ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ปรับส่งออกโต 3% แม้การลงทุนภาคเอกชนติดลบ แต่มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นลักษณะ V-shape

ธปท. ปรับส่งออกโต 3% แม้การลงทุนภาคเอกชนติดลบ แต่มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นลักษณะ V-shape

28 มิถุนายน 2014


เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาสุโว ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2557 ว่าการส่งออกปรับตัวลดลงจาก 4.5% เป็น 3% เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศญี่ปุ่น จีน และอาเซียน ที่เพิ่มไม่มากในช่วงต้นปี ประกอบกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีการผลิตของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ปิโตรเคมี, เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าเกษตรแปรรูป ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรปหรืออียูลดความสัมพันธ์นั้น ยังไม่ถูกรวมเป็นปัจจัยในการประมาณการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ “เพิ่งเกิดขึ้น” ต้องรอดูสถานการณ์ของแต่ละประเทศว่าจะพิจารณาอย่างไร แม้ปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศ แต่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่ ขณะที่ปัญหาค้ามนุษย์ของไทยที่ถูกลดระดับจาก Tier2 WL เป็น Tier3 โดยสหรัฐอเมริกานั้น ปัจจุบันมีผลกระทบเฉพาะบางบริษัทเท่านั้นที่สั่งระงับสินค้าจากไทย ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลักไม่มาก ประมาณ 10% เท่านั้น จึงไม่น่ามีผลกระทบอะไรมากนัก

“เท่าที่เห็นขณะนี้ยังไม่มีอะไรกระทบการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ยังปกติอยู่ แต่เราต้องติดตาม พยายามชี้แจงทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ อีกส่วนหนึ่งก็เดินไปตามโรดแมปต่างๆ ได้อย่างจริงจัง จะสร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศได้” นายเมธีกล่าว

ด้านการอุปโภคภาครัฐ/มีการปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 จากเดิมที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 90.5% เพิ่มเป็น 93% หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นเงิน 63,125 ล้านบาท ประกอบกับการเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 จนเสร็จทันกำหนดจากเดิมที่คาดกว่าจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส ส่งผลให้การอุปโภคของรัฐเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าโต 2.9% เพิ่มเป็น 3.5%

ขณะที่การลงทุนภาครัฐปีนี้กลับชะลอลง จากเดิมคาดว่าโต 1.7% เป็น 1.1% เนื่องจากการชะลอการลงทุนในโครงการต่างๆ ในปีนี้ไปลงทุนในปี 2558 แทน เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ ที่เดิมจะลงทุนในปี 2557 มูลค่า 12,000 ล้านบาทในการประมาณการครั้งที่แล้ว ได้เปลี่ยนเป็นลงทุนในปีนี้ 7,000 ล้านบาท และปีถัดไป 5,000 ล้านบาทแทน หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ปีนี้มีการเพิ่มการลงทุนจากเดิมคาดว่าจะลงทุนที่ 17,000 ล้านบาทในการประมาณการครั้งที่แล้ว เป็น 20,000 ล้านบาทในประมาณการครั้งนี้ ส่วนปีถัดไปเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะลงทุน 46,000 ล้านบาทเป็น 76,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐจะส่งผลในปีถัดไป คาดว่าจะโตได้ถึง 9.7% จากเดิมที่คาดว่าโตเพียง 2.7%

คาดการณ์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

คาดการณ์งบบริหารจัดการน้ำ

ด้านการลงทุนภาคเอกชน เริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และมีแรงส่งต่อเนื่องในปี 2558 แต่ในปีนี้ก็ยังคงหดตัวมากขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -0.5% เป็นหดตัว -2.6% เนื่องจากรอดูความชัดเจนของการใช้จ่ายภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ปี 2558 จะขยายตัวได้ 11.2% จากเดิมที่คาดกว่าจะขยายตัว 10.2% เพราะน่าจะมีความชัดเจนของโครงการลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และการอนุมัติการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่จะช่วยเป็นแรงส่งไปยังปี 2558 ได้

คาดการณ์ลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ ธปท. ได้เคยคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนของปี 2557 ไว้ทั้งหมด 5 ครั้ง ในรายงานนโยบายการเงินเดือน มกราคม 2556 ไว้ที่ 9.1%, เดือนเมษายน 2556 ที่ 9.4%, เดือนกรกฎาคม 2556 ที่ 9.9%, เดือนตุลาคม 2556 ที่ 8.7% และมีนาคม 2557 ไว้ที่ -0.5% ก่อนจะปรับเป็น -2.6% ในรายงานนโยบายการเงินเดือนนี้ ขณะที่การคาดการณ์ของปี 2558 ธปท. ได้คาดการณ์ในเดือนมีนาคม ปี 2557 ว่าจะเติบโตได้ 10.2 ก่อนจะปรับขึ้นอีกในเดือนนี้เป็น 11.2%

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท. ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีเป็น 1.5% โดยครึ่งหลังของปีคาดโตได้ 3.5% ตามที่เคยรายงานไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะเป็น V-shape เนื่องจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาครัฐมีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเอกชนที่ดีขึ้น และการที่บีโอไออนุมัติโครงการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว

อนึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้เปลี่ยนวันแถลงประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนกำหนดการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและรายงานนโยบายการเงินรายไตรมาสของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากเดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคม ตุลาคม มาเป็นเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ส่งผลให้แนวทางการแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธปท. และกระทรวงการคลัง ที่เคยปฏิบัติมาในอดีตที่ทั้ง 3 หน่วยงานจะสลับกันประกาศประมาณการเศรษฐกิจหน่วยงานละเดือนดังนี้

การประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจ

ดังนั้น เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นประจำในทุกเดือน ในการประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจประจำเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น สศค. ธปท. สศช. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงพิจารณาเห็นควรให้ สศค. ปรับเปลี่ยนเวลาในการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจใหม่เป็น เดือนมกราคม เมษายน กรกฎาคม และตุลาคม โดยมีกำหนดการของทั้ง 3 หน่วยงานดังนี้

การประกาศประมาณการเศรษฐกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง