ThaiPublica > เกาะกระแส > NBTC Policy Watch ชี้การออกใบอนุญาตให้ไทยคมต้องผ่านการประมูล เสนอต้องเปิดน่านฟ้า

NBTC Policy Watch ชี้การออกใบอนุญาตให้ไทยคมต้องผ่านการประมูล เสนอต้องเปิดน่านฟ้า

20 มิถุนายน 2014


นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากการนำเสนอรายงาน‘การผูกขาดในกิจการดาวเทียมสื่อสารไทย: บทบาทของ กสทช. ประสบการณ์ต่างประเทศ และแนวทางการเปิดเสรี’ โดยนายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 5 ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ โดย โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch)

วงเสวนา ‘บทบาทของ กสทช. ในการให้ใบอนุญาตและกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสาร: ข้อพิจารณาด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์’ ประกอบไปด้วย นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร ดร.อมรเทพ จิรัฐิติเจริญ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผศ. ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ ทั้งนี้ เนื้อหาของวงเสวนามีดังนี้

พรเทพ: มีประเด็นคำถามเกิดขึ้น 2-3 ประเด็น นั่นคือขอบเขตอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ว่าจะสามารถอนุญาตให้ไทยคมประกอบกิจการดาวเทียมในขณะที่ยังไม่มีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ กทค. สามารถขยายการให้บริการดาวเทียมดวงใหม่ภายใต้การอนุญาตเดิมได้หรือไม่ และการให้บริการเช่าสัญญาณดาวเทียมเป็นกิจการที่ต้องประมูลตามมาตรา 45 หรือไม่ รวมถึงนโยบายกำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น นโยบายเปิดน่านฟ้า

ธานีรัตน์: กทค. อนุญาตให้ไทยคมประกอบกิจการดาวเทียมที่ยังไม่มีออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ ตอบเลยว่าได้ เพราะในกฎหมายบอกว่าตราบใดที่กฎหมายใหม่ยังไม่ออก ก็ต้องใช้กฎหมายเก่าต่อไป

ถามว่ากฎหมายใหม่จะใช้ได้เมื่อใด ตอนนี้ร่างประกาศเสร็จแล้ว ส่งให้สำนักงานไปตามกระบวนการทำประชาพิจารณ์ คือ ต้องเสนอ กทค. และเสนอต่อ กสทช. อนุมัติแล้วต้องเข้าเว็บไซต์ 30 วันถึงจะประชาพิจารณ์ได้ คิดว่าภายในกลางเดือนสิงหานี้

ข้อ 2 การให้บริการของไทยคมถือเป็นการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่และต้องประมูลหรือไม่ ฟันธงไว้เลยว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ของประเทศไทยไม่ต้องประมูล พูดแบบนี้ในที่ประชุมหลายครั้งแล้ว ไม่ต้องถามกฤษฎีกา กฎหมายฉบับนี้ออกมามาตรา 45 ว่าต้องประมูลคลื่นความถี่ ดาวเทียมเป็นส่วนหนึ่งของกิจการโทรคมนาคมดังนั้นจะต้องประมูล แต่ กสทช. ไม่ได้ดูแลวงโคจร ถ้ากระทรวงไอซีทีจะประมูลก็เป็นเรื่องของกระทรวงไอซีทีไป แต่ถ้าถามว่าประมูลหรือไม่ ขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ เลยว่าไม่ต้องประมูลตามมาตรา 45

ข้อ 3 กทค. อนุญาตไทยคมขยายการให้บริการดาวเทียมดวงใหม่ภายใต้ใบอนุญาตเดิมได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ ตามท้ายใบอนุญาตข้อ 6 ราชการเราทำงานตามตัวอักษร ตอนนี้ไทยคมแปดเตรียมจะยิงแล้ว อีกสองอาทิตย์ข้างหน้าเพื่อการพัฒนาประเทศ การบริหารกิจการดาวเทียมในประเทศไทยมีกฎหมายกฎระเบียบและมีองค์กรอยู่ 2 องค์กรที่เกี่ยวข้องประเทศอื่นมีองค์กรเดียว แต่บ้านเราแยกเป็นสองหน่วยงาน เดิมทีอยู่ภายใต้กระทรวงเดียว คือกระทรวงคมนาคม แต่ต่อมาแยกเป็นกระทรวงไอซีทีกับกรมไปรษณีย์โทรเลข พอมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยุบกรมไปรษณีย์โทรเลข และตั้ง กสทช. เป็นองค์กรอิสระ

พอเกิด กสทช. ขึ้นมาก็มีการแยกลงลึกอีก นำไปสู่การประมูลคลื่น ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการร่าง ตอนนั้นไม่อยากจะไฟท์มาก เพราะว่าจะเกษียณอยู่เฉยๆ ดีกว่า แต่พรหมลิขิตทำให้กลับมาอยู่สำนักงาน กสทช. เป็นที่ปรึกษาอีกครั้งหนึ่ง

ในกระบวนการยื่นเอกสารจองสิทธิ์การใช้วงโคจรต่อไอทียู (International Telecommunication Union: สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีในการเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.องค์กรฯ ปี 2553 (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) มาตรา 75 เขามีสิทธิ ดังนั้นที่บอกว่าไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลไทยนั้นขอย้ำซักซ้อมความเข้าใจว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยครับ

สิทธิการให้การประการกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการปี 2544 มาตรา 7 การใช้คลื่นความถี่เพื่อควบคุมดาวเทียม ถ้าไปที่รัตนาธิเบศร์จะเห็นจานดาวเทียมที่ทำการของไทยคมตัวใหญ่ๆ ดึงให้ดาวเทียมอยู่กับที่ ควบคุมการใช้คลื่น อันนี้เป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมปี 2549

ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งคือการใช้ความถี่เพื่อบริการโทรคมนาคม (Sattellite Provider) ภายในราชอาณาจักรไทย จะต้องประมูล นี่เป็นหน้าที่ของ NBTC เช่นกันตามมาตรา 45 และถามว่าอาณาเขตจากไทยขึ้นไปบนฟ้ากี่กิโลเมตร ก็เป็นไปตามหลักของสหประชาชาติคือหนึ่งร้อยกิโลเมตร

ถามว่าดาวเทียมที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นอาณาจักรของใคร ก็เป็นราชอาณาจักรของมนุษย์ชาติ อันนี้เป็นหลักของไอทียู และขณะเดียวกันพูดถึง Open Skies Policy (นโยบายเปิดน่านฟ้า) ผมเห็นด้วยว่าเพื่อลดความผูกขาด แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะทำนโยบายเปิดน่านฟ้าหรือไม่ ดาวเทียมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง ประเทศอื่นเขาปิดหมด ในเออีซี (AEC) มีข้อตกลงหลายเรื่องแต่ยกเว้นเรื่องดาวเทียม ฝรั่งที่มาจากไอทียูทำงานอยู่ที่ กสทช. ก็บอกว่าอียูก็ยังไม่ชัดเจน แต่ในอาเซียนมีข้อตกลงว่าทุกเรื่องการคงการค้าออกไปยกเว้นดาวเทียม

