ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.ปัญญา จารุศิริ” เก็บตกแผ่นดินไหว อ.พาน กับข้อสงสัยรอยเลื่อนมีพลังหลบซ่อนตัว

“ดร.ปัญญา จารุศิริ” เก็บตกแผ่นดินไหว อ.พาน กับข้อสงสัยรอยเลื่อนมีพลังหลบซ่อนตัว

29 มิถุนายน 2014


เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว (earthquake disaster) ที่เกิดเมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีศูนย์เกิดแผ่นดินไหว (earthquake focus) ขนาดกำลัง 6.0 Mw หรือขนาด 6.3 (MI) ตามมาตราริกเตอร์ ทางตอนเหนือของอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ทำให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นและใกล้เคียงตกใจและวิตกกังวลว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้คงจะเกิดอีก ความรู้สึกกลัวและหวั่นวิตกถึงการไหวสะเทือนจากแผ่นดินไหวครอบคลุมไปแทบทุกจังหวัดในภาคเหนือ และความรุนแรงของแผ่นดินไหวยังส่งผลต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ เช่น ตึกคอนโดมิเนียมมากกว่า 10 ชั้น

การเกิดแผ่นดินไหวอำเภอพาน-แม่ลาวในครั้งนี้ จัดเป็นการเกิดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกจากเครื่องตรวจวัดในรอบ 100 ปี

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า ผลการสำรวจพื้นที่ โดยเน้นเฉพาะจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวและโดยรอบในเบื้องต้น จากการสอบถามและตรวจสอบความเสียหายเป็นแห่งๆ เนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่ในทุ่งนา ทำให้ความเสียหายไม่รุนแรงนัก แต่เนื่องจากจุดศูนย์กลางอยู่ในระดับตื้นเพียง 7 กิโลเมตร ทำให้ความเสียหายมากกว่าที่คาดคิด ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นดิน

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.พาน-อ.แม่ลาวนี้เป็นผลจากการเคลื่อนตัวตามระนาบรอยเลื่อน (fault plane) กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นบ่งบอกว่าเป็นส่วนเหนือสุดของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา (fault zone) ประกอบด้วยรอยเลื่อน (fault) หลายรอยและรอยเลื่อนย่อย (fault segment) เล็กๆ อีกหลายรอย ศูนย์กำเนิดแผ่นดินไหวนี้อยู่ระหว่างปลายทางใต้รอยเลื่อนแม่น้ำลาว และส่วนปลายทางเหนือรอยเลื่อนพาน ซึ่งรอยเลื่อนทั้งสองวางตัวในทิศทางที่ต่างกัน หลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก (main shock) แล้ว ก็มีแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เกิดอีกหลายครั้ง

ไทยพับลิก้า : กลุ่มรอยเลื่อนพะเยาประกอบด้วยอะไรบ้าง

กลุ่มรอยเลื่อนพะเยามีหลายกลุ่ม ประกอบด้วย รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ลา รอยเลื่อนพาน รอยเลื่อนแม่สรวย รอยเลื่อนแม่ลาว

เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่จุดกำเนิดอยู่ตื้น (shallow focus earthquake) จึงทำให้การส่งผ่านพลังงานมาถึงพื้นผิวดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดการปรับตัวตามพลังงานที่มากระตุ้น ทำให้แผ่นดินสั่นไหวได้ การไหวสะเทือนดังกล่าวส่งผลให้เกิดรอยแตกร้าวของอาคารทั้งขนาดปานกลางและขนาดเล็ก และพื้นดิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล ได้รับความเสียหาย รวมทั้งคอสะพานหลายจุดพังทลาย บางสะพานใช้งานไม่ได้

ส่วนรอยแตกและรอยลึกบางแห่งมีขนาดถึง 120 เซนติเมตร รอยแตกร้าวนี้เป็นอีกบริบทหนึ่งที่พบเห็นอย่างชัดเจนบนพื้นดิน ซึ่งบางแห่งมีความยาวถึง 20 เมตร การปรับระดับของพื้นดินจากการไหวสะเทือนทำให้ถนนหลายสายแตกร้าว โดยเฉพาะบริเวณจุดเกิดเหตุและโดยรอบในรัศมี 20 กิโลเมตร

