ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อ ‘หูฉลาม’ ถูกแบน.. อาหารหรูมาคู่กับ‘คอร์รัปชัน’

เมื่อ ‘หูฉลาม’ ถูกแบน.. อาหารหรูมาคู่กับ‘คอร์รัปชัน’

25 มิถุนายน 2014


เหยา หมิง อดีตดาราบาสเกตบอลชาวจีนรณรงค์ไม่กินหูฉลาม ที่มาภาพ : http://images.thaiza.com/34/34_20110923131134.jpeg
เหยา หมิง อดีตดาราบาสเกตบอลชาวจีนรณรงค์ไม่กินหูฉลาม ที่มาภาพ : http://images.thaiza.com/34/34_20110923131134.jpeg

การรณรงค์ไม่กินหูฉลามที่ทำอย่างต่อเนื่องของชาวโลก อาทิ เหยา หมิง อดีตดาราบาสเกตบอลชาวจีน กับเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เศรษฐีนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้นกรุ๊ป จับมือกันรณรงค์ไม่กินหูฉลาม หรือดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือองค์กรต่างๆ เช่น การรณรงค์โรงแรมต่างๆ นำหูฉลามออกจาก เมนู ของ change.org เป็นต้น

หูฉลาม (Shark Fin) คือ ครีบจากส่วนต่างๆ ของปลาฉลาม ซึ่งครีบของปลาฉลามนั้น มีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ฐานครีบและก้านครีบ ซึ่งเป็นกระดูกที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ เพื่อช่วยให้ปลาฉลามสามารถแผ่ครีบออกได้ ซึ่งส่วนที่นำมาทำเป็นหูฉลามนั้นคือก้านครีบ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การตากแห้ง ต้มจนเปื่อย และขูดหนังทิ้งจนเหลือแต่กระดูกอ่อน

เนื้อปลาฉลามมีกลิ่นคาวมาก เมื่อต้องการแค่ส่วนหูฉลาม ผู้ล่าจึงจับปลามฉลามขึ้นมาเพื่อเอาแค่ส่วนครีบ และโยนปลาที่ถูกตัดครีบแล้วทิ้งทะเลไป ปลาเมื่อไม่มีครีบก็เท่ากับว่าไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

มีความเชื่อกันว่า หูฉลามที่นำมาต้มจนเปื่อยและตุ๋นจนได้ที่จะกลายเป็นอาหารวิเศษในการบำรุงร่างกาย แต่คุณค่าในทางอาหารแล้ว หูฉลามหนึ่งชามมีค่าเท่ากับไข่เป็ดฟองเดียว เท่านั้น และมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมอามี (2012) ออกมาว่าครีบของฉลามมีสารพิษ หากมนุษย์บริโภคเข้าไปมากๆ เข้าอาจก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

รายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF: www.wwf.org) ระบุว่า มีปลาฉลามจำนวนกว่า 73 ล้านตัวถูกฆ่า 1 ใน 3 จากปลาฉลาม 500 สายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และในทุกๆ ปี และในปี ค.ศ. 2010 มีปลาฉลามกว่า 180 สายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2000 ที่ถูกคุกคามเพียง 15 สายพันธุ์ ในรายงานการจับปลาฉลาม การผลิต และการค้า เมื่อปี 2006 (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่) ระบุว่า ประเทศผู้จับปลาฉลามได้จำนวนมากอันดับแรกในปี 1990 คือ ไต้หวัน (จีน) อินโดนีเซีย และอินเดีย ตามลำดับ โดยประเทศไทยอยู่รั้งท้ายที่อันดับที่ 20 และในปี 2003 อันดับแรก คือ อินโดนีเซีย ไต้หวัน อินเดีย และไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 11 (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

อันดับประเทศที่จับปลาฉลาม

เว็บไซต์www.sharktruth.com รายงานว่า ราคาขายปลีกของหูฉลามตกอยู่กิโลกรัมละ 650 ดอลลาร์ หรือประมาณ 20,000 บาท และราคาหูฉลามวาฬตกอยู่กิโลกรัมละ 20,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 600,000 บาท หูฉลามจึงจัดว่าเป็นอาหารที่มีราคาแพง และเป็นอาหารหลักในช่วงงานเทศกาลการเฉลิมฉลองในวาระต่างๆ เช่น เทศกาลตรุษจีน งานแต่งงานในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และอีกหลายประเทศที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ เช่น สิงคโปร์ ไทย ซึ่งตามภัตตาคารหรูที่ขายอาหารที่ปรุงโดยหูฉลามในไทยนั้น มีราคาเริ่มต้นที่จานละ 500 จนถึงหลายพันบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การบริโภคหูฉลามก็กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีการลดปริมาณลงอย่างมาก ปัจจุบันได้มีการรณรงค์จากหลายภาคส่วนให้มีการลดการบริโภคหูฉลามมากขึ้น หลายๆ ประเทศและบริษัทเอกชนได้ออกมาประกาศงดนำเข้า งดขนส่ง และถอดเมนูที่ปรุงจากหูฉลามออก เพื่อแสดงให้เห็นจุดมุ่งหมายต่อความยั่งยืนต่อความหลากหลายในพันธุ์สัตว์

