ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าจำกัดความคิดเพียงเพราะไม่ถูกใจ เพียงเพราะไม่สอพลอ

อย่าจำกัดความคิดเพียงเพราะไม่ถูกใจ เพียงเพราะไม่สอพลอ

14 มิถุนายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

การถกเถียงออกความเห็น เปิดโลกทรรศน์เสมอ

ผู้มีวุฒิปัญญา ย่อมแยกแยะออกตามภูมิ ตามคติ อคติ ของแต่ละท่าน

ความสำคัญคือ ต้องมีช่องทาง ต้องมีเวที ให้มีการถกเถียง นำเสนอในความเชื่อของตัว และสุดท้าย ต้องมีกระบวนการตัดสินว่า ข้อตรรกะของใครควรจะนำไปปฏิบัติ

กระบวนการตัดสินที่ว่า มีอยู่สามทาง

ใช้มวลชนส่วนใหญ่ตัดสิน โดยยึดถือหลักแห่งความเท่าเทียมกัน เรียกว่ากระบวนการประชาธิปไตย

ใช้กลุ่มอภิชนคนดี เป็นผู้ตัดสินดูแล ซึ่งมีได้หลายแบบ เช่น ประชาธิปไตยครึ่งใบ พูลิตบูโร กระบวนการคณาธิปไตย

ใช้คนคนเดียว หรือคณะเล็กๆ มีอำนาจเด็ดขาด เป็นผู้ตัดสิน เรียกว่า กระบวนการเผด็จการ (สมบูรณาญาสิทธิราช ก็เช่นกัน)

อันไหนจะดีกว่าอันไหน ขึ้นอยู่กับบริบท จังหวะเวลา แต่ในระยะยาว ในโลกเวลานี้ และโดยตรรกะแล้ว วิธีแรกย่อมดีที่สุด (กระบวนการประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ต้องมีกระบวนการและกลไกอื่นอีกเยอะนะครับ)

แต่สิ่งสำคัญภายใต้ระบบทั้งสามคือ อย่างน้อยจะต้องให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ได้ มิเช่นนั้น ข้อมูลความคิดที่จะนำไปตัดสิน ย่อมบิดเบือน ย่อมไม่ครบถ้วน

ถ้าระบอบทั้งเผด็จการ ทั้งจำกัดเสรีภาพทางความคิด จำกัดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ แล้วสุดท้าย จำกัดสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ

ในระยะสั้นอาจมีประสิทธิผล รวดเร็วทันใจ

แต่นานไปย่อมบิดเบือน และเป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนที่ปราดเข้าห้อมล้อมสอพลอ ให้แต่ข้อมูลและความคิดที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มตนเท่านั้น

คสช. จำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจเพื่อปลดเงื่อนตาย เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง (เหตุผลที่ท่านประกาศ)

ท่านจำเป็นที่ต้องเข้าบริหารบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการชะงักงันเสียหาย

ท่านสัญญาว่าจะอยู่เท่าที่จำเป็น จะวางรากฐานกลับสู่กระบวนการ ประชาธิปไตยใหม่

มาถึงวันนี้ นาทีนี้ พวกเรายอมรับการกระทำของท่าน ยอมรับคำสัญญาของท่าน ยอมเชื่อความจริงใจของท่าน

ที่เราเป็นห่วงเป็นกระบวนการที่ท่านจะใช้นับแต่นี้ไป เพราะหนีไม่พ้นที่ท่านจะต้องเลือกกลุ่ม “อภิชนคนดี” เข้ามาช่วยท่าน

ระบอบแบบนี้ ย่อมล่อแหลมต่อการเกิดขึ้นของระบบ “พรรคพวกนิยม” (Cronyism) ชุดใหม่ (“ระบอบทักษิณ” ก็คือพรรคพวกนิยมภายใต้ประชาธิปไตยนั่นเอง ถ้าใครสนใจกลับไปอ่าน “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ที่ผมเขียนยาว 7 ตอน เมื่อเดือน ธ.ค. ในไทยพับลิก้าครับ)

อันว่าพรรคพวกนิยมนั้น หลักการมันมีแค่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนที่เป็นพรรคเป็นพวกได้เปรียบคนที่ไม่ใช่พรรคพวก (ไม่มีอะไรหล่นจากฟ้า มันต้องแก่งแย่งชิงกัน) ดังนั้น ในระบอบนี้ จะมีลักษณะตามมาสองอย่าง

อย่างแรก ผู้มีอำนาจจะถูกห้อมล้อมสอพลอ กรูเข้าพินอบพิเทา จากคนที่หวังได้ประโยชน์จากอำนาจท่าน ส่วนคนดีอื่นๆ ที่ไม่ได้หวังประโยชน์ย่อมวางเฉยจนถูกเบียดออกนอกวงในที่สุด (การสอพลอ พินอบพิเทา เป็นต้นทุนที่สูงนะครับ)

อย่างที่สอง ผู้ที่สามารถห้อมล้อม เข้าถึงวงในได้ ก็จะพยายามกีดกันคนอื่นๆ ใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มอื่น ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าท่านผู้มีอำนาจมีพรรคพวกมากไป จะทำให้ประโยชน์ที่จะต้องไปเอาเปรียบเขามานั้นถูกแบ่งปันไป พรรคพวกนิยมจะหย่อนประโยชน์แน่ ถ้าคนที่เป็นพวกมากกว่าคนที่ไม่ใช่พวก (ระบอบทักษิณก็ถึงจุดตายด้วยเหตุผลนี้แหละครับ)

ลองคิดดูถึงคนดี ที่ประโยชน์ก็ไม่ได้หวัง แถมยังถูกกีดกันใส่ร้ายตลอดเวลา มีหรือจะอยู่ได้ทน

ทั้งหมดที่ว่ามา เป็นจุดอ่อนของระบอบ “คณาธิปไตย” ที่ทำให้ผู้มีอำนาจพังมานักต่อนัก ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยความจริงใจแค่ไหน แต่ก็จะเกิด “สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ” ได้อย่างรวดเร็ว ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าท่านได้อ่านข้อความนี้ แล้วเหลียวดูสภาพรอบตัวท่านขณะนี้ ท่านจะเข้าใจได้โดยพลัน (ถ้าท่านเข้าใจว่า เหล่าผู้คนที่กรูเข้ามา ล้วนเป็นคนดีที่หวังจะเข้ามารับใช้ชาติทุกผู้คน ผมจะเริ่มสวดมนต์ให้กับประเทศไทย)

ดังนั้นถึงท่านจะมั่นใจในวิจารณญาณการเลือกคน การดูคน การคุมคน ของท่าน ถึงท่านจะมั่นใจในอัจฉริยะ การแยกแยะผิดถูกชั่วดี ของตัวท่านเอง สักแค่ไหน

ถึงท่านจะรู้สึกหงุดหงิดกับการวิพากษ์วิจารณ์สักแค่ไหน (ซึ่งบางครั้งก็มีอคติ ไร้สาระจริง)

ขอเพียงว่า ท่านจะยังเปิดโอกาสให้มีกระบวนการแสดงความคิดเห็น กระบวนการที่จะส่งผ่านข้อมูลในสังคม อย่าฟังแต่เสียงของกลุ่มคนที่ท่านคิดว่า เป็น “อภิชนคนดี” ที่ปราดเข้าห้อมล้อมท่าน

เผด็จการที่ไม่ฟังใครนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์ไปสู่ “เผด็จการทรราชย์” มากกว่า “เผด็จการผู้ทรงคุณ” ในที่สุดครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 13 มิถุนายน2557