ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ชาวนาปฏิรูปตัวเอง…โรงสีชุมชนต้นแบบ “ตำบลน้ำพอง” จ.ขอนแก่น

ชาวนาปฏิรูปตัวเอง…โรงสีชุมชนต้นแบบ “ตำบลน้ำพอง” จ.ขอนแก่น

20 มิถุนายน 2014


ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประเด็นแรกๆ ที่ คสช. หยิบยกขึ้นมาแก้ไข และมีแนวโน้มว่าจะเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนหากมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ คือการปฏิรูปชาวนา หลังจากการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เงินทั้งหมดได้ถูกโอนไปสู่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศแล้ว เหลือเพียงการส่งมอบให้แก่ชาวนา

จากนั้นได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตัวแทนจากชาวนา ธ.ก.ส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จากผลการประชุม นบข. เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 คาดว่า ต้องใช้วงเงินในการช่วยเหลือประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท แนวทางประกอบด้วย 1. มาตรการลดต้นทุนการผลิต โดยมุ่งคุมราคาต้นทุนการผลิตต่างๆ 2. มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต 3. ให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตร 2 หมื่นล้านบาท โดย คสช. ชดเชยดอกเบี้ยให้ 1% เพื่อใช้ในการซื้อปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์ข้าวมาจำหน่ายเกษตรกรในราคาต่ำ

วันที่ 17 มิถุนายน 2557 ภายหลังการจ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่ชาวนา ต.บ้านน้ำพอง จ.ขอนแก่น นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้กล่าวถึงแนวทางที่ คสช. จะดูแลเกษตรกรในระยะยาวในเบื้องต้นว่า คสช. ได้กำหนดแนวทางปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรมในหลายด้าน อาทิ การลดต้นทุนการผลิต โดยลดค่าเช่าที่ดินทำกิน การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดข้าว ธนาคารปุ๋ย การพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวนาบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการด้านการตลาด ฟื้นฟูและยกระดับการผลิต การจัดตั้งตลาดกลาง และสนับสนุนการนำระบบสหกรณ์มาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นก็คงจะมีอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นแรกก็คือ ในช่วงของการปรับตัว จะทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรชาวนาลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์ การคัดเมล็ดข้าวที่มีคุณภาพไว้ทำพันธุ์ การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเหมาะสม โดยธ.ก.ส.จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชาวนาหันกลับมาลดต้นทุนการผลิต และผลิตข้าวที่มีคุณภาพตอบสนองตลาด

“ที่สำคัญก็คือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงมากขึ้น อันนี้ก็จะเป็นแนวทางที่คิดว่าจะดำเนินการในช่วงฤดูกาลนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คสช. ได้แต่งตั้ง นบข. ขึ้นมา โดยจะเป็นผู้กำหนดกรอบในการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย ก็ต้องรอความชัดเจนอีก 2-3 สัปดาห์”

ประการที่สอง ธ.ก.ส. จะดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล โดยในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะเป็นช่วงที่ข้าวออกมาปริมาณสูงซึ่งอาจส่งผลต่อราคา ทาง ธ.ก.ส. จะออกมาตรการที่จะเข้าไปช่วยประคับประคองตามข้อบังคับ ฉบับ 18 เรื่องสินเชื่อเพื่อชะลอการขายผลผลิต เพื่อให้ชาวนาได้มีทางเลือก โดยเฉพาะชาวนาในเขตภาคเหนือตอนบนกับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเขตอื่นใดที่มีการจัดเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง แนวทางนี้จะช่วยให้ชาวนาไปใช้จ่ายในครัวเรือนโดยไม่ต้องรีบขายผลผลิตออกมา

“แนวทางนี้จะทำให้ข้าวจำนวนหนึ่งถูกกักเก็บไว้ในยุ้งฉาง ถ้าเป็นข้าวคุณภาพดี อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว หากมีการเก็บกับไว้จำนวนหนึ่งจะไม่ทำให้ราคาข้าวอ่อนตัวลงมามากนัก ผ่านไปสักระยะหนึ่งช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เมื่อข้าวเปลือกหมดแล้วราคาข้าวเหล่านี้ก็จะปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ได้ราคาที่ดีขึ้นด้วย… การทำเช่นนี้ก็คล้ายๆ กับโครงการพระราชดำริเรื่องน้ำ ‘แก้มลิง’ เราจึงเรียกชื่อโครงการย่อๆ ตามนี้” นายลักษณ์กล่าว

