ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เมื่อสัดส่วน “ครูต่อนักเรียน” บิดเบี้ยว โรงเรียนขนาดใหญ่และในกรุงเทพฯ ครูล้น แต่ “ขนาดเล็ก” กว่า 1 หมื่นแห่งครูไม่ครบชั้นเรียน ต้องแก้ปัญหากันเอง

เมื่อสัดส่วน “ครูต่อนักเรียน” บิดเบี้ยว โรงเรียนขนาดใหญ่และในกรุงเทพฯ ครูล้น แต่ “ขนาดเล็ก” กว่า 1 หมื่นแห่งครูไม่ครบชั้นเรียน ต้องแก้ปัญหากันเอง

2 มิถุนายน 2014


การขาดแคลนครูใน โรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหาที่พูดกันมานานแล้ว เนื่องจากนโยบายครู 1 คน ต่อเด็ก 20 คน เป็นผลทำให้ครูไม่ครบชั้นเรียน และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนในเมือง ทำให้ผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์มากพอและเห็นความสำคัญของการศึกษาส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนดังกล่าวแม้จะอยู่ไกลจากบ้านก็ตาม ด้วยเหตุนี้โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทที่มีจำนวนนักเรียนน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งลดลงอีก รัฐบาลในสมัยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 2555 จึงมีนโยบาย “ยุบ รวม โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 60 คน”

ประกอบกับปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลง ส่งผลให้ในอนาคตจำนวนนักเรียนก็จะลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปัจจุบันจำนวนลดลงเรื่อยๆ จาก 8,025,702 คน ในปี 2551 เหลือ 7,243,713 คนในปี 2556 ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนประชากรวัยเรียนที่ลดลง อีกส่วนหนึ่งเพราะไปเรียนโรงเรียนเอกชนมากขึ้น

จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ปี 2556 ประเทศไทยมีครูในสังกัดสพฐ.สังกัด 397,733 คน มีนักเรียนในสังกัด สพฐ. 7,243,713 คน และมีผู้บริหารจำนวน 35,305 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. รวม 31,021 แห่ง ทั้งนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังรอดำเนินการยุบโรงเรียนอยู่ 162 แห่งซึ่งยังมีครูประจำอยู่ 344 คน โดยจะมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้เสร็จตามแผนในปี

ทั้งนี้ถ้ายึดตามนโยบายครู 1 คน ต่อเด็กนักเรียน 20 คนแล้ว จากข้อมูลข้างต้นเด็กนักเรียน 7,243,713 คน ต้องมีครูจำนวน 362,186 คน ขณะที่ปี 2556 มีครูจำนวน 397,733 คน แบ่งเป็นครูผู้บริหาร 35,305 คน ครูที่สอน 362,428 คน ดังนั้นจึงมีครูส่วนเกิน 242 คน แต่โรงเรียนขนาดเล็กกลับขาดแคลนครู กล่าวคือมีครูไม่ครบชั้นเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานมาก (ดูกราฟฟิคที่ 4 และ 5 ประกอบ)

แหล่งข่าวจากผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กรายหนึ่งให้ความเห็นต่อสภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กว่าปกติโรงเรียนจะมีชั้นอนุบาล 2 ห้องเรียนและประถมที่1-6 รวมเป็น 8 ห้องเรียน แต่ด้วยจำนวนเด็กที่น้อยลงทำให้โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน จะมีครูไม่ครบชั้นเรียน ทำให้ครูต้องแก้ปัญหาในโรงเรียนเอง บางแห่งก็รวมชั้นเรียน เช่นป.1-ป.2-ป.3 เรียนชั้นเดียวกันแล้วเขียนหลักสูตรใหม่ หรือเรียนด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม หรือไม่ก็วิ่งสลับสอนเด็กให้ครบทุกชั้น หรือผู้อำนวยการโรงเรียนแทนที่จะทำงานบริหารก็ต้อมาช่วยสอน ขณะที่บางแห่งก็ใช้วิธีระดมเงินจากผู้ปกครอง ผู้บริจาคเพื่อเอาเงินที่ได้มาจ้างครูเพิ่มให้ครบชั้นเรียน เป็นต้น

“ตอนนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กจะเป็นตำแหน่งว่าง ไม่ค่อยมีใครอยากมาเป็นผู้อำนวยการ เพราะงานหนักมากต้องทำทั้งงานบริหารและงานสอน ขณะที่งบประมาณส่วนใหญ่จะไปให้กับโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีครูมากกว่านักเรียน ซึ่งมีทุกอย่างพร้อม ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนเกือบทุกอย่าง หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องยกเลิกนโยบายครู 1 คนต่อเด็ก 20 คน ถ้าเป็นโรงเรียนในชนบทที่เด็กจำนวนน้อย เมื่อหารออกมาก็จะได้ครูไม่ครบชั้นเรียน เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้การศึกษาตกต่ำลง ดังนั้นหากยกเลิกและกลับมาใช้นโยบายครูครบชั้นเรียนเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะทำให้เด็กไม่ต้องไปเรียนไกลๆ มีภาระค่าใช้จ่านเพิ่มขึ้น”(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ครูในสังกัดสพฐ.-1

สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แบ่งออกเป็น 7 ขนาด คือ โรงเรียนขนาดที่ 1 มีจำนวนนักเรียน 1-120 คน โรงเรียนขนาดที่ 2 มีจำนวนนักเรียน 121-200 คน โรงเรียนขนาดที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 201-300 คน โรงเรียนขนาดที่ 4 มีจำนวนนักเรียน 301-499 คน โรงเรียนขนาดที่ 5 มีจำนวนนักเรียน 500-1,499 คน โรงเรียนขนาดที่ 6 มีจำนวนนักเรียน 1,500-2,499 คน และโรงเรียนขนาดที่ 7 มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 2,500 คนขึ้นไป

สัดส่วนครูต่อนักเรียนโดยรวมในปี 2556 พบว่าครู 1 คนดูแลนักเรียน 18 คน ซึ่งดูเหมือนว่าสัดส่วนที่เหมาะสมแล้ว แต่เมื่อดูให้ลึกลงไปที่โรงเรียนขนาดต่างๆ ซึ่งแบ่งตามจำนวนนักเรียนในโรงเรียน พบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น ครูรับผิดชอบจำนวนนักเรียนมากขึ้น ดังนี้ 11.77, 14.24, 17.35, 19.35, 23.08, 25.02 และ 25.26 ตามลำดับโรงเรียนขนาดที่ 1 ถึง 7

ในกราฟฟิกที่ 2 ถ้าวัดจำนวนครูต่อนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก ดูเหมือนว่าจะครูหนึ่งคนดูแลเด็กได้เหมาะสม ข้อมูลดังกล่าวเป็นการนำจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดในแต่ละขนาดมาหารด้วยจำนวนครู แต่หากดูจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป พบว่า แม้ครูหนึ่งคนจะต้องดูแลนักเรียนมากกว่าครูในโรงเรียนขนาดเล็ก (ขนาดที่ 1) ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน แต่ก็มีจำนวนครูเพียงพอกับการสอนทุกรายวิชาในทุกระดับชั้น ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กนั้นมีปัญหาการ “ขาดแคลนครู” คือครูไม่ครบชั้นเรียนดูกราฟฟิกที่ 3 ครูต่อจำนวนห้องเรียน

สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กแบ่งออกเป็นอีก 6 ขนาดย่อยตามจำนวนนักเรียน คือ 1-20 คน, 21-40 คน, 41-60 คน, 61-80 คน, 81-100 คน และ 101-120 คน

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบระหว่างจำนวนครูและจำนวนห้องเรียนแล้ว พบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก 5 กลุ่มแรกมีจำนวนครูน้อยกว่าจำนวนห้องเรียน 1,723 คน, 8,584 คน, 10,131 คน, 7,883 คน และ 3,487 ตามลำดับ ส่วนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คนนั้น มีจำนวนครูมากกว่าห้องเรียน 175 คน

