ThaiPublica > เกาะกระแส > แม่น้ำมหัศจรรย์ของนักนิเวศวิทยา…เสวนา”เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค”

แม่น้ำมหัศจรรย์ของนักนิเวศวิทยา…เสวนา”เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค”

21 มิถุนายน 2014


รายงานโดย..ปวีร์ ศิริมัย

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จัดเวทีสรุปข้อมูลสำหรับสื่อมวลชนในหัวข้อ “เขื่อนไซยะบุรี-แม่น้ำโขง ประเด็นการลงทุนในภูมิภาค” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากรได้แก่ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ดำเนินรายการโดย นางเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 กลุ่มเครือข่ายนี้ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้พิพากษาศาลปกครองและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งจะกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บริเวณด้านทิศใต้ของเมืองหลวงพระบางประมาณ 80 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ และจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ พัฒนาโครงการโดย บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และก่อสร้างโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยมีธนาคารพาณิชย์ของไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้โครงการ

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง จึงเป็นเขื่อนแรกที่จะเข้าสู่กระบวนการที่ตกลงไว้ในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขงของคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) คือต้องมีการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า เขื่อนไซยะบุรีจึงเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญซึ่งจะสร้างบรรทัดฐานในการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ใช้ร่วมกันของ 4 ประเทศ คือ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

แม่น้ำมหัศจรรย์ของนักนิเวศวิทยา-ผลกระทบจากเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ขวา)เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ (ขวา)เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว

ดร.สรณรัชฎ์กล่าวถึงความพิเศษของแม่น้ำโขงว่าเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของโลก มีความยาวเป็นอันดับ 10 ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ด้วยเอกลักษณ์พิเศษทางภูมิศาสตร์ทำให้แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีจำนวนพันธุ์ปลาประมาณ 850 ชนิด มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ โดยแม่น้ำโขงตอนล่างจะมีความหลากหลายของพันธุ์ปลามากกว่า 600 ชนิด นอกจากนี้ตะกอนของแม่น้ำโขงยังมีลักษณะเฉพาะที่ซับซ้อน อีกทั้งแม่น้ำโขงยังเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุมากมาย ที่มีส่วนสร้างให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว แม่น้ำโขงตอนล่างยังมีความสำคัญต่อชีวิตประชากรกว่า 60 ล้านคนใน 4 ประเทศ(ดูเพิ่มเติม)

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วประเทศจีนได้เริ่มสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักตอนบน และมีโครงการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 10 ปีต่อมาผลกระทบจากโครงการเหล่านี้เริ่มปรากฏชัดเจนในท้ายน้ำ คือ ตะกอนที่ไหลลงมาตามแม่น้ำลดลง 50% ส่งผลให้พื้นที่ปากแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรในเวียดนามโดนน้ำทะเลกัดเซาะ 5 เมตรต่อปี ส่งผลต่อการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของทะเลบริเวณปากแม่น้ำ และถ้าเขื่อนทั้งหมดก่อสร้างเสร็จ ตะกอนที่ไหลลงมาตามแม่น้ำจะลดลงเหลือแค่ 25% ซึ่งจะทำให้ปัญหาพื้นที่ปากแม่น้ำโดนกัดเซาะจะยิ่งรุนแรงขึ้น

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่จะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของแหล่งกำเนิดกรวดของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลาจำนวนมากใช้วางไข่ เนื่องจากเป็นบริเวณที่น้ำกระทบกับกรวดสร้างออกซิเจนในปริมาณสูงเหมาะกับการวางไข่ การสร้างเขื่อนในบริเวณนี้จะทำให้จำนวนปลาเศรษฐกิจ 8 ใน 10 ชนิดลดลงอย่างมาก การประมงสูญเสียขั้นต่ำกว่า 125 ล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของชาวกัมพูชา ประเทศเวียดนามสูญเสีย 50% ของอาหารหลักจากพื้นที่ปากน้ำโขง 90% ของข้าวส่งออก 60% ของอาหารทะเลส่งออก รวมการสูญเสียเป็น 27% ของจีดีพี

เขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการที่ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในมิติของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม หลังจากมีการออกแบบใหม่มีการพัฒนาโครงการแบบสร้างไปออกแบบไป ไม่มีแบบละเอียด และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องแผนการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากสองประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กัมพูชาและเวียดนาม อีกทั้งประชาชนและองค์กรนานาชาติ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไป

“กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรี ที่ไทยซื้อ 95% ยังได้กำลังไฟฟ้าไม่ถึง 2% ของทั้งหมดที่เราใช้ในประเทศ มันคุ้มหรือที่จะแลกกับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในแม่น้ำโขง และชีวิตคนอีก 60 ล้านคน” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว

แม่น้ำโขงตอนล่าง

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ข้อเสนอคณะกรรมการเขื่อนโลก

นางสาวสฤณีกล่าวว่า คณะกรรมการเขื่อนโลกก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างธนาคารโลกกับสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union: IUCN) เพื่อตอบสนองต่อเสียงคัดค้านเขื่อนขนาดใหญ่ โดยมีคณะกรรมการอิสระจากทุกภาคส่วน คือ รัฐ เอ็นจีโอ บริษัทสร้างเขื่อน ที่ปรึกษา ชุมชน และนักวิชาการ ซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบทุกมิติอย่างละเอียดของเขื่อนขนาดใหญ่ 8 แห่ง และสำรวจเขื่อนขนาดใหญ่อีก 125 แห่งใน 56 ประเทศ

คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ออกรายงานฉบับสมบูรณ์ในปี 2543 โดยมีข้อแนะนำดังนี้

1. ต้องได้รับการยินยอม: ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ทั้งโดยตรงและทางอ้อม ต้องมีสิทธิในการนำเสนอความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำข้อตกลงซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย

2. ประเมินทางเลือกอื่นๆ: ก่อนตัดสินใจสร้างเขื่อนต้องมีการประเมินความต้องการและทางเลือกอื่นๆ ที่โปร่งใสและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยให้น้ำหนักกับประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเทียบเท่าประเด็นทางเทคนิคและเศรษฐกิจ

3. จัดการกับเขื่อนที่มีอยู่เดิมให้ดี: ก่อนสร้างเขื่อนใหม่ต้องมีการปรับปรุงและฟื้นฟูเขื่อนที่มีอยู่ให้สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการชดเชยย้อนหลังกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขื่อนทุกแห่งต้องมีวันหมดอายุสัมปทานหรือใบอนุญาต หากมีการต่อใบอนุญาตต้องมีการประเมินผลกระทบซึ่งเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการหรือรื้อเขื่อนได้

4. ความยั่งยืนของระบบนิเวศและวิถีชีวิต: ในกระบวนการตัดสินใจควรมีการ “หลีกเลี่ยง” และมีการ “ลดและบรรเทา” ผลกระทบต่อระบบแม่น้ำ การตัดสินใจจึงต้องอาศัยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบนิเวศ ประเด็นสังคมและสุขภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบสะสมจากโครงการอื่นด้วย

5. ยอมรับสิทธิและการแบ่งปันผลประโยชน์: ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทุกฝ่ายควรมีสิทธิเข้าร่วมในการเจรจาต่อรองแบ่งปันและนำส่งผลประโยชน์ นำมาสู่ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

6. สร้างหลักประกัน: สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการจะต้องมีชุดหลักเกณฑ์และหลักปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาโครงการ รวมถึงสร้างแรงจูงใจโดยมีบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม

7. การแบ่งปันแม่น้ำเพื่อพัฒนาและสร้างความมั่นคงร่วมกันอย่างสันติ: ควรมีมาตรการจัดการกับความขัดแย้งละร่วมมือกันสำหรับโครงการพัฒนาในแม่น้ำที่พาดผ่านหลายประเทศ

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

พร้อมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อบกพร่องหลักในการทำ EIA ฉบับแรกของกรณีเขื่อนไซยะบุรีนั้นคือการที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมในประเด็นทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกยังพบข้อสังเกตอื่นๆ ทั้งประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น เขื่อนขนาดใหญ่กว่าครึ่งมีการใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงกว่าที่ได้ประเมินไว้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือการประเมินผลกระทบก่อนการก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ชุดหลักการประเมินความยั่งยืนของไฟฟ้าพลังน้ำ

นอกจากรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลก สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ (International Hydropower Association: IHA) ร่วมกับเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมชั้นนำ ได้พัฒนาชุดหลักการประเมินความยั่งยืนของไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydropower Sustainability Assessment: HSAP) โดยใช้รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกเป็นฐานคิดรวมทั้งชุดหลักอีเควเตอร์ (Equator Principles)

ชุดหลักการประเมินความยั่งยืนของไฟฟ้าพลังน้ำเป็นกรอบที่ใช้ประเมินระดับความยั่งยืนของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ โดยคณะกรรมการมาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้เสีย ร่วมกันกำกับ มีระเบียบวิธีที่ได้มาตรฐานสามารถนำไปใช้ประเมินโครงการต่างๆ ได้ทั่วโลก เนื้อหาเป็นการประเมินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืน ทั้งด้านเทคนิค เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้จะมีข้อครหาจากเอ็นจีโอบางแห่งว่าตัวชุดหลักการประเมินนี้ต้องได้รับการรับรองจากตัวองค์กรเอง ไม่สามารถให้ผู้มีส่วนได้เสียนำชุดหลักการประเมินไปใช้เองได้ แต่ชุดหลักการประเมินความยั่งยืนของไฟฟ้าพลังน้ำก็เป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์โดยการสร้างมาตรฐานความยั่งยืนให้กับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งลดช่องว่างทางเทคนิค สิ่งแวดล้อม หรือสังคม ที่จะกลายเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ

นอกจากหลักปฏิบัติที่ใช้กับผู้ดำเนินโครงการแล้วยังมีหลักปฏิบัติของสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการขนาดใหญ่ คือ หลักอีเควเตอร์ ริเริ่มโดยบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ในปี 2004 ปัจจุบันลงนามโดยสถาบันการเงิน 79 แห่งซึ่งปล่อยสินเชื่อครอบคลุม 70% ของสินเชื่อโครงการใหญ่ทั่วโลก

ชุดหลักการประเมินความยั่งยืนของไฟฟ้าพลังน้ำ และหลักอีเควเตอร์ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของทั้งผู้ดำเนินโครงการและสถาบันการเงินที่จะตอบสนองต่อกระบวนการโต้เถียงเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและนำไปปรับปรุงโครงการต่อไป

ความล้าหลังในไทยและความเสี่ยงทางการเงินของไซยะบุรี

ปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการเงินรายใดในไทยลงนามรับหลักหลักอีเควเตอร์ไปใช้จากธนาคารไทย 6 ธนาคารที่ได้ปล่อยกู้ให้โครงการดังกล่าว มีธนาคารหลายแห่งที่มีความพยายามจะขยายกิจการเข้าไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็ยิ่งจะต้องให้ความใส่ใจกับมาตรฐานสากลต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือและลดความขัดแย้งในภูมิภาค

นางสาวสฤณีให้ความเห็นเกี่ยวกับธนาคารผู้ปล่อยกู้อีกว่า “ในกรณีที่ธนาคารไทย 6 แห่งปล่อยกู้ให้โครงการเขื่อนไซยะบุรีแสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีธนาคารไหนเข้าใจประเด็นความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมหรือ CSR อย่างแท้จริง ถ้าธนาคารเข้าใจประเด็นนี้จริง ต้องนำการพิจารณาผลกระทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในกระบวนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งยังแสดงถึงความล้าหลังในการที่ไม่ได้นำมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักอีเควเตอร์ ที่กำหนดโดยกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของโลกมาใช้ ซึ่งได้มีการสะท้อนให้เห็นแล้วว่า การปล่อยสินเชื่อโครงการใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตสร้างผลกระทบและความเดือดร้อน และถือเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารในหลายมิติ มุมมองของธนาคารในประเทศไทยต่อมาตรฐานสากลก็ยังเป็นการมองในลักษณะของการทำตามกฎหมาย ซึ่งมุมมองแบบนี้คงไม่สามารถจะรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้”

