ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยแชมป์ส่งออกข้าวครึ่งปีแรก มั่นใจปีนี้ทวงตำแหน่งคืน

ไทยแชมป์ส่งออกข้าวครึ่งปีแรก มั่นใจปีนี้ทวงตำแหน่งคืน

26 มิถุนายน 2014


เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ที่ห้องพึ่งบุญ ชั้น 8 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายเริงชัย หงส์จำรัสศิลป์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในงานสัมมนา “โรดแมปเพื่อการพัฒนาการเกษตรและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน: กรณีอนาคตข้าวไทย” ถึงประเด็นการส่งออกข้าวว่า ในครึ่งปีแรกไทยเป็นแชมป์การส่งออกและมีสิทธิทวงแชมป์ส่งออกข้าวได้ในปีนี้ โดยยอดการส่งออกข้าวครึ่งปีแรกถึงวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2557 จำนวน 4.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 61.29% ขณะที่อันดับสองคือประเทศอินเดีย ส่งออกข้าว 3.93 ล้านตัน และอันดับสามคือเวียดนาม ส่งออก 2.67 ล้านตัน

ปริมาณส่งออกข้าวปี 2555-2557

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่าทั้งปีจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์เดิมที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นปริมาณส่งออกข้าวก่อนมีนโยบายจำนำข้าวในปี 2554 และ 2555 ที่มียอดส่งออกข้าวประมาณ 7 ล้านตัน

นายเริงชัยกล่าวต่อว่า สถานการณ์ข้าวในขณะนี้มีปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นหลายประเด็นคือ 1. รัฐไม่มีแทรงแซง ทำให้กลไกตลาดทำงานได้เต็มที่ 2. ราคาข้าวไทยยังถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อสนใจข้าวไทยมากขึ้น 3. เวียดนามมีภาระส่งออกข้าวให้กับฟิลิปปินส์ ในขณะที่ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น 4. อิรักยกเลิกคำสั่งไม่ซื้อข้าวจากไทย จากกรณีที่ไทยส่งข้าวคุณภาพต่ำไปยังอิรัก 5. ภาวะค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ส่วนปัจจัยสนับสนุนระยะยาวนั้นคือ 1. จีนดำเนินนโยบายการเกษตรทำให้ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น 2. นโยบายความมั่นคงทางอาหารฉบับใหม่ของอินเดียเป็นปัจจัยเชิงลบระยะสั้นต่อประเทศไทย ได้แก่ 1) ไทยยังเก็บสต็อกข้าวไว้จำนวนมาก ทำให้ผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพ 2) มาตรฐานข้าวหอมมะลิใหม่ ที่ทำให้สับสน 3) ผู้ซื้อจะไม่เก็บสต็อกไว้มาก เพราะรู้ว่ารัฐมีสต็อกเก็บไว้มาก 4) ประเทศผู้นำเข้าข้าวให้ความสำคัญอุดหนุนการเกษตรในประเทศมากขึ้น

ส่วนปัจจัยเชิงลบระยะยาวนั้น 1) ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น อินเดียและเวียดนาม มีสต็อกข้าวจำนวนมากและมีการส่งออกอย่างต่อเนื่อง 2) ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ คือ เวียดนาม กัมพูชา หันเข้าสู่ตลาดข้าวคุณภาพมากขึ้น 3) ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา หันมาสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น 4) ผู้นำเข้าเริ่มมีมาตรการกีดกันทางการค้าและสนับสนุนนโยบายข้าวในประเทศมากขึ้น 5) เศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสเกิดความผันผวน จะส่งผลกระทบในวงกว้าง

ยอดการส่งออกข้าวของไทย

นายเริงชัยกล่าวต่อว่า ด้านนโยบายข้าวของรัฐนั้น รัฐควรปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน ไม่แทรกแซงตลาดข้าว โดยมาตรการเร่งด่วนนั้นควรจะเตรียมตัวจัดการกับผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน–เดือนธันวาคมปีนี้ จำนวน 20-30 ล้านตัน เพื่อให้ตอบสนองตามความต้องการของตลาดได้เหมาะสม ส่วนสต็อกข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่จำนวนมากนั้น ควรจัดระเบียบให้เรียบร้อยก่อน ว่ามีปริมาณข้าวอยู่เท่าไร คุณภาพเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนระบายข้าวออกไปได้ในระยะต่อไป มาตรการในระยะยาวนั้น รัฐควรส่งเสริมเกษตรกรให้ลดต้นทุนการผลิต โดยจัดการเรื่องเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม, ลดปริมาณปุ๋ย, และลดการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และได้กำไรเพิ่มขึ้น

