ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “หม่อมอุ๋ย” เสนอ 5 ยุทธศาสตร์ ดันไทยเป็น “ศูนย์กลางการค้าอาเซียน” ตั้งเป้า GDP โตปีละ 5-6%

“หม่อมอุ๋ย” เสนอ 5 ยุทธศาสตร์ ดันไทยเป็น “ศูนย์กลางการค้าอาเซียน” ตั้งเป้า GDP โตปีละ 5-6%

22 กรกฎาคม 2014


สมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นวิทยากรงานสัมมนาหัวข้อ “A mirror of Thailand” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557
สมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นวิทยากรงานสัมมนาหัวข้อ “A mirror of Thailand” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในงานสัมมนาหัวข้อ “A mirror of Thailand” จัดโดยสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) โดยมีทูตานุทูต คณะกงสุล นักธุรกิจชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงวิวัฒนาการเศรษฐกิจไทยว่า ก่อนปี 2500 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ต่อปี พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก สินค้าส่งออกสำคัญคือสินค้าเกษตรกับแร่ดีบุก จากนั้นก็เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ปี 2504-2509 ตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าในประเทศ ทดแทนการนำเข้า โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูก ปี 2505 มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เศรษฐกิจไทยช่วงปี 2504-2521 ขยายตัวเฉลี่ย 7.53% ต่อปี และปี 2522-2528 ขยายตัวเฉลี่ย 5.42% ต่อปี

ปี 2525 บริษัท ปตท. ก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และเริ่มผลิตก๊าซในปี 2528 พอถึงปี 2530 สร้างนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) สร้างเสร็จเรียบร้อยปี 2534 จากนั้นการลงทุนของไทยขยายตัวในอัตราที่สูงมาก มีการลงทุนผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ปริมาณการส่งออกและบริการของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น และมีความหลายหลาก เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2529-2539 ขยายตัว 9.25% ต่อปี

พอถึงช่วงปี 2540-42 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่ เกิดวิกฤติต้มย้ำกุ้ง เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.5% ต่อปี ปี 2543-2550 ภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเฉลี่ยที่ 5.08% ต่อปี

ปี 2551-2555 ปัญหาขาดแคลนแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้น และกลุ่ม NGOs คัดค้านโครงการลงทุนในอีสเทิร์นซีสบอร์ด ทำให้โครงการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ ต้องหยุดชะงักไป 2-3 ปี โดยรัฐบาลขณะนั้นต้องเร่งออกระเบียบที่เข้มงวดมาดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจไทยช่วงนี้ขยายตัวเฉลี่ย 2.92% ต่อปี

ภาพหม่อมอุยบรรยาย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวย้ำว่า “หากไม่ทำอะไร คงไม่เห็นเศรษฐกิจของประเทศกลับมาขยายตัวที่ 6-7% ต่อปีอีก เพราะต่อจากนี้ไปคงไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เหมือนในอดีต จะมีแต่ขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน หรือผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม คำถามคือ หากการลงทุนใหญ่ไม่มี ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะมีรายได้เพิ่ม”

ดังนั้น แนวนโยบายที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรนำเสนอต่อ คสช. เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเฉลี่ย 5-6% ต่อปีอีกครั้ง ยุทธศาสตร์สำคัญคือ ต้องสนับสนุนให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคอาเซียน” (Trading nation) โดยอาศัยประโยชน์จากการเปิดประชาคมอาเซียนปี 2558 ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ สิ่งที่ คสช. ต้องเร่งดำเนินการจึงมีทั้งหมด 5 เรื่อง แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ขอเน้นที่ 3 ประเด็นหลักดังนี้

1. การผลักดันประเทศเป็น “Trading nation” ให้ได้ ต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ถนนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีระบบขนส่งทางถนนดีที่สุดในภูมิภาคอินโดจีน แต่มีราคาแพงมาก เพราะต้องจ่ายค่าน้ำมัน จึงต้องหันมาใช้ระบบรางช่วยเสริม ปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟทางเดี่ยวอยู่แล้ว 3,000 กิโลเมตร ต้องลงทุนเพิ่มอีก 3,000 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้วิธีทยอยก่อสร้างไปเรื่อยๆ เพราะงบประมาณมีจำกัด เช่น เฟสแรก ลงทุนสร้างรางรถไฟ 1,000 กิโลเมตรใช้เวลา 6 ปี ควรเลือกลงทุนสายหลักที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านก่อน แต่ในระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ก็ใช้ระบบขนส่งทางถนนกับทางน้ำไปพลางๆ ก่อน

