ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ความท้าทายของธนาคารกับสิ่งแวดล้อม: HSBC กับการทำลายป่าปฐมภูมิในมาเลเซีย

ความท้าทายของธนาคารกับสิ่งแวดล้อม: HSBC กับการทำลายป่าปฐมภูมิในมาเลเซีย

12 มิถุนายน 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

เพียงมองดูข้อมูลหลักฐานต่างๆ อย่างเปิดใจ คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า อุบัติภัยและธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างในเมืองไทยซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนนั้น มีชนวนมาจากความไม่รับผิดชอบของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำและอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มลพิษทางน้ำในห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี การใช้แรงงานต่างด้าวเยี่ยงทาสบนเรือประมง หรือเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะซอยแพรกษา จ.สมุทรปราการ

กรณีเหล่านี้และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากจะสะท้อนความไม่รับผิดชอบเข้าขั้น “มักง่าย” ของภาคธุรกิจแล้ว เรื่องเหล่านี้ยังประจานความอ่อนแอของการบังคับใช้กฎหมาย ความไร้ประสิทธิผลของกฎเกณฑ์ และสุญญากาศทางความคิด – หลายเรื่องที่ควรผิดกฎหมายยังไม่ผิด เพราะผู้กำกับดูแลยังตามไม่ทันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาขานิเวศวิทยา ชีววิทยา และแพทยศาสตร์

ยกตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบนานแล้วว่า ฝุ่นโลหะหนักจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเพียง 0.625 ไมครอน สามารถเข้าถึงกระแสเลือดได้ แต่ปัจจุบันขนาดสูงสุดของฝุ่นที่ใช้กำหนด “ค่ามาตรฐาน” สำหรับโรงงานไทยยังอยู่ที่ 10 ไมครอน นอกจากนี้หลายประเทศก็ได้กำหนดให้คาร์บอนไดอ็อกไซด์ ตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อน เป็น “มลพิษ” เพื่อให้รัฐเข้ามามีอำนาจควบคุมการปล่อยคาร์บอน แต่รัฐไทยยังไม่เคยขยับ

การแสดง “ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” จึงทำแค่ระดับ “ปฏิบัติตามกฎหมาย” ซึ่งหลายบริษัทชอบท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ดีพอ

ธนาคารในฐานะ “ตัวกลาง” ซึ่งอยู่ไกลจากสิ่งแวดล้อมไปอีกขั้น (เพราะผู้ก่อผลกระทบคือลูกค้าธนาคาร ไม่ใช่ตัวธนาคารเอง) จึงต้องอาศัยมาตรฐานและกลไกอื่นๆ นอกเหนือจากกฎหมายในการประเมินและติดตามระดับความรับผิดชอบของลูกค้า ถ้าอยากจะได้ชื่อว่า “เขียว” หรือ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” จริงๆ

ข่าวปี 2012 เรื่อง “Log tale” ในวารสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ซึ่งตั้งประเด็นเรื่องความ “หน้าไหว้หลังหลอก” ของ เอชเอสบีซี (HSBC) ธนาคารยักษ์ใหญ่และหนึ่งในผู้ลงนามรับหลักอีเควเตอร์ (Equator Principles) รายแรกๆ ของโลก เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความซับซ้อนของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ข่าวชิ้นนี้ตีแผ่ว่า เอชเอสบีซีให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจตัดไม้ทำลายป่าที่ไม่ยั่งยืนในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ถึงแม้ว่าบริษัทป่าไม้เหล่านั้นได้ละเมิดเกณฑ์ความยั่งยืนของธนาคาร และถึงแม้ว่าเอชเอสบีซีเองจะชอบโฆษณาว่าตนเป็นธนาคารที่ “รับผิดชอบ” – นอกจากจะเป็นธนาคารแรกๆ ในโลกที่ลงนามรับหลักอีเควเตอร์แล้ว เอชเอสบีซียังเป็นธนาคารแรกๆ ที่เปิดให้คนนอกเข้ามาตรวจสอบการลงมือปฏิบัติตามหลักอีเควเตอร์ อีกทั้งยังภูมิใจเรื่องการก่อตั้ง “แนวร่วมสภาพภูมิอากาศ” (HSBC Climate Partnership) มูลค่า 100 ล้านเหรียญร่วมกับเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมชั้นนำอย่างกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) เพื่อช่วยให้คนจนกว่า 30 ล้านคนทั่วโลกได้เข้าถึงน้ำสะอาด

WWF HSBC Climate Partnership from WWF-India on Vimeo.

ภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับ HSBC Climate Partnership

รัฐซาราวักปัจจุบันได้สูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิ (ป่าที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ) ไปแล้วกว่าร้อยละ 90 จากการรุกคืบของบริษัทป่าไม้ และปัจจุบันมีอัตราการสูญเสียป่าสูงที่สุดในเอเชีย พื้นที่ป่าของรัฐนี้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วโลก แต่ไม้ที่ตัดไปส่งออกในปี 2010 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25 ของไม้เขตร้อนส่งออกทั้งหมดทั่วโลก เมื่อไม้เศรษฐกิจเริ่มหมด บริษัทป่าไม้ก็หันไปถางไม้เพื่อทำธุรกิจปาล์มน้ำมัน นอกจากจะทำลายป่าอย่างรวดเร็วแล้ว การถางป่าปลูกปาล์มน้ำมันยังเต็มไปด้วยปัญหาอื่นๆ อีก โดยเฉพาะการกดขี่ชนพื้นเมือง ตั้งแต่ข่มขู่จนถึงขับไล่พวกเขาออกจากที่ดินทำกิน

โกลบอล วิทเนส (Global Witness) เอ็นจีโอระดับโลกซึ่งติดตามตรวจสอบความขัดแย้งและคอร์รัปชั่นในธุรกิจตักตวงธรรมชาติมานานกว่า 19 ปี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะของบริษัทป่าไม้และปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด 7 แห่งในรัฐซาราวัก พบว่าธนาคารเอชเอสบีซีได้รับดอกเบี้ยและค่าธรรมจากบริษัทเหล่านี้รวมกันกว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี 1977 เป็นต้นมา แม้ว่าธนาคารจะปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทกลุ่มนี้น้อยลงในทศวรรษล่าสุด แต่ธนาคารก็ยังเรียกบริษัทกลุ่มนี้ว่าลูกค้า ซึ่งดูจะเป็นการละเมิดนโยบายเรื่องป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ซึ่งธนาคารเองเป็นคนกำหนด

แบงก์แทรก (BankTrack) เครือข่ายเอ็นจีโอระดับโลกซึ่งติดตามตรวจสอบสินเชื่อของธนาคารจากมุมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เคยให้คะแนนเอชเอสบีซีค่อนข้างสูง ย้อนไปในปี 2004 ตอนที่เอชเอสบีซีประกาศนโยบายป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้เป็นครั้งแรก นโยบายนี้ขีดเส้นตายไว้ว่า กิจกรรมอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าของธนาคารจะต้องผ่านการรับรองของคณะกรรมการมาตรฐานการรักษาป่า (Forest Stewardship Council: FSC องค์กรไม่แสวงกำไร กำหนดมาตรฐานป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้แบบสมัครใจซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในโลก) หรือมาตรฐานเทียบเท่า ภายในปี 2009 ส่วนกิจกรรมที่เหลือของลูกค้า (อย่างมาก 30 เปอร์เซ็นต์) ก็จะต้องมีหลักฐานมายืนยันกับธนาคารว่าไม่ผิดกฎหมาย

สภาพป่าไม้ในรัฐซาราวักซึ่งถูกถางเพื่อทำไร่ปาล์มน้ำมัน ที่มาภาพ: http://understory.ran.org/wp-content/uploads/2010/10/Oil-palm-plantation-in-Sarawak.-Photo-by-Mattias-Klum.jpg
สภาพป่าไม้ในรัฐซาราวักซึ่งถูกถางเพื่อทำไร่ปาล์มน้ำมัน ที่มาภาพ: http://understory.ran.org/wp-content/uploads/2010/10/Oil-palm-plantation-in-Sarawak.-Photo-by-Mattias-Klum.jpg

โกลบอล วิทเนส พบว่าทั้งเจ็ดบริษัทในรัฐซาราวักซึ่งเป็นลูกค้าของเอชเอสบีซีไม่เพียงแต่ทำตามเส้นตายของธนาคารไม่ได้ แต่วันนี้ยังไม่มีธุรกิจส่วนไหนที่ผ่านการรับรองของ FSC หรือมาตรฐานเทียบเท่าเลย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ต้าอัน โฮลดิ้งส์ (Ta Ann Holdings) ระบุว่าเอชเอสบีซีเป็น “ธนาคารหลัก” ในรายงานประจำปี 2011 บริษัทนี้นอกจากจะไม่มีมาตรฐาน FSC แล้ว ไม้ที่ตัดตามสัมปทานในซาราวักยังไม่ผ่านการรับรอง “ที่มาถูกต้องตามกฎหมาย” อีกด้วย บริษัทแห่งนี้ถูกประณามต่อเนื่องหลายปีว่าเป็นตัวการตัดไม้ในป่าสงวน (ผิดกฎหมาย) มาทำไร่ปาล์มน้ำมัน

