ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นัยต่อธนาคารเจ้าหนี้ กรณีศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีไซยะบุรี

นัยต่อธนาคารเจ้าหนี้ กรณีศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคดีไซยะบุรี

10 กรกฎาคม 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

วันนี้ผู้เขียนมีเหตุให้เขียนถึงเขื่อนไซยะบุรีต่ออีกตอน เนื่องจากในเดือนมิถุนายน 2557 มีข่าวใหญ่ที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ลงเป็นข่าวสั้นเท่านั้น ไม่ไปทำการบ้านและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียรายสำคัญ โดยเฉพาะธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้และบริษัทที่ดำเนินโครงการ

ย้อนไปเมื่อปี 2554 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงรวม 37 คน ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานราชการ 5 หน่วย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครอง ฐานกระทำการโดยมิชอบในการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ซึ่งเป็นเขื่อนที่จะส่งไฟฟ้ากว่า 95% ให้กับไทย (แต่คิดเป็นไม่ถึง 2% ของไฟฟ้าที่ต้องใช้ทั้งประเทศ) ก่อสร้างโดยผู้รับเหมาสัญชาติไทย และปล่อยกู้โดยธนาคารสัญชาติไทยทั้งหมด 6 แห่ง

เอกสาร “สรุปประเด็นสำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกรณีเขื่อนไซยะบุรี ในการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต” ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายกฎหมายแม่น้ำโขง และศูนย์ข้อมูลชุมชน ในเดือนเมษายน 2555 สรุปประเด็นในการฟ้องไว้ว่า“การที่ กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐลงนาม หรือหน่วยงานอื่นที่ปล่อยให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงาน (Power Purchase Agreement – PPA) โดยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายใน ตลอดทั้งกระบวนการทางปกครอง ไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือตามที่ควร ซึ่งได้มีกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย”

ข้อกล่าวหาหลักๆ คือ ผู้ถูกฟ้องทั้งห้า:

– ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วย การปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

– ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย มาตรา 57 และมาตรา 58 ว่าด้วยเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มาตรา 66 เรื่องสิทธิชุมชน มาตรา 67 การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการรับฟังความคิดเห็น มาตรา 82 ความผูกพันของรัฐต่อกติการะหว่างประเทศ

– ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ว่าด้วยกระบวนการ การแจ้งให้ทราบ การปรึกษาหารือก่อนดำเนินการ และการทำข้อตกลง

คำขอท้ายคำฟ้องของชาวบ้านหลักๆ คือ ขอให้ศาลยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ.และลาว จากโครงการเขื่อนไซยะบุรี และขอให้กำหนดว่า ทั้งกฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากจะดำเนินโครงการต่อ จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติต่างๆ ของรัฐบาล ก่อนที่จะกระทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อพลังงานจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

คดีนี้ศาลปกครองกลาง “ไม่รับฟ้อง” ชาวบ้านจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนมกราคม 2555

ถัดมาอีกสองปีครึ่ง วันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำตัดสินของศาลปกครองกลางบางส่วน (อ่านคำตัดสินฉบับเต็ม) ไม่ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่รับคำฟ้องของตัวแทนประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด เฉพาะในข้อที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า “ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม” ไว้พิจารณา

ชาวบ้านผู้ฟ้องคดี ในวันที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับฟ้อง ที่มาภาพ: https://fbexternal-a.akamaihd.net/safe_image.php?d=AQA0-Ahf-5e3kjcU&w=484&h=253&url=http%3A%2F%2Ftransbordernews.in.th%2Fhome%2Fwp-content%2Fuploads%2Fwpid-img_91310461142982.jpeg&cfs=1&sx=0&sy=0&sw=960&sh=502
ชาวบ้านผู้ฟ้องคดี ในวันที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งรับฟ้อง ที่มาภาพ: https://fbexternal-a.akamaihd.net/safe_image.php?d=AQA0-Ahf-5e3kjcU&w=484&h=253&url=http%3A%2F%2Ftransbordernews.in.th%2Fhome%2Fwp-content%2Fuploads%2Fwpid-img_91310461142982.jpeg&cfs=1&sx=0&sy=0&sw=960&sh=502

เนื้อข่าว (ดูอาทิ ข่าว INN) ระบุว่า “…ชาวบ้านรู้สึกพอใจกับคำสั่งรับคำฟ้องที่ออกมา แม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี จะยังเดินหน้าต่อไป แต่ก็จะทำให้ กฟผ. ต้องไปดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การรับฟังความคิดเห็นและการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งทางเครือข่ายจะมีการพิจารณายื่นขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา สั่งให้ชะลอการดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป”

ในเมื่อกว่าศาลปกครองสูงสุดจะรับฟ้อง เขื่อนไซยะบุรีก็ก่อสร้างไปแล้วกว่า 25-30% แม้จะยังไม่ลงไปขวางแม่น้ำโขง ก่อให้เกิดคำถามว่า การรับฟ้องในครั้งนี้ส่งผลอย่างไรต่อบริษัท ช.การช่าง ผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ดำเนินโครงการเขื่อน รวมถึงธนาคารไทยหกแห่งที่ปล่อยกู้?

