ThaiPublica > คอลัมน์ > ปฏิวัติเพื่อปฏิรูป…ลองดูซักตั้ง

ปฏิวัติเพื่อปฏิรูป…ลองดูซักตั้ง

2 มิถุนายน 2014


หางกระดิกหมา

ตอนนี้ สำหรับหลายๆ คนที่ประท้วงรัฐประหารไปจนหมดฤทธิ์หมดเดชแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คงมีเพียงการภาวนาให้เผด็จการที่ประเทศได้มาเป็นเผด็จการประเภทที่เรียกว่า “เผด็จการผู้ทรงคุณ” หรือ benevolent dictatorเท่านั้น

เผด็จการผู้ทรงคุณนี้ จะแปลกจากเผด็จการอื่นตรงที่ ทั้งๆ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือก็จะไม่ใช้อำนาจนั้นเพื่อบำรุงตนเอง แต่ใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศ และทั้งๆ ที่ไม่ต้องรับผิดต่อใคร แต่ก็กลับมีหิริโอตัปปะพอที่จะไม่ทำเรื่องเลวทรามต่ำช้า จะว่าไปก็ดีเหมือนพระโพธิสัตว์ แม้ว่าออกจะหายากสักหน่อย เพราะตลอดทั้งศตวรรษที่ยี่สิบที่ผ่านมา คนที่โลกยอมยอมว่าเป็นเผด็จการผู้ทรงคุณ รู้สึกจะมีไม่ถึงสิบคนดี (เช่น ลี กวน ยู, ปาร์ค จุง ฮี, พอล คากาเม) อย่าว่าแต่หลายคนทรงคุณแล้ว สักพักก็เลิกทรงและกลายมาเป็นเผด็จการแบบปกติอยู่ก็มาก (เช่น ฟิเดล คาสโตร, โรเบิร์ต มูกาเบ)

กาลเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าเผด็จการคนหนึ่งๆ เป็นประเภทไหน สำหรับ คสช. เท่าที่ดูจากผลงานเบื้องต้นในเรื่องคอร์รัปชันก็เรียกว่าไม่เลวเลยทีเดียว เพราะมีทั้งเปิดเผยความเสียหายในโครงการจำนำข้าวที่ปิดกันมานาน ทั้งออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) ที่ถูกแกล้งดึงไว้อยู่ ทั้งยังทบทวนโครงการกลิ่นทะแม่งๆ ทั้งหลาย เช่น โครงการรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. หรือแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ได้คะแนนความทรงคุณอย่างแท้จริง นอกจากการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องๆ เฉพาะหน้าอย่างที่ว่ามานี้แล้ว สิ่งที่ คสช. ควรทำต่อไปก็คือการวางระบบเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในระยะยาวไปเลย เพราะนั่นหมายถึงว่า คสช. กำลังทำให้ปัญหาคอร์รัปชันมี “ระบบ” เข้ามาจัดการแทนที่จะต้องมารอทหารยึดอำนาจแล้วจัดการ หรือพูดอีกอย่างก็คือ คสช. จะช่วยให้ประเทศไม่ต้องพึ่งรัฐประหารเพื่อแก้คอร์รัปชันอีกต่อไป ซึ่งสำหรับประเทศไทย จะหาคุณูปการอะไรมาดีกว่าข้อนี้ก็ยาก แล้วสำหรับคณะปฏิวัติเอง จะหาอะไรที่แสดงความจริงใจได้ยิ่งกว่านี้ก็ยากเหมือนกัน

สำหรับระบบที่ควรวางในเรื่องคอร์รัปชันนั้น ในคอลัมน์นี้ได้เสนอไปหลายเรื่อง แต่เข้าใจว่าช่วงนี้ คสช. คงมีคนแห่เข้ามาเสนอขายโปรเจกต์ปฏิรูปสารพัดจนเลือกไม่ถูกอยู่แล้ว จึงขอคัดมาตรการที่เห็นว่าควรหยิบมาทำก่อนเพียงเรื่องเดียว กล่าวคือการเอา Construction Sector Transparency Initiative (CoST) หรือโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคการก่อสร้างเข้ามาใช้กับโปรเจกต์ก่อสร้างต่างๆ โดยภาครัฐในประเทศ

โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของภาคการก่อสร้างในประเทศได้อย่างดียิ่ง เพราะถ้าประเทศไหนสมัครเข้าร่วม CoST แล้ว ทางโครงการเขาก็จะเข้ามาช่วย “ตั้งไข่” จนกว่าประเทศนั้นจะสามารถสร้างระบบของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจกต์การก่อสร้างโดยภาครัฐที่ดีขึ้นมาได้ โดยดีในที่นี้ก็คือ หนึ่ง ข้อมูลที่เปิดนั้นได้มาตรฐาน ถูกต้องครบถ้วน และอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายๆ และสอง ระบบการเปิดเผยข้อมูลนั้นไปด้วยกันได้กับสภาพโครงสร้างทางกฎหมาย/สถาบันของประเทศ และสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