ประการสุดท้าย เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับแนวคิดที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้นโยบายไว้สำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2558 คือเรื่องที่มอบหมายให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาระบบกรสหกรณ์การเกษตรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรชาวนามีอำนาจต่อรองสูงมากขึ้น ทั้งในแง่จัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายได้ เรื่องประกันภัยนาข้าวก็เช่นกัน เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ธ.ก.ส.ช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับชาวนา

โรงสีข้าวชุมชน..เราอยู่ได้ไม่ต้องพึ่ง “ประกันราคาข้าว” หรือ “จำนำข้าว”

โรงสีข้าวน้ำพอง

โรงสีชุมชนน้ำพอง-1

โรงสีชุมชนน้ำพอง-2

ธ.ก.ส. ได้นำทีมผู้สื่อข่าวไปยังโรงสีข้าวชุมชนตำบลน้ำพอง เพื่อดูการบริหารจัดการโรงสีชุมชนของชาวบ้านที่เป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เคยพึ่งพาโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยนายคำยงค์ ประโภชนัง รองประธานกลุ่มโรงสีข้าวปลอดสารพิษ ตำบลน้ำพอง กล่าวว่า เริ่มแรกเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่จะทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้กันเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะทำโรงสีเพื่อใช้งานกันในชุมชนขึ้น

“แต่ก่อนไม่เคยมีโครงการจำนำข้าวเราก็อยู่กันได้ ทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่เคยต้องจำนำ หากวันนี้ไม่มีก็ไม่เป็นปัญหา ชุมชนนี้ไม่มีใครเอาข้าวไปจำนำสักคน เราก็อยู่กันได้” นายคำยงค์กล่าว

การดำเนินงานของโรงสีเป็นไปในรูปแบบของสหกรณ์ ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 100 บาท และจะมีปันผลให้สิ้นปี ปัจจุบันโรงสีมีสมาชิกทั้งสิ้น 62 คน โดยโรงสีจะทำการรวบรวมข้าวแต่ละเขต แต่ละอำเภอ มาแปรรูป ผลผลิตที่ได้มุ่งตอบสนองชาวบ้านด้วยกันเอง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของที่นี่มีอาชีพทำไร่อ้อย ไร่มัน ทำให้ต้องซื้อข้าวกิน

ทั้งนี้โรงสีชุมชนน้ำพองจะรับซื้อข้าวโดยใช้แหล่งเงินทุนของสมาชิก ราคาซื้อจะอิงราคาสหกรณ์จังหวัด และเครื่องสีข้าวสีได้วันละ 20 กระสอบ ราคาขายข้าวสารที่แปรรูปแล้วจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 32 บาท แต่การตั้งราคายังไม่มีมาตรฐานที่แน่ชัด

นายคำยงค์กล่าวว่าพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นกว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน ดังนั้นหากกระทำการใดเพื่อลดต้นทุนได้ก็ต้องทำ นอกจากนี้ทางโรงสีเองยังรับสีข้าวแก่ชาวบ้านโดยไม่ต้องเสียเงิน จะมีเพียงข้าวกล้องเท่านั้นที่ต้องเสียค่าบริการ เพราะการเดินเครื่องสีข้าวต้องอาศัยน้ำมัน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นต้นทุนก็เพิ่มตาม

“เราทำปุ๋ยใช้เอง สีข้าวเอง ทำมาตั้งแต่ปี 2548 ตรงนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตเราไปได้เยอะ… วันวันหนึ่งเราก็สีได้ประมาณ 2-3 ร้อยกิโลกรัม… จากที่ไปดูงานที่สุพรรณบุรีราคาข้าวที่นั่นค่อนข้างดีขายได้กิโลกรัมละ 50-60 กว่าบาท เราอยากให้ราคาของเราขยับขึ้นมาบ้างอีกสัก 5 บาทก็ดี… ส่วนข้าวเปลือกที่เขาขายกันได้ถึง 1 หมื่นบาทต่อตันเราก็อยากได้อย่างนั้นนะ” นายคำยงค์กล่าว

สำหรับมาตรการธ.ก.ส.ที่ช่วยเหลือโรงสีข้าวชุมชนบ้านน้ำพองโดยให้ความรู้ชาวบ้านและสนับสนุนเงินทุนหากชาวบ้านต้องการ ซึ่งทางกลุ่มยังประสบปัญหาเรื่องเงินทุนบ้าง แม้ที่ผ่านมามีเทศบาลและโรงพยาบาลน้ำพองเข้ามารวมกลุ่ม ช่วยสนับสนุนเงินทุน และอุปกรณ์ในการแปรรูปข้าวก็ตาม รวมทั้งช่วยขยายตลาดในการรับซื้อข้าวให้กับโรงสี โดยการแนะนำชาวนาพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดขอนแก่นให้นำข้าวมาขายให้แก่โรงสี