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กองทุนสัตว์ป่าโลก ฮ่องกง แสดงรายชื่อหน่วยงานที่ออกมาประกาศ ‘ไม่ซื้อ-ไม่ขายหูฉลาม’ ปัจจุบันมีกว่า 170 หน่วยงาน อาทิเช่น ธนาคารแห่งประเทศจีน (ฮ่องกง) บริษัท แคนนอน ฮ่องกง จำกัด ธนาคารฮั่งเส็ง (ฮ่องกง) บริษัท ฮ่องกงและจีนแก๊ส จำกัด เครือบริษัทไอบิส ฮ่องกง และบริษัท มิตซูบิชิอิเล็กทริค ฮ่องกง จำกัด

ที่มาภาพ : http://kurungabaa.files.wordpress.com/2011/10/shark-fin-soup.jpg
ที่มาภาพ : http://kurungabaa.files.wordpress.com/2011/10/shark-fin-soup.jpg

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ออกมาประกาศยุติการจำหน่ายหูฉลาม อาทิเช่น กลุ่มโรงแรมเพนนินซูลา (The Peninsula Hotels) โดยมีโรงแรมฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นบริษัทแม่ประกาศยุติการจำหน่ายหูฉลามในภัตตาคารของโรงแรมในเครือ ที่มีสาขาอยู่ที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ นิวยอร์ก ปักกิ่ง ชิคาโก เบเวอร์ลี ฮิลส์ โตเกียว มะนิลา และกรุงเทพฯ รวม 9 เมือง

กลุ่มโรงแรมสตาร์วูดโฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เวิลด์ไวด์ อินคอร์เปอเรชัน (Starwoods Hotels and Resorts) เป็นกลุ่มโรงแรมสัญชาติอเมริกัน ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก โดยเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ของทั้งโรงแรม รีสอร์ท สปา เรสซิเดนซ์ ภายใต้แบรนด์ทั้งหมด 9 แบรนด์ ในปี 2009 กลุ่มสตาร์วูดมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 992 แห่ง และมีพนักงานทั้งหมดกว่า 145,000 คน โดยจัดเป็นชาวอเมริกันประมาณ 26% ที่เป็นพนักงานในประเทศสหรัฐอเมริกา

แบรนด์หลักของโรงแรมสตาร์วูด คือ เชอราตัน โฮเท็ล แอนด์ รีสอร์ท (Sheraton Hotels and Resorts) ดับเบิลยู โฮเท็ล แอนด์ รีสอร์ท (W Hotels and Resorts) และหนึ่งในเครือโรงแรมสตาร์วูดในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท อะ ลักซูรี คอลเลคชั่น โฮเท็ล (Sheraton Grande Sukhumvit – A Luxury Collection Hotel Bangkok)ซึ่งกลุ่มโรงแรมสตาร์วูดประกาศว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะยุติการจัดซื้อหูฉลามในโรงแรมกว่า 1,200 แห่ง หรือ 1,300 ร้านอาหารทั่วโลก โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะลดการบริโภคหูฉลามให้หมดสิ้นลงในทุกร้านอาหาร

โรงแรมมารีนาเบย์ แซนด์ส (Marina Bay Sands) โรงแรมคาสิโนชื่อดังในสิงคโปร์ ประกาศเมื่อ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่าจะยุติการใช้หูฉลามในภัตตาคาร เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีตลาดการค้าหูฉลามใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากฮ่องกง นักรณรงค์รู้สึกยินดีกับการประกาศนี้ของมารีนาเบย์ ขณะเดียวกันก็เป็นกังวลเกี่ยวกับตลาดการค้าหูฉลามในอินโดนีเซีย ที่มีการส่งออก 640,000 ตัน/ปี

ที่มาภาพ : http://www.asiadailywire.com/wp-content/uploads/2013/03/ADW18MarSharkfin.jpg
ที่มาภาพ : http://www.asiadailywire.com/wp-content/uploads/2013/03/ADW18MarSharkfin.jpg

สายการบินฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ (Philippine Airlines) แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ส่งเสริมการบริโภคอาหารชนิดนี้ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เช่นเดียวกับอีกหลายสายการบินในเอเชียแปซิฟิก ที่ประกาศมาตรการดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

สายการบินโคเรียนแอร์ (Korean Air) และเอเชียนาแอร์ไลน์ (Asiana Airlines) ของเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์ห้ามขนส่งหูฉลามในเที่ยวบินขนส่งสินค้าตามแผนการณรงค์ต่อต้านการบริโภคหูฉลามทั่วโลกที่มีมากขึ้น โคเรียนแอร์ซึ่งมีบริการบินใน 45 ประเทศ แถลงยุติการขนส่งหูฉลามตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. เป็นต้นมา ส่วนเอเชียนาแอร์ไลน์ สายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ จะดำเนินการเช่นกัน แต่ยังไม่ระบุวันที่แน่ชัด

สายการบินการูดา อินโดนีเซีย ประกาศไม่ขนส่งหูฉลามในทุกเที่ยวบิน เช่นกัน นอกจากสายการบินที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีสายการบินอื่นๆ ที่ยกเลิก เช่น แอร์นิวซีแลนด์ (Air New Zealand) คาเธ่ย์แปซิฟิค (Cathay Pacific) เอมิเรตส์แอร์ไลน์ (Emirates Airlines) และสายการบินฟิจิ (Fiji Airways)

เมื่อปี 2554 สมาชิกนิติบัญญัติในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาได้ลงมติเห็นชอบในกฎหมายห้ามการ ซื้อ-ขาย และครอบครองหูฉลามซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของซุปยอดนิยมของชาวจีน นอกจากนี้ยังมีรัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น ฮาวาย (Hawaii) วอชิงตัน (Washington) โอเรกอน (Oregon) เกาะกวม (Guam) และหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (The Commonwealth of the Northern Mariana Islands) เท่ากับว่ากว่า 20% ในสหรัฐฯ ได้ แบนหูฉลามไปเรียบร้อยแล้ว

และประเทศบรูไน – กรมประมง กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติของบรูไน มีคำสั่งห้ามการจับฉลามทุกสายพันธุ์ในเขตน่านน้ำของบรูไน รวมไปถึงสั่งห้ามนำเข้าและค้าขายผลิตภัณฑ์จากฉลามทั้งหมด

จีน..การกินหูฉลามเท่ากับ‘คอร์รัปชัน’

เมื่อปี 2013 ที่ผ่านมาทางการจีนประกาศห้ามข้าราชการใช้งบรัฐจัดเลี้ยงหูฉลาม รังนก รวมถึงเหล้า ไวน์ เมนูจากสัตว์ป่าอื่นๆ และบุหรี่ราคาแพงด้วย มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรณรงค์ไม่ให้ข้าราชการใช้เงินงบประมาณฟุ่มเฟือย และเป็นการปราบปรามการทุจริต ถือเป็นการรักษาชีวิตของปลาฉลามไว้อย่างมากมายเลยทีเดียว

กฎใหม่นี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริม ‘ความตระหนี่’ ต่อต้าน ‘ความฟุ่มเฟือย’ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกด้วย ซึ่งกฎนี้ส่งผลต่อการค้าหูฉลามอย่างเห็นได้ชัด หลังจากอุตสาหกรรมในจีนเติบโตขึ้น หูฉลามถูกนำเสิร์ฟให้คนรวยหน้าใหม่

เมื่อนาย สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขามีข้อแนะนำต่อเพื่อนร่วมงานของเขาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง ‘ล้างตัว’ พวกเขาออกจากความละโมบ ไม่ว่าจะเป็น ‘เสือ’ หรือเป็น ‘แมลงวัน’ ไม่ว่าจะเป็นชั้นผู้ใหญ่ หรือเป็นชั้นผู้น้อยต้องถูกกันออกจากการทุจริต ความคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากการจับกุม พล.อ. สวี๋ ฉายโฮว่ (Xu Caihou) จากการทุจริต ซึ่ง พล.อ. เกษียณอายุผู้นี้ เป็นหนึ่งในผู้นำที่สำคัญที่มีอิทธิพลของจีน

วิธีการล้างบางของนายสี จิ้นผิง จริงๆ แล้วได้ผลหรือไม่ ในประเทศอย่าง ‘จีน’ เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าได้ผลหรือไม่ แต่พบรายงานหลายฉบับว่าการใช้จ่ายอย่างฟู่ฟ่าค่อยๆ ลดลง เช่น องค์กรสัตว์ป่าโลก (WWF) ประกาศว่าการค้าหูฉลามจากฮ่องกงสู่จีนแผ่นดินใหญ่ลดลงเกือบ 90% นี่อาจเกิดจากการกดดันขององค์กรทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย นอกจากนี้สำนักข่าวซินหัวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าในปี 2013 อุตสาหกรรมด้านอาหารของจีนเติบโตช้าลงที่สุดในรอบ 21 ปี และตลาดบนยังเผชิญกับความล้มเหลวอีกด้วย

ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02539/Xi-Jinping-china_2539711b.jpg
ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02539/Xi-Jinping-china_2539711b.jpg

และเมื่อเข้าสู่ปี 2014 หลังจากการบริโภคหูฉลามมาอย่างยาวนานของชาวจีน การค้าหูฉลามก็เริ่มอ่อนตัวลง การส่งออกหูฉลามจากฮ่องกงลดลงเกือบ 90% ปีที่แล้ว รายงานของรัฐบาลจากปี 2012 ระบุ ตลาดฮ่องกงเริ่มจมลงจาก 50-70% จาก 8,285 ตัน ลงมาที่ 5,412 ตัน

โรงแรมระดับ 5 ดาว 56 แห่ง ถูกลดระดับลงสู่โรงแรมระดับ 4 ดาว เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้ข้าราชการของจีนไม่รับการจัดเลี้ยงและการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะพบว่ามีการทุจริตอย่างมากจากการใช้งบประมาณไปใช้ทางด้านนี้

‘ดิอาจิโอ’ (Diageo) ซึ่งเป็นบริษัทโรงต้มกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกเผยว่าการขาย ‘ไป่จิ่ว’ (Baijiu) หรือเหล้าขาวจีนลดลงถึง 66% บริษัทผู้ผลิตเหล้าราคาแพงอื่นๆ เช่น แปร์โน ริการ์ (LVMH Pernod Ricard) และ เรมี่ กวงโทร (Rémy Cointreau) ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน รวมถึงการขายนาฬิกาสวิส (Swiss) ในจีนลดลงเช่นกันในปี 2013 ถึงแม้ว่าจะมีการรายงานว่าการขายกลับมาดีขึ้นในปี 2014 แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ข้าราชการทหารยังถูกห้ามใช้รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถบีเอ็มดับเบิลยู รถลินคอล์น รถคาดิลแลค รถโฟล์คสวาเกน รถเบนท์ลีย์ รถจากัวร์ รอปอร์เช่ รถแลนด์โรเวอร์ และรถออดี้ ข้อมูลจากเหล่าบริษัทผลิตรถยนต์หรูต่างๆ รายงานยอดขายที่ลดลง ทั้งนี้การจัดงานศพก็ต้องเป็นไปอย่างเรียบง่าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่เองก็ไม่กล้าจ่ายมากนัก

มีการประมาณการจากธนาคารแห่งอเมริกาว่า แผนการปราบปรามของนายสี จิ้นผิง จะมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งแสนล้านในปีนี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เรมี กวงโทร บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มระดับพรีเมียมของฝรั่งเศส ยอดขายตกลง 40% จากการปราบปรามการทุจริตในจีน

เนื่องจากการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นนี้รวมถึงการงดรับของขวัญและการใช้จ่ายไปกับสิ่งของหรูหรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแบรนด์หรูอย่าง ‘เรมี่ กวงโทร’ ทำให้บริษัทต้องตัดเงินปันผล 9.3%

เรมี กวงโทร ผู้ผลิต ‘Remy Martin Cognac’ หรือ เรมี มาแตง คอนญัก และเหล้าชนิดอื่นๆ ระบุ ผลิตภัณฑ์คอนญักคิดเป็น 80% ของรายได้บริษัท และรายได้ครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นมาจากจีนจากผลิตภัณฑ์คอนญัก Louis XIII ซึ่งขายกันขวดละ 2,500 ยูโร หรือประมาณ 112,500 บาท

โดยเมื่อเดือนที่แล้วทางบริษัทประกาศว่านโยบายต่อต้านความฟุ่มเฟือยของรัฐบาลจีนนั้น ส่งผลกระทบทางการเงินแก่บริษัทตลอดทั้งปี ซึ่งถือเป็นผลกระทบทางลบสำหรับการบริโภคสุราระดับพรีเมียม

เรมี กวงโทร และสินค้าหรูหราในจีนกำลังเผชิญกับคลื่นทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้มีการประเมิณไว้ว่า จีนทำรายได้ให้ หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วยรายได้ 35% ของการ์ตีเย (Cartier) และรายได้ 45% ของโอเมกา (Omega)

ผลวิจัยของบริษัท Bain and Company เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ประมาณการณ์ว่าตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีนจะเติบโตขึ้น 2%-4% ในปีหน้า ซึ่งลดลงจากอัตราการเติบโตประมาณ 19% เมื่อปี 2012

ที่มาข้อมูล

http://www.washingtonpost.com/blogs/worldviews/wp/2014/04/09/no-more-shark-fins-whiskey-and-prada-the-strange-signs-of-chinas-corruption-crackdown/

http://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/04/shark-fin-soup-sales-plunge-china-20144913514600433.html

http://www.bbc.com/news/business-27710460