แต่หลักๆ เห็น 2 เรื่อง อันที่หนึ่ง ความแตกต่างระหว่างบ้านไม้กับบ้านตึก ที่พวกเรารู้อยู่แล้วว่าบ้านไม้ไม่พัง บ้านตึกพัง โดยเฉพาะบ้านตึกหลายหลังที่สร้างไม่สมประกอบ ไม่ถูกมาตรฐาน มันก็จะเดี้ยง ก็เกิดความรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมโบราณที่เราเคยใช้ อย่างการสร้างบ้านเรือนของไทยที่เป็นบ้านไม้ เสาหนาๆ น่าจะดีกว่า นั่นเกี่ยวกับเรื่องการสร้างบ้าน

กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา
กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา

เรื่องที่สอง เกี่ยวน้ำบาดาล เกิดอะไรขึ้น บริเวณใกล้ๆ จุดเกิดเหตุ สิ่งที่ปรากฏคือน้ำบาดาลหลายบริเวณจะแห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใกล้แม่น้ำ บ่อบาดาลจะแห้งเนื่องจากภาวะทรายผุดขึ้นมา กล่าวคือ เวลาเกิดแผ่นดินไหว มีชั้นทรายอยู่ข้างล่าง พอแผ่นดินไหว มันจะทำให้ชั้นทรายถูกอัด ชั้นทรายที่มีน้ำ ที่ชาวบ้านใช้อยู่ ทรายก็พุ่งมาตามบ่อบาดาล เป็นทรายผุดที่ดันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ลง ผลก็คือชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ ถามว่าเกิดเหตุแบบนี้เยอะไหม เยอะมากมายทีเดียว

แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ครั้งนี้ มันแย่ตรงที่ว่ามีแผนดินไหวหรือที่เราเรียกว่าอาฟเตอร์ช็อกที่มากมายทีเดียว จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ได้เกิดแผ่นดินไหวแล้ว 730 ครั้ง คือตั้งแต่ขนาด 5-5.9 ริกเตอร์ รวม 7 ครั้ง, 4-4.9 ริกเตอร์ จำนวน 49 ครั้ง, 3-3.9 ริกเตอร์ จำนวน 118 ครั้ง และน้อยกว่า 3 ริกเตอร์ จำนวน 576 ครั้ง โดยอยู่ลึกจากผิวดิน 1-1.5 กิโลเมตร ทำให้ประเมินว่าเปลือกโลกบริเวณนี้ยังไม่คลายตัวสู่สมดุลในทันที และอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนก็ได้

เพราะฉะนั้น ผลของแผ่นดินไหวทำให้ทรายพุ่งขึ้นมา มันทำให้บ้านโยก ยกตัวขึ้นมาได้ หากพุ่งขึ้นมาใต้บ้าน หรือไม่งั้นก็เป็นธรณีสูบ หากเกิดรอยแตกแถบบริเวณใกล้ๆ แม่น้ำ ที่เราเรียกว่าธรณีสูบมันทำให้บ้านเซ บ้านยุบ บ้านเอียง บ้านถูกดูด รถยนต์หากอยู่แถวนั้นก็ถูกดูดไปด้วย โชคดีที่แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่เกิดใหญ่โตมโหฬารมาก ธรณีสูบจึงเป็นมาตราส่วนขนาดเล็ก แต่มันเป็นผลต่อบ้านเรือนที่อยู่แถวบริเวณที่มีการยุบตัว หรือมีรอยแตก ข้างๆ แม่น้ำหรือตลิ่ง คือแม่น้ำแม่ลาว ผลคือบ้านเรือนก็จะพัง คนก็อาศัยไม่ได้ พื้นที่ก็ใช้การไม่ได้ มันจะเกิดปัญหาแบบนี้

มีอีกอันหนึ่งที่สำคัญ หลังจากเกิดทรายดูด หรือธรณีสูบ หรือแผ่นดินยุบแล้ว มันทำให้เกิดภาวะตลิ่งเกิดการกัดเซาะรุนแรงรวดเร็วมาก ตลิ่งของแม่น้ำมันแตกหักไปหมดเลย ซึ่งแม่น้ำแม่ลาวที่ตรงนั้นมีลักษณะที่ตรงมาก

ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ

ไทยพับลิก้า : นอกจากผลกระทบจากน้ำใต้ดิน แล้วแม่น้ำมีอะไรผิดปกติไหม

แม่น้ำไม่ตื้นเขิน แต่บางจุดตะลิ่งพัง มันก็จะเป็นตัวขีดขวางทางเดิน น้ำ แล้วจะทำอะไรต่อไหม ไม่รู้เหมือนกัน จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ที่เขาจะมาขุดลอก คอสะพานหลายอัน ซึ่งจะรู้เลยว่า สะพาน 2 สะพาน สร้างเหมือนกัน แต่อันหนึ่งพัง อีกอันไม่พัง ทั้งที่เป็นสะพานแบบเดียวกัน อยู่ใกล้รอยเลื่อนเหมือนกัน แต่มันพังไม่เท่ากัน เราต้องเดากันเองว่าไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า วิศวกรเป็นคนเซ็นรับ มันก็จะวุ่นวาย เราก็จะรู้ตอนนี้ว่ามันได้มาตรฐานหรือเปล่า สร้างโดยคนเดียวกันไหม ถ้าเป็นคนเดียวกัน ก็แสดงว่าฝีมือห่วยมาก อันหนึ่งใช้ได้ อันหนึ่งใช้ไม่ได้ หรือถ้าเป็นคนละบริษัท ก็ต้องเริ่มคิดว่าบริษัท ก. มันทำอะไรหรือเปล่าที่ทำให้คอสะพานมันพัง ส่วนใหญ่จะพังที่คอสะพาน เพราะมันติดกับพื้นดิน มันก็จะโยกไปโยกมาได้ง่าย

นอกจากนี้จากที่ลงพื้นที่พบว่าความร่วมมือของรัฐบาล ต้องให้เครดิตกับทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขาเข้ามาในพื้นที่เร็วมาก อพยพผู้คนอย่ารวดเร็ว และถูกต้องตามกติกาหลายจุด เช่น มีการอพยพผู้คนไปอยู่ตามโรงเรียน ไปกางเต็นท์อยู่ที่นั่นเลย เพราะกลัวภัยพิบัติต่างๆ ที่จะตามมา

แต่อันหนึ่งที่สำคัญคือเขื่อน ที่เป็นเขื่อนของกรมชลประทาน บางทีมันไม่ได้แตก เพียงแต่เห็นความเสียหาย เช่น มีรอยแตกผ่าไปใกล้ๆ สันเขื่อน ในบริเวณปีกของเขื่อน ซึ่งถามว่าอันตรายไหม หากแจ็กพอตจริงๆ มันก็อันตราย แต่เรื่องนี้ต้องศึกษาในรายละเอียด มันไม่พัง มันเป็นแค่ชำรุดและสามารถซ่อมแซมได้

ไทยพับลิก้า : มีเขื่อนอะไรบ้าง

มันทั้งหมดเลยที่อยู่ในบริเวณนี้ มีเขื่อนหลายเขื่อนที่อยู่ตามแนวแม่น้ำหลักๆ อยู่ตรงขอบระหว่างหุบเขากับตัวเขา

ไทยพับลิก้า : เรื่องการก่อสร้างต้องออกกฎอะไรอีกไหม

แน่นอน ต้องออกกฎ มันแรงขึ้นไหม เพราะข้อมูลของเราที่ทำให้กับกรมทรัพยากรธรณีถูกส่งไปที่กรมโยธาธิการ ก็จะดูว่าพื้นที่นี้เสี่ยงมากเลย ถ้าเข้าไปอยู่ เขาก็ต้องรีบจัดการ ก่อสร้างให้ดี เราต้องมีกฎระเบียบ สร้างให้มันถูกหลักกติกา ควรจะสร้างยังไง เช่น บ้านเป็นปูน 2 ชั้น จำเป็นเหลือเกินที่ต้องมีผนังกั้นห้อง แต่ก็จะมีคนบอกว่าบ้านทางเหนือไม่มีผนังกั้นหรอก เขาต้องทำให้ใต้ถุนโล่ง มันเป็นสไตล์ เขาชอบแบบนี้ ก็มีคนเสนอทางสถาปัตยกรรม ถ้าเป็นแบบนั้นก็เอาห้องน้ำมาอาบข้างล่าง มันมีฝากั้น 4 ฝาอยู่แล้ว ซึ่งพวกนี้เป็นตัวเสริมและตัวช่วยเวลาแผ่นดินไหวมาถึง เพื่อป้องกันไม่ให้มันโยกมากในกรณีปูน เพราะโยกแป๊บเดียวมันพังง่าย ถ้าไม่มีตัวผนังมายึด

ที่มาภาพ รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ. ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ

ถ้าเป็นบ้านไม้ มันก็มีความยืดหยุ่นในตัวเองอยู่แล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างห้องน้ำข้างล่าง สำหรับบ้านในอุดมคติ สถาปัตยกรรมไทยโบราณ ซึ่งพยายามจะหนีน้ำ ผมว่ามันเป็นอะไรที่ดี