นายลักษณ์กล่าวเสริมว่า”แม้จะมีโครงการรับจำนำข้าว ประกันรายได้ ชาวนาไม่เดือดร้อนเรื่องราคา แต่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เมื่อจบโครงการก็ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แต่การทำโรงสีของชาวบ้าน นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว มีตัวอย่างให้เห็นในชุมชนแวงใหญ่ บ้านถลุงเหล็ก จังหวัดขอนแก่น ที่สามารถเพิ่มมูลค่าของข้าวสารโดยสามารถนำไปขายในห้างสรรพสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งรายได้ตรงนี้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังเป็นส่วนรับข้าวระดับชุมชน เสมือน “แก้มลิง” ที่จะช่วยให้ปริมาณข้าวไม่ล้นตลาด จะเห็นได้ว่าการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนบ้านน้ำพอง สอดคล้องกับแนวทางของ คสช. ที่มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต ให้ชาวนาสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่สมารถเกิดขึ้นได้จริงหากได้รับการสนับสนุน และการให้ข้อมูล ให้ความรู้แก่ชาวนาอย่างจริงจัง”

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ธ.ก.ส. ปิดบัญชีค้างหนี้จำนำข้าวปีการผลิต 56/57

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ธ.ก.ส. นำทีมผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร่วมปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ณ ธ.ก.ส. สาขาน้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยมีนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, พลตรี ภัทรพล รักษนคร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร และนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ร่วมปิดโครงการ

จากที่ คสช. ได้อนุมัติให้ดำเนินการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ให้กับชาวนาที่อยู่ระหว่างรอเงิน ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ธ.ก.ส. สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรตามคิวใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามลำดับ จำนวน 838,538 ราย จำนวนเงิน 89,931 ล้านบาท เป็นการปิดบัญชีทำได้เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนด คือวันที่ 22 มิถุนายน 2557

การดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 มียอดใบประทวนรวมทั้งสิ้น 1,671,720 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 11.88 ล้านตัน คิดเป็นจำนวนเงิน 195,450 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรงไปแล้วจำนวน 1,612,380 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 10.97 ล้านตัน จำนวนเงิน 184,957 ล้านบาท

จากยอดจัดสรรทั้งหมด 195,394 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ 164,894 ล้านบาท เงินจากงบกลางอีก 20,000 ล้านบาท และเงินกองทุนช่วยเหลือชาวนา 10,500 ล้านบาท

นายลักษณ์ยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวได้รวมใบประทวนในภาคใต้ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช อันเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการนำข้าวเข้าร่วมโครงการ การดำเนินการจ่ายเงินอาจจะล่าช้าไปบ้าง โดยจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 และคาดว่าในวันที่ 20 มิถุนายน 2557 นี้จะมีชาวนาได้รับเงินร้อยละ 99.9

ทั้งนี้เกษตรกรบางส่วนอาจติดปัญหาบางประการ อาทิ ใบประทวนสูญหาย ชาวนาเสียชีวิตหรือติดธุระในต่างแดน ชาวนาที่มีปัญหาจากการจำนำข้าวข้ามภูมิลำเนา จากการยื่นใบประทวนหลายครั้งทำให้มีวงเงินกว่า 350,000 บาทต่อราย ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งระบบตรวจสอบแล้วพบว่าเหตุผิดพลาดเหล่านี้มีทั้งสิ้น 1,613 ราย และรายที่ยังไม่ได้รับเงิน ธ.ก.ส. ได้ช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

สำหรับชาวนาที่เสียชีวิตอาจให้ญาติ หรือผู้รับมอบมรดกมารับแทนได้ กรณีสูญหายสามารถไปแจ้งความแล้วนำหลักฐานตรวจสอบต้นขั้วได้ที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร ผู้ที่นำข้าวมาจำนำข้ามภูมิลำเนาจะได้รับการอนุโลม ส่วนผู้ที่มีวงเงินเกินกว่า 350,000 บาทนั้นจะได้รับการตรวจสอบและปรับวงเงินให้ไม่เกินจากที่กำหนด ซึ่งเม็ดเงินต่างๆจะไปถึงมือชาวนา ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมโตขึ้น โดยคาดว่าจีดีพีของประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.2