ลูกค้าธนาคารอีกรายคือ บริษัท ดับบลิวทีเค โฮลดิ้งส์ (WTK Holdings) ตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มข้นจนชาวบ้านเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าทำให้เกิดดินถล่มอย่างหนักในปี 2010 จนแม่น้ำอุดตันเป็นระยะทางถึง 50 กิโลเมตร กิจกรรมตัดไม้ของบริษัทนี้ก็ไม่ผ่านมาตรฐาน FSC เช่นกัน

โกลบอล วิทเนส พบอีกว่าภายหลังจากที่เอชเอสบีซีประกาศนโยบายป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับบริษัทในซาราวักซึ่งไม่ทำตามนโยบายของธนาคาร ทั้งที่เคยประกาศว่าจะหยุดทำธุรกิจกับลูกค้าที่ไม่ทำตามภายในปี 2009

เมื่อ ดิ อีโคโนมิสต์ สอบถามไปยังเอชเอสบีซี ก็ได้รับคำตอบว่าธนาคารพูดเรื่องลูกค้าไม่ได้เพราะเป็นความลับของธนาคาร แต่ตอบว่า “ไม่ถูกต้องนัก” (not accurate) ที่บอกว่าลูกค้าธนาคารละเมิดนโยบายป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ของธนาคาร และเสริมว่าปัจจุบันลูกค้าในธุรกิจป่าไม้กว่าร้อยละ 99 ของลูกค้าในธุรกิจนี้ทั้งหมด “ทำตาม” (compliant) นโยบายดังกล่าว หรือ “ทำตามได้เกือบหมด” (near-compliant) แต่ไม่ชัดเจนว่า คำว่า “ทำตามได้เกือบหมด” นั้นหมายความว่าอะไร

เอชเอสบีซีตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ดิ อีโคโนมิสต์ ว่า “เราเชื่อว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูกค้าแทนที่จะกีดกันออกไป เป็นวิธีที่ถูกต้องสำหรับธนาคารที่รับผิดชอบ ….เราเชื่อว่าการทำอย่างนี้ทำให้เอชเอสบีซีมีส่วนร่วมพัฒนาการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวของลูกค้า ได้ดีกว่าถ้าเราจะล้มเลิกความสัมพันธ์เดิมกับลูกค้า” นอกจากนี้ยังเสริมด้วยว่า จะหยุดทำธุรกรรมกับลูกค้าที่ “ไม่แสดงความคืบหน้าในการทำตามนโยบายของธนาคารได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด” ถึงแม้ในบางกรณี “ธนาคารจำเป็นจะต้องรอจนกว่าวงเงินเก่าจะหมดอายุ”


ภาพยนตร์สั้นเสียดสีเอชเอสบีซี กรณีปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทป่าไม้ที่กำลังทำลายซาราวัก

เอชเอสบีซีใช่ว่าจะไม่มีการปรับตัวเลย ข่าวชิ้นนี้ระบุว่าธนาคารได้ล้มเลิกความสัมพันธ์กับบริษัทป่าไม้ในซาราวักอย่างน้อยหนึ่งบริษัท และปัจจุบันก็ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อวงเงินมหาศาลให้กับบริษัทที่เหลืออีกแล้ว แต่การที่ยังเรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “ลูกค้า” ก็ทำให้บริษัทอย่าง ต้าอัน สามารถไปอวดอ้างโฆษณาว่า ตนสอบผ่านนโยบายป่าไม้และผลิตภัณฑ์ป่าไม้ของธนาคาร

ข่าวเอชเอสบีซีในซาราวักชิ้นนี้ นอกจากจะชี้ความซับซ้อนของการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสะท้อนว่าตราบใดที่เรายังไม่มีสื่อที่เข้มแข็ง และเอ็นจีโอที่ติดตามตรวจสอบธุรกิจด้วยข้อมูลหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนความตื่นตัวของลูกค้าธนาคารเอง ตราบนั้นภาคธนาคารไทยก็อาจไม่รู้สึกถึง “ความจำเป็น” ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีธุรกิจ