธิกล่าว

สารเคมี “บิวทิล อะคริเลต” รั่วไหลที่ท่าเรือแหลมฉบัง

เวลา 9.30 ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เกิดแก๊สฟุ้งกระจายซึ่งเป็นแก๊สที่เกิดจากสารเคมีรั่วไหลจากตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการขนย้ายสารเคมีบิวทิล อะคลิเลต ซึ่งเป็นสารไวไฟที่บรรจุในถังแคปซูลจากเรือขึ้นฝั่งจากบริเวณท่าเรือ ESCO B3 ที่แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่ระหว่างการยกสารเคมีแคปซูลหนึ่งขึ้นมาได้เกี่ยวอีกแคปซูลขึ้นมาด้วย และหลุดตกลงไปกระแทกท้องเรือจนถังฉีกขาดและสารเคมีรั่วไหล เกิดแก๊สฟุ้งกระจาย โดยมีรัศมีการฟุ้งกระจาย 3 กิโลเมตร ต้องอพยพชาวบ้านในชุมชนบ้านนาใหม่ และนักเรียนละแวกใกล้เคียงออกจากพื้นที่ โดยมีผู้ป่วยที่สูดดมแก๊สและเกิดอาการแสบตา แสบจมูก คลื่นไส้ เป็นลมต้องนำส่งโรงพยาบาลหลายราย

ในวันเดียวกันนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ได้รับรายงานเบื้องต้นจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีว่า เป็นแก๊สที่เกิดจากสารเคมีรั่วไหลจากตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการขนย้าย ล่าสุดเวลา 15.15 น. มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษารวม 105 ราย โดยรักษาที่โรงพยาบาลแหลมฉบัง 42 ราย ในจำนวนนี้นอนสังเกตอาการ 3 ราย ที่โรงพยาบาล สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 56 ราย นอนโรงพยาบาล 4 ราย และนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลโรงพยาบาลวิภาราม ศรีราชา ทั้งหมด 7 ราย มีอาการมึนศีรษะ แสบระคายเคืองตา ไอ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม แพทย์พยาบาลได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นและให้การรักษาตามอาการ เช่น ล้างทำความสะอาดตาที่มีการระคายเคือง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แพทย์ให้กลับบ้านได้ โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียน 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนเทศบาล 1, 2, 3 และโรงเรียนวัดบ้านนา

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลแหลมฉบัง เฝ้าระวังและติดตามประเมินสุขภาพของเด็กนักเรียนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะจนกว่าจะปลอดภัย ซึ่งในกรณีนี้ เด็กส่วนใหญ่สูดดมในปริมาณไม่มาก และสารระเหยชนิดนี้จะถูกขับออกจากร่างกายได้เองทางปัสสาวะ เด็กจะอาการเป็นปกติในไม่ช้า จึงขอให้ผู้ปกครองคลายความกังวลใจ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับท่าเรือแหลมฉบังที่เกิดเหตุ ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ หากได้กลิ่นผิดปกติ ขอให้รีบออกจากพื้นที่เอาผ้าชุบน้ำปิดจมูก อาบน้ำชำระล้างร่างกาย และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ หรือ โทร. 1669 โดยในช่วงนี้ขอแนะนำให้ดื่มน้ำบรรจุขวด หากมีอาการผิดปกติเช่น หายใจติดขัด ไอ แสบตา ใจสั่น สามารถไปใช้บริการที่สถานบริการสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้สารบิวทิล อะคริเลต ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารเคลือบผิว หรือผสมในสี ลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายผลไม้ และเป็นสารไวไฟ เมื่อสูดดมเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้ปวดศีรษะ ไอ คลื่นไส้ อาเจียน และหายใจติดขัด เมื่อสัมผัสทางผิวหนัง จะผิวหนังระคายเคือง แสบไหม้ เกิดผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนได้ ถ้ากลืนหรือกินเข้าไป จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ และปวดท้อง หากสัมผัสถูกตา จะเกิดการระคายเคือง น้ำตาไหล ตาแดง ปวดตา และตาพร่ามัวได้ และหากได้รับสารในปริมาณมากทำให้เป็นโรคปอดอักเสบ มีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์