วัวหายล้อมคอกเป็นสิ่งที่คนไทยชอบ ต่อไปทุกคนจะต้องสร้างให้มันถูกหลัก เพราะมันเคยเกิดแล้ว ทุกคนก็จะให้ความสำคัญ จ.เชียงใหม่จะเริ่มเป็นบริเวณที่น่าจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากกว่ากรุงเทพฯ แล้ว

ไทยพับลิก้า : แผ่นดินไหวคราวนี้ทำไมถึงรุนแรงมาก

ไม่มีใครบอกได้ว่าจะรุนแรงมาก เราก็ประเมินผิดด้วยซ้ำไป เราคิดว่าแผ่นดินไหวใหญ่ที่สุดมันจะประมาณ 5.5 ริกเตอร์ มันไม่มีทางถึง 6 ริกเตอร์ ด้วยซ้ำ แต่คราวนี้มัน 6.3 ริกเตอร์ มันเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด ที่เราเคยมีเครื่องมือวัดกัน แต่เครื่องมือการวัด …คือ ขนาดของแผ่นดินไหวเมื่อเทียบกับความยาวของรอยเลื่อนมันไม่สัมพันธ์กัน หมายความว่ายังไง ขนาดของแผ่นดิน โดยปกติแผ่นดินไหวใหญ่ รอยเลื่อนต้องใหญ่ ยาว หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าแผ่นดินไหวเล็กรอยเลื่อนต้องมีขนาดสั้น สิ่งที่เราเห็นก็คือ แผ่นดินของเรา เมื่อประเมินจากการใช้รอยเลื่อนแล้ว เราคาดหวังว่ามันไม่มีทาง 6 ริกเตอร์ แต่มันเกินมา 6.3 ริกเตอร์ แสดงว่าข้อมูลในเชิงลึกของรอยเลื่อนเองจริงๆ อาจจะต้องมาปรับแก้ไขในอนาคต เพราะมันสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของชาวบ้านมากกว่าที่เราคิด ตรงนี้เป็นอะไรที่มีความสำคัญ มันอาจจะบอกว่าเทคโนโลยีเราอาจจะมีไม่มากพอ หรือการทำรายละเอียดในเชิงภูมิประเทศยังไม่มากพอ ที่จะบอกว่ารอยเลื่อนอันนี้มันควรจะต้องยาวแบบนี้

แต่ขณะเดียวกัน รอยเลื่อนมันไม่ได้มีอยู่แค่นี้ เพราะมันมีกลุ่มของอาฟเตอร์ช็อกหรือกลุ่มแผ่นดินไหวตามมาเยอะมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แสดงว่าอะไร มันอาจจะซ่อนอยู่ใต้ดิน เรามีความจำเป็นที่จะใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับที่อยู่นอกเหนือกับข้อมูลภาพจากดาวเทียม อันนี้จะเป็นจุดสำคัญ

ไทยพับลิก้า : แล้วใครเป็นคนทำ

กรมทรัพยากรฯ ทำเสร็จไปแล้ว เพราะผมกำลังเสนอขอทุน คิดว่าในอนาคตน่าจะเป็นพื้นที่แรกที่ผมคิดว่าจะต้องทำต่อ ให้มันละเอียด เพราะว่าที่เราทำมา ก็อย่างที่บอกว่ามันเป็นรอยเลื่อนนอกสายตา เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับรอยเลื่อนพะเยาเลย เราให้ความสำคัญกับรอยเลื่อนแม่จันมากกว่า

ซึ่งรอยเลื่อนที่อื่นที่อยู่ขนานกับรอยเลื่อนแม่จันไปทางเหนือ เช่น รอยเลื่อนน้ำมา รอยเลื่อนน้ำเส็ง เขาเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงไปแล้ว ถ้าเคยจำได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหว ทางเหนือเมืองเชียงแสน เข้าไปทางพม่า อันนี้ก็เป็นเพื่อนของรอยเลื่อนแม่จัน และเมื่ออีก 2 ปีก่อนหน้านั้นอีก มันก็เกิดแผ่นดินไหวที่จีน ขนาดกำลังใกล้เคียงกัน ของพม่ารอยเลื่อนน้ำมา ประมาณ 6.9 ริกเตอร์ ซึ่งเยอะกว่าเรา แต่ความเสียหายเขาไม่ได้มาก เพราะไม่ได้เกิดในแหล่งชุมชน ของเราอยู่ใกล้ชุมชนมากเลย ในจีนความเสียหายก็เยอะเพราะอยู่ใกล้เขตชุมชน มีคนตายเยอะกว่าเรา พม่า 3-4 คน แต่ของเรา 1 คน แต่ความเสียหายมันเยอะกว่า 6.9 ริกเตอร์