Landing Right (สิทธิในการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม) ที่บอกว่าใช้ดาวเทียมไทยเท่านั้น อันนี้จริง มีหนังสือมาจากสำนักงาน กทช. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ลงวันที่ 9 กันยายน 2552 ก่อนที่ กสทช. จะบอกว่าให้ใช้ดาวเทียมไทยคมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้และต่อมามีการถ่ายทอดนางงามถ่ายทอดฟุตบอล กสท.ไปถ่ายทอด ก็ต้องมาที่กระทรวงให้กระทรวงอนุมัติก่อน ถึงจะให้ กสทช. เปิดไฟเขียว นั่นเป็นกระบวนการทำงาน

ขณะเดียวกัน กระทรวงไอซีทีเองเรียนว่า หากหน่วยงานหรือเอกชนหรือองค์กรต่างๆ จะขอถ่ายทอด ขอให้ กสช. (กองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) อนุมัติ กระทรวงอนุมัติ และกระทรวงไอซีทีเห็นชอบแล้ว คือ

1. เป็นการใช้ในภารกิจของราชวงศ์ บุคคลสำคัญ ภัยพิบัติของชาติ ความมั่นคงของชาติ
2. เป็นการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา มหาวิทยาลัย ถ้าใช้ระยะสั้น เช่น ช่วงฟุตบอลโลกหรือว่าประกวดนางงาม 3-7 วัน ถือว่ากระทรวงอนุมัติหมด

มีคณะกรรมการกำหนด เพื่อจะพิจารณากำหนดแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรี เราคิดกันมาแล้วกับการเปิดเสรี แต่ว่าเนื่องจากมีช่วงหนึ่งไม่สามารถจะดำเนินการได้ ปัจจุบันมันตกค้างกันอยู่อย่างนี้

หวังว่าวันนี้ประเทศไทยอยู่ในยุคที่ว่าคืนความสุขให้ประชาชน แล้วก็กฎหมายต่างๆ ถ้าเกิด กสทช. อยากจะแก้ไขกฎหมายไม่ว่ากฎหมายเล่มนี้ หรือ พ.ร.บ.ปี 2544 หรือจะรวมเรื่องดาวเทียมให้เป็นภารกิจของ กสทช. ทั้งหมด และดึงอำนาจตัวแทนรัฐบาลไทยมาอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียว เป็นเรื่องที่ทำได้แต่ต้องมีคนตั้งเรื่องขึ้นไป

ดังนั้นผมเห็นด้วยควรจะมีองค์กรเกี่ยวกับเรื่องอวกาศของประเทศ ตั้งแต่ Satellite TV (การส่งโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม) Earth Station (สถานีภาคพื้นดิน) เรื่องของ Satellite Operators (ผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียม) ควรจะเป็นหน่วยงานเดียวกัน กทค. ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับ TV Satellite ได้เพราะเป็นเรื่องของ Broadcast (การออกอากาศ)

การยื่นขอวงโคจรจากไอทียูก็ควรจะเป็นหน่วยงานเดียวกัน ไม่ใช่ว่ากระทรวงทำอย่างหนึ่ง กสทช. ทำอีกอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายกฎระเบียบ การลดการผูกขาด การให้เปิดน่านฟ้า การให้มี Landing Right ตรงนี้ผมคิดว่าถึงเวลาเรามีความสามารถจะแก้ไขได้

และเราควรจะมีกฎหมายในขั้นพระราชบัญญัติเรื่องอวกาศแห่งชาติ การอวกาศสื่อสาร ดาวเทียมสื่อสาร ระหว่างประเทศให้เป็นกิจลักษณะ เพื่อให้เป็นเรื่องเป็นราวเดียวกัน ตรงนี้ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกัน ในขณะเดียวกันเรื่องดาวเทียมเป็นเรื่องของการเจรจา เป็นข้อตกลงเป็นข้อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ประเทศไทยเราเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ เราเองคงจะคิดได้แค่ว่าพอถึงในขั้นเวทีสหประชาชาติ เราคงต้องใช้ความสามารถในการเจรจา ประเด็นสำคัญที่สุดของดาวเทียมคือเรื่องของการได้มาของเอกสารสิทธิ์ตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นประสานงาน ขั้นประกาศ ซึ่งใช้เวลา 2-7 ปี ถึงได้ยิงดาวเทียม ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นประสานงาน จะต้องนั่งโต๊ะเจรจากับพี่เบิ้มที่มีดาวเทียมใหญ่ๆ อยู่ ดังนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจ จะต้องเอาผู้ที่ทำงานด้านนี้มาคุยกัน หลายๆ เรื่องจะต้องค่อยๆ ดำเนินการไป หลายๆ เรื่องมุมมองก็ต่างกัน

แต่ก็อยากทำความเข้าใจว่าเรื่องดาวเทียมเป็นเรื่องเพื่อประเทศชาติ เป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ เป็นเรื่องของความมั่นคง สำหรับประเทศอื่นๆ เขาค่อนข้างจะกีดกันเรื่องดาวเทียม แต่ประเทศไทยเราค่อนข้างจะเปิดเสรี หลังจากนั้นพอจะทำอะไรขึ้นมาก็จะกระทบกับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาจัดเวทีอย่างนี้เป็นเรื่องดี เพื่อให้ความรู้กับนิสิต นักศึกษา

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากมหาวิทยาลัย ถ้าจะจัดเวทีอย่างนี้ต้องเชิญกระทรวงไอซีที และต้องเชิญโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเป็นรายเดียวและเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย นั่นคือไทยคมต้องเข้ามา จะได้เข้าใจว่าการได้มาของ Satellite Network Filing (การได้มาซึ่งสิทธิในวงโคจร) มันยากอย่างไร การเจรจาต้องใช้เวลาเท่าใด และหากพูดถึงการประมูล ผมเน้นย้ำว่าประมูลไม่ได้

ในฐานะทำงานเรื่องดาวเทียมมา ถามว่าประเทศอื่นๆ อย่างเช่น บราซิล ทำการประมูลได้อย่างไร ประเทศตองกานำสิทธิมาขาย เม็กซิโกก็นำมาขายด้วยเหมือนกัน เพราะประเทศเขาเอกชนไม่มีเงินมายิงดาวเทียม จึงประกาศทั่วไปว่าใครก็แล้วแต่จะยิงดาวเทียมไปที่ ละติจูดตรงนั้นตรงนี้ก็มาบอก มีเงินเท่าไหร่ก็มาบอก ประเทศเหล่านี้เขาหาเงินเท่านั้นเอง

ประเทศไทยจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องของรัฐบาล ตราบใดที่รัฐบาลไม่ขยับ ใครขยับก็ติดคุก ผิดแน่ แต่เรื่องประมูลผมขอย้ำ และก็ไปเอาการศึกษาจากประเทศอื่นๆ มา ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งก่อน ถึงมาบอกได้ว่าเขาทำอย่างไรนะครับ