ภายหลังคำตัดสิน บริษัท ช.การช่าง ก็ชี้แจงว่า คำสั่งศาลมิใช่เป็นการระงับการก่อสร้างหรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเพียงคำสั่งให้หน่วยงานราชการไปจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือย่อว่า EHIA รับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ และชี้แจงข้อมูลโครงการต่อผู้ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนเท่านั้น

นัยที่ชัดเจนจากถ้อยแถลงของบริษัทคือ ขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องทำเพิ่มนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมากที่สุดคือ จะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไปเล็กน้อย แต่บริษัทไม่เชื่อว่าจะต้องถึงขั้น “หยุด” การก่อสร้าง

ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ตั้งข้อสังเกตบนเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อท่าทีของบริษัท (ผู้เขียนนำมาเผยแพร่โดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าตัว) ส่วนหนึ่งว่า –

“…นักลงทุนบ้านเรายังคงขาดความเข้าใจในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและกระบวนการศึกษาเหล่านี้น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ และยังมีความเห็นเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการขัดขวางความเจริญและดัชนีของตลาดหุ้นเท่านั้น …โครงการนี้ผลกระทบ 4 ประเทศ คน 60 ล้านคนนะครับ ไม่ใช่แคะขนมครกขาย คิดว่าถ้าทำกันตามหลักวิชาการจริงๆ จะต้องใช้เวลากี่ปี?

“EHIA ไม่ใช่แค่ไปเขี่ยๆ ยืนดูน้ำขึ้นน้ำลง ไปชี้แจงแล้วจบนะครับ คำสั่งศาลคราวนี้หมายถึงว่า CKP [บริษัท ซีเค พาวเวอร์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มี ช. การช่าง ถือหุ้น 31.8% ปัจจุบันเป็นผู้บริหารสัญญางานก่อสร้าง และวิศวกรที่ปรึกษา (Owner’s Engineer) ของโครงการไซยะบุรี] จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและนักวิชาการในประเทศไทยทั่วโลกทั้งหมด พวกระบบระบายตะกอน ระบบให้ปลาผ่าน ปริมาณการปล่อย/กักน้ำในแต่ละวัน ผลกระทบของการปล่อย/กักนั้นๆต่อกระแสน้ำ การขึ้น/ลงของน้ำในเขตประเทศไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ CKP ไม่ยอมปล่อยออกมาให้นักวิชาการในไทยและทั่วโลกได้รับรู้โดยอ้างว่าได้ส่งให้รัฐบาลลาวพิจารณาแล้ว คราวนี้ CKP จะต้องนำเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้อย่างเพียงพอด้วย….

“การที่บริษัทยังไม่มีแนวโน้มที่จะหยุดก่อสร้างหรือชะลอโครงการออกไป เหมือนเป็นการจับผู้ถือหุ้นรายย่อยและธนาคารเจ้าหนี้เป็นตัวประกัน และยังไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งศาลครั้งนี้…”

ดังที่ผู้เขียนอธิบายแล้วหลายครั้งในซีรีส์นี้ เขื่อนไซยะบุรีเป็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจ” ที่ชัดเจนของธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหกแห่ง แต่ยังไม่มีธนาคารรายใดใส่ใจกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะจากการที่ลาวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง MRC เดินหน้าสร้างเขื่อนทั้งที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ เพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งร่วมลงนามในข้อตกลงลุ่มน้ำโขงอย่างกัมพูชาและเวียดนาม จะใช้สิทธิตามข้อตกลง หยุดการก่อสร้างเมื่อเกิดความเสียหายในสาระสำคัญ

เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากท้วงติงว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการขวางทางอพยพของปลาในฤดูอพยพ ที่มาภาพ: http://awsassets.panda.org/img/original/xayaburi_dam_fish_migration_upstream_impacts.jpg
เอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากท้วงติงว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการขวางทางอพยพของปลาในฤดูอพยพ ที่มาภาพ: http://awsassets.panda.org/img/original/xayaburi_dam_fish_migration_upstream_impacts.jpg

คำตัดสินรับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ มีนัยที่ค่อนข้างชัดเจนว่าหน่วยงานราชการไม่เพียงแต่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย แต่ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีผลผูกพันสี่ประเทศ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้รับเหมาโครงการนี้ไม่เคยจัดทำ EHIA ที่คำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดน จนถึงเดือนมิถุนายน 2557 ไม่เคยส่งแบบแปลนละเอียดของ “ทางปลาผ่าน” และ “ระบบระบายตะกอน” ให้กับคณะกรรมการแม่น้ำโขงตามข้อตกลง อีกทั้งกัมพูชาและเวียดนาม สองประเทศสมาชิกตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ก็ไม่เคยเห็นชอบ ลาวและผู้รับเหมาเดินหน้าก่อสร้างทั้งที่กระบวนการปรึกษาหารือไม่เคยแล้วเสร็จ

เมื่อคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะถึงเวลาเสียทีที่ผู้ถือหุ้นของธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหกแห่งจะตื่นตัว และคณะกรรมการธนาคารก็ควรเรียกผู้บริหารมาซักถามว่า

1. กระบวนการปล่อยสินเชื่อโครงการไซยะบุรีเป็นไปอย่างถูกต้อง รัดกุม และโปร่งใสเพียงใด?

2. ลูกหนี้ที่ผ่านมาไม่นับว่า “โกหก” ธนาคารหรือ ในเมื่อคำตัดสินศาลบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การก่อสร้างดำเนินไปทั้งที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศยังไม่แล้วเสร็จ?

3. ถ้าหากข้อมูลหลักฐานที่ปรากฎ โดยเฉพาะการรับฟ้องของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ บ่งชี้ว่าลูกหนี้น่าจะ “โกหก” ธนาคาร เหตุใดธนาคารทั้งหกจึงไม่ระงับการปล่อยสินเชื่อ ในเมื่อการโกหกลักษณะนี้เข้าข่ายผิดสัญญาสินเชื่อ?

หนทางสู่ “ธนาคารที่ยั่งยืน” ในไทยอาจยังอยู่อีกยาวไกล แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นข้ออ้างที่ธนาคารจะยังนิ่งนอนใจ มองไม่เห็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจ” ของสินเชื่อที่ไม่ยั่งยืน.