ในขณะที่โรงเรียนขนาดที่ 2 ถึงขนาดที่ 7 มีจำนวนครูมากกว่าห้องเรียนร้อยละ 20.87, 32.81, 30.96, 38.80, 53.80 และ 69.84 ตามลำดับ

และหากเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนครูต่อจำนวนเรียนในโรงเรียนเล็กพบว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีจำนวนครูเฉลี่ย 2.8, 3.7, 4.7, 5.7, 6.8 และ 8.3 ตามลำดับโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มย่อยจากน้อยไปหามาก นั่นหมายความว่าครูในโรงเรียนขนาดเล็กต้องสอนได้ทุกรายวิชา ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, ภาษาต่างประเทศ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี รวมถึงอาจต้องสอนนักเรียนทุกระดับชั้นร่วมกันด้วย

ทั้งนี้จำนวนครูดังกล่าวได้รวมครูฝ่ายบริหารทั้งผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียนไว้แล้ว ดังนั้นจำนวนครูผู้สอนจริงๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กจะมีจำนวนลดลงอีกอย่างน้อย 1 คน นั่นหมายถึงโรงเรียนบางแห่งมีครูผู้สอนในโรงเรียนเพียงคนเดียว

จำนวนครูในสังกัด สพฐ. ค่อยๆ ลดลงจาก 422,618 คนในปี 2549 เหลือ 397,733 คนในปี 2556 ซึ่งสามารถแยกเป็นผู้บริหารและครูได้ดังนี้ ในปี2549 มีผู้บริหาร 42,306 คน ครู 380,312 คน ต่อมาในปี 2556 มีครูบริหาร 35,305 คน แบ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน 28,411 คน รองผู้อำนวยการโรงเรียน 6,894 คน ในขณะที่มีโรงเรียนทั้งหมด 31,021 แห่ง มีครู 362,428 คน

นอกจากจำนวนครูที่แตกต่างกันในโรงเรียนขนาดต่างๆ แล้ว ยังมีความแตกต่างกันระหว่างจำนวนครูในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วย คือจากครูทั้งหมดในปี 2556 จำนวน 397,733 คน เฉลี่ยทั้งประเทศแต่ละจังหวัดจะมีครูประมาณ 5,165 คน หรือร้อยละ 1.3

โรงเรียนในสังกัด สพฐ. แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 22 เขต ซึ่งโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็น สพป. 1 เขต และ สพม. 2 เขต

ในปี 2556 เฉพาะในกรุงเทพฯ มีจำนวนครู 10,259 คนหรือเฉลี่ยร้อยละ 2.83 ของครูในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนและจำนวนครูที่มากกว่าครูในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนมัธยมมีครูรวมกัน 9,225 คน ใน สพม.1 จำนวน 4,517 คนและ สพม.2 จำนวน 4,708 คน ในขณะที่ สพม. เขตอื่นๆ มีครูไม่ถึง 3,000 คนยกเว้น สพม. เขต 12 (นครศรีธรรมราช-พัทลุง) ที่มีครู 4,373 คน ส่วนโรงเรียนประถมใน สพป. กรุงเทพมหานครมีครูเพียง 1,034 คน ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ สพป. อื่นๆ

ทั้งนี้ นอกจากจำนวนครูในกรุงเทพฯ จะลดลงตามจำนวนครูที่ลดลงทั้งประเทศแล้ว สัดส่วนจำนวนครูเฉลี่ยในกรุงเทพฯ เปรียบเทียบกับครูทั่วประเทศก็ลดลงด้วยจากปี 2549-2556 (ขาดข้อมูลปี 2553) คือร้อยละ 3.33, 3.23, 3.26, 2.87, 2.96 และ 2.83 ตามลำดับ

ปัญหาการขาดแคลนครูในวันนี้ของไทย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเพิ่มจำนวนครูในเชิงนโยบาย เนื่องจากสัดส่วนครูต่อนักเรียนในภาพรวมนั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่ต้องบริหารจัดการจำนวนครูที่มีอยู่ให้กระจายออกไปในต่างจังหวัดโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ให้โรงเรียนทุกแห่งมีครูครบชั้นและอย่างน้อย 8 คนครบตามสาระการเรียนรู้