อมรเทพ: มีหลายๆ คนตั้งคำถามถึงความชอบของกฎหมายในการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแล มันคงไม่มีอะไรที่ต้องพูดคุยมากหากไม่มี พ.ร.บ.องค์กรฯ ปี 2553 มาตรา 45 บอกว่าต้องประมูล พอต้องประมูลก็จะมีคำถามว่า ผู้ให้บริการที่เช่าช่องสัญญาณ หรือว่าผู้ให้บริการดาวเทียม ใครจะต้องประมูล ซึ่งมีผลต่อตลาดทั้งสิ้น

ลักษณะของกิจการดาวเทียมในแง่ของการขอสิทธิ์วงโคจร ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพ กสทช. มีอำนาจแค่ดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสาร แต่ดาวเทียมมีการใช้งานหลายด้าน ทั้งด้านอุตุนิยมวิทยา หรือทางด้านความมั่นคง หลายส่วนอยู่นอกเหนืออำนาจของ กสทช. ซึ่งอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่ที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้

จริงๆ แล้วไอทียูเป็นเหมือนคนกลางที่คอยประสาน ไม่มีใครเป็นเจ้าของในท้องฟ้าหรืออวกาศ ใครจะใช้ตรงไหนระหว่างประเทศต้องมีการคุยกัน วางได้หลายมุม ถ้าไม่คุยกันก็อาจจะวางทับซ้อนกัน มีการรบกวนกัน ก็ทำให้ระบบทั้งระบบมันล้มลงได้ ไอทียูในฐานะองค์กรระหว่างประเทศก็ทำหน้าที่ประสานให้และเป็นผู้จด ไม่ใช่การรับอนุญาต เป็นการตกลงระหว่างประเทศ

แล้วสิทธิ์ความถี่เป็นของเราหรือเปล่า

ขอทำความเข้าใจว่าระบบสื่อสารดาวเทียมเป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟ คลื่นเดินทางเป็นเส้นตรง ไม่เหมือนกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คลื่นเดินออกไปทุกทิศทุกทาง เพราะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เมื่อมีคนใช้หนึ่งคน สถานีอยู่จุดหนึ่งก็ส่งออกไปทุกทิศทุกทาง แต่พอเอาดาวเทียมไปวางไว้ที่ใดที่หนึ่งมันก็จะส่งไปตรงนั้นตรงๆ ในการสื่อสารดาวเทียมเพื่อให้ได้ผลทั้งความถี่และวงโคจรต้องมาด้วยกัน สมมติว่าเราใช้ความถี่ 505 กิกะเฮิร์ทซ (Gigahertz) ที่มุม 120 องศา ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งอาจจะอยู่ในมุม 80 องศา และอาจจะใช้ความถี่เดียวกันได้ ณ ตำแหน่งเดียวกัน

ดาวเทียมในอวกาศทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนสัญญาณ เมื่อยิงสัญญาณขึ้นไป ดาวเทียมจะรับแล้วขยายสัญญาณและส่งกลับมาให้มากขึ้นกว่าเดิม ปัญหาก็คือ แล้วใครเป็นคนใช้ความถี่นี้

ถ้าดูจากร่างที่กำหนดไปแล้วว่าผู้ให้บริการมี 4 ประเภท คือ

1. Service Operator หรือ ผู้ให้บริการ เช่น ไทยคม
2. Provider หรือ ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารภาคพื้นดิน
3. Reseller หรือ ผู้ขายต่อบริการ
4. Very Small Aperture Terminal Service (VSAT) ผู้ให้บริการที่ใช้เสาอากาศขนาดเล็กและบริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้จานสายอากาศขนาดเล็ก

ในร่างนี้ฟันธงว่าผู้ที่ต้องประมูลคือผู้ให้บริการในประเภทที่ 2 และประเภทที่ 4 ไทยคมไม่ต้องประมูลคลื่น

“ผมมีประเด็นฝากถึง กทค. ร่างฉบับนี้มีความชัดเจนว่าใครต้องประมูลคลื่น แต่มันก็มีปัญหาหลายๆ อย่าง ที่ทั้งผู้ให้บริการดาวเทียมและผู้ให้บริการ VSAT คือว่าเขาจะประมูลอย่างไร แบบไหน ในการออกระเบียบต่างๆ ต้องมีความชัดเจนตลอดทาง ถ้าระบุต่อว่าคนกลุ่มนี้ต้องมูลตามมาตรา 45 แล้วต่อมาจะประมูลอย่างไร ซึ่งมีคำถามมากมาย”

นอกจากนี้ความถี่เป็นสิ่งที่ใช้กันหลายคน ปกติการให้ใบอนุญาตคือการให้คนเดียว เป็นการการันตีว่าคนอื่นจะไม่มากวน ถ้ามากวนองค์กรจะมาดูแลให้ ต่างกับความถี่ไวไฟที่ใช้ไปโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ก็ไม่มีการการันตีว่าจะดูแลให้หากมีใครมากวน ซึ่งระบบพวกไวไฟก็จะมีระบบทางเทคนิคการบริหารจัดเองว่าถ้ามีกวนแล้วจะการอย่างไร

“แต่กรณีของดาวเทียมเป็นลักษณะของใบอนุญาต คือ ให้ใบอนุญาตแล้วคนอื่นไม่มากวน แต่ผู้ให้บริการที่เป็นประเภทที่ 2 และประเภทที่ 4 ณ จุดเดียวกันสามารถใช้ความจุเดียวกัน ความถี่เดียวกัน คุยกับดาวเทียมได้ทั้งสองดวงเลย อาจจะคุยกับไทยคมก็ได้ ขณะเดียวกันก็สื่อสารกับเจ้าอื่น ถ้าผมประมูลคลื่นได้แล้ว ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วคนอื่นถ้าจะใช้”

ถ้าสมมติว่าประมูลได้แล้วใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิ์อยู่ที่คนประมูลได้คนแรกหรือเปล่า ประเด็นที่สองลักษณะผู้ให้บริการคือการเช่า Transponder (เครื่องทบทวนสัญญาณดาวเทียม) ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่มาก ความต้องการก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า บางช่วงก็ลูกค้ามาก บางช่วงก็ลูกค้าน้อย ถ้าเขาต้องประมูล Transponder ขนาดนี้แล้ว ด้วยความถี่ขนาดนี้แล้วเขาลูกค้าเพิ่มขึ้นความต้องการเพิ่มขั้น เขาต้องรอการประมูล กระบวนการขออนุญาตกี่ปีเขาจะได้ เพื่อจะมารองรับลูกค้าที่เกิดขึ้นแล้ว หรือลูกค้าเขาหายไป เขาต้องการลดจะทำอย่างไรในเมื่อประมูลได้ความถี่มาแล้ว

ขณะเดียวกัน ธรรมชาติของการสื่อสารดาวเทียมไร้สายเป็นอะไรที่ไม่เสถียรเลย อาจจะถูกรบกวนจากดาวเทียมดวงอื่น ลมสุริยะ (Solar Wind) หรือระบบอื่นๆ มากมายไปหมด ต่างกับระบบที่ใช้สายซึ่งมีความเสถียรมากว่า คำถามคือ หากได้ความถี่มาแล้ว หากเกิดความไม่เสถียรขึ้น Operator หรือไทยคม ก็จะบริหารจัดการย้าย Transponder หรือแม้กระทั่งย้ายดาวเทียม แต่ถ้ามาระบบประมูลที่ตรงนี้แล้ว จะสามารถย้ายได้หรือเปล่า เมื่อสิทธิ์เขามีใช้ได้แค่ตรงนี้

“ผู้ให้บริการดาวเทียมมีหลายประเภท ศักยภาพหรือมูลค่าตลาดมีค่าไม่เหมือนกัน มันมีความไม่เสมอภาคของประเภทธุรกิจอยู่ ตลาดไหนมีมูลค่าน้อยอาจจะต้องยกเลิกไปเลยหรือเปล่า ผมอยากจะฝากไว้กับหน่วยงานที่กำกับ ต้องดูว่ามีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย และผู้บริโภค”

เหตุของการประมูลกฎหมายให้สิทธิ์กับ กสทช. เต็มที่ สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ในการต่อใบอนุญาตเองได้หมด แต่มีข้อแม้คือมาตรา 45 ไม่ทราบที่มาของอันนี้นัก เดิมทีไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะว่ามันมีหลายๆ เคสที่ไม่ค่อยประมูล เช่น กรณีไมโครเวฟลิงก์ แต่ละจุดเขาก็ลิงก์เขาก็ไม่ได้ใช้เพื่อธุระกิจอะไร กรณีไมโครเวฟลิงก์ ไปใช้ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมปี 2498 (พระราชบัญญัติ วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498) แต่กรณีดาวเทียมลักษณะผู้ให้บริการก็จะคล้ายๆ กับผู้ให้บริการไมโครเวฟลิงก์ เข้าใจว่าเหตุของการระบุว่าต้องประมูล ในมาตรา 45 อาจจะมองว่าคนที่ใช้ความถี่มีอำนาจเหนือตลาด เนื่องจากทรัพยากรความถี่มีจำกัด

ในฐานะผู้กำกับดูแลต้องดูว่าใครเป็นคนมีอำนาจเหนือตลาด กรณีระบบสื่อสารดาวเทียม คนที่คุมระบบทั้งหมดน่าจะเป็น Settlelite Operator คือ ไทยคม มีบริการหลายๆ อย่างซึ่งอาจจะเป็นทางเลือก เช่น การรับส่งสื่อสารโทรคมนาคม เพราะว่ามันเป็นลักษณะส่วนใหญ่จุดต่อจุด อาจะเลือกมุมดาวเทียมได้ ถ้าแพงก็อาจจะเลือก Fiber Optic (ระบบใยแก้วนำแสง) ใต้น้ำของต่างประเทศไป

ข้อจำกัดคือว่า ผู้ใช้บริการในไทยต้องใช้ของไทยและอาเซียนเท่านั้น อันนี้เป็นข้อจำกัดที่หนึ่ง ซึ่งอย่างกรณีผู้ให้บริการ VSAT ก็อาจจะใช้ดาวเทียมดวงอื่นได้ถ้าไทยคมคิดค่าบริการแพง แต่ประเด็นก็คือติดใบอนุญาตที่ว่าห้ามใช้บริการอื่นนอกจากอาเซียน แต่ในประเด็น Broadcast ค่อนข้างลำบาก เพราะมีลักษณะค่อนข้างผูกขาดชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อมีเทคโนโลยี DTV คือ การรับสัญญาทีวีตรงถึงบ้านจากดาวเทียม หลังจากแต่ละบ้านหันไปที่มุม 78.5 องศาแล้วโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงนัน้ทำได้ยาก เพราะการที่จะให้คนสิบกว่าล้านครัวเรือนหันไปในมุมนี้อันนี้ก็เป็นการผูกขาดหรืออำนาจต่อรองของ Operators ระดับหนึ่ง

“ผมอยากสรุปว่าใครใช้ความถี่อันนี้ก็พิจารณาได้ แต่ว่าอยากให้พิจารณาในภาพของธุระกิจจริงว่าใครมีอำนาจเหนือตลาด แล้วเราจะกำกับยังอย่างไร ขอยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เรามองว่า Satellite Operators มีอำนาจผูกขาดแล้ว การให้อนุญาตคงไม่ใช่แค่ ‘First Come, First Served’ (มาก่อนได้ก่อน) อย่างเดียว การให้อนุญาตแก่ให้คนมีอำนาจเหนือตลาด เมื่อให้บริการแล้วจะไม่มีอำนาจเหนือผู้ประกอบการอื่นๆ”

ปิยะบุตร: ผมขออนุญาตใช้เวลาไม่มาก ผมอยากจะสรุปไปเลยว่าผมเห็นสอดคล้องไปกับรายงานของอาจารย์วรพจน์ แต่ว่าผมอยากจะขยายความบางประเด็นที่คิดว่าสำคัญและอาจจะถูกพูดถึงน้อย อย่างแรกอยากจะแจ้งข่าวว่าอาร์เอสชนะคดี แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะได้ดูบอลโลกหรือเปล่า มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งอันนี้เกี่ยวกับดาวเทียมเหมือนกันเพราะมันต้องใช้ดาวเทียมในการเผยแพร่รายการ

อีกประเด็นหนึ่งคือที่เราถกเถียงกันมาก อาจจะเพราะเรามุ่งเน้นไปที่การออกใบอนุญาตและการประมูล วิธีคิดของเราเริ่มต้นจากตรงนี้ จริงๆ แล้วแต่เดิมเราไม่ค่อยมีการกำกับดูแลแบบนี้เท่าไหร่ ไม่ค่อยใช้ Regulation (การควบคุม) เพราะกรอบคิดสมัยเดิมเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงน้อย ฉะนั้นเวลาเราออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งก็อยู่กับมันได้นานและมันก็ใช้กันได้อยู่เป็นระยะเวลาที่พอสมควร
แต่ปัจุบันเข้าสู่ยุคที่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ฉะนั้นเวลาเราเขียนกฎหมายเราจะไม่เขียนอะไรที่เคร่งครัดมาก ไม่ชัดมาก ไม่ระบุลงไปชัดเจน เราจะได้ตั้งใครขึ้นมาสักคณะหนึ่งเพื่อบอกว่าให้คนนี้มาพิจารณาออกหลักเกณฑ์ เราก็จะให้ความยืดหยุ่นแก่เขา เพื่อที่เขาจะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หลักเกณฑ์ที่มีมาได้

ทีนี้ถ้าเรายึดกับระบบการออกใบอนุญาต ในแง่นี้ก็จะเท้าความไปถึง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม (พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498) และ พ.ร.บ. ก่อนหน้านั้น แต่ปัจุบันการกับกำดูแลมันเปลี่ยนแปลงไปเร็ว และถ้าเราเอาใบอนุญาตเป็นตัวตั้ง คำถามเช่นว่า ‘ดาวเทียมต่างชาติจะทำอย่างไร เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ความมั่นคงเป็นอย่างไร’ ก็จะตอบไม่ได้ เพราะเราเอาใบอนุญาตมาตั้ง แล้วเราก็บอกว่าพวกนี้ไม่ได้รับใบอนุญาตเราบังคับได้เฉพาะคนที่รับใบอนุญาตเท่านั้น

เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ไม่ได้รับใบอนุญาตเราทำอย่างไร เราก็ทำอะไรไม่ได้ถ้าเราขยันน้อย แต่ถ้าเราขยันมากแบบจีน เราก็จะรู้สึกว่าเราต้องลุกขึ้นมาบล็อก ตรงไหนบล็อกได้เราก็จะบล็อก อย่างนี้เป็นต้น ก็คือเราพิจารณาเรื่องตามสภาพความเป็นจริง ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้วเราก็กำกับดูแลตามเรื่อง บางเรื่องอาจจะไม่ต้องใช้ใบอนุญาต บางเรื่องเราอาจจะต้องใช้ใบอนุญาต แล้วทุกครั้งที่เราพูดถึงเรื่องคนต่างชาติเราก็จะติดกับดักความคิดเรื่องใบอนุญาต ว่าถ้าเราแบนใบอนุญาต คนต่างชาติไม่มาขอเราก็จบเลย

เทคโนโลยีปัจุบันไม่ต้องใช้ใบอนุญาตแล้ว เทคโนโลยีปัจุบันข้ามพรมแดนหมดทุกอย่าง ใบอนุญาตเป็นเครื่องมือที่ลดความสำคัญลงทุกที เครื่องมืออื่นเลยมีความสำคัญเข้ามาแทนที่

“พูดถึงเรื่องที่มาของการประมูลสักนิดหนึ่ง มีหลายท่านพูดถึงมาตรา 45 ตามความเห็นผมเป็นมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. กสทช. เลยก็ว่าได้ เพราะว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และมันทำให้เกิดข้อถกเถียงมาก มาตรา 45 มันต้องอ่านเทียบกับมาตรา 41 ซึ่งมาตรา 45 เป็นของโทรคมนาคม มาตรา 41 เป็นของกระจายเสียงและบอกว่าไม่ต้องประมูล แต่ 45 บอกว่าต้องประมูล เพราะฉะนั้นกฎหมายไทยใช้แบบตัวบท”

เราไม่ต้องไปคิดมากว่ามันต้องตีความอย่างไร ไม่ว่าที่ไหนในประเทศไทย ใช้กฎหมายด้วยตัวบททั้งนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็แปลว่ามันต้องประมูล ที่มาของปัญหานี้คือมันต้องประมูล มันมีคำว่า ‘ประมูล’ ในมาตรา 45 ซึ่งในมาตรา 41 ไม่มี เพราะฉะนั้นมันก็เลยติดกับคำนี้ว่าเราจะทำอย่างไรกับดาวเทียม

“ผมคิดว่าหลายท่านอาจจะเห็นตรงกัน มันอาจจะไม่เหมาะสมนักในทางปฏิบัติ แต่ว่ากฎหมายเขียนแล้วว่ามันต้องประมูลแล้วกฎหมายไทยก็อย่างที่ท่านธานีรัตน์พูดคือเราใช้กฎหมายตามตัวบท ดังนั้นมันเขียนแล้วว่าประมูลเราก็ต้องประมูล คือเราไม่มีทางจะไปบิดมันเป็นอย่างอื่น อันนี้คือปัญหาข้อแรกที่เกิดขึ้น”

ดังนั้นจึงค่อนข้างจะเห็นด้วยถ้าสามารถแก้กฎหมายได้ จะเป็นประโยชน์ มันก็จะแก้ปัญหาจบไป ที่นี้ผมขยายความความเป็นไปได้ในการประมูลสักเล็กน้อย ผมเคยสอบถามผู้ร่าง และผมก็ศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกๆ พบว่าคำว่า ‘ประมูล’ ไม่ได้บังเอิญเขียนขึ้นมา อาจจะคิดถึงดาวเทียมน้อยไปหน่อย

มันเป็นความตั้งใจที่คิดว่าที่ผ่านมาเรามีระบบสัมปทาน มีปัญหาคอร์รัปชันมาก การประมูลจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะตอนนั้นโทรคมนาคมเป็นธุรกิจสำคัญหลัก ธุรกิจกระจายเสียงนี่ยังอีกนาน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ไม่อย่างนั้นเขาต้องใส่ทั้งสองอันแล้ว แต่เขาใส่เฉพาะโทรคมนาคม

วัตถุประสงค์ที่ใส่คำว่าการประมูลก็เพื่อแก้ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดมาจากความไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้นหากจะมีอะไรมาแก้ไขหรือมาทดแทน ปัญหาที่ถูกจัดใส่ไว้ตั้งแต่แรกมันก็ต้องได้รับการพิจารณาด้วยนะ คือเราเปลี่ยนไปใช้วิธี First Come, First Served หรือวิธีอื่น ปัญหาที่เอาการประมูลเอามาใส่เพื่อแก้ปัญหาจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร อย่าลืมไปว่ามีประมูลมาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นหลัก ไม่ได้มาทำอย่างอื่น

อีกประการหนึ่งคือ กสทช. เกิดขึ้นมา เราคิดว่าตลาดโทรคมนาคมตลาดการสื่อสารเป็นตลาดที่มีการแข่งขันแล้วพอสมควร เพราะฉะนั้นเราเลยจะให้ใช้ระบบกำกับดูแล แปลว่าเราเน้นการแข่งขัน ในส่วนอื่นที่ยังไม่ทำก็เพราะว่ามันยังไม่มีความคิดที่ตกตะกอนได้ว่ามันสามารถจะแข่งขันได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงเจตนารมณ์ของ กสทช. ซึ่งไม่ใช่ตัวบท ก็จะต้องมีการมีการกำกับดูแลไปในทางที่เป็นการแข่งขัน ซึ่งก็สอดคล้องกับทุกท่านที่พูดเรื่อง Open Skies Policy ถ้าไม่เป็นแล้วมันจะตอบโจทย์ พ.ร.บ. กสทช. ได้อย่างไร

ผมอยากให้เห็นว่าปัจุบันนี้ กสทช. ค่อนข้างเอียงสิ่งที่ไม่ใช้ตลาด คือค่อนข้างจะเป็น Command Control (ระบบบัญชาและควบคุม) มากไล่ตั้งแต่กรณีอาร์เอส ที่ผมเล่าตอนแรกก็จะเข้าเรื่องนี้ มันไม่ใช่วิธีคิดแบบตลาด ประการต่อมาคือกฎ Must Carry Rules และ Must Have Rules ก็ไม่ใช่วิธีคิดแบบตลาดเช่นกัน

ผลของมันทำให้ Platform (รูปแบบ) ที่ควรจะแข่งขันกัน คือทีวีดาวเทียมกับทีวีภาคพื้นดิน กลายเป็น Platform เดียวกันและไม่มีการแข่งขัน การกำกับวิทยุโทรทัศน์และอื่นๆ ที่จะมีมาเรื่อยทั้งหมด จะทำให้ตลาด Premium Content (รายการเนื้อหาเฉพาะ) ซึ่งควรจะมีการแข่งขันกันกลายเป็นไม่มี ยกตัวอย่างพวกนี้เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า กสทช. ค่อนข้างเอียงมาทาง Command Control มากกว่า Market Competition (การแข่งขันทางการตลาด) ห่างไปทุกทีๆ อยากให้ท่านฟังตรงนี้ไปด้วยและถ้าประกอบกับเรื่องอื่นท่านก็จะเห็นภาพว่ามันเป็นทหาร Command Control มากจริงๆ