สิ่งที่ตามมาจากการวางระบบอย่างนี้ก็คือ พอข้อมูลปรากฏชัดและเข้าใจกับเข้าถึงได้ง่ายๆ แล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไม่ว่าราชการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม สื่อ หรือชาวบ้านร้านตลาด เห็นปุ๊บก็จะมองออกได้ไม่ยากว่าตนจะได้จะเสียอย่างไรจากโปรเจกต์ก่อสร้างหนึ่งๆ และถ้าเกิดเห็นความไม่ชอบมาพากล จะเอาเรื่องฟ้องร้องต่อก็ทำได้ไม่ยาก เพราะมีข้อมูลสนับสนุนพร้อมอยู่แล้ว โปรเจกต์ก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐที่เคยเป็นวงการลึกลับดำมืดและซ่อนการสวาปามโกงกินอย่างมหาศาลก็จะได้ออกสู่สายตาและการจับผิดของสาธารณชน ซึ่งน่าจะช่วยให้ดีกรีความอุจาดของคอร์รัปชันในวงการนี้ลดลงได้ไม่น้อย

ยิ่งกว่านั้น CoST นับว่าเหมาะกับโจทย์การปฏิรูปแบบเร่งด่วนของประเทศในขณะนี้มาก เพราะปกติงานปฏิรูปนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเร่งเอาแบบผัดผักบุ้งได้ กว่าจะทำก็ต้องมีทั้งการสำรวจตัวเองก่อนว่าสภาพของปัญหาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนหนักเบาเพียงใด และตนมีทรัพยากรหรือเครื่องมืออะไรที่จะใช้แก้ปัญหาได้บ้าง สำรวจตัวเองเสร็จก็ยังต้องมาทำการบ้านต่ออีกว่าถ้าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอแล้วจะหาแนวทางใหม่ แนวทางไหนจึงจะดีและเหมาะกับตน ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เราไม่มีเวลาให้เลย

แต่นั่นเองทำให้ CoST เป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างดี เพราะ CoST เขามีมาตรฐานอยู่แล้วว่าการจะเปิดเผยข้อมูลนั้นต้องทำถึงขั้นไหนและในรูปแบบไหนจึงจะได้ผล แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะยกมาตรฐานดังกล่าวเข้ามาแบบทื่อๆ เพราะวิธีของ CoST นั้นเขาจะเข้ามาตั้งคณะกรรมการร่วมสามฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ขึ้นในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการเสียก่อนโดยมีองค์กร CoST นานาชาติเป็นพี่เลี้ยง เพื่อจะได้หาแนวทางที่จะปลูกมาตรฐานของ CoST ภายใต้โครงสร้างและข้อจำกัดของประเทศนั้นๆ ให้ลงตัวที่สุด ยิ่งกว่านั้น ทำๆ ไปแล้ว องค์กรของ CoST นานาชาติก็จะยังช่วยเป็นผู้ประเมินให้อีกว่าสิ่งที่แต่ละประเทศได้ทำไปเพียงพอหรือไม่ เท่ากับเรามีคนที่จะช่วยตรวจการบ้านให้การปฏิรูปของเราไม่กลายพันธุ์หรือฝ่อไปกลางคันอย่างที่มักจะเกิดขึ้นกับการปฏิรูปทั้งหลาย

สิ่งที่เราต้องทำเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้ ก็มีแต่การให้ผู้ถืออำนาจรัฐบาลของเราในเวลานี้ แสดงความจำนงจะเข้าร่วมโครงการไปยังองค์กร CoST พร้อมกำหนดโปรเจกต์ที่จะใช้เป็นตัวเริ่มทดลองระบบก่อนเท่านั้น ซึ่งถ้านึกอะไรไม่ออก ก็เอาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 นั่นละเหมาะที่สุด

แต่รับรองว่าผลที่ได้จะไปไกลยิ่งกว่าสุวรรรณภูมิมากนัก เพราะถ้าการวางระบบการเปิดเผยข้อมูลนี้ทำที่สุวรรณภูมิแล้วเป็นผลดี การจะขยายผลไปสู่โปรเจกต์อื่นๆ ให้มันดีตามก็เป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในเมื่อ คสช. มีนโยบายจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งบก น้ำ และอากาศ การสร้างกรอบที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นมือยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

การปฏิวัติให้สำเร็จนั้นเมืองไทยเห็นมามากเกินพอแล้ว มีแต่การปฏิรูปนี่แหละที่อยากจะเห็นกับตาสักที

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 มิถุนายน 2557