ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปี 2555 คนไทย 66 ล้าน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.25 ล้านคน 197,881 ล้านบาท

ปี 2555 คนไทย 66 ล้าน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.25 ล้านคน 197,881 ล้านบาท

26 มิถุนายน 2014


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.(กลาง) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. (ขวา) มอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัด วันที่ 1 มิถุนายน 2557
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.(กลาง) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. (ขวา) มอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัด วันที่ 1 มิถุนายน 2557

“ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดอุปสรรค สนับสนุนการลงทุน อุดรูรั่วไหล ตอบสนองด้านงบประมาณ” เป็นนโยบายที่พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการคลัง วันที่ 1 มิถุนายน 2557 เพื่อจัดทำเป็นโรดแมปเศรษฐกิจ เสนอ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณา ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2557

โจทย์ปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ฝากให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังไปช่วยคิด ดูเหมือนจะอยู่ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของกรมสรรพากรเกือบทั้งหมด เพราะเป็นหน่วยงานหลักที่จัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุด อย่างในปีงบประมาณ 2557 กรมสรรพากรได้รับมอบหมายให้เก็บภาษี 1,890,550 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 69.55% ของประมาณการรายได้รวมก่อนหักคืนภาษีจำนวน 2,718,300 ล้านบาท ซึ่งการจัดการภาษีของกรมสรรพากรเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีจำนวนมาก ทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล บริษัท ห้างร้านกว่า 10 ล้านราย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มาตรการทางภาษีถูกนักการเมืองนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำประชานิยม โดยเฉพาะโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีนวัตกรรมลดหย่อนภาษีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างภาษีบิดเบือน ภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดในทางปฏิบัติไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น คนจนรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี ขณะที่คนรายได้ปานกลางมีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะเข้าไปใช้ “สิทธิหักลดหย่อนภาษี” ขณะที่คนรวยใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกันอย่างเต็มที่ ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective tax rate) ไม่เป็นไปตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด ยกตัวอย่าง คนที่มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป ประมวลรัษฎากรกำหนดให้เสียภาษีที่อัตรา 35% แต่ในทางปฏิบัติจริง กลุ่มนี้เสียภาษีเฉลี่ย 27.82% เท่านั้น

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยนำเสนออินโฟกราฟิก “ใครจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?” โดยใช้ฐานข้อมูลภาษีกรมสรรพากรปี 2553 ขณะนี้มีข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าสุดปี 2555 ดังนี้ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

จำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คนไทย 66 ล้านคน เสียภาษีแค่ 3.25 ล้านคน

หากดูจากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2555 ของกรมสรรพากร พบว่า คนไทยทั้งประเทศมี 66 ล้านคน มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ 91 ประมาณ 9.79 ล้านคน ไม่มายื่นแบบฯ 56.21 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก คนชรา พระ นักบวช คนพิการ และแรงงานนอกระบบ

ในจำนวนคนที่มายื่นแบบฯ กับกรมสรรพากรทั้งหมด 9.79 ล้านคน ได้รับยกเว้นภาษีเพราะรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปีจำนวน 6.54 ล้านคน เหลือคนที่มายื่นแบบและจ่ายภาษี 3.25 ล้านคน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กรมสรรพากร 197,881 ล้านบาท ดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่าคนไทยทั้งประเทศ 66 ล้านคน เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กรมสรรพากรจำนวน 3.25 ล้านคน

อย่างไรก็ตามถ้านำข้อมูลผู้เสียเงินได้บุคคลธรรมดา 3.25 ล้านคนมาวิเคราะห์ พบว่า กลุ่มผู้เสียภาษีรายใหญ่ของกรมสรรพากร คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาทต่อปี มีจำนวน 24,709 คน จ่ายภาษีให้กรมสรรพากร 69,414 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35.08% ของยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด หรือจ่ายภาษีเฉลี่ยคนละ 2.81 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันกรมสรรพากรปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% ช่วยลดภาระค่าภาษีให้คนกลุ่มนี้ประมาณ 5.6% หากนับรวมคนที่มีรายได้สุทธิต่อปีเกินกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 63,503 ราย เสียภาษี 94,875 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.95% ของยอดจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้กลุ่มรายได้สุทธิในช่วง 150,001-300,000 บาทต่อปี มีจำนวน 1.63 ล้านคน กรมสรรพากรเก็บภาษีได้แค่ 9,812 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 4.96% ของยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทางกรมสรรพากรเตรียมศึกษายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 3 แสนบาท เนื่องจากการยกเว้นภาษีเดิมให้เฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ถ้ามาตรการนี้ผ่านความเห็นชอบ กรมสรรพากรเหลือคนที่มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 1.62 ล้านคน และมีกลุ่มคนที่ยื่นแบบฯ แต่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 8.17 ล้านคน