ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลก เผยการจัดการ “ภาวะโลกร้อน” ที่ดี ช่วยเพิ่มจีดีพีของโลกได้มากกว่า 2%

ธนาคารโลก เผยการจัดการ “ภาวะโลกร้อน” ที่ดี ช่วยเพิ่มจีดีพีของโลกได้มากกว่า 2%

24 มิถุนายน 2014


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 รายงานธนาคารโลก“Climate-Smart Development”ระบุว่า นโยบายรัฐที่ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การจัดการของเสีย และระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากจะช่วยลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกได้มากกว่า 30% ของเป้าหมายของสหประชาชาติในปี 2573 แล้ว ยังสามารถเพิ่มจีดีพีของโลกได้มากกว่า 1.8 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 2% ของจีดีพีโลกในปี 2556 , ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าล้านคนต่อปี, สร้างงาน 200,000 ตำแหน่ง และเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้มากกว่า 2 ล้านตัน

“การค้นพบของรายงานนี้แสดงให้เห็นว่านโยบายที่ถูกต้องสามารถสร้างประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิต, การงาน, ผลผลิต, พลังงาน, และจีดีพี พอๆกับการลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจก เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน” Jim Yong Kim ประธานกลุ่มธนาคารโลก กล่าว

เป้าหมายของรายงานจัดทำขึ้นเพื่อการประชุมภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติ(U.N.Secretary-General’s Climate Summit) ในเดือนกันยายนที่จะกำลังจะถึงนี้ โดยตัวรายงานได้สร้างกรอบแนวคิดใหม่ในการวิเคราะห์ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับโลกร้อนให้ดีขึ้น และนำไปใช้ศึกษาประโยชน์จากการปรับปรุงนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่างๆใน 6 ภูมิภาคหลักคือ สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, อินเดีย, เม็กซิโก, บราซิล และ จีน รวมทั้งนำไปใช้ประเมินกรณีศึกษาจริงของโครงการในประเทศกำลังพัฒนา 4ประเทศข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อพยายามตอบคำถามของผู้วางนโยบายว่า “จะมีนโยบายหรือโครงการที่จัดการปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ ไปพร้อมๆกับการลดปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่” ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“การประชุมภาวะโลกร้อนในเดือนกันยายนนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้นำระดับโลกที่จะยืนให้ถูกข้างในประวัติศาสตร์ เพื่อสนับสนุนในการกระทำที่ไม่ใช่เพียงการลดปริมาณมลพิษ แต่ยังสร้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆอีกด้วย” Jim Yong Kim กล่าว

ทั้งนี้ รายงานได้แบ่งการกรณีศึกษาเป็นสองส่วนคือ 1)ผลประโยชน์จากการปรับปรุงนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่ การเปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนเดิมให้เป็นระบบพลังงานสะอาด, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง 2)ประเมินผลประโยชน์จากกรณีศึกษาของโครงการที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศที่กำลังพัฒนา ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืนของอินเดีย, ระบบจัดการของเสียอย่างบูรณาการของบราซิล, เตาทำอาหารที่ใช้พลังงานสะอาดในชนบทของจีน และเครื่องผลิตแก๊สชีวภาพ/ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคการเกษตรของเม็กซิโก

จากการศึกษา พบว่า การปรับปรุงนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาโลกร้อน “เพียงแค่นี้” ภายในปี 2573 จะทำให้โลกมีจีดีพีเพิ่มขึ้นประมาณ 1.8-2.6 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2-3% ของจีดีพีโลกในปัจจุบัน นอกจากประโยชนทางเศรษฐกิจแล้ว ในด้านสุขภาพ การปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับพลังงานยังช่วยชีวิตผู้คนประมาณ 94,000 คนซึ่งต้องเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทุกปี ในด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเทียบเท่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 8,500 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 30% ของเป้าหมายที่สหประชาชาติต้องการลดภายในปี 2573 และช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้ 16,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเทียบได้กับการนำรถออกไปจากถนนทันที 2,000 ล้านคัน

 ผลประโยชน์รวมรายปีในปี 2573 ของนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่างๆใน 6 ภูมิภาค
ผลประโยชน์รวมรายปีในปี 2573 ของนโยบายในภาคเศรษฐกิจต่างๆใน 6 ภูมิภาค

ด้านผลประโยชน์ที่ได้จากกรณีศึกษาโครงการต่างๆนั้น พบว่าจะช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่าล้านคน, สามารถลดการสูญผลผลิตทางการเกษตรได้ 1-1.5 ล้านตัน และสร้างงานจำนวน 2 แสนตำแหน่ง ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมนั้นโครงการเหล่านี้สมารถลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 335-520 ล้านตัน เทียบกับกับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 100-150 โรง ทั้งนี้ ถ้าแปลงผลประโยชน์จากสุขภาพที่ดีขึ้น, จีดีพีของประเทศที่มากขึ้น, การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มขึ้นของผลผลิต เป็นตัวเงินแล้ว พบว่าจากโครงการเพียงสามโครงการของประเทศอินเดีย,บราซิล, และเม็กซิโก จะมีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 100-134 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่ได้รวมผลประโยชน์อื่นๆที่ได้จากโครงการโดยตรง ขณะที่โครงการของจีนนั้น เพียงแค่ผลประโยชน์จากการช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้ ก็มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 ผลประโยชน์รวมของโครงการต่างๆ ใน 4 ประเทศ
ผลประโยชน์รวมของโครงการต่างๆ ใน 4 ประเทศ

อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกยังได้เน้นย้ำในรายงานว่าผลประโยชน์ที่ประเมินนั้นเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” เนื่องจากการศึกษาผลประโยชน์จากนโยบายนั้นได้รวม สารมลพิษแค่บางตัวเท่านั้น ทำให้การประเมินนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง

“อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดด้านข้อมูลของการปล่อยสารมลพิษทั้งหมด แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากการลดมลพิษบางส่วนก็ยังถือว่ามีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ” รายงานกล่าว