รอยเลื่อนที่มีพลังในภาคเหนือ
รอยเลื่อนที่มีพลังในภาคเหนือ

ไทยพับลิก้า : ทำไมแผ่นดินไหวที่ตามมา ไม่มันเกิดใกล้ๆ ที่อำเภอพาน แต่ไปเกิดที่อื่น

แผ่นดินไหวมันไม่ได้ตามมาติดๆ ที่เดิม แต่ไปเกิดที่อื่น เกิดที่ปัว เกิดที่นาน้อย แถวจังหวัดน่าน เกิดที่แม่สรวย หมายความว่ามันมีโอกาสจะสะสมพลังงาน ซึ่งเป็นไปได้มากขึ้น เมื่อเกิดที่รอยเลื่อนพะเยา ทำให้รอยเลื่อนอันอื่นอาจจะถึงจุดที่พอได้รับแรงกระทบชิ่ง หรือโดมิโนนิดเดียว ซึ่งพอมันเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้ว มันก็จะเกิดแผ่นดินไหวตามมา

ไทยพับลิก้า : ทำไมรอยเลื่อนพะเยาอยู่นอกสายตา

เพราะรอยเลื่อนมันสั้นๆ เล็กๆ แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่สั้นอย่างเดียว มันตื้นด้วย การที่ตื้น ส่งพลังงานมาถึงผิวดินไวมากเลย ผิวดินก็สั่นระริกเลย พอผิวดินสั่นก็เกิดความเสียหายเยอะ ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นพอดีก็มีโอกาสตาย หรือทรัพย์สินอยู่ตรงนั้น โรงเรียนที่สร้างไม่ถูกมาตรฐานก็จะเสียหายมาก

ในแง่มาตรฐานการก่อสร้าง มีการออกกฎบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอาคารที่รับแรงแผ่นดินไหว ตั้งแต่ปี 2540 และที่เกิดสึนามิ เมื่อปี 2547 ก็เป็นตัวช่วยให้เร่งทำประกาศว่าต้องมีการสร้างตึกให้ได้มาตรฐาน และสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ ไม่ควรอยู่ใกล้ๆ รอยเลื่อน

แต่ขณะเดียวกัน การสำรวจรอยเลื่อนถูกต้อง 100% หรือยัง ก็ยัง เพราะอะไร เพราะเราประเมินไว้ว่าแผ่นดินของไทยจะไม่เกิน 6 ริกเตอร์ แต่ครั้งนี้ 6.3 ริกเตอร์ นั่นแปลว่าข้อมูลของรอยเลื่อนของเราต้องปรับปรุงให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อจะบอกชาวบ้านได้ถูกต้องว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พวกผมสนใจทำการวิจัย ในปัจจุบันก็มีหลายทีม มีมหาวิทยาลัยมหิดล มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะได้กระจายตัวไปทั่วประเทศ เราก็จะสามารถมีผู้รู้หลายๆ คน ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตเพื่อลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวได้

ไทยพับลิก้า : ต้องทำแผนที่รอยเลื่อนใหม่ทั้งหมด

ใช่ เฉพาะในกรณีนี้ที่เป็นการโครงการเร่งด่วน ก็คือต้องรีบทำรอยเลื่อนอันนี้อันใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มของรอยเลื่อนพะเยา ให้มันถูกต้องมากกว่านี้ เพราะเมื่อก่อนมันไม่ได้อยู่ในสายตา แต่ปัจจุบันมันมีความสำคัญแล้ว เพราะมันมี อาฟเตอร์ช็อกมากมายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งจริงๆ อาฟเตอร์ช็อกมันควรจะหยุดไปแล้ว ถ้ามันเป็นรอยเลื่อนนอกสายตา แสดงว่ามันต้องมีรอยเลื่อนตัวอื่นซุกซ่อนอยู่ แล้วเรายังหาไม่เจอด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน

ผมก็ยอมรับในส่วนหนึ่งว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับรอยเลื่อนพะเยามาก เมื่อเทียบกับรอยเลื่อนแม่จัน

ไทยพับลิก้า : อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่ารอยเลื่อนแม่จันน่าจะเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า