“ขนาดความกว้างของรางรถไฟ หลายคนมักเข้าใจผิดว่ามาตรฐานความกว้างของรางรถไฟคือ 1.42-1.56 เมตร แต่หารู้ไม่ว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเขมร ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย รางรถไฟกว้างแค่ 1 เมตร มีจีนเท่านั้นที่กว้าง 1.42 เมตร ถ้าเอาตามมาตรฐานสากล ก็เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แทนที่จะลงทุนเพิ่ม 3,000 กิโลเมตร ก็ต้องลงทุน 6,000 กิโลเมตร และต้องเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินลงทุน 3 เท่าตัว แต่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ คำถามต่อไปแล้วจะเชื่อมโยงกับรถไฟจีนอย่างไร คำตอบคือฝรั่งเศสขนาดราง 1.42 เมตร ส่วนสเปนขนาดราง 1.56 เมตร เวลาขนสินค้าผ่านแดนใช้รถเครนยกเปลี่ยนถ่ายสินค้า เสียเวลา 1 ชั่วโมง ทำให้คนที่นั่นก็มีรายได้ค่าเฟดเพิ่มด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อไปอีกว่า ระบบโลจิสติกส์ที่ดี นอกจากอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งของประเทศด้วย ส่วนเรื่องความเร็ว รถไฟที่มีขนาดรางกว้าง 1 เมตร เร่งความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมขอแค่ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอ แต่ต้องตรงเวลา รถไฟอเมริกาวิ่งช้ามาก แต่ขบวนยาว หากต้องการทำให้รถไฟวิ่งเร็ว ขบวนต้องสั้น ค่าขนส่งก็แพง ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูงขนคนตอนนี้ยังไม่จำเป็น จึงเสนอให้ คสช. ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูง 8 แสนล้านบาทออกไปก่อน แต่ในระยะยาวต้องทำ ดังนั้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนภายใน 6-7 ปีมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท

2. ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อ.ปากบารา จังหวัดสตูล เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ขณะนี้ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังค่อนข้างแออัดมาก สินค้าทุกชนิดที่ส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบังจะถูกส่งไปทวีปอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี แต่ถ้าส่งไปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ต้องขนผ่านช่องแคบมะละกา อ้อมสิงค์โปร์ เสียเวลา แพง และอัตราการเพิ่มของคาร์โกที่ช่องแคบมะละกากำลังใกล้เต็มภายใน 4 ปีข้างหน้า ทำให้การขนส่งสินค้ายิ่งล้าช้า จึงจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งอันดามันเชื่อมโยงกับฝั่งอ่าวไทย สินค้าจากจีนตอนใต้ที่ส่งออกไปยุโรป ตะวันออกกลาง ก็จะผ่านเข้าไทย

3. ส่งเสริมนักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ จากปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้คำขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีแนวโน้มลดลง ขณะที่นักลงทุนไทยรายใหญ่ๆ ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศต้องหาตลาดเอง นอกจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใด ยังมีอุปสรรคในเรื่องของภาษี ยกตัวอย่าง นักลงทุนไทยได้รับสิทธิ BOI ในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศที่ไปลงทุน แต่ถ้ามีกำไรเกิดขึ้น ส่งกำไรประเทศไทย ต้องเสียภาษี นักลงทุนไทยจึงนิยมเปิดบริษัทใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทแม่ และก็ไม่ส่งกำไรกลับประเทศ

“การส่งส่งเสริมลงทุนต่างประเทศทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่าง ทำไม BOI เปิดสาขาที่นิวยอร์ก ฝรั่งที่นิวยอร์กจะมาลงทุนเมืองไทยได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้ยังเอาตัวไม่รอด หากเป็นผมจะปิดสาขานิวยอร์กแล้วมาเปิดสาขาที่พม่า เขมร ลาว เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้ขยายฐานการผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเน็ตเวิร์กทางการค้าและการลงทุน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

4. ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติและนักธุรกิจไทยจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH) ปัญหาคล้ายข้อเสนอที่ 3 ปัจจุบันนักลงทุนไม่นิยมเปิด ROH ในไทย เพราะถ้าเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย แต่ไปประกอบธุรกิจประเทศอื่นมีกำไร ต้องนำกำไรที่เกิดขึ้นมาเสียภาษีด้วย กรมสรรพากรควรยกเลิกกฎระเบียบลักษณะนี้ ถึงอย่างไรก็เก็บภาษีไม่ได้ เพราะไม่มีนักลงทุนให้เก็บภาษี วิธีง่ายๆ คือ สิงคโปร์ หรือฮ่องกง กำหนดระเบียบในเรื่องนี้อย่างไร ควรจะไปคัดลอกมาเลย

5. ผ่อนคลายกฎระเบียบทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น ลดคำขอใบอนุญาต หรือรายงาน ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค

หม่อมอุ๋ย2

“หากดูวิวัฒนาการ Trade nation ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกัน ญี่ปุ่น เริ่มจากเกษตรก่อนแล้วไปอุตสาหกรรม จากนั้นก็เกิดธุรกิจบริการ ตามมาด้วยการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศ ญี่ปุ่นเดินแบบนี้มาตลอด เกาหลีกำลังเดินตาม สำหรับประเทศไทยคงเป็น Trading nation ของโลกเหมือนกับญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ถ้าเป็น Trading nation ในภูมิภาคอาเซียน เชื่อว่าทำได้ เพราะประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้เป็นจำนวนมาก หลากหลาย และมีเทคโนโลยีพอสมควร แต่ไม่ถึงขั้นไฮเทค หากขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านได้ค่าแรงราคาถูก วางระบบโลจิสติกส์ให้ดีจะทำให้เกิดธุรกรรมทางการค้ารูปแบบใหม่ๆขึ้นอีกมากมาย เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวที่ 4-5% ได้อีกครั้ง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวทิ้งท้าย

ดูเพิ่มเติม