ถามว่ามันมีความเป็นไปได้ในการประมูลไหม การประมูลเป็นไปได้ทุกที่ มันต้องแย่งกันเป็นเจ้าของ ในทางเศรษฐศาสตร์หรืออะไรก็ตาม คิดกันง่ายๆ มันไม่จำเป็นจะต้องคิดอะไรซับซ้อน ถ้ามีของอยู่จำกัดมันก็ต้องแย่งกัน ฉะนั้นก็ประมูลได้ แล้วดาวเทียมเหมาะสมจะประมูลไหม มันมีภาวการณ์ว่ามีของอยู่อย่างจำกัดหรือเปล่า เช่น เราคิดว่าเราอยากให้มีผู้ให้บริการเพียงไม่กี่รายในประเทศไทย เราจำกัดจำนวนขึ้นมา ก็ต้องแย่งกันแล้ว แต่ถ้าเราไม่จำกัดจำนวน การประมูลมันก็อาจจะไม่เหมาะสม และก็อาจจะไปใช้โมเดลแบบที่อาจารย์วรพจน์ว่ามา คือการประมูลแบบไร้คู่แข่ง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยประมูลแบบไร้คู่แข่ง ไม่ใช่เฉพาะในคมนาคม ในกิจการอื่นๆ เราก็เคยประมูลแบบไร้คู่แข่งมาเรื่อย

เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ความเป็นไปได้ในเรื่องการประมูลตามวิธีการทำงานแบบคนไทยก็ถือว่าทำได้ ทีนี้ผมขออนุญาตเล่าวิธีการขอใบอนุญาตเฉพาะกรณี Space Station ซึ่งก็คือดาวเทียมที่อยู่บนอวกาศเท่านั้น แบ่งได้ 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นแรก แจ้งเจตนาว่าอยากเป็นผู้ให้บริการดาวเทียม คือ มีดาวเทียมอยู่ในวงโคจร แล้วแจ้งหน่วยงานในประเทศให้รู้ เพื่อที่ว่าจะได้เตรียมการและประกาศให้คนอื่นได้ทราบว่า ตอนนี้มีผู้ขอมาและกำลังจะให้ใบอนุญาตดาวเทียมประเภทนี้แล้ว เพื่อที่จะได้ไม่ได้ให้แค่ผู้นั้นเท่านั้นที่มีโอกาส แต่มีใครอยากให้บริการด้วยไหมจะได้ทำพร้อมๆ กัน

ขั้นที่สอง ถ้ามีใครแจ้งเข้ามาแล้วหรือมีผู้แจ้งเข้ามาสักสามคนที่สนใจอยากจะให้บริการประเภทนี้ ให้มากำหนดหลักเกณฑ์ ซึ่งอาจารย์วรพจน์ก็ได้พูดไปแล้ว คือตัวหน่วยงาน กสทช. ต้องไปดูว่าบริการที่เขาจะให้นั้นใช้เทคนิคอะไร มีกฎเกณฑ์อย่างไร ติดขัดข้อกฎหมายหรือไม่ ใช้เงินเท่าใด ซึ่งจะทำให้กรอบของการให้บริการและใครมีสิทธิ์ให้บริการชัดขึ้นมา และมีเงื่อนไขไหมว่าต้องใช้เทคโนโลยีล่าสุดเท่านั้น นำเทคโนโลยีเก่ามาใช้ไม่ได้ แล้วต้องให้บริการอย่างอื่นแถมไปด้วยกับดาวเทียมดวงนี้ เพื่อไม่ให้มันเสียของ ให้มันทำทีเดียวแล้วมันทำได้อย่างรัฐต้องการ

ขั้นที่สาม เมื่อหลักเกณฑ์มีแล้วและมีคนเสนอตัวแล้ว ประการต่อมาก็คือกำหนดระยะเวลา กำหนดระยะเวลาตามกระบวนการพิจารณาว่าใช้ความถี่อะไร อย่างไร ความถี่ตรงนี้จะไม่ใช่ความถี่ที่คุยกับไอทียู แต่จะต้องรู้ว่ามันมีความถี่จำนวนหนึ่ง มีข้อจำกัดไหม ที่มันต้องจำกัดจำนวนมันให้กันทุกคนไม่ได้ มันให้ได้บางคน ความถี่ตรงนี้ที่ใช้ประมูลได้ตามหลักเกณฑ์ คือมันจะต้องถูกกำหนดว่าจะจำกัดจำนวนหรือเปล่า แต่ถ้าแบบของไทยเราก็จัดประมูลได้อยู่ดี เราไม่มีเงื่อนไขตามกฎหมายไทย ที่ว่าจะประมูลแล้วต้องจำกัดจำนวน ให้น้อยเป็นลบหนึ่งอะไรอย่างนี้ เราก็เห็นอยู่แล้วลบหนึ่งใช้ไม่ได้ เดี๋ยวอาทิตย์หน้าก็จะมีการรับฟังความเห็นคลื่นความเห็น เป็นบวกหนึ่งอีก ก็ต้องดูว่าจะใช้ได้ไหม มันก็ไม่มีเงื่อนแบบนี้อยู่จริงในประเทศไทย

ขั้นตอนที่สี่ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสรุป ได้ผู้แข่งขันในการประมูลแล้วไปประสานงานดำเนินการกับไอทียู ซึ่งก็แบ่งเป็นอีกสี่ขั้นตอน

ขั้นตอน A ประกาศไปก่อนว่าจะมีคนให้บริการ

ขั้นตอน B คือ Coordination ประสานงานความถี่ ขั้นตอนพวกนี้ตั้งแต่ขั้นตอนที่หนึ่งมาเลย ปกติหน่วยงานผู้ให้บริการอย่างไทยคมจะจ้างเอกชน ต้องเป็นฝรั่งอยู่แล้วที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ในการไปเจรจาตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าเสียเงินหลายล้าน ไปเจรจากับดาวเทียมดวงอื่นว่าจะใช้ความถี่ตรงไหนอะไรยังไง

ขั้นตอน C เมื่อถึงเวลา กระบวนการก็สามารถตกลงกันได้ ปกติเขาก็จะมีโปรแกรมพล็อต (วางจุด) ว่ามีดาวเทียมกี่ดวง อยู่ตรงไหน ความถี่ไหน มีความเป็นไปได้ที่จะขอเจรจาเอาความถี่นี้มาใช้ไม่ใช่อีกความถี่หนึ่ง ที่ต้องเจรจากันมากๆ เพราะว่าในหนึ่งตำแหน่งมีดาวเทียมได้ 5-6 ดวง เพราะฉะนั้นมันอาจจะต้องมีการหลบความถี่กันด้วย

ขั้นตอน D ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการจดแจ้งความถี่กับ Master registration แจ้งว่าเราได้เจรจาแล้วได้รับความถี่มาแล้ว ซึ่งตรงนี้ถือว่าครบกระบวนการว่าได้ความถี่และวงโคจรที่ชัดเจนแล้ว และเอากลับมาให้บริการในเมืองไทย มันสามารถให้ประมูลล่วงหน้าได้ตามแต่กำหนดเงื่อนไขขึ้นมา แต่ว่าวิธีการรายละเอียดนั้นก็ว่ากันไปได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรมันก็มีปัญหานี้ขึ้นมาเพราะมาตรา 45 ขึ้นมาค้ำเอาไว้และเราต้องใช้ตามตัวบท ไม่มีทางเลี่ยงเลย

ประเด็นต่อมาคือประเด็นวงโคจรกับความถี่ และประเด็นของไอซีทีกับ กสทช. กระทรวงไอซีทีถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยในแง่ที่ดูรัฐมนตรีเป็นหลัก และกระทรวงไอซีทีก็ต้องดูแลเรื่องไอซีทีเป็นหลัก และมีมาตรา 75 ช่วยเน้นย้ำว่ากระทรวงไอซีทีหรือรัฐบาลเป็นตัวแทนในการเจรจาต่างๆ ทุกเรื่อง ฉะนั้นการเข้าไปเจรจากับไอทียูไม่ใช่ กสทช. ไปเจรจา กสทช. เป็นเพียงผู้กำกับดูแลในประเทศ ในเรื่องเชิงนโยบาย ที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ กสทช. ไม่เหมาะอยู่แล้ว

แต่ว่ามาตรา 27 (14) (พ.ร.บ.องค์กรฯ 2553) พูดถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการประสานงานคลื่นซึ่งดาวเทียมก็เกี่ยวด้วยกับคลื่นความถี่นี้ แต่มาตรา 15 และ 17 ให้กระทรวงไอซีทีดูแล ถ้าไอซีทีจะทำมากกว่าการเป็นตัวแทนเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตดาวเทียม ผมไม่เห็นฐานอำนาจอันไหนนอกจาก พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม

พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมบอกว่า ‘วิทยุคมนาคมคือการสื่อสารให้เข้าใจด้วยคลื่นแฮรตเซียน (Hertz) คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ ซึ่งก็รวมถึงความถี่ดาวเทียมด้วย แต่ พ.ร.บ. กสทช. ที่ออกมาใหม่บอกว่ากิจการวิทยุคมนาคม ตามมาตรา 4 คือการรับส่งเครื่องหมายให้เข้าใจด้วยคลื่นถี่ เพื่อความมุ่งหมายทางโทรคมนาคม คือถ้ามีวิทยุคมนาคมที่กำหนดไว้เฉพาะ ก็ไม่เกี่ยวกับอันนี้
แต่ในความหมายกิจการโทรคมนาคมบอกว่า คือกิจการการส่งซึ่งบริการส่งแพร่เครื่องหมายให้เข้าใจด้วยคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง และระบบแม่เหล็กไฟฟ้า คือดาวเทียมถ้ามันจะเป็นอำนาจของไอซีที ต้องอยู่ภายใต้วิทยุคมนาคม และมันจะต้องเป็นตามความหมายวิทยุคมนาคม แต่ถ้าภายใต้ กสทช. มันจะต้องเป็นความหมายตามกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ. กสทช.

ที่ผมพยายามจะชี้ให้เห็นก็คือว่า กิจการโทรคมนาคม หมายถึงการสื่อสารด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นความถี่ก็คือคลื่น Hertz มันมีกิจการอันไหนที่เป็นกิจการวิทยุคมนาคมซึ่งไม่ใช่แม่เหล็กไฟฟ้า แล้วอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม

ในฐานะที่เป็นวิศวกร ยังไม่เห็นว่ามีคลื่นอื่นที่เป็นกิจการที่ไม่ใช่แม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าตีความตามนี้มันก็จะมีปัญหา พยายามอธิบายให้เห็นหลายครั้งแล้วว่าแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่ในกิจการโทรคมนาคม ถ้าดาวเทียมไม่ได้ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็อาจจะรวมไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคมได้

ในความหมายนี้ ถ้าแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นกิจการโทรคมนาคมตาม พ.ร.บ. กสทช. ก็แปลว่า พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคมจบไปเลย ถูกยกเลิก เพราะมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. บอกว่าให้ยกเลิก พ.ร.บ. อื่นให้หมด ฐานอำนาจของกระทรวงไอซีทีที่จะใช้ในการออกใบอนุญาตดาวเทียมก็จะเป็นไปไม่ได้

พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคมน่ากลัวมาก เช่น ‘มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดทํา มีใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมบางลักษณะ หรือเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในกิจการบางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งทั้งหมด หรือเฉพาะแต่บางกรณีได้’

นี่เป็น พ.ร.บ. สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยนั้นต้องเขียนกฎหมายแบบนี้ คำว่า ‘ห้าม’ เต็มไปหมด ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ พ.ร.บ. นี้ไม่มีที่ยืนจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะอ้างอะไรก็ตาม

แต่ กสทช. อ้างการควบคุม Set Top Box ตั้งแต่การนำเข้าตามมาตรา 6 ประการต่อมาคือใครจะขาย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมันไม่ใช่การแข่งขันทางการตลาดอยู่ดี

วรพจน์: ถามอาจารย์ปิยะบุตร ผมไม่ค่อยรู้เรื่อง พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม แต่ว่าบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.องค์กรฯ มาตรา 81 เขียนว่า ‘ให้บรรดาอํานาจหน้าที่ของรัฐมนตรี อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และเจ้าพนักงาน ผู้ออกใบอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมเป็นอํานาจหน้าที่ของ กสทช. ตามพระราชบัญญัตินี้’ มันไม่ได้รวมถึงกระทรวงไอซีทีใช่หรือไม่ ถ้าอ้างจาก พ.ร.บ. นี้

ปิยะบุตร: จริงๆ ก็ตรงตามที่เขียน ไม่ได้รวมถึงรัฐมนตรีด้วย เป็นหน้าที่ กสทช. ตีความตรงตัว

ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรเทพ: ฟังเรื่องกฎหมายแล้วค่อนข้างใช้พลังในการฟังและตีความ ขอแสดงความเห็นในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องกิจการดาวเทียม ถ้าเรามองธรรมชาติของมันเป็นการค้าที่ผูกขาด เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดในประเทศ นอกจากนี้คนที่จะประกอบกิจการได้ต้องขออนุญาต การเข้าสู่ตลาดก็ยาก เพราะต้องใช้เทคโนโลยี ความรู้ และเงินทุนสูง ยังไม่ได้พูดถึงข้อกำหนดของ กสทช. ที่ผู้ใช้บริการต้องใช้ดาวเทียมสัญชาติไทยและอาเซียนเท่านั้น และกิจการดาวเทียมก็เป็นกิจการที่ทดแทนได้ไม่สมบูรณ์ เช่น การใช้สายเชื่อมต่อ การใช้ดาวเทียมดวงอื่น มันมีธรรมชาติของการผูกขาดอยู่