ตอนที่กรมอุตุนิคมวิทยาประกาศ เกิดแผ่นดินไหว 6 ริกเตอร์ จ.เชียงราย ผมสงสัยนึกว่าโดนแล้ว รอยเลื่อนแม่จัน เพราะถ้าเป็นรอยเลื่อนแม่จัน มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินถล่มด้วย เพราะรอยเลื่อนแม่จันจะมีแผ่นดินถล่มได้ง่าย

ตอนนั้นผมเตรียมประกาศเลยว่าแม่จัน พอออกมาไม่ใช่ จ๋อย ทำไมถึงอยากให้เป็นแม่จัน เพราะว่าชาวบ้านเขาไปหมดแล้ว อยากให้จุดที่เกิดแผ่นดินไหวเป็นจุดที่ไม่มีคนอยู่ด้วยซ้ำ แต่มันบอกไม่ได้อย่างนั้นหรอกครับ มันเก่งเกินไป

ไทยพับลิก้า : เครื่องมือที่ใช้วัดของไทยยังไม่มี

ไม่เชิงอย่างนั้น มันมีเทคนิคเยอะ เช่น เทคนิคบางอันสามารถถ่ายภาพเหมือนกับภาพจากดาวเทียม แต่เอาต้นไม้ออกไปหมด ถ้าเอาต้นไม้ออกหมดเราจะเห็นแนวที่มันประหลาดๆ เกิดขึ้น แนวนี้ก็คือแนวรอยเลื่อนนี่เอง มันก็จะช่วยเหลือเราเยอะพอสมควร แต่ภาพแบบนั้นมันแพงมาก แล้วเราไม่น่ามีปัญญาที่จะซื้อ แต่เราสามารถขอทุนวิจัยเพื่อจะมาซื้อพวกนี้ ถ้ามันโชคดี คือถ้าเขาให้เงินเราพอที่จะไปซื้อภาพพวกนี้ ระดับ 5-6 หมื่นบาทต่อภาพ ซึ่งมันอาจจะไม่คุ้มเท่าไหร่นัก คือจริงๆ มันคุ้ม

ไทยพับลิก้า : แผ่นดินไหวครั้งนี้ประชาชนตระหนักมากขึ้นหรือไม่

ประชาชนเริ่มปอดแหกมากขึ้น วิตกกังวลมากขึ้น เพราะแม้แต่คุณยายไม่นอนในบ้าน ทั้งที่เป็นบ้านไม้ ซึ่งไม่พังเลย บ้านน่าอยู่ด้วยซ้ำไป แต่แกกลัว แกก็นอนในเต็นท์ แถมยังนอนในรถอีแต๋น เพราะรู้สึกว่าอยู่สูง ไม่ถูกดูด ไม่ถูกธรณีสูบ

ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ
ที่มาภาพ รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ

ขณะที่หน่วยงานราชการก็มีการเฝ้าระวังกันมากขึ้น กรมทรัพยากรธรณี กรมน้ำบาดาล จะมีหลายกรมหลายกองมากที่ไปดู สำนักการสิ่งแวดล้อม กรมสาธารณสุข ไปกันหลายทีมมาก เพราะมันเป็นอะไรที่สำคัญเราต้องเก็บภาพข้อมูลเอาไว้ให้มากที่สุด

ไทยพับลิก้า : น้ำบาดาลจะขุดใหม่ได้ไหม

ชาวบ้านต้องขุดใหม่แน่นอน เพราะบ่อมันตันแล้ว เมื่อก่อนน้ำเต็มเลย แต่เดี๋ยวนี้มีทรายเข้าไปแทน ชาวบ้านก็สงสัยใครเอาทรายมาโปรย แต่ไม่ใช่ ผมชี้ให้ว่ามันเป็นลักษณะของดินภูเขาไฟ ซึ่งดินภูเขาไฟที่เป็นดินเย็น จะรูปร่างหน้าตาเหมือนภูเขาไฟแต่เล็กๆ อันนี้เกิดขึ้นใต้บ้าน ถ้าแรงมาก มันจะเป็นทรายผุด ถ้าผุดมากๆ บ้านก็จะพังง่าย นี่คือทรายผุด

ไทยพับลิก้า : มันจะเจอน้ำไหม

ต้องรอระยะเวลาสักพักหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : พื้นดินที่แตกจะกลับมาเหมือนเดิมไหม

อย่างนี้ในรูปก็จะเป็นรอยแตกระแหง มันต้องปรับพื้นที่กันใหม่ แต่ปรับยาก ต้องรอสักพัก ตอนนี้ไม่เสถียร