ความเสี่ยงทางการเงินต่อสถาบันทางการเงินอาจเกิดจากที่ประเทศไทยมีแต่ “บริษัทรับเหมาก่อสร้าง” ไม่มี “บริษัทผู้เชี่ยวชาญไฟฟ้าพลังน้ำ” ซึ่งมีแนวโน้มว่าเมื่อเกิดปัญหาก็จะมีการแก้ด้วยการสร้างเครื่องมือมาแก้ปัญหาเหล่านั้น เช่น การสร้างบันไดปลาผ่านเพื่อแก้ปัญหาปลาอพยพ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงิน อีกทั้งมาตรการตักตะกอนก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะลดรายได้และเพิ่มค่าใช้จ่าย เนื่องจากจะทำการตักตะกอนได้เมื่อหยุดการผลิตไฟฟ้า

นางสาวสฤณีกล่าวต่อว่า การที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ได้รับความเห็นชอบจากกัมพูชาและเวียดนาม และโครงการไม่ได้ผ่านกระบวนการปรึกษาหาเรื่องล่วงหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกจะสามารถหยุดการก่อสร้างได้ หากมีหลักฐานว่าเกิด “ความเสียหายในสาระสำคัญ” ตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง หรือการที่ศาลปกครองอาจมีคำตัดสินให้ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สถาบันการเงินจะไม่ได้รับเงินคืน

เขื่อนไซยะบุรีและภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาค

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า กรณีของเขื่อนไซยะบุรีนั้น ธนาคารไทยเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้ทั้งหมด ผู้รับเหมาก่อสร้างก็เป็นบริษัทจากประเทศไทย รวมทั้งผลผลิตไฟฟ้าก็ขายให้ประเทศไทย 95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้โครงการนี้เปรียบเสมือนโครงการของประเทศไทยเอง เพียงแค่ตั้งอยู่เขตแดนของเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทเต็มที่ในโครงการนี้ และต้องแสดงความรับผิดชอบ

กระแสต่อต้านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างเกิดจากทั้งภาคประชาชนและภาครัฐของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งสี่ รวมถึงองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2554 รัฐบาลเวียดนามได้มีข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการต่อกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยเวียดนามได้ร้องขอให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยะบุรีรวมทั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆ ในตอนล่างของแม่น้ำโขงสายหลักออกไปอีกอย่างน้อย 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาประเทศกัมพูชาได้มีจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และส่งต่อสำเนาให้กับประธานและกรรมการบริหารธนาคารไทย 4 แห่งที่ให้สินเชื่อแก่โครงการเขื่อนไซยะบุรี มีใจความแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความเป็นอยู่ของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในทั้ง 4 ประเทศจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีและดอนสะโฮง โดยเรียกร้องให้ไทยชะลอโครงการดังกล่าวออกไปอย่างน้อย 10 ปีตามคำร้องขอจากเวียดนามที่กล่าวไปข้างต้น และให้ยกเลิกความตกลงจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีของรัฐบาลไทยตามข้อคัดค้านของประชาชนชาวกัมพูชาและรัฐบาลเวียดนาม สืบเนื่องจากที่ผ่านมาโครงการยังไม่ปฏิบัติตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าและกระบวนการตามความตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538

“ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง เนื่องจากโครงการเขื่อนไซยะบุรีนี้เป็นปรากฏการณ์การขยายตัวของทุนไทยสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่คำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตของประชาชน ที่ใช้เวลาสร้างสมดุลมายาวนาน” นายไกรศักดิ์กล่าว
นายไกรศักดิ์ยังเน้นย้ำอีกว่า ถ้าหากโครงการยักษ์ใหญ่ 2 โครงการในแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ก่อสร้างเสร็จสิ้น จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ และจะเปลี่ยนโฉมหน้าของแม่น้ำโขงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลาง จะอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและหน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงานลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อชุมชน ว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ และเวลา 13.00 น. จะมีแถลงข่าวถึงผลการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ณ โรงแรมทีเคพาเลซ