ขณะที่ด้านเอกชนและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยนั้นจะสามารถเข้ามาช่วยเร่งระบายข้าวได้ เนื่องจากมีความรู้ในตลาดส่งออกข้าวว่าแต่ละแห่งต้องการข้าวแบบไหน ตัวอย่างเช่น ประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวกว่า 60% ต้องการข้าวคุณภาพแบบข้าวเก่า ขณะที่จีนและเอเชียต้องการข้าวใหม่ หรือข้าวนึ่ง ซึ่งส่งออกคิดเป็น 21% ของข้าวที่ส่งออกทั้งหมด เป็นที่ต้องการในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมแต่ปัจจุบันยังขาดแคลนอยู่ เป็นต้น

“ข้าวมีเท่าไรเราขายได้หมด เพียงแต่เราต้องมีคุณภาพ ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกข้าว ถ้าลูกค้ามีความเชื่อถือเรา เราแข่งขันได้แน่นอน เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องผลิตข้าวที่มีคุณภาพให้พวกเราไปขาย ต้องรักษาคุณภาพให้ดีๆ แล้วราคามันก็จะมาเอง” นายเริงชัยกล่าว

ด้านนายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อนำข้าวไทยกลับไปสู่ความเป็นผู้นำการส่งออกในอดีต โดยเฉพาะด้านคุณภาพและราคา ในขณะนี้จำเป็นต้องลดปริมาณข้าวจนกว่ารัฐบาลจะระบายข้าวภายในสต็อกหมด ซึ่งจะต้องลดการปลูกข้าวลง 1 ฤดูกาล โดยเฉพาะข้าวนาปรัง

ส่วนเหตุผลที่ควรจะยกเลิกข้าวนาปรัง 1 ฤดูกาลนั้น นายอนันต์กล่าวว่าไทยมีข้าวในสต็อกปริมาณมาก การที่เรายังปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังจะเป็นการเพิ่มปริมาณข้าวของไทยให้มากขึ้นไปอีก และข้าวใหม่มีออกมาทุกๆปี ทำให้การระบายสต็อกที่มีอยู่ลำบากขึ้นไปอีกจากปัญหาข้าวเก่าเสื่อมคุณภาพ ถ้าหากการงดปลูกข้าวนาปรัง 1 ฤดูกาลนั้นก็จะช่วยให้ระบายข้าวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ นายอนันต์ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 14 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันตก มีชาวนาประมาณ 5แสนครอบครัว ได้ผลผลิตประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นข้าวสารประมาณ 5.5ล้านตัน

สำหรับวิธีการดำเนินการนั้น จะเป็นการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้ปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่นาได้ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว เพื่อนเป็นรายได้เสริมและปรับปรุงสภาพดิน โดยจะต้องใช้งบประมาณ 28,000 ล้านบาท

“ข้อดีการหยุดปลูกข้าวนาปรัง 1 ฤดูผลิต คือ ลดปริมาณข้าวไทยที่จะออกสู่ตลาด และจะทำให้อุปสงค์ อุปทาน ของข้าวในตลาดโลกกับสู่ในระดับปกติ รัฐบาลสามารถระบายข้าวที่อยู่ในสต็อกได้รวดเร็ว อาจจะได้ราคาสูงขึ้น เพราะปริมาณที่ออกสู่ตลาดลดลง และ ชาวนาจะได้รายได้ที่แน่นอน ไม่มีความเสี่ยงทั้งการผลิตและจำหน่าย และการเลิกปลูกข้าวนาปรัง ทำให้ไม่ต้องมีการใช้พื้นที่นาตลอดทั้งปี ดินได้พัก รวมทั้งการหันมาปลูกพืชหมุนเวียนช่วงรอยต่อระหว่างนาปีและนาปรัง เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียวซึ่งเป็นพืชบำรุงดิน ใช้น้ำน้อย” นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยกล่าว