ไทยพับลิก้า : ตอนที่อาจารย์ลงไปชาวบ้านยังกลัวอยู่

ก็กลัวอยู่ มีคนแก่ก็ไม่อยากไปไหนแล้ว บอกว่าเขาจะอยู่รอดปลอดภัยรึเปล่า เขาก็กลัว

ไทยพับลิก้า : อาจารย์พูดถึงความเสี่ยง อย่างเชียงใหม่

ไม่เชิง เพราะว่าเชียงใหม่มีรอยเลื่อนไปถึงเชียงใหม่เอง เชียงใหม่ไม่ได้อยู่กับรอยเลื่อนอันนี้ หรือแม่ฮ่องสอนก็จะมีรอยเลื่อนของเขาเอง อุตรดิตถ์เขาก็มีรอยเลื่อนของเขาอีกต่างหาก เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ก็โดมิโน เราไม่รู้ว่าพลังที่ส่งผ่านจะไปเป็นฟางเส้นสุดท้ายของรอยเลื่อนอันไหน เราไม่มีทางรู้ โอกาสน้อยมาก มันจึงเป็นความยากสำหรับนักธรณีวิทยาที่รู้เฉพาะพื้นที่ แต่เราคาดเดาเรื่องเวลาที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ยาก ความลึกหรือหรือไม่ลึกของแผ่นดินไหวนั้นทายยาก แต่เราประเมินเรื่องของโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหว อีกสัก 50 ปี 10% มีไหมของรอยเลื่อนอันนี้ แบบนั้นเราพอจะทำนายได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลากว้าง

ไทยพับลิก้า : ที่สำคัญต้องทบทวนรอยเลื่อนและโอกาสที่จะเกิดใหม่ทั้งหมด

แน่นอนครับ ตอนนี้ทั้งประเทศมีอยู่ 4 คนในการทำวิจัย ทำงานที่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อน โดยปกติรอยเลื่อนมันต้องมีการพิสูจน์ในเชิงตัวเลข คือเราต้องพยายามหาอายุของการเลื่อนครั้งสุดท้ายให้ได้ การเลื่อนเหมือนถูขี้ไคล ถ้าผมถูขี้ไคล ผมก็จะได้ขี้ไคล ผมเอาไปหาอายุ มันจะได้เวลาที่ผมเกิดขี้ไคลขึ้นมา ซึ่งมันก็จะเป็นเวลารอยเลื่อน เราก็ทำกันอย่างนี้ แต่มันยากเย็นกว่าจะได้ตัวขี้ไคล มันถูกดินกลบ น้ำฝนชะลงมา หายไปหมดแล้ว มันจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเจอขี้ไคล แต่มันก็ต้องใช้วิธีอื่นช่วย ซึ่งนักธรณีวิทยาจะเป็นคนบอก ว่ามันได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ซึ่งอันนี้มันจำเป็น

สมมติว่าถ้าเกิดว่ารู้ว่าเมื่อไหร่ แต่มันต้องบอกถึงขนาดเท่าไหร่ด้วย ไม่ใช่ว่าครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว แต่ขนาดแค่ 3 ริกเตอร์ เฮ้อ มันกระจอก ไม่อยากมาคุยกับนักธรณีก็ต้องให้ความสำคัญว่าครั้งสุดท้าย แต่ว่าขนาดมันต้องใหญ่ๆ เช่น เกิน 5-6 ริกเตอร์ 5 ริกเตอร์ อยู่ในวิสัยของเรา แต่ปรากฏว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่ถลาง จ.ภูเก็ต หรือ 4 ปีที่แล้ว ที่ประจวบคีรีขันธ์ มาที่ระนอง มาตาก ที่แม่เมาะ เป็นแผ่นดินไหวตื้น แปลว่าความสามารถในการทำลายล้างสูง ถ้าตื้นในขนาดกำลังเท่าๆ กัน ตื้นมันจะน่ากลัวกว่าเพราะมันใกล้ผิวดิน

เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดในไทยในปีครึ่งเป็นแผ่นดินไหวตื้นทั้งหมดเลย แล้วมันทำให้คนไทยรู้สึกกลัว คนที่ถลางกลัวกันหมดเลย เขาก็รู้เลยว่ามันแรงกว่าที่คิดมาก เพราะข้างใต้ อ.ถลาง ขนาด 3 ริกเตอร์ ถ้ามัน 5 ริกเตอร์ มันเท่ากับระเบิดปรมาณู 1 ลูก 6 ริกเตอร์ คือ 10 ลูก 7 ริกเตอร์ คือ 100 ลูก อาจจะไม่ตรง 100% แต่ก็ใกล้เคียง ถ้าเรากลัวระเบิดปรมาณู เราก็ต้องกลัวแผ่นดินไหวด้วย