ถ้าเรามองบทบาทของผู้กำกับดูแลเรื่องนี้ นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าเพื่อผลประโยชน์โดยรวมสูงสุด ไม่ใช่ผลประโยชน์ของรัฐทั้งหมด แต่มันคือผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบกิจการด้วย สิ่งที่ตามมาคือเราจะกำหนดคลื่นความถี่หรือสิทธิ์ในการประกอบกิจการอย่างไร หลังจากการกำหนดคลื่นไปแล้วตลาดจะเป็นอย่างไร หลักคิดนี้เป็นหลักคิดเดียวกันกับทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 3G 4G หรือดาวเทียม

เราใช้เวลากันมากในการพูดถึงเรื่องการประมูลหรือไม่ประมูล มันก็มีข้อถกเถียงว่าประมูลได้หรือประมูลไม่ได้ แต่วัตถุประสงค์ของเราคือการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้ที่สามารถนำไปสร้างประโยชน์ได้มากที่สุด อาจจะใช้วิธีการประมูลเพื่อการโปร่งใส ลดต้นทุน ไม่มีการวิ่งเต้น ส่วนวิธีอื่นๆ ถ้าเกิดนำมาใช้จริงมันก็น่าจะได้คนที่สร้างประโยชน์ได้

ในกรณีของเมืองไทย ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามก็จะได้รายเดิมอยู่ดี มีการตั้งราคาการประมูลที่มันสอดคล้องกับผู้ประมูลกลายเป็นผู้ผูกขาด เพราะไม่มีคู่แข่ง ดาวเทียมไทยไม่มีบริษัทอื่น มีดาวเทียมอาเซียนเล็กน้อย ฉะนั้นไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็จะได้เจ้าเดิม ซึ่งเจ้าที่ได้มานี้อาจจะมีความสามารถที่สุดแล้วในตลาดเมืองไทย

แต่ประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพภายหลังการจัดสรรคลื่น ตลาดภายหลังการจัดสรรต้องมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งจะได้มาจากการที่มีการแข่งขัน แต่ทรัพยากรวงโคจรในไทยมีจำกัดจึงค่อนข้างยากที่จะมีผู้แข่งขันรายใหม่ ฉะนั้นแล้วนโยบายเปิดน่านฟ้าจึงสำคัญ

กิจการดาวเทียมถือเป็นธุรกิจต้นน้ำของกิจการหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต มันจึงมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างสูง กสทช. ต้องมองที่ประสิทธิภาพภายหลังการจัดสรรคลื่นให้มากกว่านี้

ธานีรัตน์: กฎหมายไทยกับกฎหมายต่างประเทศต้องแยกกันให้ออก ขอย้ำว่าไทยไม่ได้เป็นเจ้าของวงโคจร แต่ได้มาจากการเจรจา คลื่นความถี่ที่อยู่บนดาวเทียมไม่ใช่คลื่นความถี่ที่อยู่ในประเทศไทย เป็นคลื่นความถี่ที่ถูกไอทียูจัดสรรให้ตามหลัก Radio Regulation (ข้อบังคับวิทยุ)

ประเด็นที่สองคือเรื่อง Open Skies ผมเห็นด้วย แต่ทำอย่างไร ใครจะเปิด นั่นเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. ไม่มีสิทธิที่จะไปตกลงกับใคร ถ้าไปผูกมัดสนธิสัญญาต่างๆ แล้วมีผลเสียตามมา กสทช. ต้องรับผิดชอบ

โทรคมนาคมเป็นเรื่องของความมั่นคง ยิ่งอยู่ในภาวะแบบนี้ ฉะนั้นหน้าที่ของ กสทช. ในเรื่องดาวเทียมสื่อสารมีแค่ 2 อย่าง คือ ประสานเรื่องคลื่นความถี่ตามมาตรา 27 (14) ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ และให้ใบประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ให้กับผู้ประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย ส่วนเรื่องการประมูลคลื่นยังมองไม่เห็นสิทธิที่จะใช้ในการประมูล

วรพจน์: ผมคิดว่าเรื่องที่ว่ามันอยู่ในอำนาจอธิปไตยของเราหรือเปล่ามันควรจะจบได้แล้ว เพราะว่าเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่อำนาจอธิปไตยของไทย แต่ว่าคำถามที่ผมก็ได้นำเสนอไปแล้วว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เรามีสิทธิ์ในการใช้

ส่วนประเด็นเรื่องไอซีทีเป็นตัวแทนของไทยในไอทียู ไม่ได้ดูที่ไอทียูยอมรับหรือเปล่า กสทช. ก็สามารถเสนอตัวเป็นตัวแทนเจรจาของไทยได้ ถึงที่สุดแล้วอาจจะไม่ใช่แค่ กสทช. ก็ได้ อาจจะต้องทำงานร่วมกัน จริงๆ เข้าใจว่า กสทช. สมัยรักษาการมีการส่งหนังสือเข้าไปเพื่อชี้แจงว่าทำไม กสทช. ถึงควรเป็นผู้ประสานงานของประเทศไทย

สุดท้ายแล้วควรต้องมาถกเถียงกันว่าใครจะเป็นผู้ประสานงานของไทย แต่ว่าในหลายๆ ประเทศ องค์กรที่ดูแลเรื่องการสื่อสารก็เป็นผู้ประสานงานของประเทศเขาเหมือนกัน

ธานีรัตน์: เคยมีคนทำเรื่องเข้าไปแต่ก็ถูกเก็บเงียบเหมือนกัน แต่รัฐคือรัฐ อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เขาทั้งหมด นักวิชาการอาจจะคุยกันได้ว่าควรจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องรัฐอยู่ดี ต่างประเทศส่วนใหญ่ก็มีองค์กรกำกับอยู่หน่วยงานเดียว

อมรเทพ: ขอขยายประเด็นเรื่องนโยบายเปิดน่านฟ้า ไม่เห็นด้วยที่บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กสทช. จริงอยู่ที่อำนาจการตัดสินใจเป็นของคณะรัฐมนตรี แต่ กสทช. ต้องเป็นผู้นำเสนอและกำกับดูแล

กลับมาที่กิจการดาวเทียม จะเห็นว่าเป็นลักษณะการผูกขาดที่สะท้อนมาสู่ผู้บริโภค ผู้ให้บริการไม่สามารถมีตัวเลือกเพื่อจะไปใช้เจ้าอื่นได้ หลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตไม่ควรจะเป็นประเภทที่ 3 เพราะมันกว้างมาก ถ้าจัดประมูลควรจะมีกำหนดราคาขึ้นมาว่าควรจะเป็นเท่าใด และควรจะจัดการทำประเมินผลกระทบที่ตามมาด้วย

เรื่องของคลื่นความถี่พูดยากว่าเป็นสิทธิ์ของใคร แต่ที่แน่ๆ คือดาวเทียมเป็นของไทย ปัญหาคือคลื่นเป็นของใครแน่ ใครเป็นคนใช้ ระหว่าง Operator กับ Provider จะตีความกันว่าอย่างไร

หมายเหตุ :กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเสวนานี้

1. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. องค์กรฯ 2553)

2. พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498