อย่างไรก็ตาม การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้คนที่อยู่ในตึกสูงในกรุงเทพฯ รับรู้การสั่นสะเทือน ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่ามีรอยเลื่อนมีพลังหลบซ่อนตัว (blind fault) อยู่โดยรอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือไม่ ซึ่งรอยเลื่อนองครักษ์ก็ปรากฏเป็นข่าวในสื่อทุกรูปแบบ ดังนั้นเพื่อสอบทานให้แน่ชัดว่ารอยเลื่อนดังกล่าวซ่อนตัวอยู่หรือไม่ วางตัวไปในทิศใด มีความต่อเนื่องมากเพียงใดกับรอยเลื่อนมีพลังรอยอื่นๆ หรืออยู่ลึกจากใต้ดินหรือไม่ ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางและรูปแบบ การวางผังเมืองหรือชุมชนและแนวทางในการประกันอุบัติภัย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ในอนาคต

รอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย
รอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : วันนี้ถ้าจัดอับดับรอยเลื่อนไหนที่มีพลังมากที่สุด

แน่นอน ยังเป็นรอยเลื่อนแม่จัน

ขณะเดียวกัน มันจะมีรอยเลื่อนอีกรอยหนึ่ง ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ยังไม่ได้จัดลำดับเอาไว้ให้ อันนั้นคือรอยเลื่อนองครักษ์ จะอยู่ประมาณสระบุรี แต่ผมมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้ ทางกรมทรัพยากรธรณีต้องบรรจุรอยเลื่อนนี้ไปด้วยแน่ๆ ถ้าบรรจุไว้แสดงว่ากรุงเทพฯ เราจะมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูงขึ้น เพราะมันจะมีรอยเลื่อนรอบตัวแล้ว

ไทยพับลิก้า : รอยเลื่อนองครักษ์พาดผ่านตรงไหนบ้าง

หมายถึงเขตพื้นที่ผ่านลพบุรี สระบุรี นครนายก และเข้ามาถึงปราจีนบุรี มันอยู่ตรงขอบที่ราบสูงโคราชพอดี อาจจะกระเทือนถึงกรุงเทพฯ บริเวณแถบนี้ กรุงเทพฯ ทางตะวันตกก็จะมี 2 รอยเลื่อนที่น่ากลัว คือ รอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ก็จะมี รอยเลื่อนองครักษ์ ทางด้านใต้ก็รอยเลื่อนระนอง คลองมะลุ่ย ซึ่งแผ่นดินไหวเกิดครั้งสุดท้ายมันเกิดในอ่าวไทย ถ้าบอกว่าอ่าวไทยมันปราศจากแผ่นดินไหวคงไม่ใช่แล้ว เพราะมันเคยเกิดครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปนี้เป็นภัยใกล้ตัว

ไทยพับลิก้า : มีการสรุปผลครั้งนี้ไหม

ในขณะนี้เราจะพยายามให้ความสำคัญกับรอยเลื่อนอันนี้มาก แต่สรุปไม่ได้เท่าที่ควร เพราะใช้เวลา 1 ปีในการประเมินรอยเลื่อน ว่ามันฝังตัวอยู่ข้างใต้จริงไหม

ไทยพับลิก้า : ต้องลงพื้นอีกไหม

ต้องลงไปอีก เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์

ไทยพับลิก้า : ถ้าอย่างนี้จะบอกประชาชนได้ยังไง รอยเลื่อนไหนที่ต้องระวัง

คือขณะนี้ต้องเอาตามกรมทรัพยากรธรณีเป็นหลักก่อน หน้าที่โดยตรงของเขาคือทำแผนที่รอยเลื่อนมีพลังของไทย เพียงแต่ว่ามันอยู่ในมาตรส่วนขนาดไหน โดยทฤษฎีเราอยากจะรู้ว่ารอยเลื่อนมันผ่านบ้านเราไหม ผ่านที่นาไหม เราจะได้หาทางป้องกัน ถ้ากลัวมากก็ขายที่ไปเลย แล้วไปอยู่ที่ใหม่

มันก็เป็นอุทาหรณ์ว่า รัฐต้องให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุด